xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ โคราชสั่งทุกอำเภอป้องกันศึกแย่งชิงน้ำ - ห้ามทำนาปรังรอบสองเด็ดขาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เขื่อนพระเพลิง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ระดับน้ำเหือดแห้งต่อเนื่อง ล่าสุดเหลือแค่ 50 ล้านลบ.ม. วันนี้ ( 12 มี.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผู้ว่าฯ โคราชสั่งทุกอำเภอบริหารจัดการน้ำให้ดี ป้องกันศึกแย่งชิงน้ำ ห่วง อ.ประทาย แหล่งน้ำดิบประปาแห้งขอด ย้ำห้ามทำนาปรังรอบ 2 เด็ดขาดเหตุน้ำต้นทุนมีน้อย เผยปีนี้มีเกษตรกรฝ่าฝืนทำนาปรังกว่า 1.5 แสนไร่ จากเป้าหมาย 8 หมื่นไร่ ขณะปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งจังหวัดลดฮวบต่อเนื่อง

วันนี้ (12 มี.ค.) นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนคราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.นครราชสีมาว่า สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกลงมาบ้างในหลายพื้นที่ของจังหวัดฯ สามารถช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนได้เล็กน้อย แต่ไม่ได้ช่วยมากนัก ล่าสุดน้ำในอ่างขนาดใหญ่มีเหลือเพียง 40% เท่านั้น ฉะนั้นต้องวางมาตรการบริหารการจัดการน้ำให้สามารถฝ่าวิกฤตแล้งนี้ไปได้ คาดว่าไม่น่ามีปัญหารุนแรงโดยเฉพาะในน้ำกินน้ำใช้ คาดว่าช่วงเดือน เม.ย.นี้จะมีฝนตกลงมาบ้างแล้ว และขณะนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงได้เข้ามาตั้งฐานในพื้นที่แล้ว แต่เนื่องจากสภาพอากาศยังไม่เอื้อต่อการขึ้นบินทำฝนหลวงจึงไม่สามารถทำฝนหลวงได้ หากช่วงใดที่สภาพอากาศเอื้ออำนวยดูหน่วยฝนหลวงจะลงมือทำทันที

จากรายงานยังไม่พบปัญหาการแย่งน้ำเกิดขึ้น แต่พื้นที่ที่เดือดร้อนมากในขณะนี้ คือ อ.ประทาย เพราะแหล่งน้ำดิบผลิตประปาแห้งขอดทั้งหมด ซึ่งได้สั่งการไปยังทุกอำเภอให้บริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้ดีจะแก้ไขปัญหาเรื่องการแย่งน้ำได้ หากพื้นที่ใดมีปัญหาให้แจ้งขอความช่วยเหลือมายังจังหวัดเพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำรถบรรทุกน้ำลงไปช่วยเหลือ

ด้านนายเฉลิมศักดิ์ ประสิทธิ์สุวรรณ เกษตรจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้ส่งผลให้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำของ จ.นครราชสีมามีจำกัด ทางชลประทานจังหวัดนครราชสีมา ได้ประกาศเตือนไปทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสื่อต่างๆ ให้เกษตรกรงดทำนาปรัง โดยให้สามารถทำนาปรังได้เฉพาะในเขตชลประทานลุ่มน้ำลำพระเพลิง และลำแชะ เป้าหมายรวม 3 หมื่นไร่ และอีก 5 หมื่นไร่ในพื้นที่ที่มีหนองน้ำตามธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังมีเกษตรกรฝ่าฝืนทำนาปรังเป็นจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มนี้น่าเป็นห่วงหากนาข้าวเสียหายอาจไม่ได้รับการชดเชยจากภาครัฐเพราะมีการประกาศห้ามปลูกอย่างชัดเจนแล้ว

ล่าสุดจนขณะนี้ จ.นครราชสีมามีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังรวมกว่า 1.5 แสนไร่ กระจายอยู่ใน 30 อำเภอจากทั้งหมด 32 อำเภอ โดยเฉพาะเขตชลประทานลุ่มน้ำลำตะคอง ซึ่งได้ประกาศงดทำนาปรัง ก็ยังมีประชาชนอาศัยสูบน้ำหล่อเลี้ยงระบบนิเวศน์ลำตะคองมาทำข้าวนาปรังถึง 1.2 หมื่นไร่

“ในแต่ละปีหากมีน้ำบริบูรณ์ จ.นครราชสีมาจะปลูกข้าวนาปรังเฉลี่ยประมาณ 5 แสนไร่ แต่ปีนี้พื้นที่ปลูกลดลงมากเนื่องจากน้ำต้นทุนมีน้อย และยังไม่พบมีการทำนาปรังรอบสองเกิดขึ้น ซึ่งทางจังหวัดฯได้ประกาศไปอย่างชัดเจนแล้วว่าขอให้เกษตรกรทำนาปรังรอบเดียวและให้งดทำนาปรังรอบ 2 โดยเด็ดขาด ให้หันไปปลูกพืชระยะสั้นหรือพืชในครัวเรือนที่ใช้น้ำน้อยแทน” นายเฉลิมศักดิ์กล่าว

ด้านโครงการชลประทานนครราชสีมา รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางของจังหวัดนครราชสีมาว่า ล่าสุดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 5 โครงการ มีปริมาณน้ำรวม 386 ล้าน ลบ.ม. หรือ 41% ความจุที่ระดับเก็บกักรวม 938.12 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว แหล่งน้ำดิบผลิตประปาหล่อเลี้ยงเมืองโคราช มีปริมาณน้ำเหลือ 105 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 33% ของความจุที่ระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม., อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำ 50 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 46% ของความจุที่ระดับกักเก็บ 109 ล้าน ลบ.ม.เป็นต้น

ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 22 โครงการ มีปริมาณน้ำรวม 96.82 ล้าน ลบ.ม.หรือ 42.70%ความจุที่ระดับเก็บกักรวม 226.74 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ทางโครงการฯ ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรและองค์กรภาครัฐ เอกชน ใช้น้ำเพื่อการประปา, อุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรม อย่างประหยัดเนื่องจากระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง


ชาวนาฝ่าฝืนปลูกข้าวนาปรังจำนวนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น