xs
xsm
sm
md
lg

ชาวทุ่งกุลาฯ จวก นอภ.เมินทุกข์ชาวบ้านรอบอ่างเก็บน้ำ สูบน้ำผลิตประปาป้อนชุมชนเมืองจนแห้งขอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพความแห้งแล้งที่กำลังลุกลามไปทั่วทุกพื้นที่ของภาคอีสาน โดยเฉพาะพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในเขตอำเภอปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด
ร้อยเอ็ด - ชาวบ้านใน 4 ตำบลพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้รวมตัวกราบไหว้รูปปั้นพระครูที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยจานใต้ เมื่อ 46 ปีก่อนขอพรช่วยให้ยื่นหนังสือคัดค้านการสูบน้ำจากอ่างเก็บไปผลิตน้ำประปาป้อนชุมนุมย่านเศรษฐกิจในตัว "ปทุมรัตน์" เป็นผลสำเร็จ หลังก่อนหน้านี้ค้านมาแล้วไม่ได้ผล เผยน้ำในอ่างกำลังเหือดแห้งวิกฤตหนักในรอบ 50 ปี หวั่นกระทบระบบนิเวศน์-ชาวบ้านรอบอ่างเก็บน้ำ จวก นอภ.เห็นแก่ประโยชน์ผู้ใช้ประปาในเขตเมืองมากกว่าความเดือดร้อนของชาวบ้านรอบอ่าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (28 ก.พ.56) นายสมัย สีแดง ผู้ใหญ่บ้านโคกทม หมู่ 10 นายนิยม แก้วประเสริฐ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านโคกทม หมู่ 2 ต.บัวแดง อ.ปทุมรัตต์ นายยุทธพงษ์ ขันทัพไทย ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองแคน หมู่ 1 ต.หนองแคน อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด และชาวบ้านจำนวนหนึ่งจาก 14 หมู่บ้าน ใน 4 ตำบล คือ ต.บัวแดง 3 หมู่บ้าน ต.หนองแคน 4 หมู่บ้าน ต.โพนสูง 5 หมู่บ้าน ต.บัวแดง 2 หมู่บ้าน ซึ่งใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยจานใต้เขต อ.ปทุมรัตต์ กำลังจะเหือดแห้ง

ได้เดินทางไปกราบไหว้ขอพรจากรูปปั้นหลวงปู่พระครูเกษตรสาระพิศิษฐ์ (อ่วม โพติโก) ผู้ริเริ่มก่อสร้างอ่างห้วยจานใต้เมื่อ 46 ปีก่อน ซึ่งมรณภาพไปแล้วให้ช่วยประสบความสำเร็จในการที่จะรวมตัวกันเข้าชื่อเสนอต่อนายวัยวุฒิ รักษาผล นายอำเภอปทุมรัตต์

ทั้งนี้ เพื่อคัดค้านการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยจานใต้ขึ้นไปทำน้ำประปาเพื่อการใช้สอยของผู้คนในเขตเทศบาลและสนองผู้ใช้น้ำ ในพื้นที่เขตตลาด-ร้านค้าในเขตอำเภอปทุมรัตต์ เพราะหากยังสูบน้ำออกไปใช้ต่อไปอีก จะสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน สัตว์เลี้ยงวัว ควาย ในพื้นที่รอบอ่าง ไม่มีน้ำใช้สอย

นางบัวลี ภาโคกทม หนึ่งในกลุ่มชาวบ้านที่มาร่วมคัดค้าน กล่าวว่า ในขณะนี้น้ำในอ่างไม่พอใช้สอยและเหลื่อพื้นที่น้ำเพียงเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ประมาณ4 ไร่เศษ จากพื้นที่อ่างห้วยจานใต้ทั้งหมด โดยอ่างเก็บน้ำดังกล่าวอยู่ในการกำกับดูแลของโครงการชลประทานร้อยเอ็ด สร้างเมื่อ พ.ศ.2508 ความจุน้ำในอ่าง 5.7 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่าง 3.676 ตารางเมตร ขณะนี้เริ่มได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เนื่องจากปี 2554 มีฝนตก เฉลี่ย 1,400 มิลลิเมตร/ปี ปี 2555 มีฝนตก 800 มิลลิเมตร/ปี ทำให้ปริมาณน้ำกักเก็บมีน้อย แม้เกษตรกรจะงดทำนาปรัง ปลูกถั่วลิสง ข้าวโพด อย่างสิ้นเชิงไปแล้ว

เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอ น้ำที่มีอยู่ทางประปาภูมิภาค ได้สูบขึ้นไปผลิตน้ำประปาเลี้ยงคนในเขตชุมชนอำเภอ แจกจ่ายแก่ชาวบ้านใน 4 ตำบล จนแห้งเหือดหายแทบไม่เหลือติดอ่าง และมีแนวโน้มว่าจะแห้งหมดในระยะเวลาอันใกล้นี้

นางบัวลี เล่าว่า ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ทางชาวบ้านได้เสนอมติของชาวบ้านทั้ง 14 หมู่บ้าน ผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แกนนำท้องถิ่นไปยังนายอำเภอให้ยุติการสูบน้ำ และให้ไปหาน้ำจากแหล่งอื่นมาทำน้ำประปาแทน แต่หลังจากยื่นหนังสือคัดค้านแล้ว กลับได้รับคำตอบผ่านแกนนำชุมชนกลับมาว่า นายอำเภอยังคงยืนยันว่าจะสูบน้ำและใช้น้ำในอ่างที่เหลือน้อยเต็มทีขึ้นไปทำน้ำประปาเช่นเดิม ซึ่งก็ได้รับการต่อต้านจากชาวบ้าน ไม่ยอมให้สูบน้ำ

แต่ก็ยังมีการลอบสูบน้ำในเวลากลางคืน ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ จึงได้รวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะพิทักษ์น้ำที่เหลือให้ใช้สอยกันเองให้ได้นานที่สุด เพื่อรอฝนใหม่ที่มาถึงให้ได้

นายนิยม แก้วประเสริฐ หนึ่งในแกนนำชาวบ้านกล่าวเสริมว่า ปีนี้ถือเป็นภาวะวิกฤติที่สุดของอ่างเก็บน้ำที่สร้างมาเกือบ 50 ปี มีการสะท้อนแนวคิดของชาวบ้านไปยังนายอำเภอนานแล้วว่า ควรจะยุติการใช้น้ำจากอ่างทำน้ำประปามานานและควรจะเลิกตั้งแต่น้ำเริ่มจะหมดแล้ว แต่การประปาภูมิภาค และทางอำเภอ ก็ยังเห็นแก่ได้เช่นการประปาก็เอาแต่จะได้ประโยชน์และรายได้ทางธุรกิจเกินไป ไม่เห็นความสำคัญด้านความเดือดร้อนที่ชาวบ้าน สัตว์เลี้ยงวัวควายในพื้นที่ที่จะได้รับ ไม่รวมถึงระบบนิเวศน์ต่างๆจะถูกทำลายไม่เหลือสภาพเดิม

นายสมัย สีแดง ผู้ใหญ่บ้านบ้านโคกทม หมู่ 10 บอกว่า การเสนอแนวคิดคัดค้านการใช้น้ำของชาวบ้าน นั่นเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เนื่องจากปัจจุบันน้ำในอ่าง ไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ในอีกไม่กี่วันนี้คาดว่าจะแห้งเหือดหมด ตนเห็นปัญหา ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อระบบการผลิตน้ำประปา บริการชาวบ้านในห้วงเดือน มีนา-เมษา ทุกปีอย่างแน่นอน

ตนเห็นว่าทางออกที่จะแก้ปัญหาระยะยาวนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดต้องเร่งทำแผนเสนอโครงการขุดลอกคูคลอง ของบประมาณจากรัฐบาลลงมาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เชื่อว่าหากไม่แก้ปัญหาแบบยั่งยืน อีกไม่นานปัญหาจะเกิดซ้ำขึ้นอีก

นายยุทธพงษ์ ขันทัพไทย ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองแคน หมู่ 1 ต.หนองแคน กล่าวว่า สิ่งที่ตนลำบากใจคือนายอำเภอมองแต่ภาพรวมเฉพาะของผู้ที่จะใช้น้ำประปาในเขตเมือง แต่ไม่มองความเดือดร้อนของชาวบ้านผู้ใช้น้ำรอบอ่าง ซึ่งการแก้ไขคือการจัดเตรียมเสนอของบประมารมาแก้ไขด้วยการเจาะน้ำประปาบาดาล หรือทำการขุดลอกเพื่อการเก็บกักน้ำเพิ่มมากขึ้นด้วยการขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล มาแก้ไขปัญหา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส.ร้อยเอ็ด เป็น ส.ส.พรรครัฐบาลทั้งหมด แต่กลับไม่เคยพูดถึงปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในประเด็นนี้เลย

อ่างเก็บน้ำห้วยจานใต้อยู่ในสภาพแห้งขอด เพราะถูกสูบน้ำไปผลิตน้ำประปาป้อนให้กับประชาชนในเขตตัวเมืองอ.ปทุมรัตน์
กำลังโหลดความคิดเห็น