xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ทูตวีรชัย” ฮีโร่ประเทศไทย ศัตรูร้ายแก๊งขายชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - วินาทีนี้ คงไม่มีคนไทยคนไหนไม่รู้จัก “วีรชัย พลาศรัย” เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายฝ่ายไทยที่กำลังสู้กับราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างถึงพริกถึงขิง ชนิดที่ได้ใจคนทั้งประเทศ

ทั้งจากภาษาฝรั่งเศสที่ทูตวีรชัยกล่าวราวกับเป็นภาษาของตนเอง

ทั้งจากข้อมูลและหลักฐานที่ทูตวีรชัยนำมาลากไส้ลูกหลานพระยาละแวกออกมาแฉเป็นขดๆ ว่า โกหกมดเท็จ บิดเบือนข้อมูลในทุกวิถีทางเพื่อที่จะครอบครองดินแดนของไทยอย่างหน้าด้านๆ

วันนี้ คงไม่เกินเลยไปนักที่กล่าวว่า ทูตวีรชัยคือฮีโร่ของชาวไทยทั้งชาติ

อย่างไรก็ตาม กว่าที่จะถึงวันนี้ได้นั้น ชีวิตของ “ไอ้แสบ...พี่แสบ..น้องแสบ” ของเพื่อนพ้องน้องพี่มิได้โรยด้วยดอกกุหลาบ หากแต่ต้องเผชิญกับวิบากกรรมอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะวิบากกรรมจากขบวนการขายชาติขายแผ่นดินที่ปรารถนาจะยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาเพื่อแลกกับการทำธุรกิจพลังงานในอ่าวไทยจนต้องกระเด็นพ้นจากเก้าอี้ในกระทรวงการต่างประเทศ เลยทีเดียว

ทูตวีรชัย เกิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2503 จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท มหาวิทยาลัยปารีส (นองแตร์) ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ฝรั่งเศส

....เห็นประวัติการศึกษาแล้ว ก็ไม่แปลกใจว่า ทำไททูตวีรชัยถึงได้พูดภาษาฝรั่งเศสได้คล่องแคล่วและชัดถ้อยชัดคำเช่นนี้

ทูตวีรชัยถือเป็นลูกหม้อของกระทรวงการต่างประเทศ โดยเริ่มรับราชการในตำแหน่งเลขานุการตรี กองแอฟริกาและกลุ่มอาหรับ จากนั้นเติบโตในชีวิตราชการมาเป็นลำดับจนได้รับรางวัลครุฑทองคำประจำปี 2553-2554 ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับข้าราชการพลเรือนที่มอบให้เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณแก่ข้าราชการที่ปฏิบัติงานด้วยความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม

ทูตวีรชัยเป็นที่รู้กันในกระทรวงบัวแก้วว่า มีความรอบรู้เรื่องกฎหมายระหว่างประเทศและเรื่องเขตแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาและลาว ดีที่สุดคนหนึ่ง

แต่ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า ด้วยความรอบรู้อันนี้เองที่ทำให้มีภัยมาถึงตัว เพราะไปรู้ในสิ่งที่นักการเมืองไม่ต้องการให้รู้ หรือต้องการให้เก็บความรู้นั้นเป็นความลับติดตัวไปจนวันตาย

กล่าวคือในสมัยที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการดูแลและมีข้อมูลเรื่องการปล่อยเงินกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า หรือเอ็กซิมแบงก์ ให้รัฐบาลพม่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ตรวจสอบโครงการดังกล่าว และปรากฏข่าวว่ากระทรวงการต่างประเทศได้ส่งข้อมูลโครงการปล่อยกู้ดังกล่าวนี้ไปให้คนใน คตส. สอบสวน

ในครั้งนั้น ทูตวีรชัยถูกผู้มีอำนาจในขณะนั้นถูกหมายหัวเป็นลำดับแรกว่ามีส่วนรู้เห็นในเรื่องดังกล่าว

อีกทั้งต่อมาเมื่อย้ายมาเป็นอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ก็มีนักการเมืองในกระทรวงการต่างประเทศบางคนร้องขอเอกสารข้อมูลที่เป็นชั้นความลับหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่นโครงการปล่อยเงินกู้ให้พม่าของเอ็กซิมแบงก์ หรือเอกสารฉบับแปลในโครงการการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ของสหรัฐฯ

ตามข่าวช่วงนั้นบอกว่า การร้องขอดังกล่าวจากฝ่ายการเมืองได้รับการปฏิเสธ ไม่ให้ความร่วมมือในการส่งเอกสาร ซึ่งด้วยสไตล์การทำงานลักษณะนี้ของทูตวีรชัยได้ทำให้ฝ่ายการเมืองที่จ้องจะโกงชาติหมายหัว พร้อมทั้งข่มขู่คุกคามเป็นคำรบที่สอง

ในครั้งนั้น นายสัก กอแสงเรือง ซึ่งดำรงตำแหน่งโฆษก คตส. กล่าวให้ความเห็นว่า “เอกสารการสอบสวนคดีการจัดซื้อซีทีเอ็กซ์ 9000 ของสหรัฐที่กรมสนธิสัญญาฯ ช่วยแปลให้ คตส.นั้นถือเป็น เอกสารชั้นความลับสุดยอด เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่สามารถเปิดเผยให้ใครรับทราบได้ ทางสหรัฐฯ กำชับว่า เป็นความลับสูงสุด จะเปิดเผยได้ก็เฉพาะในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น หากเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ เปิดเผยก็จะมีความผิด รวมถึง บุคคลที่ขอให้เปิดเผย ก็ต้องมีความผิดด้วย ข้าราชการที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ควรที่จะได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่ ไม่ควรถูกคุกคาม กลั่นแกล้ง”

จนในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่มีนายสมัคร สุนทรเวชเป็นนายกรัฐมนตรีและนายนพดล ปัทมะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทูตวีรชัยถูกเด้งพ้นเก้าอี้อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายตามความคาดหมาย โดยถูกย้ายไปดองหรือเข้ากรุในตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่า เป็นตำแหน่งแขวนสำหรับทูตโดยเฉพาะ

เหตุผลที่ทูตวีรชัยถูกเด้งพ้นอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ว่ากันว่าเป็นเพราะทำบันทึกคัดค้านการออกแถลงการณ์ร่วมหนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว

ที่ต้องขีดเส้นใต้บันทึกเอาไว้ก็คือ เมื่อขจัดขวากหนามให้พ้นทางเรียบร้อยแล้ว ผลที่เกิดขึ้นก็คือมีการออกแถลงการณ์ร่วมฯ ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาจนกัมพูชาสามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียวได้เป็นผลสำเร็จ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในเวลาต่อมาว่า “แถลงการณ์ร่วมฯ เป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ”

ศ.ดร.อดุลย์ วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการมรดกโลกแห่งประเทศไทย ได้เคยให้ความเห็นในกรณีดังกล่าวเอาไว้ว่า “ต้นปีที่ผ่านมา(2551) ก่อนที่ นายวีรชัย พลาศรัย จะถูกปลดออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพียงหนึ่งสัปดาห์ เจ้าหน้าที่ของกรมดังกล่าวได้มาปรึกษาผมอีกครั้งว่าหากไทยจะยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยมีเงื่อนไขว่า การขึ้นทะเบียนตัวปราสาทจะไม่กระทบกระเทือนกับเรื่องแบ่งปันเขตแดน และกัมพูชาจะต้องมาคุยในเรื่องแบ่งปันเขตแดนกับไทยให้เสร็จสิ้น อย่างนี้จะได้หรือไม่ ผมตอบไปว่าไม่ได้หรอกสองข้อนี้ก็เป็นแค่ข้ออ้าง เพราะกัมพูชาต้องทำอยู่แล้ว เพียงแต่เขาไม่ยอมทำเสียที ดังนั้นหากเราไปรับข้อเสนอนี้ก็เท่ากับให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนตัวปราสาทไปโดยที่เขาได้ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว เมื่อกล่าวเช่นนั้นเจ้าหน้าที่ก็รับความคิดเห็นไป โดยหลังจากนั้นไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์อธิบดีวีรชัยก็ถูกปลด จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า ตัวอดีตอธิบดีวีรชัย คงจะยืนยันอย่างที่ผมได้แนะนำไปว่าต้องจดทะเบียนร่วมกันเท่านั้น จึงทำให้ถูกปลดออกจากตำแหน่งในที่สุด”

ขณะที่ในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ในยุคที่มีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็มีกระแสข่าวย้ายทูตวีรชัยที่รู้เรื่องปราสาทพระวิหารดีที่สุดของกระทรวงการต่างประเทศให้พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าคณะทีมกฎหมายไทยในการทำศึกปราสาทพระวิหารมาแล้ว แต่ในที่สุดทูตวีรชัยก็ยังสามารถดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์และเป็นหัวหน้าทีมกฎหมายฝ่ายไทยในการสู้ศึกประสาทพระวิหารจนได้ใจคนไทยไปครองทั้งประเทศ

ดังนั้น คงไม่เกินเลยไปนักที่จะกล่าวว่า ทูตวีรชัยคือศัตรูคนสำคัญของขบวนการขายชาติโดยยืนหยัดทำหน้าที่ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างไม่หวาดหวั่น

ทั้งนี้ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยในการชี้แจงต่อศาลโลก กรณีกัมพูชายื่นให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 ทูตวีรชัยได้ให้ถ้อยแถลงด้วยวาจาโดยย้ำชัดๆถึงจุดประสงค์ของกัมพูชา ที่พยายามยึดฉวยดินแดนของไทย โดยใช้ศาลเป็นเครื่องมือ เพื่อขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว ถือเป็นการไม่ชอบ เพราะในคำร้องปี 2505 ไม่ได้มีการกล่าวอ้างเรื่องพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตร และคำร้องครั้งล่าสุดนี้ก็ไม่มีหลักฐานใหม่มาใช้อ้างอิง

อีกทั้งความพยายามเรื่องการนำแผนที่ภาคผนวก 1 หรือแผนที่อัตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ที่กัมพูชาพยายามนำมาใช้อ้างอิงนั้น ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร จึงเป็นการยื่นเอกสารที่ไม่ถูกต้องและปลอมแปลงเอกสาร พร้อมฟันธงว่า ศาลโลกไม่สามารถตัดสินเกินกว่าคำร้องที่กัมพูชาได้ร้องขอให้ขยายคำพิพากษาปี 2505 ได้

…ถือเป็นการทำหน้าที่ที่โดดเด่นได้ใจคนไทยจากการออกมาแฉเล่ห์เหลี่ยมของกัมพูชาอย่างหมดเปลือกในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากทูตวีรชัยแล้ว ทีมกฎหมายของฝ่ายไทยยังประกอบไปด้วยทนายชาวต่างชาติอีก 3คน ประกอบด้วย ศ.อแลง แปลเล่ต์ ชาวฝรั่งเศส ศ.โดนัลด์ แมคเรย์ ชาวแคนาดา ศ.เจมส์ ครอว์ฟอร์ด ชาวออสเตรเลีย ซึ่งแต่ละคนล้วนแล้วแต่มีประวัติและเกียรติภูมิไม่เบาเช่นกัน

เริ่มจากคนแรก ศ.อแลง แปลเล่ต์ ทนายความชาวฝรั่งเศส เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยปารีส อิกซ์ (น็องแตร์) ภาควิชากฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เคยเป็นผู้อำนวยการของ Centre de Droit International-CEDIN ในช่วงปี 2534-2544 และเคยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จากหลายประเทศ นอกจากนี้ ยังได้รับ Knight of the Legion of Honour ของไทย ในปี 2541 ในฐานะที่ทำงานให้แก่ประเทศชาติ และถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศมีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่ง เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของหลายๆ ประเทศ ให้ว่าความที่ศาลโลก มากกว่า 35 คดี อาทิ คดีข้อพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตย เหนือหมู่เกาะสิปาดันและลิติกัน และคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือเกาะเปดรา บลังกา รวมถึงประเด็นพิพาทกรณีปราสาทพระวิหาร

ทั้งนี้ ผู้ช่วยคนสำคัญของ ศ.แปลเล่ต์ก็คือ “น.ส.อลินา มิรอง” ทนายความชาวโรมาเนียที่ทำหน้าที่ได้โดดเด่นในเรื่องของแผนที่จนสร้างความประทับใจให้กับคนไทยทั้งชาติมาแล้ว(อ่านรายละเอียเพิ่มเติมใน “อลินา มิรอง อาวุธน็อกเขมร ขวัญใจชาวไทย”)

ด้าน ศ.เจมส์ ครอว์ฟอร์ด เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เป็นทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ มีประสบการณ์ว่าความในศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ อาทิ คดีเกาะปูเลา บาตู ปูเต๊าะห์ และคดีพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือหมู่เกาะสิปาดันและลิติกัน และยังเคยว่าความในศาลโลก ศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อยุติข้อพิพาทด้านการลงทุน (ไอซีเอสไอดี) และศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญการว่าความในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายออสเตรเลีย อีกทั้งรัฐบาลออสเตรเลียเคยเสนอชื่อให้เป็นผู้พิพากษาโลก สำหรับการเลือกตั้งปี 2557

ขณะที่ โดนัลด์ เอ็ม. แมคเรย์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนด้านกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายการค้าระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยออตตาวา ประเทศแคนาดา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ เคยเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงต่างประเทศแคนาดาในกรณีพิพาทด้านการประมงระหว่างประเทศและอนุญาโตตุลาการด้านเขตแดนหลายกรณี เมื่อปี 2541 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาของแคนาดาในการตกลงสนธิสัญญาจับปลาแซลมอนในมหาสมุทรแปซิฟิก

และทั้งหมดนั้นคือโฉมหน้าทีมกฎหมายฝ่ายไทยที่นำโดยทูตวีรชัย พลาศรัย ซึ่งได้รับการยกย่องว่า สามารถทำหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตยเหนือดินแดนแห่งราชอาณาจักรไทยได้อย่างสมศักดิ์ศรี


วีรชัย พลาศรัย
ศ.อแลง แปลเล่ต์
โดนัลด์ เอ็ม. แมคเรย์
ศ.เจมส์ ครอว์ฟอร์ด
กำลังโหลดความคิดเห็น