xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกศาลตอบโต้ “กรมศิลปากร” เอาผิดรื้อถอนอาคารศาลฎีกา‏!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

โฆษกศาลยุติธรรมยืนยัน จำเป็นต้องก่อสร้างอาคารศาลฎีกาใหม่
“โฆษกศาลยุติธรรม” ยันหากกรมศิลปากรแจ้งความเอาผิดรื้อถอนอาคารเก่าศาลฎีกา พร้อมแสดงหลักฐานข้อเท็จจริงสู้คดี และหากให้ข่าวกระทบองค์กรศาลให้เสียหาย พร้อมใช้สิทธิปกป้องตัวเอง

วันนี้ (7 ม.ค.) นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร มอบให้ผู้แทนแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องรื้อถอนอาคารเก่าศาลฎีกา ซึ่งกรมศิลปากรระบุว่าเป็นโบราณสถานว่า ในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรมยังไม่ได้รับแจ้งว่ามีการลงบันทึกแจ้งความอย่างเป็นทางการแล้วหรือไม่ ทั้งนี้หากจะมีการแจ้งความดำเนินคดีต่อบุคคลใดๆ หรือสำนักงานศาลยุติธรรม ผู้ที่ถูกกล่าวหาก็ต้องหาพยานหลักฐานต่อสู้คดีว่าได้มีการกระทำผิดจริงหรือไม่ โดยในส่วนของสำนักงานยุติธรรมหากจะถูกกล่าวหาด้วยก็พร้อมนำเอกสารหลักฐานที่แสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการรื้อถอนอาคารไปต่อสู้คดี อย่างไรก็ตาม หากมีการแจ้งความจริงแต่มีรายละเอียดข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อน กระทบต่อองค์กร เราก็คงต้องใช้สิทธิปกป้องตนเองเช่นกัน ทั้งทางกฎหมาย และการชี้แจงข้อเท็จจริง ขณะที่การถูกกล่าวหาดังกล่าวจะไม่ทำให้โครงการรื้อถอนอาคารเก่าสร้างอาคารใหม่ศาลฎีกาต้องหยุดชะงักเพราะข้อสัญญาที่ศาลได้ทำกับเอกชนก็มีผลผูกพันตามสัญญาทางแพ่งที่มีวาระดำเนินงานเป็นงวดๆ ที่ผ่านมานายไพโรจน์ วายุภาพ ประธานศาลฎีกา ก็กำชับให้เราดำเนินโครงการด้วยความถูกต้องไม่ขัดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินโครงการของเราก็ใช้ข้อยุติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่เคยนำข้อยุติในอดีตมาเป็นเงื่อนไขในปัจจุบัน

ส่วนที่มีองค์กรภาคประชาชนที่เตรียมจะยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อให้ระงับการรื้อถอนอาคารอีกด้วยนั้น โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวว่า ตนมองว่าเป็นสิทธิของภาคประชาชน ก็เคารพสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย แต่ทั้งนี้หากยังไม่ทราบรายละเอียดข้อเท็จจริงที่ถูกต้องทั้งในเนื้อหาที่มาโครงการ รูปแบบอาคาร และประวัติศาสตร์ก็อาจเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ ที่จริงศาลเราไม่ต้องการเป็นคดีความกับฝ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือประเทศชาติ หากแต่ศาลสนับสนุนแนวทางสันติวิธีที่ทุกฝ่ายจะหันหน้ามาพูดคุยกัน ถ้ากรมศิลปากรจะพูดคุยกับศาลเราก็พร้อม แต่การที่กรมศิลปากรแสดงท่าทีจะเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้รื้อถอนอาคารนั้นก็ไม่แน่ใจว่ากรมศิลปากรยังมีเจตนาที่จะเจรจาพูดคุยกับศาลอีกหรือไม่

นายสิทธิศักดิ์กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2556 ที่ผ่านมา ตนและนายนิกร ทัสสโร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาและข้อขัดข้องในการก่อสร้างอาคารศาลฎีกา ก็ได้นำเอกสารแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการและบันทึกช่วยจำเกี่ยวกับข้อตกลงที่ผู้แทนศาลฎีกาและกรมศิลปากรได้เจรจากันส่งให้กรรมาธิการวัฒนธรรมของวุฒิสภาไปแล้ว ซึ่งกรรมาธิการก็ได้เรียกผู้แทนจากกรมศิลปากรให้ข้อมูลด้วย

ขณะที่นายนายนิกร ทัสสโร คณะกรรมการแก้ไขปัญหาและข้อขัดข้องในการก่อสร้างอาคารศาลฎีกา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2556 ในการเข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการวัฒนธรรมของวุฒิสภา เราได้นำเอกสารที่เป็นบันทึกช่วยจำในการพูดคุยตกลงกับกรมศิลปากรส่งให้ดูด้วย ที่สำคัญคือฉบับลงวันที่ 9 ธ.ค. 2553 ซึ่งกรมศิลปากรส่งรูปแบบร่างอาคารศาลฎีกามาให้ดู และวันที่ 10 พ.ค. 2554 ที่กรมศิลปากรตอบรับว่าได้มีเจรจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแล้วโดยมีตนเป็นผู้แทนศาลฎีกา ได้จดรายละเอียดความเห็นไปแล้ว ซึ่งการแลกเปลี่ยนความเห็นครั้งนั้นก็ตกลงว่าจะคงอาคารศาลยุติธรรม บริเวณหลังลานพระรูป (อนุสาวรีย์พระรูปเสด็จในกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) โดยที่ผ่านมากรมศิลปากรไม่เคยจะพูดถึง แต่อ้างเพียงบันทึกในช่วงปี 2552 เท่านั้น ซึ่งในปี 2554 หลังจากมีการเจรจากับกรมศิลปากร ตนได้ทำบันทึกเรียนประธานศาลฎีกา และประธานศาลฎีกา ยังได้ให้ตนสอบถามกลับไปยังกรมศิลปากรอีกครั้ง กระทั่งมีหนังสือตอบมาในวันที่ 10 พ.ค. 2554 ดังกล่าว ที่จริงเมื่อมีการนำข้อเท็จจริงที่มีเอกสารเป็นบันทึกช่วยจำแล้ว ก็น่าจะยุติ ตนก็ไม่ทราบเช่นกันว่าเหตุกรมศิลปากรยังจะแจ้งความดำเนินคดีเรื่องการรื้อถอนอาคารที่ระบุว่าเป็นโบราณสถานอีก ขณะที่การทำสัญญาของศาลกับเอกชนในโครงการรื้อถอนอาคารเก่าเพื่อสร้างอาคารใหม่ ก็เป็นสัญญาที่ทำโดยชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือที่กรมศิลปากร ส่งถึงประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2553 เลขที่ วธ.0403/4546 ระบุว่า ตามหนังสือ (วธ.0403/3323 ลงวันที่ 31 ส.ค. 2552) ที่อ้างถึง กรมศิลปากรได้กราบเรียนให้ทราบอาคารที่ทำการศาลฎีกา มีลักษณะเป็นโบราณสถาน ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และได้ขอความร่วมมือจากศาลฎีกาในการดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลฎีกาหลังใหม่ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น

ในการนี้ ผู้แทนศาลฎีกาได้ประสานหารือกับกรมศิลปากรและกระทรวงวัฒนธรรมหลายครั้ง ในการหารือดังกล่าวได้ข้อยุติเบื้องต้นให้กรมศิลปากรดำเนินการออกแบบร่างอาคารศาลฎีกาใหม่ เพื่อให้ศาลฎีกาใช้ประกอบพิจารณาต่อไป บัดนี้ กรมศิลปากรได้ดำเนินการออกแบบร่างอาคารศาลฎีกาแล้วเสร็จจำนวน 2 รูปแบบ จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และพิจารณารูปแบบอาคารศาลฎีกาใหม่ต่อไป

ขณะที่หนังสือกรมศิลปากร ลงวันที่ 10 พ.ค. 2554 เลขที่ วธ 0403/1634 ส่งถึงเลขาธิการประธานศาลฎีกา ระบุว่า ตามหนังสือ (สำนักประธานศาลฎีกา ที่ ศย.001/628 ลงวันที่ 22 มี.ค. 2554) ที่อ้างถึงสำนักประธานศาลฎีกา ขอทราบสรุปการหารือเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารศาลฎีกาหลังใหม่ ในการประชุมคณะกรรมการวิชาการเพื่อการนุรักษ์โบราณสถานเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2554 ความละเอียดทราบแล้วนั้น กรมศิลปากรขอเรียนว่า การประชุมคณะกรรมการวิชาการเพื่อการนุรักษ์โบราณสถานครั้งนั้นเป็นการเจรจาแลกเปลี่ยนความเห็น และกรมศิลปากรได้แนะนำข้อราชการที่เป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์โบราณสถานสำคัญ โดยท่านนิกร ทัสสโร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ซึ่งเป็นผู้แทนศาลฎีกาได้จดรายละเอียดการเจรจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนั้นไปแล้ว

ส่วนบันทึกข้อความที่นายนิกร เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2554 ส่งถึงประธานศาลฎีกา แจ้งเรื่องการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเจรจาสร้างศาลฎีกานั้น นายนิกร ได้ระบุว่า เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2554 เวลา 09.00 น. ประธานศาลฎีกาสั่งการให้ไปขอหนังสือจากนายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร เพื่อให้เกิดความกระจ่างในความหมายของคำว่าอาคารเก่า ว่าหมายถึงอาคารหลังอนุสาวรีย์พระรูปเสด็จในกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรือกรมศิลปากรเรียกว่าอาคาร 1 นั้น ได้ดำเนินการแล้วซึ่งนายธราพงศ์ อธิบายให้จดมาว่า ความเห็นของกรมศิลปากร เห็นว่าศาลฎีกาควรสร้างอาคารศาลฎีกาหลังใหม่โดยนำแบบของจุฬาฯ ทับลงแทนอาคารด้านริมคลอง และอาคารด้านถนนราชดำเนิน ทั้งนี้จะยังคงเหลืออาคารหลังพระรูปไว้ตามเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น