xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ซีพีฮุบแม็คโคร กินรวบประเทศไทย รุกตลาดเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การที่ “บมจ.ซีพี ออลล์” (CPALL) ของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ตัดสินใจทุ่มเม็ดเงิน 188,880 แสนล้านบาทเพื่อซื้อหุ้น “บมจ.สยาม แม็คโคร” (MAKRO) บริษัท สยามแม็คโครโฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท โอเอชที จำกัด โดยได้ลงนามสัญญาซื้อขายกับ บริษัท เอสเอชวี เนเธอร์แลนด์ บีวี รวมทั้งแผนการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์กับผู้ถือหุ้นในส่วนที่เหลืออีก 85.57 ล้านหุ้น ในราคา 787 บาทต่อหุ้น ถือเป็นดีลการซื้อขายสูงสุดในประวัติศาสตร์ของไทยก็ว่าได้

ที่สำคัญคือการควบรวมกิจการครั้งนี้มีนัยสำคัญอย่างยิ่งยวดมิใช่เฉพาะในทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่เป็นที่จับตาว่า จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจค้าปลีกรายย่อยในรูปแบบดั้งเดิมของไทยที่ชื่อ “โชวห่วย” หรือไม่

เพราะนี่คือการควบรวมกิจการของธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่และทรงพลังที่สุดในประเทศไทยชื่อ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” เข้ากับธุรกิจค้าส่งที่ใหญ่และทรงพลังที่สุดประเทศไทยชื่อ “แม็คโคร”

ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดข้อปริวิตกตามมาด้วยว่า นี่ใช่เป็นการควบรวมกิจการที่เข้าข่ายผูกขาดทางการตลาดหรือผูกขาดทางการค้าหรือไม่ รวมทั้งเกิดคำถามว่า การจ่ายแพงขนาดนี้จะแพงเกินไปและจะคุ้มค่าหรือไม่ แม้เม็ดเงินมากมายมหาศาลครั้งนี้จะทำให้ชนะคู่แข่งที่ต้องการจะยึดแม็คโครเพื่อหวังใช้เป็นสปริงบอร์ดสู่ต่างประเทศเหมือนกันอย่าง กลุ่มเซ็นทรัล และกลุ่มเบอร์ลี่ยุคเกอร์ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกาศชัดเจนว่า การเข้าซื้อแม็คโครด้วยมูลค่าสูงถึง 188,880 ล้านบาทนั้นถือว่าไม่แพงและถือว่าคุ้มค่าอย่างมาก กับการได้มาทั้งบุคลากรที่มีความสามารถในการบริหารงานและรายได้ที่เติบโตต่อเนื่องมาตลอด แต่ถ้าหากมองว่าแพงแล้วในวันนี้แต่จะถือว่าถูกในวันข้างหน้า ซึ่งการซื้อมาแพงหรือไม่แพงอยู่ที่ว่าใครซื้อ เหมือนตอนที่บิ๊กซีซื้อคาร์ฟูร์ในไทยมีคนบอกว่าแพง แต่ตอนนี้ราคาหุ้นบิ๊กซีสูงขึ้นมาก ส่วนแม็คโครตอนนี้อายุในไทยก็ 25 ปีแล้ว เหมือนผู้ที่จบปริญญาโท มีการสะสมความรู้ความสามารถพร้อมที่จะทำงานและเติบโตต่อไป

อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักที่ซีพีซื้อแม็คโครในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการใช้เป็นสปริงบอร์ดในการรุกธุรกิจค้าปลีกในเอเชียและหมายรวมถึงตลาดโลกด้วยนั่นเอง เพราะลำพังหากซีพีไปเองคงจะลำบากในการก่อร่างสร้างฐานในต่างประเทศและต้องสร้างแบรนด์ขึ้นมาเอง

“แม็คโครจะช่วยส่งเสริมและนำพาธุรกิจค้าส่งค้าปลีกของซีพีไปสู่ตลาดต่างประเทศอย่างอาเซียนได้อย่างดี” นายธนินท์ย้ำ

ขณะที่นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การซื้อกิจการแม็คโครครั้งนี้ เราสามารถใช้แบรนด์แม็คโครในการทำตลาดได้ในเอเชียยกเว้นอินเดียเท่านั้น และคาดว่าประเทศแรกที่ซีพีมองว่าน่าจะเข้าไปลงทุนในละแวกนี้ไม่เป็นลาวก็เวียดนาม

อย่างน้อยที่สุดในเบื้องต้นนี้ นายก่อศักดิ์ มองว่า แม็คโครจะเป็นอีกช่องทางเหมือนกันในการนำสินค้าจากประเทศไทยของเอสเอ็มอี และสินค้าภาคเกษตรของไทย หรือแม้แต่สินค้าซีพีเองทั้งหมด ไปขายในตลาดอาเซียนได้ เป็นการเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปี 2558 นี้ เพื่อรองรับการเปิดเออีซีกับตลาดประชากรที่ใหญ่ขึ้นจากประชากร 60 ล้านคนในไทย เป็น 600 ล้านคน ทั้งอาเซียน

ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายประเทศในเอเชียและในโลกนี้ที่แม็คโครยังไม่ได้ลงหลัก หรือลงแล้วและก็ได้ทยอยตัดขายกิจการแล้ว เช่นในยุโรป และอินโดนีเซีย ทำให้เกิดช่องว่างและตลาดที่มีอนาคตอีกมากที่ซีพีเองก็จะได้เข้าไปปักธงอนาคต เพราะว่าช่วงหลังมานี้ธุรกิจของกลุ่มแม็คโครนี้มีหลากหลาย รวมทั้งพลังงานด้วย ขณะที่กิจการค้าปลีกหรือแม็คโครนี้ว่ากันว่ามีรายได้เหลือสัดส่วนเพียงแค่ไม่ถึง 3-5% จากรายได้รวมแล้ว

การมีเครือข่ายค้าปลีกที่ดีและทรงพลังจะเป็นอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์และช่องทางในการกระจายสินค้าได้อย่างดีเลิศ

แน่นอนว่าเมื่อเซเว่นฯอีเลฟเว่นในไทยที่มีมากกว่า 6,000 สาขาแล้ว เป็นมาร์เก็ตติ้งอาร์มที่ดีให้กับซีพีฉันใด ซีพีก็ต้องการให้แม็คโครสร้างปรากฏการณ์เดียวกันนี้ในต่างประเทศให้กับตัวเองฉันนั้น

กล่าวสำหรับร้านเซเว่นอีเลฟเว่น แม้ซีพีจะถือไลเซ่นส์ไว้ก็ตาม แต่ปัญหาก็คือ เป็นสิทธิเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น การจะรุกตลาดต่างประเทศก็ยาก เพราะมีผู้ได้รับไลเซ่นส์แล้วในหลายประเทศ แม้แต่ในตลาดประเทศจีน ทางซีพีเองก็ยื่นขอสิทธิ์ไปยังบริษัทแม่มานานแล้ว หลายมณฑล เช่น ยูนนาน ซูเจี้ยน เจ้อเจียง เป็นต้น ก็ยังไม่ได้รับคำตอบให้บุกพื้นที่มณฑลใดเลย เพราะมีผู้ขอสิทธิจากหลายประเทศที่ต้องการ ซึ่งคาดว่าจีนจะอนุมัติให้ประเทศละ1ไลเซ่นส์มณฑลเดียวเท่านั้น และที่ผ่านมาก็เริ่มมีการให้สิทธิให้บางมณฑลบ้างแล้ว

ตลาดในจีนถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะถ้าหากซีพีได้รับสิทธิ์ไปเปิดที่จีนแม้เพียงมณฑลเดียวก็ใหญ่เทียบเท่าประเทศหนึ่งประเทศแล้ว โดยคาดว่าภายในปลายปีนี้ซีพีเองก็น่าจะรู้ผลว่าจะได้มณฑลใด

นี่เองที่เป็นข้อจำกัดของเซเว่นฯที่ซีพีมิอาจจะพึ่งพิงได้ในต่างประเทศเพราะมีความไม่แน่นอนสูง

แต่หลังจากเข้าเทกโอเวอร์แม็คโคร ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ นับจากนี้ซีพีสามารถรุกตลาดโลกได้โดยผ่านแบรนด์แม็คโครได้ใน 8 ประเทศในอาเซียนรวมไทยด้วย คือ พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย และอีก 3 ประเทศในเอเชียคือ จีน ไต้หวัน ปากีสถาน ส่วนอีก 2 ประเทศในอาเซียนไม่ได้สิทธิ์คือ สิงคโปร์กับบรูไน

“สินค้าไทยจะมีโอกาสตีตลาดโลกได้ เพราะสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับว่ามีคุณภาพสูง แต่ปัจจุบันยังขาดอยู่เพียงแค่ช่องทางจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น และแม็คโครนี่แหละที่จะเป็นช่องทางการตลาดที่ดีและเป็นทัพหน้าในการกระจายสินค้าของไทยสู้ตลาดเออีซีหรืออาเซียนนี้” นายก่อศักดิ์กล่าว

ที่เห็นชัดเจนแล้วคือ ปีที่แล้วแม็คโครได้ขยายธุรกิจฟู้ดเซอร์วิสในประเทศเวียดนามด้วยการตั้งบริษัท วีนาสยามฟู้ด จำกัด เป็นผู้ดำเนินการโดยได้รับอนุญาตจากทางกระทรวงแผนและการลงทุนของประเทศเวียดนาม เพื่อทำธุรกิจการค้าและการจำหน่ายสินค้ารวมทั้งการนำเข้าและส่งออก ซึ่งโมเดลนี้เพิ่งเริ่มปีที่แล้วในไทยเช่นกัน เน้นจำหน่ายสินค้าอาหารสด อาหารแช่แข็ง อาหารแห้ง วัตถุดิบ เจาะกลุ่มผู้ประกอบการเช่นกัน เปิดสาขาแรกที่หัวหิน และสาขาที่สองที่ภูเก็ต ซึ่งก็จะเป็นอีกอาวุธใหม่ที่รุกตลาดต่างประเทศเช่นกัน

อีกทั้งเสือสองตัวนี้ของซีพีก็สามารถอยู่ในถ้ำเดียวกันได้คือ เซเว่น-อีเลฟเว่นกับแม็คโคร ที่ล่าเหยื่อไม่เหมือนกัน และก็ไม่ได้ทับเส้นธุรกิจหรือแย่งตลาดกันด้วย เพราะตลาดคนละกลุ่มเป้าหมาย เซเว่นฯจับกลุ่มเอนด์ยูสเซอร์ทั่วไป สินค้าก็เน้นเฉพาะอาหารและเน้นความสะดวก และเป็นค้าปลีกแนวคอนวีเนียนสโตร์ ส่วนแม็คโครถือเป็นค้าส่งแบบ แคชแอนด์แคร์รี่ คือรับเงินสด กลุ่มเป้าหมายคือผู้ประกอบการทั่วไป หรือพวกองค์กรที่ซื้อไปจำหน่ายต่อหรือใช้เองจำนวนมาก หรือที่เรียกว่า โฮเรก้า (HORECA) คือ โ รงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร

แม้ว่าที่ผ่านมาบิ๊กซีจะพยายามจะหันมาทำธุรกิจรูปแบบนี้บ้างแล้วก็ตาม ด้วยการปั้น บิ๊กซีจัมโบ้ ซึ่งชนกับแม็คโครโดยตรง ก็ยังไม่ได้มีอะไรที่สร้างความหวาดหวั่นสะพรึงกลัวให้กับแม็คโครมากนัก เพราะเพิ่งเริ่มต้น

และถ้าหากมองวิเคราะห์ถึงเทสโก้โลตัสด้วยที่ซีพีก็มีหุ้นด้วย ก็ต่างกันอีก เพราะเทสโก้โลตัสจับกลุ่มลูกค้าเอนด์ยูสเซอร์ที่ซื้อไปใช้เองเช่นกัน และจำหน่ายสินค้ำ มีความหลากหลาย เพียงแต่ว่าอาจจะไม่ได้รับเป็นเงินสด100%

ขณะที่เซเว่น-อีเลฟเว่นนั้นเป็นธุรกิจที่รับเงินสดวันต่อวัน หรือการใช้บัตรสมาร์ทเพิร์ซก็ยังเป็นการเติมเงินในบัตรล่วงหน้าก่อนซึ่งหมายถึงซีพีสามารถนำเงินไปใช้ก่อนได้ เช่นเดียวกับแม็คโครที่เป็นธุรกิจรับเงินสดด้วยเหมือนกันไม่มีการรับบัตรเครดิตมากมาย เพียงรับบัตรเครดิต 1-2 ค่ายเท่านั้น

ปัจจุบันแม็คโครมีสาขาในไทย 58 สาขา ครอบคลุม 50 จังหวัด มีรายได้ในปี 2555 เท่ากับ 114,332 ผลกำไร 3,555 ล้านบาท ขณะที่เซเว่นอีเลฟเว่น มีสาขามากกว่า 6,000 สาขาในไทยแล้ว มีรายได้ปีที่แล้วมากกว่า 1 แสนล้านบาท

แน่นอน คำถามสำคัญที่ตามมามีอยู่ว่า โชวห่วยสัญชาติไทยจะได้รับผลกระทบจาการควบรวมกิจการของบิ๊กค้าปลีกและค้าส่งอันดับหนึ่งของไทยมากน้อยเพียงใด

นายไชยยุทธ์ เลิศรุ้งพร เจ้าของร้านสะดวกซื้อฟาร์มมาร์ท ในฐานะประธานชมรมผู้ค้าปลีกและผู้ประกอบการอาชีพอิสระ จ.ขอนแก่น กล่าวถึงการเทกโอเวอร์ห้างค้าส่งแม็คโครของซีพีออลล์ว่า ยิ่งซ้ำเติมผู้ประกอบการค้า ปลีกรายย่อยหรือร้านโชวห่วยให้ทำมาค้าขายได้ยากมากขึ้น เพราะคุมตลาดค้าปลีกค้าส่งเบ็ดเสร็จ ลำพังร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นก็เปิดสาขาทุกซอกทุกมุมในย่านชุมชนทั่วเมืองอยู่แล้ว ต่อไปก็คงจะเปิดแม็คโครสาขาย่อยเพิ่มขึ้นอีก

“ที่ผ่านมาค้าปลีกท้องถิ่นรายย่อยอย่างพวกเราก็แทบจะขายไม่ได้อยู่แล้ว ถูกบีบทั้งจากเซเว่น อีเลฟเว่น และโลตัสเอ็กซเพรส แม้สินค้าหลายรายการเขาจะขายแพงกว่าร้านโชวห่วยแต่ลูกค้าก็ยังเข้าไปอุดหนุน เพราะเขาได้เปรียบเรื่องทุนตกแต่งร้านและจ้างพนักงาน ทำให้ตอนนี้แต่ละจังหวัดจะเหลือร้านโชห่วยเฉพาะรายใหญ่ๆไม่กี่ร้านเท่านั้น”นายไชยยุทธกล่าว

นายไชยยุทธกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาพวกเราก็พยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด พยายามรวมตัวบรรดาร้านค้าปลีกย่อยเป็นชมรมออกมาเคลื่อนไหวขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่ก็ไม่มีพลังมากพอขับเคลื่อนให้มีการแก้ไขปัญหา ในส่วนร้านฟาร์มมาร์ทที่ตนเป็นเจ้าของนี้ก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถอยู่รอดได้อีกนานแค่ไหน หากไม่ไหวจริงๆก็คงต้องปิดร้านและไปหาอาชีพอย่างอื่นทำแทน ขณะนี้ก็เริ่มขยับขยายไปทำธุรกิจอื่นๆบ้างแล้ว

สำหรับโครงการมิตรแท้โชห่วยของห้างแม็คโครที่เปิดตัวมาหลายปีนั้น ในความเป็นจริงไม่ได้มีบทบาทช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับร้านค้าย่อยท้องถิ่นสักเท่าไหร่ แทบจะไม่มีบทบาทต่อความอยู่รอดของโชวห่วยก็ว่าได้ โครงการนี้จะมีหรือไม่มีต่อไปหลังจากนี้ร้านค้าย่อยไม่ได้คาดหวัง

“ในส่วนของร้านโชวห่วยที่ยังเปิดอยู่ต่อไปก็คงหาซื้อสินค้าตามร้านค้าส่งเจ้าประจำบ้าง ห้างแม็คโครบ้าง บิ๊กซีหรือโลตัสบ้างขึ้นอยู่กับว่ารายการไหนห้างใดขายถูกกว่ากัน ไม่มีทางเลือกมากนัก”นายไชยยุทธให้ความเห็น

เช่นเดียวกับ นายสุระสิทธิ์ บุญเหลื่อม ผู้จัดการทั่วไปห้างพิษณุไมโคร เปิดเผยว่า พิษณุไมโครยังคงดำเนินธุรกิจค้าปลีก แม้ช่วงหลายปีที่ผ่านมาลำบากพอสมควร ต้องต่อสู้กับห้างยักษ์ใหญ่อย่างห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ - เทสโก้ โลตัส ส่วนกรณีบริษัทในเครือซีพี ลงทุนซื้อห้างแม็คโคร ก็เชื่อว่า ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกมีแต่กระอักเพิ่มขึ้น

“ณ วันนี้ ห้างพิษณุไมโครถูกห้างดิสเคานต์สโตร์ดัมพ์ราคา เพื่อจัดรายการ หมุนเวียนสินค้าแต่ละตัว หั่นราคาถึง 15-20 เปอร์เซ็นต์ หากห้างแม็คโครปรับโฉมมาใหม่ ก็เชื่อว่า คงใช้กลยุทธ์ราคากระหน่ำซ้ำอีก มิฉะนั้นซีพี.คงไม่กล้าทุ่มทุนซื้อมากมายเป็นประวัติการณ์ขนาดนี้ ฉะนั้นภาพรวมร้านค้าโชหวยย่อมถูกกระหน่ำต่อเนื่องในแต่ละเดือนแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามทิศทาง แม็คโครให้ชัดเจนก่อน ซึ่งโดยแนวทางแล้วคงหนีไม่พ้นกลยุทธ์ราคา ซึ่งถ้าหากแม็คโคร ภายใต้การบริหารของ ซีพี.ปรับกลยุทธ์ให้เป็นการจำหน่ายของสด หรือเทียบเท่าตลาดสด ก็ถือว่า ดีสำหรับร้านค้าโชหวย เพราะห้างแมคโครอาจมองพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่คนนิยมเข้าห้างฯ เพราะสะอาดกว่าตลาดสด โดยไปเน้นจำหน่ายเนื้อหมู, ไข่, ปลา ฯลฯ ควบคู่สินค้าอุปโภคบริโภคแทน ซึ่งร้านค้าโชวห่วย รวมถึงพิษณุไมโครเองก็พอหายใจได้บ้าง

แน่นอน ซีพีก็กังวลต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่หลายฝ่ายวิตกกังวลเช่นกัน

กระนั้นก็ดี ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ยืนยันในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2556 ที่ผ่านมาว่า สำหรับปัญหาร้านค้าปลีกรายย่อยที่หลายฝ่ายเป็นกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากการซื้อกิจการแม็คโครในครั้งนี้ อยากให้มั่นใจว่า โชวห่วยจะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะโชวห่วยถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญของแม็คโคร ยิ่งโชวห่วยซื้อสินค้าจากแม็คโครมากขึ้น แม็คโครก็จะเติบโตมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น นโยบายการช่วยเหลือโชวห่วยของค้าส่งอย่างแม็คโครจะยังคงดำเนินต่อไป ส่วนเซเว่น-อีเลฟเว่นก็จะเป็นร้านสะดวกซื้อที่จำหน่ายสินค้าราคาสูงกว่าโชวห่วย จึงเชื่อว่าโชวห่วยจะไม่ได้รับผลกระทบจากการซื้อกิจการในครั้งนี้แต่อย่างใด

สำหรับกรณีที่เกิดความปริวิตกว่า เป็นการควบรวมกิจการที่เข้าข่ายผูกขาดทางการตลาดหรือไม่นั้น เป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน เนื่องเพราะต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า นี่คือการควบรวมกิจการของธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเข้าด้วยกัน ซึ่งเจ้าสัวธนินท์ประกาศชัดเจนว่า หลังจากควบรวมกิจการเข้าด้วยกันแล้ว จะทำให้ซีพีออลล์ มีรายได้รวมกว่า 300,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มาจาก 7-11 ราว 200,000 ล้านบาท และมาจากแม็คโคร 100,000 ล้านบาท

คำถามมีอยู่ว่า จะมีมาตรการอะไรที่จะทำให้คนไทยมั่นใจได้ว่า กฎหมายแข่งขันทางการค้าที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียงพอที่จะกำกับดูแลไม่ให้ซีพีออลล์มีพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจนเอาเปรียบผู้ค้ารายอื่นหรือผูกขาด ซ้ำร้าย ในขณะนี้ หลักเกณฑ์การดูแลการควบรวมกิจการซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหาก็ยังอยู่ระหว่างการจัดทำและไม่มีวี่แววว่าจะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ในยุคไหนสมัยไหน

แน่นอน แม้ น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน จะให้สัมภาษณ์อย่างแข็งขันว่าจะสามารถดูแลได้ แต่เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมที่ผ่านมาก็ยากจะทำใจให้เชื่อได้สนิทใจว่า กรมการค้าภายในจะคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างสุดความสามารถ

“อยากให้มองในแง่ดีว่าเป็นครั้งแรกที่บริษัทของคนไทยเข้าซื้อกิจการค้าส่งรายใหญ่ของต่างชาติได้สำเร็จ ซึ่งปัจจุบันถึงแม้ว่าหลักเกณฑ์ ทั้งนี้ การเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดไม่ใช่ความผิดตามกฎหมาย แต่ต้องดูที่พฤติกรรม โดยทางซีพีออลล์ก็เป็นผู้มีประสบการณ์ในตลาดค้าปลีกที่เข้าใจกฎหมายการแข่งขันทางการค้าเป็นอย่างดี ดังนั้น เชื่อว่าการควบรวมกิจการครั้งนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจค้าส่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจค้าปลีก นั่นหมายถึงโชวห่วยหรือร้านค้ารายย่อยก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน”

“ส่วนความคืบหน้าในการออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลการควบรวมกิจการนั้น ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ โดยหลังจากนี้ก็จะต้องเสนอให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือบอร์ดชุดใหญ่ เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบและประกาศใช้ต่อไป”อธิบดีกรมการค้าภายในให้ความเห็นกรณีการควบรวมกิจการของ 2 ยักษ์ใหญ่

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ตามเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาด หากผู้ประกอบการมีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เกตแชร์) มากกว่า 50% ของตลาดรวม และมียอดขายเกิน 1,000 ล้านบาท หรือผู้ประกอบการในธุรกิจนั้นรวมกัน 3 ราย มีมาร์เกตแชร์เกิน 75% ของตลาดรวม ให้ถือว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในขณะนี้มีผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจเหลือเพียง 4 ราย คือ เทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี, เซเว่น-อีเลฟเว่น และสยามแม็คโคร ซึ่งหากมีการรวมกันก็จะเหลือเพียง 3 รายใหญ่ก็จะเข้าข่ายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด เพราะมาร์เกตแชร์เกิน 75%

สำหรับยอดขายปีที่ผ่านมาของเซเว่น-อีเลฟเว่นมีมากที่สุด โดยมีมูลค่า 159,000 ล้านบาท รองลงมาคือ เทสโก้ โลตัส มูลค่า 148,000 ล้านบาท บิ๊กซี 121,000 ล้านบาท และแม็คโคร มียอดขาย 98,623 ล้านบาท เมื่อเซเว่น-อีเลฟเว่นรวมกับแม็คโคร จะมีมาร์เกตแชร์เพียง 48.92% ซึ่งไม่เกิน 50% แต่หากนำแชร์ 3 รายมารวมกันก็จะเกิน 75% ซึ่งน่าจะทำให้บริษัทค้าส่งค้าปลีกทั้ง 3 รายเข้าข่ายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งหากมีพฤติกรรมการค้าใดที่ไม่เป็นธรรมและทำผิดกฎหมายก็จะมีโทษทั้งจำคุกและปรับ

ถึงตรงนี้ หากยังจำกันได้ แม็คโครไม่ใช่ดีลธุรกิจแสนล้านครั้งแรกที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ใช้ในการเทกโอเวอร์

ก่อนใช้เงิน 1.88 แสนล้านล้านเพื่อเทกโอเวอร์แม็คโคร ในช่วงปลายปีมังกรทอง 2555 หรือก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่เดือน เจ้าสัวธนินท์ที่คนจีนรู้จักกันในชื่อ “เซี่ย กั๋วหมิน” ใช้เงินถึง 2.9 แสนล้านบาทในการเทกโอเวอร์ “ผิงอัน อินชัวแรนซ์ (Ping An Insurance Group)” ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่อันดับสองของประเทศจีนจาก “เอชเอสบีซี โฮลดิ้งส (HSBC Holdings)” มาแล้ว

ครั้งนั้นถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์เลยก็ว่าได้

และนี่เป็นการลงทุนครั้งใหญ่อีกครั้งในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งก็คงต้องถามเจ้าสัวธนินท์ว่า หลังจากผิงอันและแม็คโคร ซีพี.ยังจะมีเป้าหมายอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่




กำลังโหลดความคิดเห็น