ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชแล้งรุนแรงต่อเนื่อง ชาวนาปรังเปิดศึกแย่งชิงน้ำ “ลำตะคอง” ลอบปิดกั้นสูบเข้านาไหลไม่ถึงปลายน้ำทำประปาเมืองโคราชและหลายอำเภอวิกฤตขาดน้ำดิบ ผู้ว่าฯ สั่งจัดกำลัง จนท.ตรวจเข้มห้ามปิดกั้นเส้นทางน้ำ รับปีนี้แล้งหนักเขื่อนใหญ่ลดฮวบ พ้อเกษตรกรไม่สนคำเตือนเป็นอุปสรรค ย้ำให้ความสำคัญน้ำอุปโภคบริโภคอันดับแรก พร้อมเร่งของบฉุกเฉินเพิ่มอีก 50 ล้าน
วันนี้ (15 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เรียกประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดนครราชสีมา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมพร้อมหน้า
ในที่ประชุม นายวินัยได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลช่วยเหลือประชาชนไม่ให้เดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเด็ดขาด หากพื้นที่ใดขาดแคลนน้ำประปาให้จัดส่งรถบรรทุกน้ำเข้าไปบริการประชาชนทันที ทั้งนี้ ล่าสุด จ.นครราชสีมา ประกาศพื้นที่ประสบพิบัติภัยแล้งแล้วรวม 29 อำเภอ 217 ตำบล 2,214 หมู่บ้าน ยกเว้น อ.ปากช่อง, เสิงสาง และ อ.ครบุรี มีราษฎรประสบภัย 130,865 ครัวเรือน รวม 495,634 คน พื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย 864,811 ไร่ แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคให้ประชาชนผู้ประสบภัยแล้งแล้วกว่า 4.5 ล้านลิตร
นายวินัยเปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ปีนี้ จ.นครราชสีมาประสบปัญหาภัยแล้งค่อนข้างรุนแรงและขยายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของจังหวัด ทั้ง 5 เขื่อน ลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีปริมาณน้ำรวม 432 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุรวม 938.12 ล้าน ลบ.ม.
โดยอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว แหล่งน้ำดิบผลิตประปาหล่อเลี้ยงเมืองโคราชและหลายอำเภอใกล้เคียง มีปริมาณน้ำเหลือเพียง 115 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 314 ล้านลบ.ม. ขณะนี้ได้ปล่อยน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคเท่านั้น วันละ 6-8 แสน ลบ.ม. แต่ปัญหาสำคัญคือมีเกษตรกรในพื้นที่ใต้เขื่อนลำตะคองปลูกข้าวนาปรังจำนวนมากโดยไม่สนใจคำเตือนของเจ้าหน้าที่ จึงเป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการน้ำอย่างมาก
“เกษตรกรกลุ่มนี้มีการปิดกั้นทางน้ำลำตะคองและแย่งสูบน้ำไปใช้ในนาปรัง จึงทำให้น้ำที่ปล่อยจากเขื่อนลำตะคองส่งไปไม่ถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะในเขต อ.เมืองนครราชสีมา มีปัญหาต่อการผลิตน้ำประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายพื้นที่ ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จัดกำลังเข้าไปตรวจเข้มเส้นทางน้ำลำตะคอง เพื่อไม่ให้มีการปิดกั้นหรือทำฝายกั้นน้ำดังกล่าวแล้ว” นายวินัยกล่าว
ส่วนอ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 45 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 141 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤต ทางเขื่อนได้งดปล่อยน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงระบบนิเวศโดยสิ้นเชิงแล้ว และอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำรวม 64 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 110 ล้าน ลบ.ม.ในช่วง 2 เดือนจากนี้ไป ทางเขื่อนต้องบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งปีนี้ไปได้
นายวินัยกล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ที่รับน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่มาผลิตประปาไม่น่าห่วง เนื่องจากทางชลประทานยืนยันว่าสามารถส่งน้ำเพื่อทำประปาเพียงพอที่จะผ่านวิกฤตแล้งได้แน่นอน แต่ในพื้นที่ใช้แหล่งน้ำดิบประปาจากแม่น้ำมูลซึ่งเป็นปลายน้ำอาจมีปัญหา เช่น อ.โนนสูง เนื่องจากน้ำที่เหลืออยู่ในเขื่อน หากจะส่งให้ไปถึงลำมูลคงต้องใช้น้ำปริมาณมากและ จะทำให้น้ำที่มีอยู่ไม่พอใช้ตลอดหน้าแล้งปีนี้
ฉะนั้น คงต้องหามาตรการช่วยเหลืออย่างอื่นสำหรับพื้นที่ท้ายน้ำ เช่น อาจใช้รถบรรทุกน้ำออกไปแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้ประชาชนแทน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีหลายพื้นที่ได้ร้องขอขึ้นมาแล้ว เช่น อ.คง, อ.บัวใหญ่, อ.ชุมพวง และ อ.โนนสูง เจ้าหน้าที่ได้ระดมรถน้ำลงไปช่วยเหลือแล้ว รวมถึงประส่วนหน่วยทหารเข้าไปให้การช่วยเหลือด้วย
“ขณะนี้ทางจังหวัดได้ขออนุมัติอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขยายเวลาประกาศพื้นที่ประสบพิบัติภัยแล้งออกไปอีก 3 เดือน จากช่วงแรกสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา และงบประมาณในอำนาจของนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดได้นำไปให้ความช่วยเหลือประชาชนใกล้หมดแล้ว จึงจำเป็นต้องขออนุมัติเพิ่มเติมอีก 50 ล้านบาท เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง” นายวินัยกล่าว