วธ. ร่วมกับ สำนักพระราชวัง จัดพิธีบวงสรวงประตูมุกบานใหม่ ภายในหอพระมณเฑียรธรรม วัดพระแก้ว สนองพระราชปรารภ “สมเด็จพระเทพฯ” ทรงห่วงใยหากปล่อยตากแดด ถูกละอองฝน ลวดลายมุกอาจเสื่อมสภาพ ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้เห็นมรดกความงดงามของชาติ
วันนี้ (18 มี.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ) ร่วมกับ สำนักพระราชวัง จัดพิธีบวงสรวง บานประตูประดับมุก หอพระมณเฑียรธรรม ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อถอดบานประตูมุกบานเก่า และเตรียมติดตั้งประตูมุกบานใหม่ โดยมีพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ เป็นผู้ประกอบพิธีบวงสรวง และ นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน โดยภายในพิธี พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ได้เป็นประธานจุดธูปเทียนถวายเครื่องสังเวย บูชาพระฤกษ์ และอ่านองค์การถวายบูชาเทพยดาอารักษ์ จากนั้น นายสนธยา ได้โปรยข้าวตอกดอกไม้ที่เครื่องสังเวย และพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ได้ทำการรดน้ำมนต์ และเจิมเครื่องมือช่าง
นายสนธยา กล่าวว่า ตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชปรารภให้กรมศิลปากรจัดสร้างบานประตูประดับมุก หอมณเฑียรธรรม ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ขึ้นใหม่ จำนวน 1 ชุด เมื่อปี 2550 ซึ่งพระองค์ทรงห่วงใยว่า หากปล่อยให้ตากแดด ถูกละอองฝน จะทำให้ลวดลายประดับมุกและรักสมุกเสื่อมสภาพ จนเกิดความทรุดโทรมและเยาวชนรุ่นใหม่อาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นมรดกความงดงาม ของชาติ ทางกรมศิลปากรได้รับสนองพระราชปรารภ จัดสร้างบานประตูมุกชุดใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำจากไม้สักทองทั้งแผ่น ขนาดความกว้าง 28 นิ้ว ยาว 143 นิ้ว หนา 3.5 นิ้ว ส่วนเปลือกหอยโข่งมุกที่ใช้ในการสร้างลายประดับมุกนี้ ได้จัดหาจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น มาใช้งานประดับมุก มีปริมาณเปลือกน้ำหนักประมาณ 1,300 กิโลกรัม
ด้าน นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร เล่าว่า การดำเนินการจัดสร้างบานประตูมุก เริ่มต้นในปี พ.ศ.2550 เสร็จในปี 2555 รวมระยะเวลา 5 ปี โดยมี นายอำพล สัมมาวุฒธิ นักวิชาการช่างศิลป์ ชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เป็นผู้ควบคุมการดำเนินงาน ให้มีความประณีต วิจิตรบรรจง และละเอียดมากที่สุด โดยเฉพาะขั้นตอนการฉลุลวดลายใช้เวลานานถึง 3 ปี จากนั้นมีการประดับลวดลายมุกลงบนบานประตู โดยใช้กรรมวิธีและวัสดุแบบโบราณ คือใช้ยางรักเป็นตัวประสานพื้นและถมลาย ปล่อยให้แห้งสนิททีละชั้นจนเต็มทับตัวลาย เมื่อเต็มแล้วทำการขัดแต่งผิวหน้าลายด้วยกระดาษทรายน้ำจนเนื้อรักสมุกที่ทับบนตัวลายมุกออกหมด จนปรากฏลวดลายประดับมุกครบทั้งบาน รวมทั้งต้องมีการขัดมันผิวหน้าลาย โดยใช้ผงสมุกที่ได้จากเขากวาง (เขากวางแก่ นำมาเผาไฟจนเป็นถ่านสีขาว) มาบดละเอียดทาลงบนผิวเพื่อให้ปรากฏจุดที่ยังขัด ได้ไม่เรียบชัดเจน ช่างจะนำกระดาษทรายอย่างละเอียดมากๆ มาขัดจนเรียบ ใช้ยางรักน้ำเกลี้ยงชโลมทั่วผิวแล้วเช็ดถอนยางรักออก ขัดถูด้วยผ้าให้เกิดความร้อนผิวงานจะเงาเป็นมัน โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 7.5 ล้านบาท
ขณะที่ นายอำพล กล่าวว่า ขั้นตอน การจัดหาวัสดุที่นำมาใช้มีความละเอียดมาก ทั้งหาหอยโข่งมุก ซึ่งเป็นหอยชนิดหนึ่งที่มีความแวววาวในตัว จากนั้นต้องนำมาขัดหินปูนออก แล้วนำมาขัดเจียรให้มีขนาดบางได้ขนาดที่เหมาะสมกับการใช้งาน รวมทั้งการจัดหาไม้สักทอง จาก จ.เชียงใหม่ โดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดหามา เป็นไม้สักทั้งต้นให้ได้หุ่นบานประตูที่เป็นไม้แผ่นเดียวทั้งบาน นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมแบบลวดลายประดับมุก โดยได้คัดลอกแบบจากบานประตูมุกหอมณเฑียรธรรมบานเดิม และได้ภาพถ่ายลวดลายประดับมุกจากบานประตูประมณฑป วัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี นำมาเป็นแบบเพื่อปรับแบบลายใช้งาน และให้มีรูปแบบใกล้เคียงกับลายโบราณในสมัย กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ให้มากที่สุด
ภายหลังจากมีการบวงสรวงเสร็จสิ้นแล้ว กรมศิลปากร จะดำเนินการถอดและประกอบบานประตูบานใหม่ เพื่อทดแทนบานเดิมต่อไป โดยในวันที่ 20 มี.ค.นี้ ส่วนบานประตูบานเก่า จะนำไปอนุรักษ์ ณ สำนักช่างสิบหมู่ ศาลายา ก่อนที่จะเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติต่อไป