xs
xsm
sm
md
lg

ย้ายหมอชิต 2

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ช่วงเทศกาลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ หรือวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน ดูเหมือนจะเป็นความสุขของมนุษย์เงินเดือนหลายคนที่ได้หยุดยาวกลับบ้านเกิด หรือไปเที่ยวต่างจังหวัด แต่กว่าจะออกต่างจังหวัดแต่ละครั้ง ก็ต้องมาทนทรมานกับการเดินทางกันก่อน

คนที่มีรถส่วนตัว อาจจะต้องประสบปัญหาการจราจรหนาแน่น บางช่วงเป็นจุดขึ้น-ลงภูเขา เช่น ถนนมิตรภาพ มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็จะต้องทนกับรถที่ชะลอตัวเป็นแถวยาว แต่ถ้าคนที่ไม่มีรถ หรือไม่สะดวกที่จะขับรถไปไหนไกลๆ ก็จะต้องไปขึ้นรถที่สถานีขนส่ง ทั้งหมอชิต 2 เอกมัย สายใต้ หรือสถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อออกต่างจังหวัด

สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) ที่เรียกกันติดปากว่า “สถานีขนส่งหมอชิต 2” หรือ “หมอชิตใหม่” เป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีประชาชนทยอยมาซื้อตั๋วโดยสาร กลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นจำนวนมากจนแน่นอาคาร แน่นอนว่าปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้นก็คือผู้โดยสารตกค้าง ต้องปักหลักที่สถานีจนกว่าจะได้ตั๋วโดยสาร

บก.ข่าวเศรษฐกิจของเอเอสทีวี เล่าให้ฟังว่า ทางสถานีส่งทีมข่าวไปสำรวจบรรยากาศที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 ก็มีอยู่ครอบครัวหนึ่งมาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ปักหลักอยู่ที่นี่ตั้งแต่ตี 5 เพื่อจะกลับบ้านที่ จ.พะเยา ปรากฏว่าผลสุดท้ายได้ตั๋วรถออกจากหมอชิต 2 ตอน 5 ทุ่ม เท่ากับว่าต้องใช้เวลารอคอย 18 ชั่วโมงกว่าจะได้ขึ้นรถ

ขณะที่รถร่วมบริการ บขส. หลายรายเลือกที่จะไม่เข้าไปรับ-ส่งผู้โดยสาร เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัด เช่น นครชัยแอร์ สมบัติทัวร์ สหพันธ์ร้อยเอ็ดทัวร์ ฯลฯ ให้ผู้โดยสารไปขึ้นรถที่ศูนย์บริการเพียงแห่งเดียว บางบริษัทกำชับลูกค้าที่จองตั๋วล่วงหน้าให้มารับตั๋วก่อนเวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง

ปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักมาจากความต้องการของผู้โดยสารที่จะเดินทางออกต่างจังหวัดมีจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ยังพบว่าการจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าได้รับความนิยมไม่มากนัก แม้จะมีช่องทางการซื้อตั๋วและการชำระเงินที่สะดวกขึ้นก็ตาม แต่เลือกที่จะซื้อตั๋วโดยสารในวันเดินทาง เพราะคิดว่าสะดวกที่จะเดินทางในช่วงไหนก็ได้

หากจะกล่าวถึงสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ สมัยก่อนถูกแบ่งออกเป็น 3 สถานี ได้แก่ สายเหนือ-อีสาน-กลาง ตั้งอยู่ที่ตลาดหมอชิต ถนนพหลโยธิน, สายใต้ ตั้งอยู่ที่สามแยกไฟฉาย ถนนจรัญสนิทวงศ์ และสายตะวันออก ตั้งอยู่ที่ถนนสุขุมวิท เยื้องปากซอยสุขุมวิท 63 (เอกมัย) ทั้งสามแห่งเปิดทำการพร้อมกันเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2503

สถานีขนส่งผู้โดยสารทั้ง 3 แห่ง เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีนโยบายจัดระเบียบการเดินรถโดยสารของประเทศ ซึ่งสมัยนั้นมีปัญหาเรื่องขับรถเร็ว แซงเพื่อแย่งผู้โดยสาร เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เกิดการทะเลาะวิวาทระหว่างพนักงานประจำรถ ผู้ประกอบการ อีกทั้งมีผู้มีอิทธิพลเกี่ยวข้อง

ปี 2502 จอมพลสฤษดิ์เคยมอบสัมปทานเส้นทางการเดินรถโดยสารหมวด 2 ในเขตสัมปทานแก่ บขส. จำนวน 25 จังหวัด จากนั้น บขส. พยายามชักจูงบริษัทเดินรถโดยสารเอกชนรายใหญ่เข้าสู่ระบบรถร่วม โดยการเดินรถให้อยู่ในกฎข้อบังคับของทางราชการ ภายใต้เครื่องหมายของบริษัทฯ

ความเปลี่ยนแปลงของสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ นั้นเกิดขึ้นกับ 2 สถานีใหญ่ๆ ได้แก่ สถานีขนส่งหมอชิต ถูกย้ายไปที่ถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร เมื่อปี 2541 หลังกรมธนารักษ์อนุมัติให้บริษัท ธนายง จำกัด ของตระกูลกาญจนพาสน์ ใช้ที่ดินสร้างโรงจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่ก็ยังถูกเรียกกันติดปากว่า “หมอชิตใหม่” หรือ “หมอชิต 2”

ปัจจุบัน สถานีขนส่งหมอชิต 2 ตั้งอยู่บนที่ดิน 70 ไร่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยทำสัญญาระยะสั้นเพียงแค่ 3 ปี ต่อสัญญาทุกๆ 3 ปี จ่ายค่าเช่าปีละกว่า 30 ล้านบาท และปรับเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าว ไม่สามารถที่จะขยับขยายเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจาก รฟม. สงวนไว้รองรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟความเร็วสูง

อีกแห่งหนึ่งคือ สถานีขนส่งสายใต้ เริ่มจากปี 2532 ย้ายไปยังถนนบรมราชชนนี ปิ่นเกล้า บริเวณทางแยกต่างระดับสิรินธร กระทั่งวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ได้ย้ายไปบนที่ดิน 37 ไร่ ย่านพุทธมณฑล สาย 1 เขตตลิ่งชัน โดยบริษัท สิริโปรเจ็คคอนสทรัคชั่น จำกัด ให้ บขส. ใช้ที่ดินฟรีๆ 30 ปี แลกกับขอพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ทำเป็นศูนย์การค้า

แม้สถานีขนส่งเอกมัยจะเหลือเพียงแห่งเดียวที่ไม่มีการย้ายสถานที่ แต่ที่ผ่านมา บขส. ก็เคยมีแนวคิดที่จะย้ายไปที่อื่น เช่น บริเวณถนนบางนา-ตราด หรือที่ดินศูนย์ซ่อมบำรุง 50 ไร่ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถนนพระราม 9 แม้จะมีการเจรจาในหลักการเมื่อปี 2551 แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุป

ที่ผ่านมาการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 ถูกรัฐบาลชุดต่างๆ มาพูดถึงไม่น้อย เพราะการย้ายสถานที่จากหมอชิตเมื่อปี 2541 เป็นการย้ายชั่วคราวไม่เกิน 5 ปี เพื่อจัดหาหาสถานที่ก่อสร้างสถานีถาวร แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปล่วงเลยมาถึง 15 ปี กระทั่งการรถไฟฯ ต้องหารือกับ บขส. ว่าถึงเวลาจะต้องย้ายออกไปจากตรงนี้

บขส. เคยมีแนวคิดที่จะก่อสร้างสถานีขนส่งทดแทน ตัวเลือกส่วนใหญ่จะอยู่ย่านรังสิต จ.ปทุมธานี แต่ไม่เกินตลาดไท แล้วใช้วิธีการเชื่อมต่อเข้าสู่เมืองหลวงด้วยบริการขนส่งมวลชนแทน เช่น ย่านโรงกษาปณ์ โรงงานไทยเมล่อน ฯลฯ แต่แนวคิดของ บขส. สวนทางในระดับนโยบายยังต้องการให้อยู่ในพื้นที่เดิม จึงยังไม่มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม

เมื่อการรถไฟฯ ได้หารือกับ บขส. อย่างไม่เป็นทางการว่า จะต้องหาพื้นที่แห่งใหม่สำหรับก่อสร้างสถานีขนส่ง เพราะการรถไฟฯ จะขอคืนพื้นที่เพื่อพัฒนาศูนย์ขนส่ง และศูนย์รวมระบบโลจิสติกส์ โดยมีผลการศึกษาเสนอให้ใช้พื้นที่บริเวณรังสิต ขนาดไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ ในหลักการจะเน้นให้อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งในปีนี้น่าจะได้ข้อสรุป

โดยส่วนตัวผมสนับสนุนให้ย้ายออกไปเพื่อแก้ปัญหาจราจร เพราะที่ผ่านมาจะมีรถบัส และรถแท็กซี่หนาแน่นเป็นสองช่วง ได้แก่ ช่วงประมาณตี 4 รถบัสจากต่างจังหวัดจะทยอยเข้ามาส่งผู้โดยสาร และช่วงหัวค่ำ รถบัสทยอยออกจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่ต่างจังหวัดมากที่สุด หากเป็นช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดยาวจะหนาแน่นกว่านี้

แต่ปัญหาคือ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้บริการ ในแง่ผู้ประกอบการจะมีใครอยากเข้ามารับ-ส่งผู้โดยสารหรือไม่ เนื่องจากมองว่าอยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงมากเกินไป และในแง่ผู้โดยสารจะมีระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อเข้าสู่เมืองหลวงอย่างไร ไม่ให้กลายเป็นภาระในการเดินทางเพิ่มขึ้นมากเกินไป

ที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ หากสถานที่ตั้งเป็นย่านรังสิต การคมนาคมเข้าสู่เมืองหลวง เช่น ถนนวิภาวดีรังสิต และถนนพหลโยธิน จะได้รับผลกระทบจากปัญหาการจราจรหนาแน่น เนื่องจากถนนช่วงท่าอากาศยานดอนเมืองยังมีสภาพเป็นคอขวด อีกทั้งกำลังจะมีสายการบินระหว่างประเทศอีก 10 สายการบินเปลี่ยนมาใช้สนามบินดอนเมืองอีกด้วย

ส่วนย่านทางแยกต่างระดับรังสิต ยังเป็นจุดที่มีการจราจรติดขัดเป็นประจำในช่วงเช้าและเย็น เพราะเป็นย่านชุมชนและตลาดหนาแน่น มีทั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่อย่างฟิวเจอร์พาร์ค มีท่ารถตู้ไปต่างจังหวัด มีบ้านจัดสรรละแวกถนนรังสิต-นครนายก และสภาพถนนยังคับแคบ เต็มไปด้วยผู้คนพลุกพล่าน รถยนต์จอดรถในที่ห้ามจอด จอดกีดขวาง

ถ้าจะย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 จริง ควรจะแบ่งออกเป็น 2 สถานี คือ สถานีขนส่งสำหรับรถโดยสารหรือรถตู้ที่มีระยะทางไม่ไกล ไปได้แค่พิษณุโลก นครราชสีมา ซึ่งคุณชัชชาติ สิทธิพันธ์ รมว.คมนาคม ก็มีแนวคิดที่จะมีสถานีรถโดยสารอยู่บริเวณศูนย์ขนส่งบางซื่อ รองรับรถที่จะให้บริการผู้โดยสารเท่านั้น

จากนั้นก็พัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารพิษณุโลก และสถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมา (แห่งที่ 2) เป็นสถานีขนส่งประจำภูมิภาค เป็นจุดเชื่อมต่อสำหรับรถประจำทางไปยังจังหวัดอื่นๆ และมีรถประจำทางถึงกรุงเทพฯ ตลอดคืน ซึ่งผมทราบว่าที่โคราชมีผู้ประกอบการเดินรถตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว วิธีนี้จะช่วยให้ผู้โดยสารมีทางเลือกคู่ขนานมากขึ้น

เหตุผลที่ต้องมีสถานีรถโดยสารออกเป็น 2 สถานี แง่มุมหนึ่งคือคนที่เดินทางในจังหวัดไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ไม่อยากนั่งรถหลายต่อ อีกแง่มุมหนึ่ง เดี๋ยวนี้มีรถตู้ที่ถูกดัดแปลงเป็นรถโดยสารเข้ามาตีตลาดรถประจำทาง เอาเฉพาะอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมีมากกว่า 70 วิน เกรงว่าถ้าผู้ประกอบการจำใจต้องย้ายออกไปถึงรังสิตเดี๋ยวจะพากันตายหมู่

ส่วนสถานีขนส่งผู้โดยสารระยะไกล ทางเข้า-ออกต้องห่างจากถนนใหญ่ มีสะพานรถยนต์ ถนนต้องกว้างพอสำหรับรถบัส คล้ายสถานีขนส่งสินค้าที่ร่มเกล้าและพุทธมณฑล เพราะที่ผ่านมาสถานีขนส่งสายใต้ ตลิ่งชัน ทำรถติดบนถนนบรมราชชนนีเป็นประจำทุกเย็น ซึ่งตัวสถานีกลับอยู่ติดถนนใหญ่ แถมเจ้าของที่ดินต้องการทำเป็นศูนย์การค้าอีก

การเชื่อมต่อเข้าสู่เมืองหลวง แน่นอนว่าจะมีรถตู้แห่แหนไปที่นั่น พร้อมกับรถประจำทาง ขสมก. เพราะฉะนั้นต้องพัฒนาขีดความสามารถถนนวิภาวดีรังสิต และถนนพหลโยธินให้รองรับจำนวนรถที่เพิ่มมากขึ้น มากกว่าที่จะบีบบังคับให้ใช้ทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ เสียค่าผ่านทาง 85 บาท รวมทั้งต้องจัดการกับปัญหาแท็กซี่โก่งราคาอย่างจริงจังด้วย

ที่สำคัญ เมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดง จากตลิ่งชัน หรือบางซื่อ มาถึงรังสิตก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว บขส. ก็ควรที่จะทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้ากับสถานีขนส่งเอง โดยอาจจะมีบริการรถรับ-ส่ง ในรูปแบบชัทเทิลบัส (Shuttle Bus) ให้บริการฟรีไปยังอาคารผู้โดยสาร และต้องให้บริการอย่างต่อเนื่องจนกว่ารถไฟฟ้าเที่ยวสุดท้ายจะหมด

ในส่วนของผู้ประกอบการรถร่วมบริการ ที่มีศูนย์บริการลูกค้าเป็นของตัวเอง บขส. ก็ควรที่จะส่งเสริมเอกชน ไปพร้อมๆ กับการบังคับให้ผู้ประกอบการเหล่านี้รับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีขนส่งในช่วงเทศกาลตลอดไป เพราะเมื่อย้ายสถานีขนส่งออกนอกเมืองไปแล้ว ข้ออ้างที่ว่าไม่เข้าสถานีขนส่งเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัดนั้น ย่อมฟังไม่ขึ้นอีกต่อไป

อาจมีหลายท่านมองว่าหากจะย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 ไปรังสิตนั้นไกลเกินไป แต่โดยส่วนตัวผม นอกจากเรื่องปัญหาจราจรแล้ว ก็เข้าใจเหตุผลดีว่าที่ดินตรงนั้นไม่ใช่ที่ บขส. คิดไปแล้วก็เหมือนกับการย้ายสนามบินจากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปสุวรรณภูมิเมื่อ 28 กันยายน 2549 ซึ่งถูกมองว่าอยู่ชายขอบกรุงเทพฯ ห่างไกลจากเมืองหลวงมากเกินไป

แรกๆ ก็มีเสียงบ่นกันเยอะว่าอยู่ไกลบ้าง เดินทางไม่สะดวกบ้าง ต้องเจอแท็กซี่ขูดรีดบ้าง แต่เมื่อมีแอร์พอร์ต ลิงก์มาถึงที่นี่ ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อตอนที่สายการบินแอร์เอเชียย้ายฐานการบินมาที่ดอนเมือง เมื่อ 1 ตุลาคม 2555 มีแต่เสียงสะท้อนไม่เห็นด้วย อยากให้อยู่ที่เดิม อ่านเหตุผลกลายเป็นว่าไปดอนเมืองไม่สะดวกเหมือนสุวรรณภูมิเสียอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นส่วนตัว ผมปรับตัวได้ครับ ถ้าจะให้นั่งรถตู้เพื่อไปขึ้นรถบัสออกต่างจังหวัดที่รังสิต แต่อย่างน้อยถ้าเป็นจังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ยืนยันว่าควรจะมีสถานีรถโดยสารใจกลางเมือง อาจอยู่แถวบางซื่อ ไม่อย่างนั้นคนที่เดินทางในจังหวัดใกล้ๆ แต่ต้องไปขึ้นรถที่รังสิต 2-3 ต่อ คงได้เหนื่อยกว่าเดิมแน่




กำลังโหลดความคิดเห็น