xs
xsm
sm
md
lg

“สนธยา-พลเอกชัยวัฒน์” ร่วมพิธีบวงสรวงศาลหลักเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สนธยา-พลเอกชัยวัฒน์” ร่วมพิธีบวงสรวงศาลหลักเมือง เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาองค์พระหลักเมืองครบรอบ 231 ปี ด้านผู้บริหาร วธ.เดินริ้วขบวนฉลองวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์

วันนี้ (21 เม.ย.) เมื่อเวลา 07.09 น. นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย พลเอกชัยวัฒน์ สท้อนดี ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ประธานกรรมการบริหารสำนักงานกิจการศาลหลักเมือง ร่วมเป็นประธานพิธีบำเพ็ญกุศลทางศาสนาพุทธ และพิธีบวงสรวงสังเวยตามพิธีพราหมณ์ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาองค์พระหลักเมืองครบรอบ 231 ปี ณ ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร ซึ่งศาลหลักเมืองได้ตั้งตระหง่านเป็นหลักชัยให้พระนครมาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี โดยทรงโปรดให้มีพระราชพิธีฝังเสาพระหลักเมือง ตามความเชื่อโบราณราชประเพณี ดังนั้น พิธีกรรมในครั้งนี้ถือเป็นการกราบไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง อันเป็นที่สถิตของหอเทพารักษ์ และประดิษฐานแห่งเทวดาสำคัญทั้ง 5 ผู้คุ้มครองพระนคร คือ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาศไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลาง ซึ่งประชาชนชาวไทยต่างให้ความเคารพอย่างไม่เสื่อมคลายมาตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน

จากนั้นเวลา 09.30 น.นายสนธยา พร้อมด้วย นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงวัฒนธรรม นำเดินริ้วขบวนฉลองวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ 231 ปี “วัฒนธรรมนำไทย” นำโดยวงโยทวาทิต ริ้วไตรรงค์งามสง่า ขบวนผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ขบวนแต่งชุดโบราณ ขบวนผู้แทนศาสนา ขบวนชุมชนชาววัฒนธรรม ริ้ว “กลองสามัคคี” (รำกลองยาว) เป็นต้น ซึ่งเคลื่อนขบวนจากบริเวณถนนเส้นกลางสนามหลวง เดินไปตามถนนราชดำเนินใน ผ่านหน้าศาลฎีกา และเข้าสักการะองค์พระหลักเมืองในศาลหลักเมือง จากนั้นเคลื่อนขบวนไปตามถนนหน้าพระลาน ถึงกรมศิลปากร เลี้ยวขวาไปตามถนนหน้าพระธาตุ ผ่านวัดมหาธาตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เข้าสักการะพระพุทธสิหิงค์

นายสนธยา กล่าวว่า ริ้วขบวนฉลองวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ 231 ปี “วัฒนธรรมนำไทย” ใช้แนวคิดโดยการผสมผสานวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงการเดินทางของระยะเวลาและวิถีชีวิตที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยอย่างสอดคล้องและกลมกลืน โดยสื่อผ่านวัสดุพื้นบ้าน ผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งทำให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาร่วมงาน ได้รับรู้และเข้าใจศิลปะ และวัฒนธรรมไทยตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีพัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นงานประจำปีที่มีคุณค่า และจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ การจัดงานดังกล่าวยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของประเทศ ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยเฉลี่ยต่อปีแล้วมีกว่า 2.3 ล้านคน ดังนั้น ถือเป็นการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมไทย โดยใช้ศักยภาพด้านมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมของชาติอันทรงคุณค่าภายในพื้นที่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ให้เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ



กำลังโหลดความคิดเห็น