กรมศิลป์ แจงตึกศาลฎีกา 2 หลังติดคลองหลอดเป็นอาคารโบราณสถาน มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ เตรียมส่งหนังสือขออนุญาตศาลฎีกา เข้าตรวจสอบพื้นที่
วานนี้ (19 ธ.ค.) นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทางสมาคมสถาปนิกสยาม ได้ทำหนังสือแจ้งมายังกรมศิลปากร ว่า มีการรื้อถอนอาคารศาลฎีกา ใกล้กับสนามหลวง พร้อมกับรูปถ่ายการรื้อถอน ทั้งที่เป็นอาคารโบราณสถาน ตนยังไม่ทราบว่าเป็นอาคารหลังใด จึงมอบให้ นายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดีไปตรวจสอบ โดยก่อนหน้านี้ประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมาทางผู้แทนศาลฎีกาได้มาหารือกับตนเรื่องได้ทำสัญญาก่อสร้างอาคารศาลฎีกาใหม่แทนอาคารหลังเก่าทั้งหมด แต่มีเสียงคัดค้านจากสังคมโลกออนไลน์มาเป็นระยะ
ทั้งนี้ ตนได้ให้หลักปฏิบัติไปว่า ประการที่หนึ่ง บริเวณศาลฎีกานั้น มีอาคารเก่าที่ขึ้นเป็นโบราณสถาน 2 อาคารที่ตั้งอยู่ติดกับฝั่งคลองหลอด ห้ามมีการทุบหรือเปลี่ยนแปลง แต่สามารถปรับปรุงภายในและใช้ประโยชน์ได้ หรือหากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องขออนุญาตต่อกรมศิลปากรก่อน เพราะถือว่าเป็นโบราณสถานของชาติ และแม้ว่าจะได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการเกาะกรุงรัตนโกสินทร์และคณะรัฐมนตรีให้ก่อสร้างอาคารทรงไทยสูง 4 ชั้น ทางกรมศิลปากรได้แนะนำว่าควรปรับเปลี่ยนแบบอาคารใหม่ไม่ให้สูงมากนัก เพราะอยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) หากสร้างเป็นอาคารใหญ่สูงจะบดบังทัศนียภาพ ซึ่งทางผู้แทนศาลฎีกาได้รับหลักการไป และจะนำไปหารือกับฝ่ายสถาปนิกของบริษัทที่ว่าจ้างมาปรับปรุง หลังจากนั้น ตนยังไม่ได้รับข้อมูลหรือมีการขออนุญาตใดๆ จากทางศาลฎีกาเลย
“กรมศิลปากรได้ทำหนังสือแจ้งไปกับทางศาลฎีกาแล้วว่าอาคารที่ตั้งอยู่หลังอนุสาวรีย์พระบิดาแห่งกฎหมายไทย กับอาคารที่ติดกับคลองหลอดเป็นอาคารโบราณสถาน มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ด้านการพัฒนากฎหมายไทย ถือว่าสำคัญมาก จะทำการใดๆ หรือรื้อถอนต้องแจ้งกลับมายังอธิบดีกรมศิลปากรก่อน ส่วนอาคารด้านสนามหลวงก่อสร้างใหม่ปี 2504 จึงไม่นับเป็นอาคารโบราณสถาน ก่อนหน้านี้ ประมาณ 1 สัปดาห์ ทางสำนักโบราณคดีได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดู แต่ถูกปฏิเสธ ไม่ให้เข้า ต้องทำหนังสือขออนุญาตเข้าไปดูตัวอาคาร เพราะเป็นพื้นที่ปิด ขณะนี้กำลังจะทำหนังสือขออนุญาตยื่นกับทางศาลฎีกาขอเข้าไปดูว่าการก่อสร้างเป็นอย่างไรบ้าง” นายสหวัฒน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบภาพรวมของอาคารศาลฎีกา ทั้ง 2 อาคารแล้วพบว่า ซึ่งอาคารหลังแรกเป็นอาคารศาลยุติธรรม ตั้งอยู่บริเวณ หลังอนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาและปฐมาจารย์แห่งนักกฎหมายไทย ซึ่งขณะนี้ บริเวณลานสนามหญ้าด้านหน้า ก็ได้มีการขุดหลุมขนาดใหญ่ไว้จำนวนมาก คาดว่า จะมีการตอกสำเข็มเพื่อสร้างอาคารหลังใหม่ ส่วน บริเวณอาคารหลังที่ 2 เป็นศาลอาญากรุงเทพใต้ และซึ่งอยู่ติดกับคลองหลอด ขณะนี้ ได้มีการล้อมรั้ว เพื่อกั้นเป็นพื้นที่ก่อสร้าง และได้มีการรื้อหลังคา และทุบอาคารของศาลในบางส่วนแล้ว