xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ ศาลยุติธรรม ย้ำรื้ออาคารศาลฎีกาหลังเก่าที่ทรุดโทรม

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
“วิรัช ชินวินิจกุล” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เผยขั้นตอนการขอรื้ออาคารศาลฎีกาหลังเก่า มีการเจรจาหารือกรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้งตั้งแต่ปี 2516 ได้ข้อยุติก่อสร้างอาคารใหม่ในที่เดิม ทั้งนี้จะยังคงอาคารหลังพระรูปไว้ 1 อาคาร

วันนี้ (7 ม.ค.) ที่สำนักงานศาลยุติธรรม นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงโครงการรื้อถอนอาคารเก่าศาลฎีกาที่ทรุดโทรมว่า การรื้อถอนศาลฎีกาเป็นการดำเนินงานที่มีขั้นตอนถูกต้องตามระเบียบ แบบแผน และกฎหมาย ซึ่งศาลยุติธรรมได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และได้มีการประชุมหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางก่อนที่จะดำเนินการ ทั้งนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมได้ดำเนินงานตามขั้นตอนทางกฎหมาย และได้เริ่มเปิดการเจรจาแลกเปลี่ยนความเห็นกับทุกฝ่ายตั้งแต่ปี 2516 โดยเฉพาะในช่วงหลังได้มีการประชุมหารือร่วมกับกรมศิลปากรหลายครั้ง ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. 2553 - 18 มี.ค. 2554 เช่น วันที่ 27 เม.ย. 2553 ได้เจรจากับกรมศิลปากรที่ศาลยุติธรรม และในเวลาต่อมาก็ได้มีการเจรจากับกรมศิลปากร ในวันที่ 2 มิ.ย. 2553 โดยผลการเจรจายังไม่ได้ข้อยุติเรื่องการคงอาคารไว้ แต่ได้ข้อยุติว่าศาลฎีกาคงสร้างในที่เดิม ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลาลูกขุนนอก ตั้งแต่สมัยราชกาลที่ 1 และในเวลาต่อมาก็ได้มีการเจรจาอีกครั้งกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในเดือน ก.ย. 2553 โดยมีข้อยุติคือ อาคารศาลใหม่จะขอให้ประดิษฐ์บุษบกรูปทรงสี่เหลี่ยม ซึ่งเคยประดิษฐานไว้ที่อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรม ตั้งแต่สมัยราชกาลที่ 5

หลังจากนั้น มีการเจรจาเป็นครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2553 โดยได้เจรจากับองค์กรเอกชนที่สถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้ยอมรับความเห็นเรื่องคุณค่าของอาคารเดิม และในการเจรจาครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2553 ได้เจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และกรมศิลปากร โดยฝ่ายกรมศิลปากรเสนอคงอาคารหลังพระรูปไว้ 1 หลัง และกรมศิลปากรเสนอขอเป็นผู้ออกแบบด้วย ซึ่งจะออกแบบเป็นทรงนีโอคลาสสิค จากนั้นกรมศิลปากรส่งแบบมาให้ศาลพิจารณา หลังจากนั้นฝ่ายศาลได้เจรจากับ รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เขียนแบบอาคารศาลฎีกา และยืนยันที่จะสร้างอาคารที่ทำการศาลฎีกาเต็มพื้นที่

ล่าสุดศาลยุติธรรมมีการเจราจากับกรมศิลปากรอีกครั้งเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2554 ที่สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร โดยกรมศิลปากรยอมรับที่จะสร้างอาคารศาลฎีกาใหม่ตามแบบที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกแบบ ซึ่งแบบดังกล่าววางแนวการสร้างรูปแบบทรงไทย โดย ม.ร.ว.มิตรารุณ เกษมศรี สถาปนิกหลวง และยังให้คงอาคารหลังพระรูปพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองศ์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ไว้ 1 อาคาร
กำลังโหลดความคิดเห็น