xs
xsm
sm
md
lg

เขื่อนโคราชวิกฤต เหลือน้ำ 39% ใช้ได้แค่สิ้น เม.ย. ขอ 1,200 ล้านแก้แล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจิรายุ นันท์ธราธร ผู้ตรวจราชกรสำนักนายกรัฐมนตรี เขต 14 มาประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของจ.นครราชสีมาที่ห้องประชุม ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชแล้งทวีรุนแรง ประกาศพื้นที่พิบัติภัยแล้ว 29 อำเภอ 2,239 หมู่บ้าน พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 6.7 แสนไร่ เสนอของบแก้แล้ง 353 โครงการ รวม 1,200 ล้าน ด้านชลประทานระบุอ่างเก็บน้ำทุกแห่งเหลือน้ำแค่ 39% ใช้ได้ถึงแค่สิ้น เม.ย. หากไม่มีฝนโคราชเผชิญวิกฤตน้ำกินน้ำใช้แน่นอน

วันนี้ (20 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมมูลนิธิท้าวสุรนารี ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายจิรายุ นันท์ธราธร ผู้ตรวจราชกรสำนักนายกรัฐมนตรี เขต 14 ได้เดินทางมาติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของ จ.นครราชสีมา ปี 2556 โดยมี นายสุชาติ นพวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นำหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมและรายงานข้อมูล

นายสุชาติ นพวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งของจ.นครราชสีมา ว่าจนถึงขณะนี้จ.นครราชสีมาประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว 29 อำเภอ 219 ตำบล 2,239 หมู่บ้าน ราษฎร 133,810 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 674,374 ไร่ แยกเป็นนาข้าว 612,595 ไร่ พืชไร่ 49,610 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 12,169 ไร่ ซึ่งจังหวัดได้ให้การช่วยเหลือทั้งนำรถบรรทุกน้ำ รวมถึงเครื่องสูบน้ำออกไปให้ความช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแล้ว

ส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทางจังหวัดได้ใช้เงินไปแล้ว 44,504,753.59 บาท แยกเป็นด้านการแพทย์และการสาธารณสุข 4,079,190 บาท ด้านพืช 375,720 บาท ด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 38,287,186 บาท และด้านการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือ 1,762,657.59 บาท

สำหรับวงเงินที่เหลือ 5,495,246.41 บาท อยู่ในระหว่างมอบให้อำเภอดำเนินการ และครั้งนี้ทางจังหวัดยังได้เสนอขอให้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 1,193,687,027 บาท เพื่อขุดลอกฝาย ลำคลอง แก้มลิง สระน้ำ 353 โครงการ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาภัยแล้งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน ม.ล.อนุมาศ ทองแถม ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของจ.นครราชสีมาทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางรวม 27 โครงการ แบ่งเป็นเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 โครงการ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 22 โครงการ มีปริมาณน้ำรวม 462.80 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 39.73 % ความจุที่ระดับเก็บกักรวม 1,264.86 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากปีนี้เกิดภาวะภัยแล้งรุนแรงประกอบกับเกษตรกรทำนาปรังในเขตชลประทานเกินกว่าที่กำหนดให้ คือ 50,000 ไร่ แต่เกษตรกรทำนาปรังมากถึง 103,000 ไร่

“อย่างไรก็ตามหากไม่มีการทำนาปรังเพิ่มเติมอีก น้ำที่มีอยู่จะใช้ได้ถึงสิ้นเดือน เม.ย.นี้เท่านั้น หากไม่มีฝนตกลงมาในช่วงต้นเดือน พ.ค. นี้ จังหวัดนครราชสีมาจะต้องเจอวิกฤติขาดน้ำกินน้ำใช้แน่นอน”
กำลังโหลดความคิดเห็น