เอเอฟพี - ฟิลิปปินส์ขอพึ่งอนุญาโตตุลาการยูเอ็น ท้าทายการอ้างสิทธิในดินแดนเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ของจีน ครวญแนวทางการเมืองและการทูตตลอดหลายปีที่ผ่านมาใช้กับปักกิ่งไม่ได้
“ฟิลิปปินส์ใช้ช่องทางทางการเมืองและการทูตมาจนเกือบหมดแล้วเพื่อหาวิธีไกล่เกลี่ยอย่างสันติในกรณีข้อพิพาททางทะเลกับจีน และเราหวังว่าการดำเนินการของคณะอนุญาโตตุลาการจะนำมาซึ่งทางออกที่ยั่งยืน” อัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ รัฐมนตรีต่างประเทศแดนตากาล็อกกล่าวเมื่อวันอังคาร (22)
เดล ซาริโอแถลงต่อไปว่า มะนิลาแจ้งกับเอกอัครราชทูตจีนแล้วเกี่ยวกับการตัดสินใจในการนำประเด็นพิพาทนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ปี 1982 ที่ทั้งสองประเทศต่างลงนามรับรอง
ในคำร้อง ฟิลิปปินส์ระบุว่า “แผนที่เส้นประเก้าเส้น” ของปักกิ่งที่กล่าวอ้างอธิปไตยเหนือพื้นที่แทบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ซึ่งรวมถึงน่านน้ำและเกาะที่อยู่ใกล้กับหลายประเทศเพื่อนบ้านนั้น ขัดต่อกฎหมายทะเล
มะนิลายังเรียกร้องให้ปักกิ่งยุติกิจกรรมผิดกฎหมายที่ละเมิดสิทธิอธิปไตยและเขตอำนาจของฟิลิปปินส์ภายใต้ UNCLOS ปี 1982
ทั้งนี้ จากการอ้างสิทธิเหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ของจีนนั้น นอกจากทับซ้อนกับการอ้างอธิปไตยของฟิลิปปินส์แล้ว ยังเป็นทับซ้อนกับของบรูไน มาเลเซีย เวียดนาม ตลอดจนไต้หวัน
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์และเวียดนามร้องเรียนว่า จีนอ้างสิทธิดังกล่าวอย่างก้าวร้าวยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณที่เชื่อว่าอุดมไปด้วยแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
มะนิลาสำทับว่า จุดยืนของจีนนำไปสู่การเผชิญหน้ากับฟิลิปปินส์เมื่อปีที่แล้วในบริเวณที่มีปลาชุกชุมรอบแนวปะการังสคาโบโร ซึ่งอยู่ใกล้ฟิลิปปินส์มากกว่าจีน
“ฟิลิปปินส์เจรจากับจีนเพื่อหาข้อยุติอย่างสันติมาหลายครั้งนับจากปี 1995 แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นทางออก” เดล โรซาริโอทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวล่าสุดคราวนี้ของฝ่ายฟิลิปปินส์ ก็ยังอาจจะไม่ได้ผลอะไร โดยที่สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงมะนิลาได้ออกคำแถลงในวันเดียวกันระบุว่า หม่า เค่อชิง เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงมะนิลา ขอกล่าวย้ำจุดยืนอันเป็นหลักการของฝ่ายจีน และเน้นว่าจีนมีอำนาจอธิปไตยเอย่างไม่อาจโต้แย้งได้ เหนือหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้ที่พิพาทกัน ตลอดจนน่านน้ำบริเวณใกล้เคียง
คำแถลงของสถานเอกอัครราชทูตจีนบอกด้วยว่า “ฝ่ายจีนขอยืนยันอย่างแข็งขันว่ากรณีพิพาทต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ควรต้องแก้ไขโดยฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านการเจรจากัน”
โดยปกติแล้ว กระบวนการของ UNCLOS กำหนดให้ทั้งสองฝ่ายที่พิพาทกันเข้ากระบวนการอนุญาโตตุลาการกันทั้งคู่ และยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ยูเอ็นจะลงมือดำเนินการในกรณีนี้หรือไม่และจะลงมือเมื่อใด เมื่อพิจารณาจากจุดยืนของจีนที่ยังคงไม่ยอมรับอำนาจภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง ถึงแม้มีแหล่งข่าวรายหนึ่งบอกกับเอเอฟพีว่า มีตัวอย่างหลายรายแล้วที่คณะอนุญาโตตุลาการตามกระบวนการของ UNCLOS ยินดีรับฟังการให้การของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
เรเน เดอ คาสโตร อาจารย์รัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเดอลาซาลล์ ในกรุงมะนิลา บอกว่า ความพยายามของฟิลิปปินส์คราวนี้ ซึ่งเหมือนเป็นการทอดลูกเต๋าครั้งสุดท้าย หลังจากหมดทางเลือกอื่นๆ แล้ว ยังไม่น่าจะบีบบังคับอะไรจีนได้ โดยที่ปักกิ่งยืนกรานจุดยืนของตนตลอดมาว่ากรณีพิพาททางดินแดนเหล่านี้ควรต้องแก้ไขในแบบทวิภาคี