‘กรมศิลป์’ชี้ ฐานอาคาร-แนวกำแพง‘วังหน้า’เป็นโรงทหาร เตรียมกลบหลุมกลับสภาพเดิม เผยขุดระยะสองกลางปี 56
นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงความคืบหน้าหลังจากกรมศิลปากร ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีระยะที่ 1 ตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) บริเวณด้านทิศใต้หมู่พระวิมาน ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ว่า บริเวณที่ขุดพบแนวอิฐส่วนฐานรากอาคารก่ออิฐถือปูนและแนวกำแพงโบราณ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระที่นั่งทักษิณาภิมุข ที่สำคัญ พบโบราณวัตถุจำนวนมาก คาดว่า อยู่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 1-5 มีอายุตั้งแต่ 150-230 ปีนั้น ได้รับรายงานล่าสุดว่า ได้นำโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบข้อมูลทางประวัติศาสตร์แล้ว พบว่า โบราณสถานที่ขุดค้นพบน่าจะสร้างทับซ้อนกันอย่างน้อย 2 สมัย และรวมถึงได้ศึกษาข้อมูลจากโบราณวัตถุขุดพบน่าจะเคยเป็นโรงทหาร หรือว่าอาคารสำหรับเก็บอาวุธ เนื่อง
จากบริเวณดังกล่าวพบกระสุนปืนใหญ่ เครื่องแต่งกายและเครื่องใช้ของทหารจำนวนมาก ที่สำคัญจากเอกสารหลักฐาน พบว่า น่าจะเชื่อมโยงกับในอดีตเคยมีทหารเข้ามาพักในพื้นที่ด้านในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ด้วย
สำหรับการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งแรกในพื้นที่วังหน้าถือว่าเป็นข้อมูลสำคัญ จากนี้ต้องนำไปประกอบการแลกเปลี่ยนและวิเคราะห์อย่างละเอียดอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการกลบหลุมขุดค้น เนื่องจากการขุดค้นระยะที่ 1 ได้เสร็จสิ้นแล้ว โดยได้ใช้แผ่นจีโอเท็กซ์ไทล์ ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแรงและทนต่อเชื้อรา ไม่เน่าเปื่อยปิดไว้ จากนั้นใช้ดินทรายกลบ เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวกลับสู่สภาพปกติและใช้งานได้ ที่สำคัญ ในอนาคตหากต้องการเปิดพื้นที่ดังกล่าวเพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องขุดใหม่
ส่วนแผนดำเนินการขุดค้นระยะที่ 2 บริเวณด้านหน้าโรงราชรถ คงต้องชะลอไว้ก่อน เพราะต้องใช้พื้นที่ดังกล่าวจัดกิจกรรมของกรมศิลปากร โดยหลังจากกลางปี 2556 จึงค่อยดำเนินการขุดค้นต่อในระยะที่ 2 ต่อ แต่ถ้ากิจกรรมเสร็จก่อนแผนที่วางไว้ก็ดำเนินการเริ่มขุดค้นได้ทันที