xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์สร้างบานประตูประดับมุกหอมณเฑียรธรรมวัดพระแก้วเสร็จแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมศิลปากรสร้างบานประตูประดับมุก หอมณเฑียรธรรมในวัดพระแก้วเสร็จเรียบร้อยแล้วหลังตัวเก่าชำรุด เผยใช้เวลาดำเนินการถึง 5 ปีเต็ม เตรียมทำรายงานกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพฯ

นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชปรารภให้กรมศิลปากรจัดสร้างบานประตูประดับมุก หอมณเฑียรธรรม ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นใหม่จำนวน 1 ชุด เมื่อปี 2550 ตั้งแต่สมัยนายอารักษ์ สังหิตกุล เป็นอธิบดีกรมศิลปากร เนื่องจากพระองค์ทรงห่วงใยว่าหากปล่อยให้ตากแดด ตากลมจะทำให้ยางรักเสื่อมสภาพจนเกิดความทรุดโทรมและเยาวชนรุ่นใหม่อาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นมรดกความงดงามของชาติ โดยกรมศิลปากร ได้รับสนองพระราชปรารภ จัดสร้างบานประตูมุกชุดใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทำมาจากไม้สักทองทั้งแผ่น มีขนาดความกว้าง 28 นิ้ว ยาว 143 นิ้ว หนา 3.5 นิ้ว ที่สำคัญใช้มุกที่สั่งนำเข้าจากประเทศพม่า ซึ่งเป็นแหล่งรวมมุกที่ดีที่สุดจากต่างประเทศ ทั้งอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น มาประดับมีน้ำหนังถึง 1,300กิโลกรัม

การดำเนินการจัดสร้างบานประตูมุกครั้งนี้ ใช้เวลาร่วม5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 และแล้วเสร็จในปี 2555 โดยมีนายอำพล สัมมาวุฒธิ นักวิชาการช่างศิลป์ ชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่กรมศิลปากร เป็นผู้ควบคุมการดำเนินงาน โดยมีการดำเนินงานที่มีความประณีตวิจิตรบรรจงและละเอียดมากที่สุด โดยเฉพาะขั้นตอนการฉลุลวดลายใช้เวลานานถึง 3 ปี จากนั้นก็มีการลงยางรักทีละชั้น รวมทั้งต้องมีการลงผงสมุที่ได้จากเขากวางเถามาบดทาแทรกลงไปตามเนื้อลายไม้ เพื่ออุดร่องรอยให้มีความเรียบร้อยและสมบูรณ์ที่สุด โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 7.5 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ผมจะทำรายงานกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถึงการดำเนินงานดังกล่าว และประสานกับสำนักพระราชวังเพื่อกำหนดฤกษ์การบวงสรวงเพื่อติดตั้งบานประตูมุกบานใหม่ ส่วนบานประตูมุกเก่าจะนำไปบูรณะที่สำนักช่างสิบหมู่ ก่อนที่จะนำไปอนุรักษ์ไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครต่อไป” อธิบดีกรมศิลปากรกล่าว

ด้าน นายอำพล กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินงานมีความประณีตทุกส่วนงานตั้งแต่การจัดหาวัสดุที่นำมาใช้ ทั้งหาหอยโข่งมุก ซึ่งเป็นหอยชนิดหนึ่งที่มีความแวววาวในตัว สั่งซื้อมาจากประเทศพม่า จากนั้นต้องนำมาขัดหินปูนออก แล้วนำมาเจียรให้มีขนาดบางได้ขนาดที่เหมาะสมกับการใช้งาน รวมทั้งการจัดหาไม้สักทองนั้น ได้รับการอนุเคราะห์จากกรมป่าไม้ ช่วยจัดหาจาก จ.เชียงใหม่มาให้ โดยต้องหุ่นบานประตูไม้ทองทั้งต้นให้เป็นแผ่นเดียว นอกจากนี้ยังต้องเตรียมแบบลวดลายประดับมุกโดยได้คัดลอกแบบจาก บานประตูมุกหอมณเฑียรธรรมบานเดิม และบานประตูวัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี เพื่อให้มีรูปแบบใกล้เคียงกับลายโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ให้มากที่สุด

ส่วนลวดลายภายในบนประตูนั้น ใช้ลายกนกก้านขดประกอบเถาว์ลาย แต่ละชั้นมีภาพแสดงเรื่องราวของเทพเจ้าองค์ต่างๆ ไล่ระดับขึ้นไป ตั้งแต่ชั้นล่างสุดเป็นภาพท้าวเวสสุวรรณ ขึ้นไปอีกชั้นเป็นพระนารายณ์ทรงครุฑ ถัดมาเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระพรหมทรงหงส์ และส่วนยอดสุดเป็นรูปทรงบุษบกภายในบรรจุเครื่องหมายอุณาโลม แทนความหมายคือ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และตราประจำพระมหากษัตริย์

สำหรับบานตูประดับมุกที่อยู่ในหอมณเฑียรธรรมนั้น มีความสำคัญและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน เนื่องจากเป็นบานประตูในพระอุโบสถของวัดบรมพุทธาราม โดยมีคำจารึกฉลุลายมุกเป็นตัวหนังสือสมัยอยุธยา ว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ. 2294 เป็นบานประตูไม้สักทองที่ช่างโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาแกะสลักลวดลายลงรักประดับมุกไว้อย่างสวยงาม จากนั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาได้ทำสงครามกับพม่า วัดดังกล่าวจึงถูกปล่อยทิ้งร้าง เมื่อเจ้าอาวาสวัดศาลาปูนมาพบเห็นก็ได้นำบานประตูมุกมาเก็บรักษาไว้ที่วัด จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดดังกล่าว ทรงเห็นว่าบานประตูมุกมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ควรจะนำมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณสถานแห่งชาติพระนคร ต่อมาเมื่อในรัชสมัยสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้มีการบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เห็นว่าบานประตูมุกมีขนาดเหมาะสมที่จะนำมาไว้ที่มณเฑียรธรรม จึงได้นำมาประกอบเข้าไว้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือว่าบานประตูมุกเป็นผลงานชิ้นเอกของชาติไทยที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น