xs
xsm
sm
md
lg

“ปู”สั่งแจงผังเมืองรวมกทม. ชง“หมอชิตเก่า”เชิงพาณิชย์สูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (30 เม.ย.) นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยร่างดังกล่าวเป็นการกำหนดให้ใช้ผังเมืองรวม ในท้องที่กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและดำรงรักษากรุงเทพมหานคร โดยมีการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อมที่ดี มีมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่
อย่างไรก็ตาม โดยเห็นควรให้ส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับฟังความเห็นของกระทรวงการคลัง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพิจารณาด้วย
โดยกระทรวงการคลังให้ความเห็นว่า ข้อเสนอให้กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตเดิมจากประเภทพาณิชยกรรม (สีแดง พ.4) มีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นดิน (เอฟเออาร์) 8 ต่อ 1 เป็นประเภทพาณิชยกรรม (สีแดง พ. 5) โดยมีอัตราส่วนต่อพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นดิน 10 ต่อ 1 ส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นว่าเพื่อประโยชน์การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ควรพัฒนาแนวนโยบายการใช้ที่ดินบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน รวมทั้งข้อบทบัญญัติกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้องและแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และแผนพัฒนาบริเวณรัตนโกสินทร์ที่ส่งเสริมให้มีพื้นที่โล่งว่างสีเขียวการอนุรักษ์โบราณสถานสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และลดความหนาแน่นแออัดของอาคาร สถานที่และการ โดยที่ประชุมครม.เห็นชอบตามความเห็นดังกล่าว
แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) รายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุในที่ประชุมว่าอยากให้มีการปรับแนวทางการทำงานของผังเมืองใหม่ทั้งหมด ให้สอดคล้องยุทธศาสตร์ของประเทศ ทั้งนี้จะมีผลกระทบที่เกิดขึ้นกับส่วนราชการ และปัญหาที่เกิดขึ้นกับวิธีคิดแบบเก่า โดยรัฐบาลจะมีการแถลงข่าวชี้แจงในวันที่ 1 พฤษภาคม
รายงานว่าข่าวแจ้งว่า ร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ….ฉบับปรับปรุงครั้งที่3 เมื่อครม.เห็นชอบ ต่อจากนั้นจะส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.1) ลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ต่อไป คาดว่าไม่เกินวันที่ 15พฤษภาคม 2556 นี้
ทั้งนี้ สาระสำคัญร่างผังเมืองรวมกทม. กำหนดให้ยึดมติคณะกรรมการผังเมืองเมื่อวันที่30 พฤศจิกายน 2555 เป็นเกณฑ์ อาทิ ขนาดถนน กับขนาดอาคารและความสูง พื้นที่สีน้ำตาล หรือที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย หนาแน่นมาก ข้อกำหนดคงเดิมเหมือน กฎกระทรวงผังเมืองรวมกทม.เก่าปี 2549 ที่สร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษได้ เกิน1หมื่นตารางเมตรสูงเกิน 23 เมตร ถนนกว้าง 10 เมตร กรณีอาคารสูงไม่เกิน 23 เมตรหรือ 8ชั้น สามารถสร้างในซอยขนาด ไม่เกิน 6 เมตร ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522ได้
ร่างข้อกำหนด พื้นที่สีแดง หรือที่ดินประเภทพาณิชยกรรม พ.4-พ.5 ถนนกว้าง 10เมตร สามารถพัฒนาอาคารรูปแบบเชิงพาณิชย์ได้สูงสุด
สำหรับการก่อสร้างอาคารอยู่อาศัยรวมขนาด 5,000-9,999 ตารางเมตร พ.1ห้ามสร้าง พ.2 ถนนต้องกว้าง 16 เมตร พ.3 ถนนกว้าง 16 เมตรอาคารเกินหมื่นตารางเมตร พ.1ห้ามสร้างพ.2-3 ถนนกว้าง30เมตร ส่วนอาคารสำนักงาน5,000-9,999ตารางเมตร พ.1-3ถนนกว้าง 16 เมตรเกินหมื่นตารางเมตร พ.1 ห้ามสร้าง พ.2พ.3ถนนกว้าง 30 เมตร ขณะที่อาคารพาณิชยกรรม พ.1ไม่เกินหมื่นตารางเมตรถนนกว้าง 16 เมตร พ.2พ.3 เกินหมื่นตารางเมตร ถนนกว้าง 30 เมตร
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ก่อนหน้านั้น มีการสรุปแนวทางการปรับปรุงจะให้ความสำคัญกับการลดโลกร้อน ประกอบด้วย
1. พัฒนาเมืองให้กระชับ จำกัดขอบเขตการพัฒนาเมืองและส่งเสริมการพัฒนาเมืองให้มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน และให้ความสำคัญกับการขนส่งมวลชนระบบราง ที่ดินในรัศมี 500 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้าจะได้รับสิทธิพิเศษส่งเสริมการพัฒนามากกว่าพื้นที่อื่น ๆ
2. เพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่โล่งว่างมากขึ้น เช่น อาจส่งเสริมการพัฒนาแนวสูงและมีพื้นที่ว่างด้านล่าง ให้โบนัสพิเศษที่ดินที่เพิ่มพื้นที่สีเขียว
3. ขอบเขตการพัฒนาเมืองจะพิจารณาตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ด้านสีผังเมืองจะไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก จะเปลี่ยนเฉพาะบางพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่รอบนอกที่การพัฒนายังเบาบาง จะเพิ่มการพัฒนาเข้าไปมากขึ้น เช่น พื้นที่ใจกลางเมืองหรือพื้นที่สีแดง (พาณิชยกรรม) สีน้ำตาล (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) และสีส้ม (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) จะคงเดิม เพราะพัฒนาได้เต็มที่อยู่แล้ว แต่พื้นที่ในแนวรถไฟฟ้าโดยรอบสถานีรัศมี 500 เมตร จะส่งเสริมให้พัฒนามากขึ้น เพื่อให้คนหันมาใช้ระบบการขนส่งมวลชนแทนรถยนต์ส่วนตัว
ทั้งในแนวรถไฟฟ้าสายที่เปิดใช้ในปัจจุบัน และรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย สายใหม่ อาทิ ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ช่วงตากสิน-บางหว้า สีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) สีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) จะให้โบนัสพิเศษเหมือนเดิม แต่จะเพิ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบสถานี ให้ FAR (อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน) พัฒนาได้มากขึ้น เช่น เดิมพื้นที่ ย.4 สร้างอาคารขนาดใหญ่ไม่ได้ ให้สร้างได้ เป็นต้น พื้นที่ตลอดสองข้างทางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์จะปรับสีผังเมืองบางบริเวณให้เป็นสีส้มพัฒนาได้หนาแน่นขึ้น
โดยรอบศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ จะเปิดการพัฒนามากขึ้น รองรับกับการอยู่อาศัยและแหล่งงานที่เพิ่มขึ้น รัศมีตั้งแต่เขตจตุจักรไปถึงถนนแจ้งวัฒนะ จากปัจจุบันกำหนดเป็นพื้นที่สีน้ำเงิน (ส่วนราชการ) ล้อมรอบด้วยพื้นที่สีเหลือง (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) จะปรับพื้นที่สีเหลืองบางส่วนเป็นพื้นที่สีส้ม (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) ให้สร้างอาคารขนาดใหญ่ได้มากขึ้น
ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันออก เช่น หนองจอก มีนบุรี ร่มเกล้า ลาดกระบัง ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่สีเขียว (พื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม) สีเขียวลายขาว (พื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม) จะคงเป็นพื้นที่รับน้ำไว้เหมือนเดิม ขณะที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิจะเน้นส่งเสริมการพัฒนาเรื่องโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าในย่านลาดกระบังและร่มเกล้ามากขึ้น
สำหรับพื้นที่ฝั่งตะวันตก เช่น ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา ฯลฯ แม้จะถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีเขียวและเขียวลายขาวเหมือนกัน แต่จะถูกกำหนดเป็นที่อยู่อาศัยที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี เช่น บ้านเดี่ยว เป็นต้น และเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้นเพื่อป้องกันภาวะโลกร้อน
ขณะที่พื้นที่กรุงเทพฯฝั่งใต้ เช่น พระราม 2 บางบอน จะปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินย่านถนนวงแหวนรอบนอก จากปัจจุบันเป็นพื้นที่สีเขียว สีเหลือง และสีส้ม จะเพิ่มพื้นที่สีเหลืองให้สร้างที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น ซึ่งกทม.อาจจะกำหนดให้มีการขยายเมืองไปบริเวณนี้เพิ่มเพื่อลดความแออัดในเมือง
ขณะเดียวกันในส่วนของศูนย์คมนาคมจากเดิมกำหนดไว้ 3 แห่ง คือตากสิน พหลโยธิน และมักกะสัน ผังเมืองรวมฉบับใหม่จะยกเลิกบริเวณตากสิน เนื่องจากรัฐบาลไม่มีแนวคิดจะพัฒนาแล้ว และจะปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ เน้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางและหนาแน่นมาก โดยจะพิจารณาพื้นที่บริเวณวงเวียนใหญ่แทน เนื่องจากมีรถไฟฟ้าหลายสายพาดผ่าน ทั้งบีทีเอส สายสีน้ำเงิน และสีแดง ต่อไปจะเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญในการเดินทาง
พร้อมกับเพิ่มผังสาธารณูปโภค เช่น ระบบป้องกันน้ำท่วม จะกำหนดพื้นที่ชัดเจนว่าบริเวณใดมีระบบป้องกันน้ำท่วมหรือเพิ่มระบบอุโมงค์ส่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น อีกทั้งจะให้เจ้าของที่ดินกันพื้นที่ว่าง ครึ่งหนึ่งเป็นบ่อพักน้ำ นอกจากนี้เพื่อป้องกันโลกร้อนจะมีผังแสดงพื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่โล่งและส่วนสาธารณะเพิ่มขึ้น หากเจ้าของที่ดินทั้งส่วนบุคคลและหมู่บ้านจัดสรรให้พื้นที่สีเขียวเพิ่มจะได้โบนัสพิเศษ
ส่วนโครงข่ายคมนาคมจะมีแนวเส้นทางรถไฟฟ้า 12 สาย โครงข่ายถนนซึ่งจะมียกเลิกแนวถนนสายหลักบางสายที่กำหนดไว้ในผังเมืองรวมนานแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีการก่อสร้าง และจะเพิ่มถนนสายรองในพื้นที่ชั้นกลางมากขึ้น เพื่อเชื่อมตรอกซอกซอยและเชื่อมโยงการเดินทางได้มาก
กำลังโหลดความคิดเห็น