xs
xsm
sm
md
lg

ลงนามพันธมิตรป้องกันประเทศ “ไทย-สหรัฐฯ” ไร้นัยอู่ตะเภา “สุกำพล” ฉุนถูกถามตัดหน้าจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไทย-มะกัน ลงนามพันธมิตรป้องกันประเทศ เน้น 4 ความร่วมมือ เผยเน้นย้ำสัมพันธ์ทหารอันดี เผยโอบามาให้ความสำคัญภูมิภาคนี้ เตรียมพร้อมรับภัยคุกคาม และความท้าทายในอนาคต ปัดพูดขอใช้อู่ตะเภาตั้งเอชเอดีเออาร์ และขยายขนาดคอบร้าโกลด์ 2013 ด้าน รมว.กลาโหม ปัดตัดหน้าจีน เบรกขึ้นมหาอำนาจ โวยทำให้ไทยมีปัญหา ยันไม่เข้าข่าย ม.190 เผย พม่าดีใจให้เข้าร่วมสังเกตการณ์คอบร้าโกลด์ แต่ไม่ได้ฝึก

วันนี้ (15 พ.ย.) ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อเวลา 14.30 น. นายเลียน อี พาเนตตา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา และคณะ ได้เดินทางเข้าพบ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย.นี้ โดย รมว.กลาโหมสหรัฐอเมริกา ได้ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ 3 เหล่าทัพ ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมประชุมหารือในเรื่องของการปรับเปลี่ยนแนวทางความร่วมมือระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา ให้สอดคล้องกับความท้าทายจากภัยคุกคามรูปแบบใหม่ในปัจจุบัน เพื่อสร้างความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และให้เกิดเสถียรภาพในภูมิภาคเชียแปซิฟิก โดยตัวแทนฝ่ายไทย มี พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ปลัดกระทรวงกลาโหม และผู้แทนเหล่าทัพเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยห้ามยานพาหนะทุกประเภทจอดภายในบริเวณศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมกับให้สื่อมวลชนทุกคนแลกบัตรประจำตัวด้วย

จากนั้นเวลา 15.30 น. พล.อ.อ.สุกำพล และ นายลีออน ได้ลงนามร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกัน ประเทศไทย-สหรัฐอเมริกา 2012 การเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงในศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนแปลงไป ความร่วมมือทางทหารจึงต้องมุ่งเน้นไปที่ประเด็นทั้ง 4 ด้าน คือ 1. ความเป็นหุ้นส่วนในการสร้างความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการรับมือต่อปัญหาความท้าทายรูปแบบใหม่ 2. การส่งเสริมความมีเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และภูมิภาคที่ไกลออกไปบนพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและความไว้เนื้อเชื่อใจกันมาเป็นเวลานหลายทศวรรษ 3. การพัฒนาความพร้อม และการเสริมสร้างขีดความสามารถในการปฏิบัติการร่วมทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี และ 4. การพัฒนาความสัมพันธ์การประสานงานและการสร้างความร่วมมือในทุกระดับ

นายเลียนกล่าวว่า การมาเยือนไทยในครั้งนี้ เพื่อต้องการเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ทางทหารอันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ ซึ่งสหรัฐฯถือว่า ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญในภูมิภาคมาตลอด ดังนั้น การลงนามในความเป็นหุ้นส่วนทางทหารครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ด้วยความร่วมมือระหว่างกัน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ขอชื่นชมกองทัพไทย ที่มีความสัมพันธ์ที่ดี ให้การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันมาเป็นเวลานาน ซึ่งความสัมพันธ์อันดีนี้จะนำไปสู่ความรุ่งเรือง ทั้งด้านการทหารและด้านอื่นๆ ด้วย โดยนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับมิตรประเทศในภูมิภาคนี้อย่างมาก ซึ่งได้ย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศในเอเชียแปซิฟิก และตัวประธานาธิบดีเองก็จะหารือเพิ่มเติมในประเด็นนี้ รวมทั้งประเด็นอื่นๆ กับนายกรัฐมนตรีไทย ระหว่างการเยือนไทยในสุดสัปดาห์นี้

“ความตกลงหุ้นส่วนทางทหารครั้งนี้ นอกจากจะช่วยดำรงเสถียรภาพด้านความมั่นคงในภูมิภาคแล้ว ยังถือเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรับกับภัยคุกคามและความท้าทายที่ต้องเผชิญร่วมกันในอนาคต ขณะนี้สามารถบอกได้ว่าเราได้เข้าสู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ในภารกิจรักษาความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือทางทะเล และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมถึงภารกิจรักษาสันติภาพ ทั้งนี้ การประชุมไทย-สหรัฐฯ วันนี้ ไม่ได้พูดถึงการขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภาในการตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยช่วยเหลือประชาชน หรือเอชเอดีเออาร์ รวมถึงไม่ได้มีการพูดถึงการขยายขนาดการฝึกคอบร้าโกลด์ 2013” นายเลียนกล่าว

พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวถึงกรณีที่มีการมองว่า การลงนามวิสัยทัศน์ร่วมว่าด้วยการพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ ไทย-สหรัฐฯ เป็นการตัดหน้าประเทศจีน เพื่อไม่ให้ขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจว่า ทำไมถึงมองเช่นนั้น เพราะจะทำให้ประเทศไทยเสีย ทางสหรัฐฯ เข้ามาทุกประเทศ ไม่ใช่ใช้ไทยเป็นเครื่องมือในการปิดล้อมจีน พูดอย่างนี้จะทำให้ไทยมีปัญหากับจีน เพราะอีกไม่กี่วันนายกรัฐมนตรีจีน จะเข้ามาที่ไทย อย่างไรก็ตาม ไทยคบกับทุกชาติที่ดีกับเรา ในส่วนของสหรัฐฯเราช่วยเหลือในส่วนที่จะติดต่อกับพม่า ถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งจีนกับสหรัฐฯ เป็นเพื่อนไทยทั้งคู่ เรารักเท่ากัน ไม่รักใครมาก หรือรักใครน้อย ครั้งแรกที่มีการเซ็นร่วมกันเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งวันนี้เป็นเรื่องความสัมพันธ์กว้างๆ ไม่ได้มีอะไรลึก ซึ่งมีกระดาษเพียง 2 หน้า เกี่ยวกับการช่วยเหลือฝึกศึกษา ซึ่งการลงนามดังกล่าวเรื่องนี้ผ่าน ครม.แล้วว่า การลงนามดังกล่าวไม่เข้าข่าย ม.190 เพราะไม่ใช่พันธสัญญา เป็นเพียงความร่วมมือ และทางกฤษฎีกาดูแล้วว่า ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องลับอะไร ไม่ต้องห่วง ถ้าสำนักผู้ตรวจการแผ่นดินขอดูก็สามารถยื่นให้ดูได้เลย

เมื่อถามถึงการฝึกคอบร้าโกลด์ที่จะให้พม่าเข้าร่วมการฝึกในปี 2013 พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า ประเทศพม่าไม่ได้เข้าร่วมการฝึก แต่จะเป็นผู้สังเกตการณ์ เฉพาะในส่วนที่เป็นการฝึกการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเท่านั้น ถือว่าเป็นครั้งแรก และทางพม่าเองก็ดีใจมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยเสนอต่อสหรัฐอเมริกาว่า ควรให้พม่าเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย เพราะการเข้ามาของสหรัฐฯในภูมิภาคนี้ มีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าไม่ได้เข้ามาดำเนินการเพื่อสร้างผลกระทบในอาเซียน หรือทำให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศจีน ซึ่ง รมว.กลาโหมของสหรัฐฯ ได้บอกกับตนว่าได้เดินทางเยือนประเทศจีน โดยความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนดีมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับเชิญให้ไปดูกองทัพเรือทางทะเลเหนือของจีนด้วย พร้อมทั้งการฝึกร่วมกำลังทางเรือกับจีน โดยสหรัฐฯ พยายามเข้าหาทุกประเทศในภูมิภาคนี้ ไม่ใช่เฉพาะไทยอย่างเดียว ไม่ใช่สหรัฐฯ จะมาปิดล้อมจีน ซึ่งไม่ได้มีความเป็นห่วงเรื่องนี้





กำลังโหลดความคิดเห็น