การประชุมคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและการเมือง กสม. พิจารณาคำร้องยื่นสอบกรณีทุบทำลายกลุ่มอาคารศาลฎีกา อธิบดีกรมศิลป์ชี้เห็นควรให้ขึ้นทะเบียน เคยติดต่อไปที่ศาลเพื่อขอรังวัดแต่เรื่องเงียบ ด้านอาจารย์สถาปัตย์โวยแบบอาคารใหม่สูงเกิน กม.กำหนด หวั่นสองมาตรฐานขึ้นทะเบียนโบราณสถาน “หมอนิรันดร์” เตรียมเรียกสำนักงานเลขาธิการศาลยุติธรรม และฝ่ายที่เกี่ยวข้องชี้แจง
วันนี้ (7 ม.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อาคารศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและการเมืองที่มี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธาน ได้ประชุมเพื่อพิจารณาตามคำร้อง ของนางจุฬา สุบรรทัด นายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม ที่ขอให้คณะกรรมการสิทธิตรวจสอบการดำเนินการทุบทำลายโบราณสถานกลุ่มอาคารศาลฎีกา โดยปฏิบัติขัดกับมาตรา 57 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนดำเนินการ อันเป็นการกระทบสิทธิพลเมืองของประชาชน โดยคณะอนุฯ ได้มีการเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงทั้ง นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปกร นายชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้ที่เกี่ยวข้อง
โดยนางจุฬากล่าวว่า สมาคมอนุรักษ์และเครือข่ายเห็นว่า กลุ่มอาคารดังกล่าวควรเก็บรักษาเป็นมรดกแก่ลูกหลาน และการที่ทางศาลจะทุบทำลายก็ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาทรัพย์สินส่วนรวม สิ่งที่เป็นประโยชน์สาธารณะ เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยหากศาลฯ ใช้กระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมแล้วเห็นร่วมกันให้ทำลาย ทางเครือข่ายพร้อมยอมรับ
ขณะที่นายสหวัฒน์กล่าวว่า ในปี 2550 สมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้ขอให้กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนอาคารสองหลังดังกล่าว เนื่องจากมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของตัวอาคาร ซึ่งเมื่อกรมศิลปากรไปตรวจสอบ ก็พบว่าตัวอาคารมีอายุราว 68 ปี เป็นสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่เกิดขึ้นในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยประวัติถือว่าเป็นประโยชน์ต่อโบราณคดี อีกทั้งตัวแทนศาลฎีกาชี้แจงว่า อาคารดังกล่าวแสดงถึงคุณค่าในเชิงเอกลักษณ์ทางอธิปไตยของศาลไทยในเอกราชของประเทศไทย อีกทั้งเป็นอาคารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถวายเนติบัณฑิตให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถด้วย ทางคณะกรรมการกลุ่มโบราณสถานของกรมศิลปากร จึงให้คะแนนกลุ่มอาคารดังกล่าวอยู่ที่ 3.54 คะแนน คะแนนนี้จัดอยู่ในกลุ่มโบราณสถานสำคัญระดับชาติ การรื้อถอนจะทำได้ต้องมีการปรึกษากรมศิลปากรก่อน
“หลังคณะกรรมการกลุ่มโบราณสถานฯ เห็นควรให้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน กรมศิลปากรได้ติดต่อไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อขอเข้าไปรางวัดรวม 4 ครั้ง แต่ทางศาลฎีกากลับเงียบเฉยมาโดยตลอด กระทั่งเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2553 ศาลฯ ทำเรื่องมายังกรมศิลปากร เพื่อขอหารือเรื่องดังกล่าว โดยชี้แจงว่าอาคารที่ 2 ชำรุดทรุดโทรมมาก ต้องใช้วิศวกรสำรวจนาน และได้มีการประมูลแบบไว้แล้ว ทางกรมศิลปากร ก็ยืนยันว่า กรมศิลปากรสามารถซ่อมแซมได้ ขอให้อนุรักษ์อาคาร 1 และ 2 ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ต่อไป พร้อมทั้งจะสนับสนุนงานด้านวิชาการอีกด้วย แต่อาคาร 3 เป็นเรื่องของศาลจะทุบทิ้งหรือสร้างใหม่ก็ได้ เพราะเป็นอาคารที่เพิ่งสร้างมาไม่กี่ปี แต่ทางศาลก็เงียบไป ก่อนจะปรากฎเป็นข่าวว่ามีการทุบทิ้งอาคาร 1 และ 2 ในช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าอาคารดังกล่าวไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ทั้งที่ความจริงแล้ว ศาลฯ ก็รู้อยู่ว่าอาคารทั้งสองหลังคณะกรรมการกลุ่มโบราณจัดให้อยู่ในกลุ่มโบราณสถานสำคัญระดับชาติ” นายสหวัฒน์กล่าว
นายสหวัฒน์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ได้มอบหมายให้ ผอ.สำนักโบราณคดี และเจ้าหน้าที่ไปแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้รับเหมาที่ทำการทุบอาคารดังกล่าวทิ้งแล้วเนื่องจากเป็นโบราณสถาน ที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม พร้อมขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปจับกุม แต่ทางตำรวจกลับตอบว่าต้องพิจารณาดูข้อกฎหมายก่อนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าจับกุมได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตนได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ พบว่ายังมีการทุบอาคารศาลอยู่ต่อเนื่อง โดยมีบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมา
ด้านนายชาตรีกล่าวว่า รายงานของสำนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ศาลฎีกาจ้างมาทำสำรวจ ไม่พบว่ามีการระบุว่าอาคารเก่าแก่แห่งนี้จะพลังทลายลงเหมือนที่ศาลฎีกาอ้าง ความเสื่อมของอาคาร เช่น ฝ้าทะลุ ท่อน้ำมีปัญหา เป็นเรื่องธรรมดา ความเก่าจึงไม่ใช่ประเด็น และที่ว่าพื้นที่ใช้สอยไม่พอก็ไม่จริง เพราะปัจจุบันมีหน่วยงานที่เคยอยู่รวมกันย้ายออก ทำให้ศาลมีพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า และสถานะของอาคารแห่งนี้ไม่ใช่เพียงสัญลักษณ์อธิปไตยของศาลไทย แต่ยังมีคุณค่าระดับโลก การที่ไม่มีลวดลายประดับ คือสุนทรียภาพรูปแบบใหม่ที่ระดับสากลให้ความสำคัญในความเรียบง่าย ถึงขั้นมีการร่างกฎบัตรเพื่อควบคุมคุณค่าทางจิตวิญญาณ ฉะนั้นเราจะนำกลุ่มอาคารมาเปรียบเทียบกับวัดที่มีลวดลายไม่ได้ มันคนละชนิดกัน มันมีความสำคัญทั้งในระดับประเทศ และในระดับสากล
“แบบอาคารใหม่ที่ศาลได้เผยแพร่ ที่มีความสูง 31.70 ม. ซึ่งมากกว่ากฎหมายกำหนดกว่า 2 เท่า พร้อมระบุว่าได้รับความเห็นชอบจากมติ ครม. เมื่อปี พ.ศ. 2531 ประเด็นคือความชอบธรรมที่ได้รับความเห็นชอบจากมติ ครม.นั้น ทั้งที่กฎหมายได้บังคับใช้มาอย่างเข้มงวด เพราะแม้แต่มหาวิทยาลัยศิลปากร อยากจะต่อเติมก็ทำไม่ได้ และส่วนหนึ่งที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ต้องขยายวิทยาเขตที่รังสิตก็เพราะขยายไม่ได้ แต่ถ้าปล่อยอาคารศาลฎีกาใหม่ความยาวกว่า 100 เมตร สูงกว่า 2 เท่าจากที่กฎหมายกำหนดเกิดขึ้นได้ ก็จะเป็นข้อสงสัย เกิดเป็นคำถามจากหน่วยงานราชการต่างๆ ตามมาอย่างมาก กลายเป็นการดำเนินงานสองมาตรฐานในที่สุด และกรณีศาลฎีกาถ้าไม่สามารถระงับได้ก็จะส่งผลต่อ พ.ร.บ.โบราณสถาน เพราะในอนาคตหากโบราณสถานยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนในประกาศราชกิจจานุเบกษา ก็จะมีการรีบเร่งรื้อถอน ต่อไปนี้เราจะไม่มีโบราณสถานขึ้นทะเบียนอีกแล้ว เพราะมันต้องมีเวลากระบวนการ การขึ้นทะเบียน ซึ่งมันจะไม่ใช่จำกัดเฉพาะเพียงศาลฎีกาเพียงอย่างเดียว มันจะกลายเป็นบรรทัดฐานของการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน” นายชาตรีกล่าว
ขณะที่ นพ.นิรันดร์กล่าวว่า การที่คณะอนุกรรมการฯ ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริงนั้น ไม่ได้เป็นการกล่าวหาหรือจับผิด และทางคณะอนุกรรมการเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องตรวจสอบ เนื่องจากได้มีการทุบทำลายอาคารหลังที่ 2 ไปแล้วเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 55 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เมื่อรับฟังข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว ทางคณะอนุกรรมการฯ จะรวบรวมข้อเท็จจริงพร้อมพิจารณาต่อไป พร้อมจะมีการเชิญสำนักงานเลขาธิการศาลยุติธรรม คณะกรรมการอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม กรมการศาสนา และตัวแทนอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เป็นผู้ทำรายงาน พร้อมอดีตอธิบดีกรมศิลปากร และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยในวันที่ 8 ม.ค. 2556 จะมีการทำหนังสือเชิญ เพื่อนัดบุคคลดังกล่าวเข้าชี้แจงต่อไป