xs
xsm
sm
md
lg

‘มะนิลา’ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์รับมือปัญหา‘ทะเลจีนใต้’(ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Manila paddles harder in the South China Sea
By Richard Javad Heydarian
15/11/2012

ฟิลิปปินส์มีการผูกพันทางทหารกับสหรัฐฯอย่างแนบแน่นลึกซึ้งยิ่งขึ้นทุกที เมื่อเผชิญหน้ากับความแข็งกร้าวของจีนในการอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ การเดินนโยบายเช่นนี้ผลิดอกออกผลในแง่ของความสำเร็จและเกียรติภูมิในระดับภูมิภาค แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เห็นได้อย่างชัดเจนเช่นกันว่า คณะรัฐบาลประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน ยังกำลังลงทุนลงแรงเป็นอย่างมาก เพื่อสร้างอารมณ์ความรู้สึกเชิงบวกยิ่งขึ้นในการติดต่อสัมพันธ์กับปักกิ่ง ซึ่งดูเหมือนมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษในช่วงแห่งการเปลี่ยนถ่ายคณะผู้นำของประเทศ

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

มะนิลา– ระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก เมื่อไม่นานมานี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ อัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ (Albert del Rosario) ของฟิลิปปินส์ ได้ขึ้นกล่าวคำปราศรัยที่มีเนื้อหามุ่งเรียกร้องให้ทั่วโลกแสดงความสนับสนุนประเทศของเขาในการรับมือกับจีน จากการที่มะนิลาและปักกิ่งมีข้อพิพาททางดินแดนในทะเลจีนใต้ ซึ่งยังคงระอุคุกรุ่นอย่างต่อเนื่องมาจนกระทั่งในปัจจุบัน ทั้งนี้เขาพยายามเน้นย้ำว่า จุดยืนของฟิลิปปินส์นั้นอิงอยู่กับหลักนิติธรรม อันเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับท่าทีของจีน

“วันนี้ประเทศชาติของผมต้องเผชิญกับการท้าทายครั้งร้ายแรงที่สุด มันเป็นการท้าทายครั้งร้ายแรงที่สุดต่อความมั่นคงปลอดภัยเหนืออาณาเขตน่านน้ำของฟิลิปปินส์ และต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของฟิลิปปินส์ ตลอดจนต่อความพยายามในการปกป้องรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเลของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ” ตอนหนึ่งในคำปราศรัยของ เดล โรซาริโอ ระบุเอาไว้เช่นนี้ และกล่าวอีกว่า “ไม่มีช่วงเวลาใดๆ ถูกต้องเหมาะสมยิ่งไปกว่าวันนี้เวลานี้อีกแล้ว ที่เราควรต้องนำเอา อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UN Convention on the Law of the Sea ใช้อักษรย่อว่า UNCLOS) มาใช้เป็นเครื่องมือ รัฐทุกๆ รัฐจักต้องเคารพยึดมั่นในพันธะข้อผูกพันของพวกเขาภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติฉบับนี้ ซึ่งมีการระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า พวกเขาจะทำความตกลงแก้ไขข้อพิพาททางทะเลของพวกเขาด้วยวิธีการอันสันติ โดยปราศจากการคุกคามที่จะใช้กำลังหรือการลงมือใช้กำลัง”

รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ยังกล่าว เรียกร้องให้นานาชาติยึดมั่นอยู่กับ “หลักการแก้ไขปัญหาโดยอิงอยู่กับระเบียบกฎหมาย” เพื่อจะได้ไม่ทำให้เหล่าประเทศที่อ่อนแอกว่าทั้งหลาย ต้องถูกบีบบังคับให้จำใจยอมรับว่า “กำลังอำนาจ คือ ความถูกต้องชอบธรรม” เห็นได้อย่างไม่ยากเย็นเลยว่า คำพูดเช่นนี้คือการวิพากษ์วิจารณ์จีนแบบไม่เอ่ยชื่อตรงๆ ในเรื่องที่ฝ่ายนั้นแสดงท่าทีอันแข็งกร้าวมากขึ้นทุกที

กล่าวโดยรวมแล้ว คำปราศรัยของ เดล โรซาริโอ คราวนี้ มีความมุ่งหมายอันชัดเจนอยู่ที่การเรียกร้องขอให้นานาชาติเข้ามาแทรกแซงให้มากขึ้น ขณะเดียวกับที่วาดภาพฟิลิปปินส์ว่าเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบของประชาคมระหว่างประเทศ –และไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือของอเมริกา ผู้ซึ่งกำลังปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของตนเองโดยหันมาเน้นหนักให้ความสำคัญต่อเอเชีย เพื่อทำการปิดล้อมสกัดกั้นจีน

เนื่องจากฟิลิปปินส์นั้นขาดไร้สมรรถนะทางทหารซึ่งสามารถใช้เป็นมาตรการเชิงป้องปรามอย่างไว้เนื้อเชื่อใจได้ เวลานี้มะนิลาจึงกำลังทุ่มเททั้งเวลาและพลังงานไปในการดำเนินการทางการทูต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวทีและกรอบความตกลงต่างๆ ของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้าอาเซียนมีกำหนดจะจัดการประชุมระดับผู้นำ (ASEAN Summit) ตลอดจนการหารือคู่ขนานรายการอื่นๆ ขึ้นที่กัมพูชา โดยคาดหมายกันว่าจะมีพวกผู้นำระดับโลก เป็นต้นว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ เข้าร่วม การประชุมหารือคราวนี้จึงกำลังเป็นที่จับตามองกันอย่างใกล้ชิดว่าจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าในประเด็นปัญหาเรื่องทะเลจีนใต้นี้หรือไม่

สมาคมอาเซียนซึ่งปัจจุบันมีรัฐสมาชิกรวม 10 ราย ปกติแล้วตัดสินใจดำเนินการเรื่องต่างๆ โดยคำนึงถึงการเห็นพ้องต้องกันเป็นฉันทามติ ทว่าคุณลักษณะเช่นนี้ได้ถูกทำลายลงอย่างร้ายแรงในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศตอนช่วงกลางปีที่ผ่านมา เมื่อที่ประชุมกระทั่งไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ สืบเนื่องจากมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันมากในเรื่องทะเลจีนใต้ ในขณะที่มะนิลาแสดงความมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะใช้ประโยชน์จากเครื่องไม้เครื่องมือที่อยู่ในอำนาจทุกๆ อย่าง ในการพิทักษ์ปกป้องการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ของตน โดยรวมถึงการเร่งฟื้นฟูความผูกพันทางทหารระดับทวิภาคีที่มีอยู่กับสหรัฐฯให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ด้วยนั้น ก็ดูเหมือนว่าการทูตต่างหากที่กำลังถูกนำมาเป็นจุดศูนย์กลางของยุทธศาสตร์โดยองค์รวมของฟิลิปปินส์ในเวลานี้

การที่มะนิลากำลังหันมาเน้นการทูตเป็นศูนย์กลาง ซึ่งควรถือเป็นการปรับเปลี่ยนในทางยุทธศาสตร์ทีเดียวนั้น เนื่องจากเหตุผลใหญ่ๆ รวม 3 ประการด้วยกัน

ประการแรก ฟิลิปปินส์ยังคงมีความสงสัยข้องใจกันอยู่จนถึงบัดนี้ว่า เอาเข้าจริงแล้วสหรัฐฯมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำตามพันธะผูกพันในการปกป้องคุ้มครองฟิลิปปินส์มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากเกิดเหตุการณ์ที่ฟิลิปปินส์เปิดการประจันหน้าโดยตรงกับจีนในบริเวณดินแดนที่พิพาทช่วงชิงกันอยู่

ประการที่สอง สืบเนื่องจากปักกิ่งกำลังมีการเปลี่ยนแปลงคณะผู้นำชุดใหม่ ฟิลิปปินส์จึงให้น้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ กับการแก้ไขซ่อมแซมการติดต่อผูกพันกับจีนซึ่งร้าวฉานลงไปนั้นให้กลับกระเตื้องดีขึ้น เพื่อเป็นการปูทางสำหรับความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับคณะผู้นำใหม่ของแดนมังกร

ประการสุดท้าย เนื่องจากกัมพูชา (ซึ่งเป็นพันธมิตรผู้เหนียวแน่นของจีน) กำลังจะหมดวาระการเป็นประธานของสมาคมอาเซียน และประเทศสมาชิกรายต่อไปที่จะหมุนเวียนเข้ามาเป็นประธานตามวาระ ก็คือ บรูไน (ชาติสมาชิกอาเซียนอีกรายหนึ่งซึ่งก็มีข้อพิพาทอยู่กับจีนในเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้) ด้วยเหตุนี้เอง มะนิลาจึงกำลังหวนกลับมาเชื่อมั่นมากขึ้นกับหลักการแก้ไขปัญหาในแบบพหุภาคีโดยที่มีอาเซียนเป็นผู้นำ ช่วงระยะไม่กี่เดือนหลังมานี้ เราจึงได้เห็นฟิลิปปินส์เปิดฉากการรุกทางการทูตในลักษณะของการมุ่งขับเคลื่อนในระดับพหุภาคี

กระนั้นก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง ฟิลิปปินส์ก็ได้เพิ่มความพยายามเพื่อดำเนินการทางการทูตแบบทวิภาคีโดยตรงต่อจีนอีกด้วย โดยที่ก่อนหน้านี้ มะนิลาได้เคยใช้ความพยายามแบบเข้าประตูหลัง แต่แล้วกลับสร้างผลสะท้อนในทางลบ ถึงขนาดทำให้คณะผู้นำของฟิลิปปินส์เองเกิดความบาดหมางกันและแตกแยกกันมากขึ้น สัญญาณสิ่งบอกเหตุที่ปรากฏออกมาในระยะไม่นานมานี้ ต่างก็ชี้ให้เห็นว่าคณะรัฐบาลอากีโนให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศเชิงบวกเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ปักกิ่งดูจะกำลังมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษสืบเนื่องจากเป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนถ่ายคณะผู้นำประเทศ

เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญของความผูกพันทางเศรษฐกิจระดับทวิภาคีที่มีอยู่กับจีน ดังนั้นฟิลิปปินส์จึงหันมาแสดงท่าทีระมัดระวังเพิ่มขึ้นมากในเวลาวางแผนดำเนินการกระชับเพิ่มพูนความสัมพันธ์ทางทหารกับสหรัฐฯ ทั้งนี้ในระยะไม่กี่สัปดาห์หลังๆ มานี้ พวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฟิลิปปินส์ยังต่างดูเหมือนจะเกิดความเข้าอกเข้าใจเป็นอันดีแล้วว่า ปักกิ่งกำลังติดตามจ้องมองเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดด้วยความไม่สบายใจ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงต่างใช้คำพูดคำจาที่คลายความดุเดือดพลุ่งพล่านลงมาอย่างเห็นได้ชัด

มะนิลายังใช้ความพยายามไม่หยุดหย่อนเพื่อบรรเทาความวิตกกังวลในเชิงยุทธศาสตร์ของจีน ด้วยการเน้นย้ำยืนยันครั้งแล้วครั้งเล่าว่า การฝึกซ้อมร่วมทางทหารทั้งหลายที่ฟิลิปปินส์กระทำกับสหรัฐฯนั้น เป็นเพียงการฝึกที่มีจุดมุ่งหมายในการป้องกันตัว ไม่ได้มีการพุ่งเป้ามุ่งเล่นงานจีน ฟิลิปปินส์พากเพียรอธิบายว่า ความร่วมมือทางทหารระหว่างตนกับสหรัฐฯมีจุดโฟกัสอยู่ที่พวกประเด็นปัญหาภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Non-Traditional Security เรียกกันย่อๆ ว่า NTS เป็นต้นว่า การก่อการร้ายรูปแบบต่างๆ, การค้ายาเสพติด, โรคระบาดร้ายแรง, ภัยโจรสลัด, ผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย, ความมั่นคงปลอดภัยทางด้านสิ่งแวดล้อม, ความมั่นคงปลอดภัยทางเศรษฐกิจและการเงิน, ความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ -ผู้แปล) ไม่ใช่มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ของมะนิลา

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวทางการทูตของฟิลิปปินส์ครั้งสำคัญที่สุดและส่งผลสะเทือนมากที่สุดในเรื่องการเชิดชูหลักการแก้ไขปัญหาในแบบพหุภาคีโดยที่มีอาเซียนเป็นผู้นำ ได้แก่การเป็นเจ้าภาพจัด “เวทีการประชุมหารือเรื่องความร่วมมือเพื่อความมั่นคงทางทะเลของอาเซียน” (ASEAN Maritime Forum ใช้อักษรย่อว่า AMF) ครั้งที่ 3 เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งนำเอาพวกผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ ตลอดจนผู้แทนระดับสูงจากทั่วทั้งแปซิฟิกเข้ามาชุมนุมถกเถียงอภิปรายกัน เวทีการประชุมหารือคราวนี้กลายเป็นโอกาสอันสำคัญยิ่งยวดสำหรับมะนิลาที่จะผลักดันให้อาเซียนปรับจุดเน้นหนักของสมาคมเสียใหม่ในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยทางทะเล โดยเน้นย้ำให้เห็นความจำเป็นที่ทั่วทั้งภูมิภาคจะต้องมีความสมานฉันท์และมีการร่วมมือประสานงานกันเพิ่มมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ ทั้งในการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum ใช้อักษรย่อว่า ARF) ปี 2011 ที่อินโดนีเซีย และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (ASEAN Ministerial Meeting ใช้อักษรย่อว่า AMM) ปี 2012 ในกัมพูชา มะนิลาได้เคยใช้ความพยายามหาความสนับสนุนให้แก่ข้อเสนอทางการทูตของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับการจัดทำ “แนวปฏิบัติ” สำหรับทะเลจีนใต้ของภูมิภาค (regional Code of Conduct (CoC) for the South China Sea) ซึ่งมีผลผูกพันให้เหล่าชาติสมาชิกต้องปฏิบัติตามขึ้นมา ทว่าความพยายามเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ประสบความล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนปี 2012 ที่กัมพูชานั้น พนมเปญซึ่งเป็นเจ้าภาพถึงขั้นขัดขวางสกัดกั้น (โดยมีเสียงกล่าวหากันว่ากัมพูชากระทำตามแรงกดดันของจีนซึ่งมีอิทธิพลอย่างสูงต่อรัฐบาลฮุนเซน) ไม่ให้บรรจุข้อความซึ่งพูดถึงกรณีพิพาทที่กำลังดำเนินอยู่ในทะเลจีนใต้เอาไว้ในแถลงการณ์ร่วมสุดท้าย จนเป็นเหตุให้ไม่มีการออกเอกสารดังกล่าวเมื่อสิ้นสุดการประชุม

เมื่อการจัดทำ “แนวปฏิบัติ” ของภูมิภาค เกิดความรวนเรทำท่าจะไปไม่รอด บวกกับความวิตกกังวลที่เพิ่มมากขึ้นว่าภายในหมู่รัฐสมาชิกของอาเซียนกำลังมีความแตกแยกกันในเชิงยุทธศาสตร์ ฟิลิปปินส์จึงรู้สึกว่าต้องหวนกลับมาทุ่มเทความพยายามทางการทูตอีกครั้ง เพื่อกรุยทางให้แก่การใช้หลักการแก้ปัญหาแบบพหุภาคีในระดับภูมิภาค โดยที่จะต้องหาทางทำให้ทั่วทั้งภูมิภาคสามัคคีร่วมมือกัน มากยิ่งขึ้นด้วย

ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน เป็นนักวิเคราะห์ด้านกิจการต่างประเทศซึ่งพำนักอยู่ในมะนิลา สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ jrheydarian@gmail.com
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น