xs
xsm
sm
md
lg

อย่าให้ “พระปรางค์วัดอรุณ”เหมือนกับ “พระธาตุพนม”/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
พระปรางค์วัดอรุณยามตะวันใกล้ลับขอบฟ้า
“ไม่อยากให้พระปรางค์วัดอรุณฯ เหมือนกับพระธาตุพนมที่ถล่มลงมา เพราะแค่รอยน้ำซึมเล็กๆเท่านั้น...”

พระครูอรุณธรรมานุวัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ กล่าวกับสื่อมวลชน หลังจากที่พระปรางค์วัดอรุณฯประสบปัญหาทรุดโทรม จนล่าสุดเป็นข่าวดังกับเหตุการณ์ที่คอม้าปูนปั้นบริเวณยอดองค์พระปรางค์ กับชิ้นส่วนของม้า(อีกตัวหนึ่ง)ได้หักโค่นลงมา

เรื่องนี้ท่านพระครูอรุณฯย้ำว่าเฉพาะส่วนของม้าเท่านั้นที่เสียหาย ไม่ใช่ยอดพระปรางค์ถล่มอย่างที่สื่อบางสำนักให้ข่าวคลาดเคลื่อน หรือไม่ก็จงใจขยายข่าวแบบเกินจริงเพื่อให้ข่าวของตัวเองเป็นที่ฮือฮาขายได้
ปกอัลบั้มเอเชีย ของลิซ่า โอโนะ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้จะเป็นแค่ส่วนของม้า แต่มันก็สร้างความสะเทือนใจให้กับคนไทยเป็นจำนวนมาก เพราะนี่คือพระปรางค์ที่ได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่และสวยงามที่สุดของเมืองไทย อีกทั้งยังถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์อันสำคัญของประเทศไทย ของกรุงเทพฯ และของแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย

ภาพเงามืดของพระปรางค์วัดอรุณยามตะวันจะลับฟ้าเมื่อมองจากทางฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ถือเป็นหนึ่งในภาพพระอาทิตย์ตกแห่งสยามประเทศที่งดงามมาก ภาพนี้มองปุ๊บก็รู้ปั๊บว่านี่คือเมืองไทย ซึ่ง “ลิซ่า โอโนะ” ศิลปินแจ๊ซ-บอสซ่า ชาวญี่ปุ่น ได้ใช้ฉากภาพวัดอรุณยามโพล้เพล้มาเป็นปกอัลบั้มของเธอในชุดเอเชีย

นอกจากนี้ภาพของพระปรางค์วัดอรุณฯยังปรากฏในหนังฝรั่งอีกหลายเรื่อง เพราะพอเห็นภาพพระปรางค์กับแม่น้ำเจ้าพระยามีเรือหางยาวแล่นผ่าน ก็รู้ทันทีว่าที่คือกรุงเทพฯ คือเมืองไทย
อีกหนึ่งมุมของพระปรางค์
เดิมองค์พระปรางค์วัดอรุณไม่ได้สูงสง่าเท่าปัจจุบันหากแต่มีความสูงประมาณ 16 เมตร หรือ 8 วา จนในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชปรารภโปรดฯให้สร้างพระปรางค์ให้สูงใหญ่ขึ้นอีกเพื่อเป็นศรีแก่พระนคร แต่พระปรางค์องค์ใหม่ยังไม่ทันลงมือสร้าง พระองค์ท่านได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน
จากนั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ดำเนินการสร้างพระปรางค์ต่อในเมื่อคราวที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯใหม่ทั้งหมด หลังจากพระปรางค์สร้างเสร็จจนถึงยกยอดนภศูลและนำพระมหามงกุฎไว้บนยอด พระองค์ท่านได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน

ครั้นถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ท่านจึงโปรดฯให้จัดพิธีเฉลิมฉลองพระปรางค์แบบพอสังเขป ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ทำการบูรณะพระปรางค์โดยทำรั้วเหล็กและถมลานให้สูงขึ้น ที่สำคัญคือทรงสถาปนาวัดอรุณฯขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกอันดับหนึ่ง พร้อมทั้งเสด็จพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐินด้วยกระบวนพยุหมาตราทางชลมารคขึ้นเป็นครั้งแรกที่วัดแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันรูปพระปรางค์วัดอรุณกับเรือสุพรรณหงส์ได้ถูกนำไปทำเป็นโลโก้ของททท. เพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวไทย
พระปรางค์วัดอรุณ สุดยอดแห่งพระปรางค์รูปทรงจอมแห
สำหรับพระปรางค์วัดอรุณองค์ปัจจุบันมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 82 เมตร(81.85 ม.) วัดรอบฐานได้ 234 เมตร รอบพระปรางค์องค์ใหญ่ มีพระปรางค์องค์เล็กตั้งอยู่ใน 4 ทิศ ในองค์พระปรางค์มีองค์ประกอบน่าสนใจ อาทิ พระมณฑป(ทั้ง 4 ทิศ) พระมหามงกุฎ นภศูล งานปูนปั้นประดับ พระนารายณ์แบก พญาครุฑแบก รูปปั้นม้า รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ลิงแบก ยักษ์แบก เป็นต้น

องค์พระปรางค์วัดอรุณแม้มีขนาดสูงใหญ่ แต่กลับดูไม่เทอะทะ หากแต่ดูสมส่วน ลงตัว งดงามมาก ถือเป็นความงดงามที่ตกผลึกที่สุดของพระปรางค์ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่ง “รองศาสตราจารย์สมคิด จิระทัศนกุล” จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านงานสถาปัตยกรรมไทยในอันดับต้นๆของประเทศ ผู้ที่ประสิทธิประสาทวิชาให้กับลูกศิษย์ที่ไม่เอาอ่าวเอาแหลมอย่างผม ได้อธิบายถึงรูปทรงของพระปรางค์วัดอรุณฯไว้ในหนังสือ “รู้เรื่อง วัดวิหาร โบสถ์ เจดีย์ : พุทธสถาปัตยกรรมไทย” ว่า เป็น “ทรงจอมแห” ซึ่งผมขอคัดลอกข้อความของท่านมาดังนี้

“...ทรงจอมแห : หมายถึงรูปทรงของพระปรางค์ที่สร้างโครงรูปเส้นรอบนอกให้มีลักษณะแอ่นโค้งเหมือนอาการทิ้งน้ำหนักตัวของ “แห” ที่ถูกยกขึ้น รูปทรงเช่นนี้ความจริงถูกนำมาใช้กับการออกแบบพระเจดีย์สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มาก่อนแล้ว ก่อนจะนำมาพัฒนาใช้กับรูปทรงพระปรางค์บ้าง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการพัฒนาที่บรรลุผลทางการออกแบบอย่างสูงสุดครั้งสุดท้าย โดยเฉพาะกับองค์พระปรางค์ประธาน วัดอรุณราชวรารามฯ ธนบุรี ที่ต้องถือว่ามีความงดงามที่สุดในกระบวนการพระปรางค์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งหมด

ซึ่งความสำเร็จของการออกแบบ “รูปทรงจอมแห” ของพระปรางค์แห่งนี้ อยู่ที่การเน้นส่วนฐานด้วยการซ้อนชั้นจำนวนนับไม่ถ้วนเพื่อเป็นการเสริมให้อาคารมีความสูงมากๆ จึงต้องยืดส่วนของฐานให้กว้างขึ้นกว่าปกติ เพียงพอให้สามารถเบียดทรวดทรงอาคารให้เกิดลักษณะที่แอ่นโค้งได้สำเร็จตามรูปทรงดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เรือนธาตุกับส่วนยอดอันเพรียวบางนั้น ซึ่งแม้ว่าจะไม่หลงเหลือความยิ่งใหญ่ตระการตาอย่างต้นฉบับแบบเดิมของ “ทรงศิขร”อยู่เลย แต่ทว่ากลับสะท้อนถึงความสุนทรีย์แห่ง “รูปทรง” ลักษณะใหม่ที่งดงามอย่างหมดจด รวมทั้งความละเอียดในเชิงการออกแบบรูปแบบแผนผัง และองค์ประกอบตกแต่ง ซึ่งก็ยังสามารถสนองรับกับแนวคิดในเรื่องของ “คติจักรวาล” ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ตามคติเดิมอีกด้วย...”
คอม้าที่หักลงมา
และนั่นก็คือพระปรางค์วัดอรุณฯกับรูปทรงจอมที่วิวัฒนาการมามาจากรูปทรงศิขร ซึ่งเป็นพระปรางค์ที่เราสร้างขึ้นตามแบบแผนเดิมของเขมร เป็นปรางค์ปราสาทเขมรในยุคแรกๆ มีขนาดทรงอวบใหญ่โต เน้นมวลอาคารดูหนักแน่น ดังตัวอย่างของปรางค์ประธานปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นต้น

ครับจากที่รองศาสตราจารย์สมคิดอธิบายไว้นั้น บ่งบอกถึงความเป็นสุดยอดของพระปรางค์วัดอรุณได้เป็นอย่างดี ซึ่งสำหรับผมแล้วนี่ไม่เพียงเป็นพระปรางค์ที่สวยงามที่สุดในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นพระปรางค์ที่สวยงามสง่าที่สุดในโลกอีกด้วย ที่สำคัญคือนี่เป็นพระปรางค์ที่ทรงคุณค่ายิ่งต่อคนไทย นั่นจึงทำให้ท่านพระครูอรุณฯอดวิตกไม่ได้ว่าถ้าหากปล่อยปละละเลย หรือบูรณะไม่ทันการณ์ อาจจะจะเกิดเหตุสุดแสนสลดเหมือนอย่างที่พระธาตุถล่มถูกพายุฝนพัดกระหน่ำจนล้มลงในวันที่ 8 ส.ค. 2518

สำหรับสาเหตุหลักของการทรุดโทรมของพระปรางค์วัดอรุณนอกจากจะเก่าแก่มีอายุมากแล้ว พระครูอรุณฯยังเปิดเผยว่า น้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้เข้ามาตรวจสอบพระปรางค์วัดอรุณฯ พบปัญหาน้ำท่วมกัดเซาะพื้นผิวหน้าวัดจนทรุดตัวลง มีเพียงงบประมาณ 5 ล้านบาทในการบูรณะดินทรุด พร้อมกันนี้มีแผนจะบูรณะองค์พระปรางค์ เนื่องจากถูกเชื้อรากินองค์พระปรางค์ แต่จนถึงขณะนี้เรื่องกำจัดเชื้อราได้เงียบหายไป ทางวัดเข้าใจ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีงบประมาณจำกัด
องค์ประกอบประดับความงามของพระปรางค์วัดอรุณ
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณฯกล่าวว่า สำนักโบราณคดีเข้ามาดูแลตลอด แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะรัฐบาลไม่ให้งบประมาณ ซึ่งวัดอรุณฯเคยบูรณะครั้งใหญ่ไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นก็ไม่เคยได้บูรณะอีก มีเพียงการบูรณะเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เพื่อให้สวยงาม ล่าสุดตระกูล โตกุกาว่า ซึ่งเป็นตระกูล โชกุน ที่ปกครองญี่ปุ่นมานับพันปี ได้เห็นข่าวพระปรางค์วัดอรุณฯทรุดโทรม จึงได้สนับสนุนงบประมาณมา 1 ล้านเยน หรือประมาณ 3 แสนบาทมาเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อบูรณะพระปรางค์

"อาตมาได้แจ้งกับทางตระกูลโตกุกาว่าไปว่า งบประมาณจำนวนนี้ ไม่เพียงพอต่อการบูรณะองค์พระปรางค์ แต่จะขอนำมาบูรณะพระประธานก่อน ซึ่งทรุดโทรมมากแล้ว เพราะไม่เคยได้รับการบูรณะเลย ทางตระกูลดังกล่าวก็ยินดี ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและมีคุณค่ามากที่ชาวต่างชาติเห็นความสำคัญของพระปรางค์วัดอรุณฯ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้อาตมาห่วงพระปรางค์มาก เพราะฝนตกหนัก ลมแรง องค์ประกอบร่วงหล่นลง มาเป็นระยะๆ" พระครูอรุณธรรมานุวัตรกล่าว

นอกจากนี้พระครูอรุณฯยังเปิดเผยอีกด้วยว่า ในส่วนเงินที่เก็บค่าเข้าชมนักท่องเที่ยวนั้นไม่เพียงพอต่อการบูรณะพระอุโบสถ กุฏิสงฆ์ ที่ใช้งบประมาณ 25 ล้านบาท และบูรณะได้เพียงแค่คณะเดียว ซึ่งทางวัดอรุณมีทั้งหมด 8 คณะ ใช้เวลาซ่อมแซมคณะละ 2 ปี ทั้งหมดต้องใช้เวลากว่า 16 ปี ที่สำคัญพระประธานในพระอุโบสถไม่เคยได้รับการบูรณะเลย อย่างไรก็ตาม ขอฝากไปถึงรัฐบาลให้ใส่ใจสัญลักษณ์ของประเทศบ้าง เพราะวัดอรุณฯ มีนักท่องเที่ยวมาชมเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันกำลังทรุดโทรมอย่างหนัก จนคอม้าขนาดเท่าคนอยู่บริเวณบนยอดพระปรางค์หักลงมาเมื่อ 2 วันก่อน แต่โชคดีไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

ผมอ่านข่าวที่จากที่พระครูอรุณฯท่านให้ข้อมูลแล้วก็รู้สึกเซ็งและสมเพชเป็นยิ่งนักกับรัฐบาลในแทบทุกๆชุด เพราะในขณะที่บ้านเรามีงบประมาณจำกัดจำเขี่ยในการบูรณะซ่อมแซมมรดกชาติอันทรงคุณค่าของเมืองไทย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมอันสำคัญของคนในชาติ แต่บ้านนี้เมืองนี้กลับมีงบค่าคอมพิเศษที่ต้องหัก(หัวคิว)สำหรับ รมต. นักการเมือง รวมไปถึงข้าราชการระดับสูง จากสารพัดสารพันโครงการที่นำเม็ดเงินมาจากภาษีของประชาชน

ที่สำคัญคือเดี๋ยวนี้มันล่อกันหนักถึง 30 % เป็นอย่างต่ำ ซึ่งถ้าเอางบตรงส่วนนี้ไปบูรณะซ่อมแซมมรดกชาติ ผมว่าป่านนี้วัดวาอาราม โบราณสถาน อาคารสถาปัตยกรรม และพิพิธภัณฑ์จำนวนมากในเมืองไทย คงมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าทุกวันนี้อยู่มากโข
**********************************************************

หมายเหตุ : วัดอรุณฯ กับกรมศิลปากร มีโครงการบูรณะวัดอรุณครั้งใหญ่ในปี 2557 ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 80 ล้านบาท โดยจะบูรณะตัวองค์พระปรางค์ และภูมิทัศน์โดยรอบ ทั้งนี้ หากผู้ที่สนใจจะมีส่วนร่วมบูรณะโบราณสถาน สามารถสมทบทุนเข้ากองทุนเพื่อการบูรณะโบราณสถาน เลขที่บัญชี 081-0-09603-6 ธนาคารกรุงไทย สาขาราชดำเนิน
กำลังโหลดความคิดเห็น