ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องหาเสรีภาพของ “เหนือเมฆ” และเอกราชแห่งเขตแดนของ “เขาพระวิหาร” กลับมาที่เขตกรุงเก่ารัตนโกสินทร์ก็มีการเรียกร้องถึงมาตรฐานความยุติธรรมของ “การทุบอาคารศาลฎีกา”
สืบเนื่องจากที่สำนักงานศาลยุติธรรมมีโครงการทุบทิ้งอาคารศาลฎีกาเพื่อสร้างใหม่ เป็นเหตุให้หลายภาคส่วนรวมตัวกันเพื่อยับยั่งสิ่งที่เกิดขึ้น โดยมีการรวมตัว ตั้งแต่นักวิชาการ ภาคประชาชน จนถึงกรมศิลปากร
ทว่าแม้จะมีเสียงทักท้วงจากหลายภาคส่วน สำนักงานศาลยุติธรรมก็ยังคงเดินหน้าโครงการดังกล่าวอยู่อย่างเงียบๆ โดยไล่ทุบภายในตึกไปกว่า 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว
เหตุใดจึงไม่ควรทุบ ลองฟังเหตุผลที่จะทำให้คำว่าโบราณสถานของไทยไปไกลกว่าสิ่งปลูกสร้างลายกนกกันบ้าง?
สัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์หรือซากตึก?
การทุบอาคารศาลฎีกาแล้วสร้างใหม่นั้นถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย ซึ่งเหตุผลในการรื้อสร้างศาลฎีกาของสำนักงานศาลยุติธรรมนั้น เท่าที่ได้ประกาศตามหน้าสื่อ ได้ให้เหตุผลไว้ 3 ประการด้วยกันคือ 1.อาคารสำนักงานนั้นมีความเสื่อมโทรมเก่าชำรุดจนเกินจะใช้งาน สามารถถล่มพังได้ตลอดเวลา 2. พื้นที่ในสำนักงานนั้นไม่เพียงพอต่อการทำงานของหน่วยงานศาลฎีกาในยุคปัจจุบัน 3. อาคารศาลฎีกานั้นไม่มีความสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์ เป็นเพียงอาคารสำนักงานธรรมดาเท่านั้น
โดยเหตุผลทั้ง 3 ข้อนั้น ในความเห็นของชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร มองว่ายังไม่ใช่เหตุผลที่เพียงพอในการรื้อสร้างครั้งนี้ โดยมีข้อหักล้างเหตุผลของสำนักงานศาลดังนี้ 1.อาคารสำนักงานศาลฎีกาเก่าชำรุดเกินใช้งานนั้น ราวปี 2546 ทางสำนักงานศาลยุติธรรมได้ว่าจ้าง ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำการวิจัยชื่อ “โครงการศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหาอาคารศาลฎีกาและอาคารบริเวณรอบศาลฎีกา” ผลการวิจัยบอกว่า อาคารเสื่อมสภาพไปตามความเก่าเท่านั้น ยังสามารถใช้งานได้ โดยในงานวิจัยชั้นนั้นยังระบุถึง วิธีแก้ไขปัญหาทั้งหมดอีกด้วย
“งานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นหลักฐานอย่างดี ซึ่งจะเห็นว่าเป็นงานวิจัยที่ว่าจ้างโดยสำนักงานศาลยุติธรรมเองด้วย ดังนั้นจึงบอกได้ว่าไม่มีอดติในงานวิจัย”
2.พื้นที่ในอาคารไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ชาตรีเผยว่า ยังมีข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งที่สำนักงานศาลยุติธรรมไม่ได้บอก นั่นคือ แต่เดิมในตัวอาคารศาลฎีกาจะมีหลายหลังที่มีศาลหลายศาลทำงานอยู่ด้วยกัน เช่น ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลแพ่ง ศาลอุทธรณ์ ศาลเยาชน แต่ปัจจุบันศาลเหล่านี้ ได้ย้ายตัวเองออกจากพื้นที่หมดแล้ว
“ฉะนั้นแม้ไม่มีการทุบตึกใดๆ เลยสักตึกเดียว ตัวศาลฎีกาเองก็มีพื้นที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบ 3 เท่า นอกจากนั้นในตัวอาคารก็มีส่วนคอร์ดข้างในตรงกลางขนาดใหญ่ที่สามารถสร้างอาคารข้างในตรงกลางเพิ่มเติมได้ด้วย”
3.อาคารศาลฎีกาไม่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ย้อนกลับไปในช่วงปี 2550 ช่วงรัฐบาลสุรยุทธิ์ จุลานนท์ได้มีการโครงการนี้ขึ้นมา ทำให้ชาตรีได้ลองกลับไปค้นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติก็พบหลักฐานระบุว่า อาคารศาลฎีกานั้นถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2482 เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานถึง “เอกราชทางการศาล” ของประเทศไทย
“ก่อน 2481 ที่ประเทศไทยจะได้รับเอกราชทางการศาลอย่างแท้จริงนั้น เราเสียเอกราชทางการศาลให้กับหลายประเทศ ตามสนธิสัญญาต่างๆที่เราเสียเปรียบ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา กษัตริย์ของไทยก็แก้ไขสนธิสัญญาตรงนี้ตามลำดับ แต่ได้สำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อปี 2481 ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในตอนนั้นมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ และได้มีการสร้างอาคารศาลฎีกาขึ้นในปี 2482 เพื่อเป็นทั้งอนุสรณ์สถานระลึกถึงเอกราชทางการศาลของประเทศ และเป็นสถานที่ทำงานของศาลไปในตัว”
ทว่านอกจากความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ชาติไทยแล้ว ในด้านของศิลปสถาปัตยกรรมนั้น ชาตรีก็เผยว่า อาคารรูปทรงเหลี่ยมทึบที่ไม่มีลวดลายใดๆนี้ เรียกว่า สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (modern architecture) ในโลกสากลปัจจุบันกำลังรณรงค์ให้อนุรักษ์เอาไว้ เพราะตึกหน้าตาแบบนี้สะท้อนจิตวิญญาญของสังคมสมัยใหม่
“ในยุคนั้น อาคารหลังนี้ถูกออกแบบด้วยจิตวิญญาณใหม่ที่ต้องการจะให้เรียบง่ายโดยตรง ฉะนั้นในระดับสากลเวลาเราจะเข้าใจหรือซึมซับถึงคุณค่าของสถาปัตยกรรมยุคนั้น เราต้องเข้าใจมันภายใต้จิตวิญญาณของยุคสมัยนั้น คือความเจริญ ความสมัยใหม่ ความทันสมัยมันสะท้อนผ่านความเรียบเกลี้ยง เรียบง่าย และความก้าวหน้าทางการก่อสร้างที่เป็นเทคโนโลยีของคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งอาคารหลังนี้ก็คือเป็นอาคารในยุคแรกๆ ที่ใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างแบบนี้ในสังคมไทย”
นัยของความยุติธรรมที่ถูกทุบทิ้ง
ความเคลื่อนไหวล่าสุดนั้น แม้กรมศิลปากรจะแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ที่มาทุบอาคาร โดยใช้พ.ร.บ.โบราณสถาน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เพราะคู่กรณีครั้งนี้คือศาลยุติธรรม ผลที่สืบเนื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะกับกลุ่มตัวอาคารศาลฎีกา หากยังส่งผลถึงความยุติธรรมในการบังคับใช้กฎหมายด้วย
กฎหมายฉบับแรกที่จะถูกทัดทานจากกรณีนี้คือ กฎหมายการสร้างตึกในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นในที่กำหนดไว้ว่า ห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 16 เมตร แต่อาคารที่จะสร้างใหม่แทนนั้นสูงกว่า 32 เมตรซึ่งสูงกว่าถึง 2 เท่า โดยได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2530
และกฎหมายอีกฉบับที่ถูกสร้างแนวปฏิบัติใหม่คือ พ.ร.บ.โบราณสถาน ซึ่งเมื่อกรมศิลปากรชี้ว่า อาคารศาลฎีกาคือโบราณสถาน แต่สำนักงานศาลกลับให้เหตุผลว่า อาคารศาลยังไม่ได้ถูกขึ้นบัญชี จึงยังคงสามารถดำเนินการรื้อสร้างต่อได้
“ตอนนี้สำนักงานศาลยุติธรรมได้สร้างแนวปฏิบัติแบบนี้ขึ้นมาซึ่งมันผิด ต่อไปหากกรมศิลปากรเห็นว่าอาคารไหนมีคุณค่า ไปแจ้งกับเจ้าของว่า เป็นโบราณสถานห้ามทุบ เกิดเจ้าของอ้างว่า ยังไม่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานก็สามารถทุบได้ ต่อไปโบราณสถานก็ไม่เหลือ เพราะการขึ้นทะเบียนมันต้องใช้เวลาเป็นปีๆ”
บทเรียนที่เกิดจากกรณีนี้นั้นมีหลายแง่มุมด้วยกัน อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่า ประเด็นที่สำคัญแรกสุดคือ สังคมไทยยังไม่เข้าใจประวัติศาสตร์และคุณค่าของงานศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่เท่าที่ควร
“เรายังมีเพดานความคิดเรื่องการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ที่คับแคบมาก คือจะต้องเป็นอาคารที่มีความเก่าแก่เป็นร้อยปีขึ้นไป ต้องมีลวดลายไทยเต็มไปหมด ถึงจะมีคุณค่า ซึ่งในโลกนี้ไม่มีใครคิดแบบนั้นกันแล้ว คุณค่ามันไม่ได้อยู่ที่มีลวดลายเยอะ หรือน้อยอีกต่อไปแล้ว ในโลกสมัยใหม่มันมีวิธีการประเมินเยอะแยะไปหมด”
มาถึงตอนนี้แน่นอนว่ารัฐบาลไม่ได้มีท่าทีใดๆ กับกรณีนี้ เพราะสำนักงานศาลยุติธรรมแยกเป็นอิสระจากรัฐบาลจากรัฐธรรมนูญปี 40 ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจึงส่งผลกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ของสำนักงานศาลยุติธรรม
ดังนั้นในส่วนของทางแก้ไข แม้ตอนนี้ท่าทีของสำนักศาลยุติธรรมจะนิ่งสงบ และไม่ได้มีแถลงการณ์โต้ตอบ หากแต่การรื้อสร้างก็ยังคงดำเนินกระทั่งปัจจุบันภายในอาคารก็ถูกทุบรื้อไปเรื่อยๆ จนตอนนี้เหลือเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้ได้ อย่างไรก็ตาม ผลที่ตามมานั้นมีมากกว่าเพียงอาคารศาลหลังใหม่ที่ประดับด้วยลายกนก หากเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายที่ถูกทำลายลง การร้องเรียนหลายฝ่ายจึงมีความเห็นว่า อยากให้หยุดโครงการไว้ก่อน
“ยังทันนะ ถ้ายังเห็นความสำคัญ ฟังประชาชน ฟังหน่วยงานอื่นๆ ฟังกระแส อยากจะเรียกร้องให้หยุดก่อนเถอะครับ สัก 2 - 3 เดือนมันไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรเลย หลังจากนั้นถ้าศาลยืนยันว่าสิ่งที่ศาลทำถูกต้อง ก็เผยแพร่ข้อมูล แลกเปลี่ยน ถกเถียงกันในเวลาสาธารณะ ผมคิดว่านี่คือทางออกที่สง่างามที่สุด”