(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Legality waves lap South China Sea
By Roberto Tofani
07/02/2013
เวียดนามออกกฎหมายทะเล (Law of the Sea) ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีนี้ ขณะที่ฟิลิปปินส์ก็ตัดสินใจที่จะนำกรณีพิพาทซึ่งมีอยู่กับจีนในเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้ ไปให้คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสินชี้ขาด ทั้งสองกรณีนี้ต่างเท่ากับเป็นการส่งคำเตือนไปถึงปักกิ่งว่าการประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ในภูมิภาคแถบนี้จะต้องถูกโต้แย้งทัดทานอย่างเผ็ดร้อนแน่นอน ในเวลาเดียวกัน มันก็เป็นการสร้างแรงกดดันต่อประธานรายใหม่หมาดๆ ของสมาคมอาเซียนอย่างบรูไน ตลอดจนเลขาธิการสดๆ ซิงๆ ของอาเซียนอย่าง เลเลืองมีง (Le Luong Minh) จากเวียดนาม ให้เร่งเสาะแสวงหาหนทางในการผ่อนคลายความตึงเครียดที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ
ทะเลจีนใต้กำลังกลายเป็นศูนย์กลางของพายุหมุนแห่งการพิพาทช่วงชิงดินแดนอันดุเดือดมากขึ้นทุกที ระหว่าง 6 ประเทศในภูมิภาคแถบนี้ อันได้แก่ บรูไน, จีน, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน, และเวียดนาม เวลานี้ทั้งบรูไนซึ่งขึ้นเป็นประธานใหม่ๆ หมาดๆ ประจำปีนี้ของสมาคมอาเซียน และ เลเลืองมีง (Le Luong Minh) อดีตรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศและเอกอัครราชทูตประจำสหประชาชาติของเวียดนาม ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนสดๆ ซิงๆ กำลังประสบกับแรงกดดันให้รีบเร่งเสาะแสวงหาหนทางใหม่ๆ ที่จะก้าวเดินต่อไป โดยที่สมาคมอาเซียนถูกหลายๆ ฝ่ายคาดหวังว่า จะต้องเป็นผู้กุมกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่เสถียรภาพของทั่วทั้งภูมิภาคในปีใหม่นี้
ก่อนหน้านี้ ความคาดหมายที่ว่าสมาคมอาเซียนจะสามารถออกระเบียบปฏิบัติ (Code of Conduct) ว่าด้วยทะเลจีนใต้ ในลักษณะเป็นเอกสารที่มีผลผูกพันให้ผู้ลงนามต้องปฏิบัติตาม ซึ่งวางกรอบการปฏิบัติต่างๆ ของผู้เกี่ยวข้องในกรณีพิพาททางดินแดนในอาณาบริเวณนี้ กลับต้องมีอันสูญสลายไปในปีที่แล้ว ภายหลังจากเกิดความแตกแยกไม่ลงรอยกันในหมู่รัฐสมาชิกของอาเซียนเองเกี่ยวกับวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการผลักดันเรื่องนี้ ประเด็นดังกล่าวยังทำให้ภายในสมาคมเกิดการแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยที่พวกหนึ่งซึ่งมีฟิลิปปินส์กับเวียดนามเป็นผู้นำนั้น มีจุดมุ่งหมายที่จะท้าทายทัดทานจีนผู้กำลังเพิ่มความแข็งกร้าวยืนกรานยิ่งขึ้นทุกที ขณะที่อีกพวกหนึ่งต้องการรักษาจุดยืนวางตัวเป็นกลางในประเด็นทะเลจีนใต้ อีกทั้งเรียกร้องให้อาเซียนเน้นความสำคัญในเรื่องการผูกพันกันในทางเศรษฐกิจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
จากความแตกร้าวเช่นนี้ในสมาคมอาเซียน ทั้งฟิลิปปินส์และเวียดนามต่างหันมาเพิ่มพูนส่งเสริมฐานะทางกฎหมายของพวกตนทั้งในระดับภายในประเทศและระดับระหว่างประเทศ เพื่อให้สามารถต่อกรกับจีนอย่างมีแต้มต่อมากขึ้น นอกจากนั้น รัฐสมาชิกอาเซียนทั้ง 2 รายนี้ยังเลือกที่จะลดทอนความสำคัญของประเด็นพิพาทต่างๆ ในระหว่างพวกเขาเอง รวมทั้งในกรณีที่เวียดนามเข้ายึดครองพื้นที่หลายส่วนของอาณาบริเวณซึ่งฟิลิปปินส์อ้างสิทธิ์ว่าเป็นกลุ่มเกาะคาลายาน (Kalayaan Island group) ของตน ขณะที่พวกเขาพยายามจับมือสามัคคีกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเพื่อเป็นแนวร่วมในการต่อสู้กับจีน
ดังที่ คาร์ไลล์ เธเยอร์ (Carlyle Thayer) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเวียดนามแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (University of New South Wales) ของออสเตรเลีย ชี้เอาไว้ว่า “ระหว่างฮานอยกับมะนิลานั้นมีผลประโยชน์ที่สามารถบรรจบกันได้ ทว่าไม่ใช่ผลประโยชน์ที่สอดคล้องลงรอยกันแต่อย่างใด” เธเยอร์ยังกล่าวด้วยว่า ผลประโยชน์ร่วมกันของสองประเทศนี้ได้รับการส่งเสริมเน้นย้ำอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นอีกจากข้อตกลงที่ทำสำเร็จเสร็จสิ้นกันไปเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งสองเห็นดีเห็นงามที่จะประสานร่วมมือกันในการตรวจการณ์ทางทะเลในน่านน้ำบริเวณที่ 2 ประเทศนี้อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันอยู่
สำหรับสิ่งที่เวียดนามกับฟิลิปปินส์ดำเนินการซึ่งเป็นการเพิ่มพูนส่งเสริมฐานะทางกฎหมายของพวกตนเพื่อใช้เตรียมรับมือต่อสู้กับจีนนั้น ในกรณีของฮานอย ได้แก่การออกกฎหมายทะเล (Law of the Sea) ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งรัฐสภาเวียดนาม ที่มีชื่อเรียกขานอย่างเป็นทางการว่า รัฐสภาแห่งชาติของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (National Assembly of the Socialist Republic of Vietnam) ได้อนุมัติรับรองด้วยเสียงเกือบเป็นเอกฉันท์ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว มีสาระสำคัญอยู่ที่ “การกำหนดให้คำจำกัดความเกี่ยวกับ เส้นฐาน (baseline), น่านน้ำภายใน (internal waters), ทะเลอาณาเขต (territorial sea), เขตต่อเนื่อง (contiguous zone), เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone), ไหล่ทวีป (continental shelf), หมู่เกาะ (islands), กลุ่มหมู่เกาะพาราเซล (Paracel archipelago ภาษาเวียดนามเรียกชื่อว่า หวงซา Hoang Sa ) กลุ่มหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly archipelago archipelago ภาษาเวียดนามเรียกชื่อว่า เจื่องซา Truong Sa) และกลุ่มหมู่เกาะอื่นๆ ภายใต้อธิปไตยของเวียดนาม, สิทธิอธิปไตยและเขตอำนาจของเวียดนาม (sovereign rights and jurisdiction of Vietnam)”
กฎหมายใหม่ฉบับนี้ เป็นการเพิ่มเติมขยายความและสร้างความชัดเจนให้แก่กฎหมายฉบับอื่นๆ ที่เวียดนามออกมาบังคับใช้ก่อนหน้านี้ เป็นต้นว่า กฎหมายว่าด้วยพรมแดนแห่งชาติปี 2003 (the 2003 Law on National Border) และย้ำยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าเวียดนามมีอำนาจอธิปไตยเหนือบรรดาหมู่เกาะที่กำลังช่วงชิงกันอยู่ รวมถึง กลุ่มหมู่เกาะ ห่วงซา และ เจื่องซา นอกจากนั้น เธเยอร์ชี้ว่า “ส่วนสำคัญที่สุดของกฎหมายใหม่ซึ่งก็คือกฎหมายทะเลของเวียดนาม อยู่ที่มาตรา 2.2 ซึ่งมีข้อความระบุว่า ถ้าหากเนื้อหาใดๆ ของกฎหมายฉบับนี้ขัดแย้งกับกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ให้ถือว่ากฎหมายระหว่างประเทศมีฐานะเหนือกว่า”
การที่กฎหมายใหม่ของฮานอยถือว่ากฎหมายระหว่างประเทศมีฐานะความสำคัญสูงที่สุดเช่นนี้ แท้ที่จริงก็คือการส่งข้อความอันชัดเจนแจ่มแจ้งไปถึงปักกิ่ง ซึ่งเท่าที่ผ่านมายังคงยืนกรานมาโดยตลอดว่ากรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตในทะเลจีนใต้ใดๆ ควรต้องแก้ไขในระดับทวิภาคี และหลีกเลี่ยงการใช้พวกกลไกพหุภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กลไกที่ประชุมสุดยอดของอาเซียน ซึ่งมีมหาอำนาจระหว่างประเทศ เป็นต้นว่า ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, อินเดีย, รัสเซีย, และสหรัฐฯ เข้าร่วมมีปากมีเสียงด้วย
น่าสังเกตว่าการยอมรับให้ความสำคัญแก่กฎหมายระหว่างประเทศของเวียดนามเช่นนี้ ยังบังเกิดขึ้นในจังหวะเวลาใกล้เคียงกับที่ฟิลิปปินส์มีความเคลื่อนไหวยื่นเรื่องฟ้องร้องการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ต่อคณะอนุญาโตตุลาการของสหปรชาชาติ กล่าวคือ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์แถลงว่า พวกเขาจะยื่นฟ้องปักกิ่งต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (international arbitration tribunal) ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1982 (the 1982 United Nations Convention on the Law of the Sea หรือ UNCLOS) โดยที่ทั้งจีนและฟิลิปปินส์ต่างก็เป็นประเทศที่ร่วมลงนามรับรองอนุสัญญาของยูเอ็นฉบับนี้กันทั้งคู่
พวกเจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์บอกว่า พวกเขามีจุดมุ่งหมายที่จะแสดงให้เห็นว่า แผนที่ของจีนฉบับที่เรียกขานกันว่า แผนที่ “เส้นประ 9 เส้น” ("nine-dash line" map) ซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำที่น่าจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลจีนใต้ไปแทบจะทั้งหมดนั้น เป็นการกระทำที่ “ผิดกฎหมาย” ภายใต้ UNCLOS ความเคลื่อนไหวของมะนิลาซึ่งเท่ากับเป็นการทำให้กรณีพิพาทของประเทศทั้งสองกลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศขึ้นมาคราวนี้ มีขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์ระหว่างเรือของทางการจีนและทางการฟิลิปปินส์ในน่านน้ำพิพาทอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน รวมทั้งการประจันหน้ากันเป็นเวลาหลายสัปดาห์ในปีที่แล้วในพื้นที่เกาะปะการัง สคาร์เบอโร โชล (Scarborough Shoal)
พวกเจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์แสดงความคาดหมายว่า กระบวนการทางกฎหมายคราวนี้น่าจะกินเวลาระหว่าง 3 ถึง 4 ปี และส่งผลให้เกิด “ทางออกที่ถาวร” แก่ข้อพิพาทเหล่านี้ อย่างไรก็ดี ทางฝ่ายจีนตอบโต้ด้วยการออกคำแถลงฉบับหนึ่งซึ่งย้ำยืนยันว่า แดนมังกรมี “อำนาจอธิปไตยอย่างมิอาจโต้แย้งได้” เหนือหมู่เกาะต่างๆ และอาณาบริเวณต่างๆ ที่ช่วงชิงอยู่กับฟิลิปปินส์
มีข้อน่าสังเกตว่า จีนนั้นกำหนดเป้าหมายเอาไว้เป็นพิเศษที่จะเล่นงานพวกเรือขุดค้นสำรวจพลังงานต่างๆ จึงยิ่งตอกย้ำสิ่งที่พวกนักวิเคราะห์จำนวนมากระบุว่า ปัญหารากเหง้าของกรณีพิพาทต่างๆ เหล่านี้ก็คือเรื่องทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานเหล่านี้นี่เอง ทั้งนี้ในเดือนพฤษภาคม 2011 หมู่เรือตรวจการณ์ของจีนจงใจทำความเสียหายให้แก่สายเคเบิลตรวจวัดแผ่นดินไหวซึ่งเรือสำรวจของเวียดนามลำหนึ่งกำลังลากจูงอยู่ ในบริเวณที่อยู่ห่างจากชายฝั่งเวียดนามประมาณ 120 ไมล์ (193 กิโลเมตร) และห่างจากเกาะไหหลำของจีนหลายร้อยไมล์
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เรือประมงของจีนหลายลำก็ได้ตัดสายเคเบิลของเรือตรวจวัดแผ่นดินไหวลำหนึ่งของรัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันของเวียดนามที่ชื่อ เวียดนาม ออยล์ แอนด์ แก๊ส กรุ๊ป (Vietnam Oil & Gas Group) ในบริเวณน่านน้ำของทะเลจีนใต้ซึ่งเวียดนามควบคุมอยู่ ทั้งนี้ตามการแถลงของ โด๋ วัน เฮา (Do Van Hau) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของรัฐวิสาหกิจแห่งนี้
แต่ถึงแม้เกิดการปะทะกันเหล่านี้ขึ้นมาแล้ว จีนก็ยังคงยืนกรานปฏิเสธไม่ยอมใช้กระบวนการทางกฎหมายแบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เข้ามาแก้ไขคลี่คลายข้อพิพาท เหตุผลของเรื่องนี้ “ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนี่จะต้องเกี่ยวข้องพัวพันกับสถาบันระดับพหุภาคี ทว่าไม่ใช่มีเพียงแค่นั้น หากยังเป็นเพราะจีนไม่ได้มีหลักฐานยืนยันการอ้างกรรมสิทธิ์ของตนอย่างหนักแน่นอะไรอีกด้วย” ข้อความที่อ้างมานี้ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับหนึ่งที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “ความร่วมมือกันเพื่อความเข้มแข็ง: สหรัฐฯ, จีน และทะเลจีนใต้” (Cooperation from Strength: The United States, China and the South China Sea) ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในปีที่แล้วโดย ศูนย์เพื่อความมั่นคงใหม่ของอเมริกา (Center for New America Security (CNAS) หน่วยงานคลังสมองซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2011 จีนก็เคยปฏิเสธข้อเสนอของฟิลิปปินส์ที่จะยื่นเรื่องการอ้างดินแดนและเขตแดนทับซ้อนกันของประเทศทั้งสองเข้าสู่การการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งกฎหมายทะเล (International Tribunal of the Law of the Sea หรือ ITLOS) ซึ่งก็คือหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตาม UNCLOS เพื่อชี้ขาดแก้ไขข้อพิพาททางทะเลระหว่างประเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาสหประชาชาติฉบับนี้นั่นเอง “ทว่าเมื่อตอนที่จีนให้สัตยาบัน UNCLOS นั้น ได้สงวนสิทธิไม่ยอมรับรอง ITLOS จึงหมายความว่าแทบเป็นการแน่นอนทีเดียวที่จีนจะยังคงคัดค้านข้อเสนอเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ” รายงานฉบับนี้ของ CNAS ระบุ
อันที่จริงแล้ว ไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ตาม คณะอนุญาโตตุลาการของสหประชาชาติคณะนี้ ย่อมไม่มีอำนาจในการบังคับคดีให้มีการปฏิบัติตามคำตัดสินใดๆ ของตนในประเด็นอันเกี่ยวกับอธิปไตยแห่งชาติ มิหนำซ้ำเมื่อมองจากจุดยืนและทัศนะของจีนแล้ว ความพยายามทางการทูตของฟิลิปปินส์และเวียดนามที่จะพึ่งพาอาศัยอำนาจระหว่างประเทศต่างๆ และนำเอาพวกกลไกสถาบันพหุภาคีมาใช้งาน เพื่อเน้นย้ำยืนยันการกล่าวอ้างอำนาจอธิปไตยของพวกเขานั้น มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกเท่านั้น ปักกิ่งจึงกำลังตอบโต้ด้วยการแสดงพฤติการณ์ในทางยั่วยุอย่างต่อเนื่องเป็นชุดใหญ่
ทั้งนี้หลังจากรัฐสภาเวียดนามผ่านกฎหมายทะเล พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของจีนก็แสดงปฏิกิริยาด้วยการประกาศเลื่อนฐานะให้ “เมืองซานซา” (Sansha) เป็นเมืองระดับจังหวัด (prefectural-level city) โดยสิ่งที่จีนเรียกขานว่า “เมืองซานซา” นี้ มีหน้าที่บริหารปกครองกลุ่มหมู่เกาะ 3 กลุ่มในทะเลจีนใต้ที่กำลังพิพาทช่วงชิงกับหลายชาติในอาณาบริเวณนี้ อันได้แก่ หนานซา (Nansha หมู่เกาะสแปรตลีย์), ซีซา (Xisha หมู่เกาะพาราเซล), และ จงซา (Zhongsha ภาษาอังกฤษเรียกว่า แมคเคิลสฟิลด์ แบงก์ Macclesfield Bank เป็นกลุ่มหมู่เกาะปะการังและสันดอนที่จมอยู่ใต้น้ำในบริเวณทะเลจีนใต้ ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน) ตลอดจนน่านน้ำรอบๆ กลุ่มหมู่เกาะเหล่านี้ นอกจากนั้น ในวันที่ 22 มิถุนายน 2012 สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (National People's Congress) ของจีน ซึ่งก็คือรัฐสภาจีน ก็ออกคำแถลงเรียกร้องเร่งรัดให้เวียดนาม “แก้ไข” กฎหมายทะเลของตนเสียใหม่
“จวบจนถึงเวลานี้จีนยังไม่ได้ท้าทายทดสอบกฎหมายฉบับนี้ของเวียดนาม กระนั้นเหตุการณ์อย่างที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วซึ่งมีเรือประมงของจีนเข้ามาเกี่ยวข้อง ตลอดจนเหตุการณ์ตัดสายเคเบิล ยังน่าที่จะมีขึ้นอีก” เธเยอร์ คาดการณ์
ทางฝ่ายรัฐสมาชิกอาเซียนซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ทับซ้อนกับจีนอยู่ อันได้แก่ บรูไน, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, และเวียดนาม ยังคงมีจุดมุ่งหมายที่จะผลักดันให้มีการลงนามและบังคับใช้ ระเบียบปฏิบัติ (Code of Conduct) ว่าด้วยทะเลจีนใต้ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยอิงอาศัย ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea) ซึ่งออกมาในปี 2002 โดยที่จีนได้ร่วมลงนามกับสมาคมอาเซียนในเอกสารฉบับนี้ด้วย ทว่าเป็นเอกสารปฏิญญาที่ไม่มีข้อผูกพันให้ต้องมีการปฏิบัติตามใดๆ
ความคาดหวังดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นจากคำพูดของ ตรัน เตรือง ตุย (Tran Truong Thuy) ผู้อำนวยการของศูนย์ทะเลจีนใต้ศึกษา (Center for South China Sea Studies) แห่งบัณฑิตยสถานทางการทูตของเวียดนาม (Diplomatic Academy of Vietnam หรือ DAV) ที่กล่าวว่า “ปักกิ่งควรที่จะยอมรับระเบียบปฏิบัติระดับภูมิภาคซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมาย ... โดยที่ระเบียบปฏิบัติเช่นนี้จะสร้างหลักประกันให้แก่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่มีขนาดเล็กกว่า ว่าจะไม่ถูกขู่กรรโชกให้ยอมจำนน และทำให้พวกเขาเพิ่มความมั่นใจยิ่งขึ้นในการเดินหน้าเข้าร่วมกับบรรดากิจกรรมเพื่อความร่วมมือกันในทะเลจีนใต้”
อย่างไรก็ดี ในเมื่อความตึงเครียดกำลังเพิ่มทวีขึ้นสืบเนื่องจากความพยายามของฟิลิปปินส์และเวียดนามที่จะทำให้กรณีพิพาทกลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น เราคงต้องคาดหมายว่าจะมีความไม่ลงรอยกันมากกว่าความตกลงเห็นพ้องกัน ในช่วงระยะเวลา 1 ปีข้างหน้านี้
โรเบอร์โต โตฟานี เป็นนักหนังสือพิมพ์และนักวิเคราะห์อิสระไร้สังกัด ซึ่งติดตามทำข่าวเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง แพลเนตเน็กซ์ (PlanetNext เว็บไซต์คือ www.planetnext.net) สมาคมของนักหนังสือพิมพ์ผู้ยึดมั่นกับแนวความคิดเรื่อง “ข้อมูลข่าวสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง” (information for change)
Legality waves lap South China Sea
By Roberto Tofani
07/02/2013
เวียดนามออกกฎหมายทะเล (Law of the Sea) ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีนี้ ขณะที่ฟิลิปปินส์ก็ตัดสินใจที่จะนำกรณีพิพาทซึ่งมีอยู่กับจีนในเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้ ไปให้คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสินชี้ขาด ทั้งสองกรณีนี้ต่างเท่ากับเป็นการส่งคำเตือนไปถึงปักกิ่งว่าการประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ในภูมิภาคแถบนี้จะต้องถูกโต้แย้งทัดทานอย่างเผ็ดร้อนแน่นอน ในเวลาเดียวกัน มันก็เป็นการสร้างแรงกดดันต่อประธานรายใหม่หมาดๆ ของสมาคมอาเซียนอย่างบรูไน ตลอดจนเลขาธิการสดๆ ซิงๆ ของอาเซียนอย่าง เลเลืองมีง (Le Luong Minh) จากเวียดนาม ให้เร่งเสาะแสวงหาหนทางในการผ่อนคลายความตึงเครียดที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ
ทะเลจีนใต้กำลังกลายเป็นศูนย์กลางของพายุหมุนแห่งการพิพาทช่วงชิงดินแดนอันดุเดือดมากขึ้นทุกที ระหว่าง 6 ประเทศในภูมิภาคแถบนี้ อันได้แก่ บรูไน, จีน, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน, และเวียดนาม เวลานี้ทั้งบรูไนซึ่งขึ้นเป็นประธานใหม่ๆ หมาดๆ ประจำปีนี้ของสมาคมอาเซียน และ เลเลืองมีง (Le Luong Minh) อดีตรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศและเอกอัครราชทูตประจำสหประชาชาติของเวียดนาม ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนสดๆ ซิงๆ กำลังประสบกับแรงกดดันให้รีบเร่งเสาะแสวงหาหนทางใหม่ๆ ที่จะก้าวเดินต่อไป โดยที่สมาคมอาเซียนถูกหลายๆ ฝ่ายคาดหวังว่า จะต้องเป็นผู้กุมกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่เสถียรภาพของทั่วทั้งภูมิภาคในปีใหม่นี้
ก่อนหน้านี้ ความคาดหมายที่ว่าสมาคมอาเซียนจะสามารถออกระเบียบปฏิบัติ (Code of Conduct) ว่าด้วยทะเลจีนใต้ ในลักษณะเป็นเอกสารที่มีผลผูกพันให้ผู้ลงนามต้องปฏิบัติตาม ซึ่งวางกรอบการปฏิบัติต่างๆ ของผู้เกี่ยวข้องในกรณีพิพาททางดินแดนในอาณาบริเวณนี้ กลับต้องมีอันสูญสลายไปในปีที่แล้ว ภายหลังจากเกิดความแตกแยกไม่ลงรอยกันในหมู่รัฐสมาชิกของอาเซียนเองเกี่ยวกับวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการผลักดันเรื่องนี้ ประเด็นดังกล่าวยังทำให้ภายในสมาคมเกิดการแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยที่พวกหนึ่งซึ่งมีฟิลิปปินส์กับเวียดนามเป็นผู้นำนั้น มีจุดมุ่งหมายที่จะท้าทายทัดทานจีนผู้กำลังเพิ่มความแข็งกร้าวยืนกรานยิ่งขึ้นทุกที ขณะที่อีกพวกหนึ่งต้องการรักษาจุดยืนวางตัวเป็นกลางในประเด็นทะเลจีนใต้ อีกทั้งเรียกร้องให้อาเซียนเน้นความสำคัญในเรื่องการผูกพันกันในทางเศรษฐกิจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
จากความแตกร้าวเช่นนี้ในสมาคมอาเซียน ทั้งฟิลิปปินส์และเวียดนามต่างหันมาเพิ่มพูนส่งเสริมฐานะทางกฎหมายของพวกตนทั้งในระดับภายในประเทศและระดับระหว่างประเทศ เพื่อให้สามารถต่อกรกับจีนอย่างมีแต้มต่อมากขึ้น นอกจากนั้น รัฐสมาชิกอาเซียนทั้ง 2 รายนี้ยังเลือกที่จะลดทอนความสำคัญของประเด็นพิพาทต่างๆ ในระหว่างพวกเขาเอง รวมทั้งในกรณีที่เวียดนามเข้ายึดครองพื้นที่หลายส่วนของอาณาบริเวณซึ่งฟิลิปปินส์อ้างสิทธิ์ว่าเป็นกลุ่มเกาะคาลายาน (Kalayaan Island group) ของตน ขณะที่พวกเขาพยายามจับมือสามัคคีกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเพื่อเป็นแนวร่วมในการต่อสู้กับจีน
ดังที่ คาร์ไลล์ เธเยอร์ (Carlyle Thayer) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเวียดนามแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (University of New South Wales) ของออสเตรเลีย ชี้เอาไว้ว่า “ระหว่างฮานอยกับมะนิลานั้นมีผลประโยชน์ที่สามารถบรรจบกันได้ ทว่าไม่ใช่ผลประโยชน์ที่สอดคล้องลงรอยกันแต่อย่างใด” เธเยอร์ยังกล่าวด้วยว่า ผลประโยชน์ร่วมกันของสองประเทศนี้ได้รับการส่งเสริมเน้นย้ำอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นอีกจากข้อตกลงที่ทำสำเร็จเสร็จสิ้นกันไปเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งสองเห็นดีเห็นงามที่จะประสานร่วมมือกันในการตรวจการณ์ทางทะเลในน่านน้ำบริเวณที่ 2 ประเทศนี้อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันอยู่
สำหรับสิ่งที่เวียดนามกับฟิลิปปินส์ดำเนินการซึ่งเป็นการเพิ่มพูนส่งเสริมฐานะทางกฎหมายของพวกตนเพื่อใช้เตรียมรับมือต่อสู้กับจีนนั้น ในกรณีของฮานอย ได้แก่การออกกฎหมายทะเล (Law of the Sea) ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งรัฐสภาเวียดนาม ที่มีชื่อเรียกขานอย่างเป็นทางการว่า รัฐสภาแห่งชาติของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (National Assembly of the Socialist Republic of Vietnam) ได้อนุมัติรับรองด้วยเสียงเกือบเป็นเอกฉันท์ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว มีสาระสำคัญอยู่ที่ “การกำหนดให้คำจำกัดความเกี่ยวกับ เส้นฐาน (baseline), น่านน้ำภายใน (internal waters), ทะเลอาณาเขต (territorial sea), เขตต่อเนื่อง (contiguous zone), เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone), ไหล่ทวีป (continental shelf), หมู่เกาะ (islands), กลุ่มหมู่เกาะพาราเซล (Paracel archipelago ภาษาเวียดนามเรียกชื่อว่า หวงซา Hoang Sa ) กลุ่มหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly archipelago archipelago ภาษาเวียดนามเรียกชื่อว่า เจื่องซา Truong Sa) และกลุ่มหมู่เกาะอื่นๆ ภายใต้อธิปไตยของเวียดนาม, สิทธิอธิปไตยและเขตอำนาจของเวียดนาม (sovereign rights and jurisdiction of Vietnam)”
กฎหมายใหม่ฉบับนี้ เป็นการเพิ่มเติมขยายความและสร้างความชัดเจนให้แก่กฎหมายฉบับอื่นๆ ที่เวียดนามออกมาบังคับใช้ก่อนหน้านี้ เป็นต้นว่า กฎหมายว่าด้วยพรมแดนแห่งชาติปี 2003 (the 2003 Law on National Border) และย้ำยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าเวียดนามมีอำนาจอธิปไตยเหนือบรรดาหมู่เกาะที่กำลังช่วงชิงกันอยู่ รวมถึง กลุ่มหมู่เกาะ ห่วงซา และ เจื่องซา นอกจากนั้น เธเยอร์ชี้ว่า “ส่วนสำคัญที่สุดของกฎหมายใหม่ซึ่งก็คือกฎหมายทะเลของเวียดนาม อยู่ที่มาตรา 2.2 ซึ่งมีข้อความระบุว่า ถ้าหากเนื้อหาใดๆ ของกฎหมายฉบับนี้ขัดแย้งกับกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ให้ถือว่ากฎหมายระหว่างประเทศมีฐานะเหนือกว่า”
การที่กฎหมายใหม่ของฮานอยถือว่ากฎหมายระหว่างประเทศมีฐานะความสำคัญสูงที่สุดเช่นนี้ แท้ที่จริงก็คือการส่งข้อความอันชัดเจนแจ่มแจ้งไปถึงปักกิ่ง ซึ่งเท่าที่ผ่านมายังคงยืนกรานมาโดยตลอดว่ากรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตในทะเลจีนใต้ใดๆ ควรต้องแก้ไขในระดับทวิภาคี และหลีกเลี่ยงการใช้พวกกลไกพหุภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กลไกที่ประชุมสุดยอดของอาเซียน ซึ่งมีมหาอำนาจระหว่างประเทศ เป็นต้นว่า ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, อินเดีย, รัสเซีย, และสหรัฐฯ เข้าร่วมมีปากมีเสียงด้วย
น่าสังเกตว่าการยอมรับให้ความสำคัญแก่กฎหมายระหว่างประเทศของเวียดนามเช่นนี้ ยังบังเกิดขึ้นในจังหวะเวลาใกล้เคียงกับที่ฟิลิปปินส์มีความเคลื่อนไหวยื่นเรื่องฟ้องร้องการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ต่อคณะอนุญาโตตุลาการของสหปรชาชาติ กล่าวคือ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์แถลงว่า พวกเขาจะยื่นฟ้องปักกิ่งต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (international arbitration tribunal) ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลปี 1982 (the 1982 United Nations Convention on the Law of the Sea หรือ UNCLOS) โดยที่ทั้งจีนและฟิลิปปินส์ต่างก็เป็นประเทศที่ร่วมลงนามรับรองอนุสัญญาของยูเอ็นฉบับนี้กันทั้งคู่
พวกเจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์บอกว่า พวกเขามีจุดมุ่งหมายที่จะแสดงให้เห็นว่า แผนที่ของจีนฉบับที่เรียกขานกันว่า แผนที่ “เส้นประ 9 เส้น” ("nine-dash line" map) ซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำที่น่าจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลจีนใต้ไปแทบจะทั้งหมดนั้น เป็นการกระทำที่ “ผิดกฎหมาย” ภายใต้ UNCLOS ความเคลื่อนไหวของมะนิลาซึ่งเท่ากับเป็นการทำให้กรณีพิพาทของประเทศทั้งสองกลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศขึ้นมาคราวนี้ มีขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์ระหว่างเรือของทางการจีนและทางการฟิลิปปินส์ในน่านน้ำพิพาทอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน รวมทั้งการประจันหน้ากันเป็นเวลาหลายสัปดาห์ในปีที่แล้วในพื้นที่เกาะปะการัง สคาร์เบอโร โชล (Scarborough Shoal)
พวกเจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์แสดงความคาดหมายว่า กระบวนการทางกฎหมายคราวนี้น่าจะกินเวลาระหว่าง 3 ถึง 4 ปี และส่งผลให้เกิด “ทางออกที่ถาวร” แก่ข้อพิพาทเหล่านี้ อย่างไรก็ดี ทางฝ่ายจีนตอบโต้ด้วยการออกคำแถลงฉบับหนึ่งซึ่งย้ำยืนยันว่า แดนมังกรมี “อำนาจอธิปไตยอย่างมิอาจโต้แย้งได้” เหนือหมู่เกาะต่างๆ และอาณาบริเวณต่างๆ ที่ช่วงชิงอยู่กับฟิลิปปินส์
มีข้อน่าสังเกตว่า จีนนั้นกำหนดเป้าหมายเอาไว้เป็นพิเศษที่จะเล่นงานพวกเรือขุดค้นสำรวจพลังงานต่างๆ จึงยิ่งตอกย้ำสิ่งที่พวกนักวิเคราะห์จำนวนมากระบุว่า ปัญหารากเหง้าของกรณีพิพาทต่างๆ เหล่านี้ก็คือเรื่องทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานเหล่านี้นี่เอง ทั้งนี้ในเดือนพฤษภาคม 2011 หมู่เรือตรวจการณ์ของจีนจงใจทำความเสียหายให้แก่สายเคเบิลตรวจวัดแผ่นดินไหวซึ่งเรือสำรวจของเวียดนามลำหนึ่งกำลังลากจูงอยู่ ในบริเวณที่อยู่ห่างจากชายฝั่งเวียดนามประมาณ 120 ไมล์ (193 กิโลเมตร) และห่างจากเกาะไหหลำของจีนหลายร้อยไมล์
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เรือประมงของจีนหลายลำก็ได้ตัดสายเคเบิลของเรือตรวจวัดแผ่นดินไหวลำหนึ่งของรัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันของเวียดนามที่ชื่อ เวียดนาม ออยล์ แอนด์ แก๊ส กรุ๊ป (Vietnam Oil & Gas Group) ในบริเวณน่านน้ำของทะเลจีนใต้ซึ่งเวียดนามควบคุมอยู่ ทั้งนี้ตามการแถลงของ โด๋ วัน เฮา (Do Van Hau) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของรัฐวิสาหกิจแห่งนี้
แต่ถึงแม้เกิดการปะทะกันเหล่านี้ขึ้นมาแล้ว จีนก็ยังคงยืนกรานปฏิเสธไม่ยอมใช้กระบวนการทางกฎหมายแบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เข้ามาแก้ไขคลี่คลายข้อพิพาท เหตุผลของเรื่องนี้ “ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนี่จะต้องเกี่ยวข้องพัวพันกับสถาบันระดับพหุภาคี ทว่าไม่ใช่มีเพียงแค่นั้น หากยังเป็นเพราะจีนไม่ได้มีหลักฐานยืนยันการอ้างกรรมสิทธิ์ของตนอย่างหนักแน่นอะไรอีกด้วย” ข้อความที่อ้างมานี้ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับหนึ่งที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “ความร่วมมือกันเพื่อความเข้มแข็ง: สหรัฐฯ, จีน และทะเลจีนใต้” (Cooperation from Strength: The United States, China and the South China Sea) ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในปีที่แล้วโดย ศูนย์เพื่อความมั่นคงใหม่ของอเมริกา (Center for New America Security (CNAS) หน่วยงานคลังสมองซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2011 จีนก็เคยปฏิเสธข้อเสนอของฟิลิปปินส์ที่จะยื่นเรื่องการอ้างดินแดนและเขตแดนทับซ้อนกันของประเทศทั้งสองเข้าสู่การการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งกฎหมายทะเล (International Tribunal of the Law of the Sea หรือ ITLOS) ซึ่งก็คือหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตาม UNCLOS เพื่อชี้ขาดแก้ไขข้อพิพาททางทะเลระหว่างประเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาสหประชาชาติฉบับนี้นั่นเอง “ทว่าเมื่อตอนที่จีนให้สัตยาบัน UNCLOS นั้น ได้สงวนสิทธิไม่ยอมรับรอง ITLOS จึงหมายความว่าแทบเป็นการแน่นอนทีเดียวที่จีนจะยังคงคัดค้านข้อเสนอเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ” รายงานฉบับนี้ของ CNAS ระบุ
อันที่จริงแล้ว ไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ตาม คณะอนุญาโตตุลาการของสหประชาชาติคณะนี้ ย่อมไม่มีอำนาจในการบังคับคดีให้มีการปฏิบัติตามคำตัดสินใดๆ ของตนในประเด็นอันเกี่ยวกับอธิปไตยแห่งชาติ มิหนำซ้ำเมื่อมองจากจุดยืนและทัศนะของจีนแล้ว ความพยายามทางการทูตของฟิลิปปินส์และเวียดนามที่จะพึ่งพาอาศัยอำนาจระหว่างประเทศต่างๆ และนำเอาพวกกลไกสถาบันพหุภาคีมาใช้งาน เพื่อเน้นย้ำยืนยันการกล่าวอ้างอำนาจอธิปไตยของพวกเขานั้น มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกเท่านั้น ปักกิ่งจึงกำลังตอบโต้ด้วยการแสดงพฤติการณ์ในทางยั่วยุอย่างต่อเนื่องเป็นชุดใหญ่
ทั้งนี้หลังจากรัฐสภาเวียดนามผ่านกฎหมายทะเล พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของจีนก็แสดงปฏิกิริยาด้วยการประกาศเลื่อนฐานะให้ “เมืองซานซา” (Sansha) เป็นเมืองระดับจังหวัด (prefectural-level city) โดยสิ่งที่จีนเรียกขานว่า “เมืองซานซา” นี้ มีหน้าที่บริหารปกครองกลุ่มหมู่เกาะ 3 กลุ่มในทะเลจีนใต้ที่กำลังพิพาทช่วงชิงกับหลายชาติในอาณาบริเวณนี้ อันได้แก่ หนานซา (Nansha หมู่เกาะสแปรตลีย์), ซีซา (Xisha หมู่เกาะพาราเซล), และ จงซา (Zhongsha ภาษาอังกฤษเรียกว่า แมคเคิลสฟิลด์ แบงก์ Macclesfield Bank เป็นกลุ่มหมู่เกาะปะการังและสันดอนที่จมอยู่ใต้น้ำในบริเวณทะเลจีนใต้ ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน) ตลอดจนน่านน้ำรอบๆ กลุ่มหมู่เกาะเหล่านี้ นอกจากนั้น ในวันที่ 22 มิถุนายน 2012 สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (National People's Congress) ของจีน ซึ่งก็คือรัฐสภาจีน ก็ออกคำแถลงเรียกร้องเร่งรัดให้เวียดนาม “แก้ไข” กฎหมายทะเลของตนเสียใหม่
“จวบจนถึงเวลานี้จีนยังไม่ได้ท้าทายทดสอบกฎหมายฉบับนี้ของเวียดนาม กระนั้นเหตุการณ์อย่างที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วซึ่งมีเรือประมงของจีนเข้ามาเกี่ยวข้อง ตลอดจนเหตุการณ์ตัดสายเคเบิล ยังน่าที่จะมีขึ้นอีก” เธเยอร์ คาดการณ์
ทางฝ่ายรัฐสมาชิกอาเซียนซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ทับซ้อนกับจีนอยู่ อันได้แก่ บรูไน, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, และเวียดนาม ยังคงมีจุดมุ่งหมายที่จะผลักดันให้มีการลงนามและบังคับใช้ ระเบียบปฏิบัติ (Code of Conduct) ว่าด้วยทะเลจีนใต้ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยอิงอาศัย ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea) ซึ่งออกมาในปี 2002 โดยที่จีนได้ร่วมลงนามกับสมาคมอาเซียนในเอกสารฉบับนี้ด้วย ทว่าเป็นเอกสารปฏิญญาที่ไม่มีข้อผูกพันให้ต้องมีการปฏิบัติตามใดๆ
ความคาดหวังดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นจากคำพูดของ ตรัน เตรือง ตุย (Tran Truong Thuy) ผู้อำนวยการของศูนย์ทะเลจีนใต้ศึกษา (Center for South China Sea Studies) แห่งบัณฑิตยสถานทางการทูตของเวียดนาม (Diplomatic Academy of Vietnam หรือ DAV) ที่กล่าวว่า “ปักกิ่งควรที่จะยอมรับระเบียบปฏิบัติระดับภูมิภาคซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมาย ... โดยที่ระเบียบปฏิบัติเช่นนี้จะสร้างหลักประกันให้แก่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่มีขนาดเล็กกว่า ว่าจะไม่ถูกขู่กรรโชกให้ยอมจำนน และทำให้พวกเขาเพิ่มความมั่นใจยิ่งขึ้นในการเดินหน้าเข้าร่วมกับบรรดากิจกรรมเพื่อความร่วมมือกันในทะเลจีนใต้”
อย่างไรก็ดี ในเมื่อความตึงเครียดกำลังเพิ่มทวีขึ้นสืบเนื่องจากความพยายามของฟิลิปปินส์และเวียดนามที่จะทำให้กรณีพิพาทกลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น เราคงต้องคาดหมายว่าจะมีความไม่ลงรอยกันมากกว่าความตกลงเห็นพ้องกัน ในช่วงระยะเวลา 1 ปีข้างหน้านี้
โรเบอร์โต โตฟานี เป็นนักหนังสือพิมพ์และนักวิเคราะห์อิสระไร้สังกัด ซึ่งติดตามทำข่าวเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง แพลเนตเน็กซ์ (PlanetNext เว็บไซต์คือ www.planetnext.net) สมาคมของนักหนังสือพิมพ์ผู้ยึดมั่นกับแนวความคิดเรื่อง “ข้อมูลข่าวสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง” (information for change)