xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงสัมพันธ์ไทย-จีนวูบ หงอสหรัฐฯด้านการทหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-นักวิชาการห่วงสัมพันธ์ไทย-จีน หลังไทยยอมสหรัฐฯ ด้านการทหาร "บิ๊กโอ๋"ยันไม่เข้ามาตรา 190 เผยหากจีนอยากลงนามแบบเดียวกันนี้ ก็พร้อม "มาร์ค"เตือนเจรจา TPP ต้องรอบคอบ หวั่นกระทบไทยรุนแรง "เต้น"ไม่สนใครจะค้าน ย้ำจะลงนามสนใจร่วม TPP แน่ เผยกำหนดการ "โอบามา" เข้าเฝ้าในหลวงก่อนเจรจาทวิภาคีกับ "ปู" เตรียมปิดถนน 18 พ.ย.นี้ รักษาความปลอดภัย

หลังจากทั้งนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน ออกมาเตือนรัฐบาลให้พิจารณาอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะยอมรับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (TPP) ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบให้นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในวันที่ 18 พ.ย. ในช่วงที่นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเดินทางมาเยือนไทย และในระหว่างนี้ ยังพบว่า มีความพยายามเดินสายล็อบบี้ของน.ส.คริสตี แอนน์ เคนนี เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ต่อรัฐมนตรีด้านการค้าของไทยด้วย

นายประภัสร์ เทพชาตรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ ไทย-สหรัฐอเมริกา 2012 (2012 Joint Vision Statement for the Thai-U.S. Defense Alliance) ว่า ตนยังไม่ทราบรายละเอียด แต่ในภาพรวมการที่มีแถลงการณ์ร่วมเช่นนี้ อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในมุมมองของประเทศจีน ซึ่งถือว่าเป็นประเทศคู่ขัดแย้งกับอเมริกา

ทั้งนี้ แม้เป้าหมายของประเทศไทยจะไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดก็จริง แต่หากมีการออกแถลงการณ์ร่วมในลักษณะนี้ ก็ถือว่าเป็นการเปิดตัวความร่วมมือทางการป้องกันประเทศระหว่างไทยกับอเมริกาอย่างเป็นทางการ เพิ่มเติมจากการฝึกคอบร้าโกลด์ที่มีการทำงานร่วมกันอยู่แล้ว

**"บิ๊กโอ๋"ยันแถลงการณ์ไม่เข้ามาตรา190

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การลงนามเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ร่วมว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศไทย-สหรัฐอเมริกา 2012 นั้น อยากให้มีการลงนามเซ็นให้เรียบร้อยก่อน โดยยืนยันว่าการลงนามในครั้งนี้ประเทศไทย และประเทศสหรัฐฯ ไมได้มีสิทธิประโยชน์ซึ่งกันและกัน เป็นเพียงความร่วมมือของประเทศไทยและประเทศสหรัฐฯ เท่านั้น เป็นเรื่องความเป็นพันธมิตรหุ้นส่วนกันทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้ในหลายๆ ด้าน

ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือดังกล่าว ไม่ต้องมีการนำเข้าพิจารณาสู่สภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 190 เพราะเป็นข้อตกลงทางด้านการทหาร ไม่ได้เกี่ยวกับอาณาเขตหรือพื้นที่ทับซ้อน อย่างไรก็ตาม หากประเทศจีนสนใจที่จะลงนามร่วมกันในลักษณะเดียวกับประเทศสหรัฐฯ ประเทศไทยก็ยินดี ไม่มีปัญหาอะไร

ส่วนเรื่องความร่วมมือทางด้านการทหารนั้น ของเดิมไทยมีอยู่แล้ว ไม่ได้มีการเพิ่มเติมรายละเอียดลงไป เช่น การฝึกร่วมคอบร้าโกลด์ ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม ส่วนที่มีการกระแสข่าวว่าจะมีการเพิ่มกำลังพลจาก 10,000 เป็น 20,000 คนนั้น ก็ไม่ได้เป็นความจริง เพราะการฝึกคอบร้าโกลด์ครั้งหนึ่ง ก็จะต้องมาพูดในหลายละเอียดครั้งหนึ่ง ส่วนสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับอาวุธ ก็ไม่มี ไม่มีอะไรเพิ่มขึ้นมา

สำหรับกรณีที่นักวิชาการออกมาตั้งข้อสังเกตว่า การเซ็นความร่วมมือเป็นเพียงฉากหน้าเท่านั้น แต่แท้จริงสหรัฐฯ ต้องการหวังผลทางการเมืองเพื่อปิดล้อมประเทศจีนนั้น ถ้าหากนักวิชาการมองเช่นนี้ เราก็จะต้องไม่คบใครแล้ว

**“มาร์ค”เตือนรัฐบาลต้องรอบคอบ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเตือนรัฐบาลให้พิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะยอมรับ เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวมีมาตรฐานสูงกว่าอาเซียนมาก แม้ว่าการที่สหรัฐฯ เชิญไทยเข้าร่วมจะเป็นเรื่องที่ดี แสดงให้เห็นว่าไทยอยู่ในความสนใจที่สหรัฐฯ จะร่วมมือทางเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลต้องทราบว่าข้อตกลง TPP เป็นการเจรจาที่ครอบคลุมกว้างขวางกว่าเขตการค้าเสรีและเกี่ยวพันหลายเรื่อง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การเงิน และเรื่องอื่นๆ อีกมาก การจะร่วมไม่เป็นปัญหา แต่ต้องเตรียมกำหนดขอบเขตและกรอบการเจรจา

"ในอดีต รัฐบาลชุดที่แล้วไม่ทำ เพราะยังไม่มีความชัดเจน การกำหนดกรอบการเจรจาค่อนข้างยาก จึงไม่สามารถขออนุมัติจากสภาได้ เพราะกรณีนี้ เข้าข่ายตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณา แต่ในชั้นนี้ คงเป็นเพียงแค่การแสดงเจตนาร่วมกันโดยไม่มีผลผูกพันใดๆ ต่อทั้งสองประเทศ"

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กติกาในการร่วมเจรจาและข้อตกลงที่จะสรุปของ TPP ขาดความชัดเจนหลายเรื่อง แม้แต่ประเทศที่เคยรับเชิญไปสังเกตการณ์แล้วอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น ก็ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอีกมาก ตนไม่ได้คัดค้าน แต่ต้องการให้รัฐบาลเตรียมการให้ดี เพราะยังตอบยากมากว่า เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วผลดีกับผลเสียต่อประเทศจะเป็นอย่างไร เนื่องจากกรอบความร่วมมือดังกล่าวไม่มีความชัดเจน อีกทั้งรัฐบาลต้องตระหนักด้วยว่า TPP ประกอบด้วยประเทศที่ไม่มีปัญหาเขตการค้าเสรี เช่น สิงคโปร์ บรูไน ชิลี นิวซีแลนด์ จึงตั้งส่วนนี้ขึ้นมาไปไกลถึงการเปิดเสรีทางการเงิน 100% มาตรฐานทรัพย์สินทางปัญญาสูงกว่ากติกาโลก ซึ่งประเทศไทยต้องพิจารณาว่า เรามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าเปิดเสรีทางการเงิน 100% ก็จะกระทบกับแผนแม่บทสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยวางไว้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาเงินไหลเข้าจนเกิดฟองสบู่กลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการแสดงเจตนา จึงอยากให้รัฐบาลคิดล่วงหน้าว่าถ้าจะตอบรับ ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง โดยต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และที่รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้ ก็อาจเป็นเพราะว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเดินทางมาประเทศไทย จึงใช้โอกาสนี้ ประกาศบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งตนคิดว่ากรณีนี้ไม่ได้มีเพียงแค่มิติทางด้านเศรษฐกิจ แต่ยังมีมิติด้านความมั่นคงด้วย เพราะข้อสังเกตของ TPP คือ หลักเดิมที่พยายามผลักดันให้อาเซียนไต่ไปถึงอาเซียน+3หรืออาเซียน+6 ต้องเป็นแกนกลางในข้อตกลงความร่วมมือในภูมิภาค ซึ่งมติ ครม.วันเดียวกัน ยังมีการพูดถึง RCEP ซึ่งในขณะนี้ จีนไม่ได้ร่วมอยู่ใน TPP ด้วย และญี่ปุ่น เกาหลี แม้จะเข้าไปร่วมบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้เป็นสมาชิก

**ไม่ค้านแถลงการณ์ร่วมไทย-สหรัฐ

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นเกมสหรัฐฯ ที่จะบีบจีนทางด้านเศรษฐกิจเพื่อขยายอำนาจมายังภูมิภาคนี้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยหาเสียงและพูดถึง TPP แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้น ก็น่าจะเป็นเพียงการแถลงข่าวร่วมว่ามีเจตนาที่จะตอบรับ ยังไปไกลกว่านั้นไม่ได้ และไม่ผูกพันเนื้อหาสาระที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจ เป็นเพียงเชิญร่วมเจรจาเท่านั้น แต่รัฐบาลต้องตั้งหลักว่าจะเจรจากรอบจะเป็นอย่างไร

**"ครม.เงา"แนะศึกษาให้รอบคอบ

ที่พรรคประชาธิปัตย์ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกคณะรัฐมนตรีเงาของพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการประชุมครม.เงาว่า ที่ประชุมมีข้อกังวลมีข้อสังเกตว่าความตกลง TPP มีมาตรฐานสูงกว่าข้อตกลงที่มีในกลุ่มอาเซียน+3 หรืออาเซียน+6 ซึ่งในหลายกรณีที่อาจจะมีพันธะผูกพัน หากมีการเดินหน้าทำข้อตกลง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม การระงับข้อพิพาท ตลอดจนนโยบายด้านการแข่งขัน ซึ่งก็มีหลายเรื่องที่ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม เช่น ทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องลิขสิทธิ์ยา มาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม ซึ่งหากเดินหน้าโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบก็จะเกิดปัญหาได้

“ครม.เงา เสนอให้รัฐบาลทำการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ โดยหน่วยงานที่เป็นอิสระ เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างครบถ้วนทั้ง และครม.เงา ก็มีการตั้งคำถามว่ารัฐบาลรู้หรือยังว่าจะเจรจาในเรื่องใด เพราะการเจรจาต้องนำกรอบการเจรจาเข้าสู่การหารือในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา ตามมาตรา 190 แต่ก็มีเงื่อนไขว่าต้องมีการศึกษาวิจัย และเปิดเผยผลการวิจัย ก่อนที่จะนำมาทำเป็นกรอบเจรจาเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาได้ทราบ จึงอยากให้รัฐบาลมีความระมัดระวังในการดำเนินการ ไม่อยากให้รัฐบาลเดินหน้าแถลงข่าวเพียงอย่างเดียว” รองโฆษกครม.เงา กล่าว

**"เต้น"ย้ำเซ็นMOUร่วมเจรจาTPPแน่

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ผู้นำทั้ง 2 ประเทศจะออกแถลงการณ์ร่วมและบันทึกความเข้าใจไทย-สหรัฐฯ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่าไทยสนใจเข้าร่วมเจรจา TPP ตามมติครม. โดยยังไม่มีการเริ่มต้นการเจรจาแต่อย่างใด แต่หากไทยเข้าร่วมการเจรจา TPP จริง จะทำให้สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ รวมถึงประเทศที่เป็นภาคีอื่นๆ ได้มากขึ้น และง่ายขึ้น ส่วนในด้านทรัพย์สินทางปัญญา ไทยคงต้องเจรจาอย่างระมัดระวัง และต้องหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อน

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีหารือกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อให้สหรัฐฯ พิจารณาถอดไทยออกจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษด้านทรัพย์สินทางปัญญา (PWL) ตามมาตรา 301 พิเศษ กฎหมายการค้าสหรัฐฯ ในช่วงการประกาศผลการทบทวนสถานะของประเทศคู่ค้าเดือนเม.ย.2556 เพราะไทยได้มีการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ ทั้งการป้องกันการแอบถ่าย และป้องกันการละเมิดทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งหากถูกลดอันดับลงจริง จะทำให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้น และส่งผลให้ต่อการนำเข้าสินค้าของไทยในตลาดสหรัฐฯด้วย

** ยื่นผู้ตรวจสอบกลาโหมทำสัญญานาซ่า

อีกด้านภาคประชาชนในนามเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ผู้ตรวจฯ ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล โดยเฉพาะกรณีที่กระทรวงกลาโหมได้ทำสัญญาในเรื่องสนามบินอู่ตะเภากับองค์การนาซ่า และคาดว่าการที่ผู้นำสหรัฐฯ และผู้นำจีน รวมถึงรัฐมนตรีที่จะเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในช่วงเดือน พ.ย.นี้ ก็เป็นผลมาจากเรื่องดังกล่าว ซึ่งการทำพันธะสัญญาหรือหนังสือสัญญาใดๆ ก็ตาม คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาด้วย ซึ่งขณะนี้รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว และกำลังละเมิดสิทธิคนไทยทั้งประเทศ จึงขอให้ผู้ตรวจฯ ตรวจสอบในกรณีดังกล่าว

** “โอบามา”เข้าเฝ้าฯก่อนร่วมพิธีต้อนรับ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ศึกษาธิการ กล่าวภายหลังประชุมเตรียมความพร้อมต้อนรับ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีกำหนดการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรก มีกำหนดการเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ โรงพยาบาลศิริราช ในวันที่ 18 พ.ย. เวลา 17.00 น. หลังจากนั้น เวลาประมาณ 17.45 น. เป็นต้นไป ที่ทำเนียบรัฐบาลจะมีพิธีต้อนรับอย่างสมเกียรติ รวมถึงจะมีการเจรจาหารือในประเด็นต่างๆกับนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ หลังจากการหารือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายบารัค โอบามาจะแถลงข่าวร่วมกันผ่านทางสถานีโทรทัศน์

ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัย ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำงานประสานร่วมกับฝ่ายรักษาความปลอดภัยของนายบารัค โอบามา ทั้งนี้ จะมีการปิดเส้นทางจราจรบางจุด ซึ่งการดูแลเส้นทางการจราจรพยายามจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่สัญจรไปมาในวันอาทิตย์ที่ 18 พ.ย. แต่อาจส่งผลกระทบกับประชาชนที่ขับรถสัญจรบ้าง และยืนยันว่ารัฐบาลยังไม่ได้รับข่าวว่าจะมีกลุ่มต่อต้านระหว่างนี้

**ตำรวจเจ้าภาพหลักคุมกันโอบามา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยว่า ตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนขอความช่วยเหลือเข้ามายังกองทัพบก ขั้นตอนการปฏิบัติการดูแลในพื้นที่ชั้นในเป็นการดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสิ้น

นายเจริญ จรรย์โกมลย์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่1 กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานจากฝ่ายบริหารว่า จะมีกำหนดการเดินทางเยือนรัฐสภาหรือไม่

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันที่ 15 พ.ย.จะมีการประชุมสรุปอีกครั้งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยล่วงหน้าสหรัฐฯ เองพอใจ และอนุญาตให้มีการปิดการจราจรถนนด้านนอกรอบทำเนียบ รวมถึงเฝ้าระวังจุดสูงข่ม

**"ปู"ย้ำปี56เน้นลงทุนโครงการใหญ่

ส่วนภารกิจของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการเยือนสหราชอาณาจักร ได้กล่าวสุนทรพจน์และร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับนักธุรกิจสหราชอาณาจักรและนักธุรกิจไทยที่ร่วมคณะ จัดโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และ United Kingdom Trade and Investment ซึ่งในงานนี้มีการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนไทยและสหราชอาณาจักรในสาขาธุรกิจประเภทเดียวกันพบปะแลกเปลี่ยน สร้างเครือข่ายและขยายช่องทางธุรกิจระหว่างกัน เช่น สาขาอาหารและสินค้าเกษตร สินค้าดีไซน์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ อัญมณีและเครื่องประดับและชิ้นส่วนยานยนต์

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์ ในหัวข้อ “2013: The Year of Opportunity in Thailand” ตอนหนึ่งเน้นถึงความสำคัญเร่งด่วนของประเทศไทยในปี 2556 คือ รัฐบาลไทยจะเริ่มการลงทุนสาธารณูปโภค โดยมีโครงการทั้งรถไฟความเร็วสูง การขยายท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบับ การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย และถนนเชื่อมระหว่าง 2 ท่าเรือ รวมไปถึงโครงการบริหารจัดการน้ำ

**ควีนถามพระอาการในหลวง-ราชินี

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวภายหลังเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ระหว่างการเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ ว่า ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นความภาคภูมิใจสูงสุด ซึ่งในฐานะตัวแทนของพสกนิกรชาวไทย ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายความยินดีในโอกาสที่ สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในการนี้ สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงสอบถามถึงพระอาการประชวรของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ด้วย

"พระองค์ท่านทรงสอบถามถึงพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ถือได้ว่าเป็นความสำคัญระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร ที่มีมาอย่างยาวนาน และความสัมพันธ์ที่ดีในระดับราชวงศ์"
กำลังโหลดความคิดเห็น