xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลไทยยอมตามก้นมะกัน “สร้างโอกาส” หรือ “เสียค่าโง่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สะเก็ดไฟ

การเมืองร้อนแรงช่วงปลายฝนต้นหนาว ทำให้บรรยากาศของบ้านเมืองแปรปรวน จนแม้แต่คอการเมืองเองก็อาจจับต้นชนปลายไม่ติดว่า ตกลงมีใครคิดจะทำอะไรกับประเทศนี้อย่างไร และมีกี่กลุ่ม แล้วประเทศเราจะเปลี่ยนผ่านบ้านเมืองได้อย่างราบรื่น หรือต้องผ่านโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่

หลายคนตั้งคำถามว่า ม็อบเสธ.อ้ายน่าจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ถึงขนาด “เป็ดเหลิม” พูดเป็นฉากๆ ว่ามีกลุ่มทุนหนุนถึง 80 กลุ่มกันเลยทีเดียว เรียกว่ารู้ทุกเรื่อง โม้ได้เรื่อย แต่ไม่เคยเป็นเรื่องจริง น่าแปลกไปกว่านั้นคือ สื่อมวลชนก็ยังให้หน้ากระดาษเปื้อนหมึกไปกับคำสัมภาษณ์ของรองนายกฯ ที่นักข่าวก็รู้ทั้งรู้ว่าโกหก

ความจริงแล้วเรื่องการเมืองของไทยนั้น นับตั้งแต่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศแก้ไขไม่แก้แค้น จนผ่านบทพิสูจน์มากว่า 1 ปี จึงเปลือยธาตุแท้ตามวิธีถนัด “Woman Touch” ที่เคยประกาศทั้งช่วงหาเสียงในเมืองไทยว่าจะใช้ความเป็นผู้หญิงสร้างความปรองดองให้กับประเทศไทย แต่สิ่งที่ทำให้เธอโด่งดังเพราะประโยคนี้ไปทั่วโลกก็เพราะ ความมั่นใจในมนต์เสนห์ “Woman Touch” ไปแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้กันเลยทีเดียว

เรื่องการต่างประเทศต้องบอกว่า ยิ่งลักษณ์ทำให้คนไทยได้ประหลาดใจอยู่เสมอๆ หรือไม่ก็ต้องลุ้นว่าเธอจะไปทำอะไรให้ชาติขายหน้าบ้าง แต่ในวันที่เธอได้พบกับ นายลี มย็องบัก ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ปรากฏภาพนายลี มย็องบัก จับมือถือแขนผู้นำหญิงประเทศไทยอย่างสนิทสนม โดยที่นางสาวยิ่งลักษณ์ก็ได้แต่ยิ้มระรื่นให้ผู้นำของเกาหลี แถมยังทำกิ๊บเก๋มอบอัลบั้มภาพถ่ายส่วนตัวให้กับประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีซะด้วย

หรือว่าการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามสไตล์ ยิ่งลักษณ์ ต้องเริ่มจากการสร้างสัมพันธ์ส่วนตัวก่อน?

ความวุ่นวายของการเมืองที่ทำให้ผู้คนเบื่อหน่าย กลบกระแสความล้มเหลวของรัฐบาลได้เกือบหมด เพราะบนหน้าหนังสือพิมพ์มีแต่เรื่องถอดยศมาร์ค อภิปรายไม่ไว้วางใจ มาตรการคุมเข้มเพื่อเตรียมพร้อมรับการมาเยือนของบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.นี้

แต่คนไทยแทบจะไม่รู้เลยว่า การเดินทางมาครั้งนี้ของโอบามา ไทยต้องเสียหรือได้อะไร เพราะคนระดับประธานาธิบดีสหรัฐฯ คงไม่เสียเวลาค้างคืนที่ประเทศไทยเพราะหลงเสน่ห์ “Woman Touch” และคงไม่กลับอเมริกาพร้อมอัลบั้มภาพถ่ายส่วนตัวของยิ่งลักษณ์เท่านั้นอย่างแน่นอน

การวางบทบาทของไทยด้านการต่างประเทศนับเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงอย่างมาก เพราะอาจมองได้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ มิได้วางนโยบายการต่างประเทศเพื่อบ้านเมือง แต่ออกแบบนโยบายเพื่อนำรัฐไทยไปรับใช้ทุน ในภาวะที่โลกกำลังเกิดแรงเหวี่ยงทั้งอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ระหว่าง สหรัฐอเมริกา กับ ประเทศจีน

การประกาศเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) และ การรื้อฟื้นการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐ (TIFA JC) อาจดูเสมือนเป็นเรื่องไกลตัวที่ประชาชนไม่สนใจ และรัฐบาลก็จงใจที่จะปิดบังผลกระทบทั้งด้านดีและเสียให้คนไทยรับรู้ เพื่อชั่งน้ำหนักให้เกิดความรอบคอบว่า

อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยเพราะมีทั้ง “สร้างโอกาส” และ “เสียค่าโง่” โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งยังอาจกระทบต่อความเป็นประชาคมอาเซียนด้วย ประเทศสมาชิกจะคิดอย่างไร ถ้าไทยกระโดดไปร่วมแทนที่จะให้เป็นความร่วมมือระหว่างประชาคมอาเซียนซึ่งจะทำให้ทรงพลังมากกว่าที่ไทยจะแยกเดี่ยวไปเป็น หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ TPP แต่เพียงลำพัง

มีการกล่าวอ้างจากกระทรวงพาณิชย์ถึงประโยชน์ที่จะได้จากเรื่องนี้ว่าจะทำให้ไทยส่งออกไปยังสหรัฐได้ถึง 6.55 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 28.65% ของมูลค่าส่งออกในภาพรวม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะก่อนหน้านี้ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ สหรัฐอเมริกาก็พยายามที่จะเดินหน้าเรื่องนี้ แต่ถูกแช่แข็งไว้เพราะเห็นว่าผลกระทบจากเรื่องนี้จะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยที่ไทยต้องมีความพร้อมมากพอเสียก่อน จึงต้องศึกษาอย่างรอบด้านให้เกิดความรอบคอบในการปกป้องผลประโยชน์ชาติ

ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ย่อมชัดเจนว่าเป็นไปตามนโยบายการเมืองสั่ง จากที่เคยท้วงติง กลับกลายเป็นการอวยชัยให้พรสนับสนุนผลักดันเต็มที่พูดแต่ผลดีโดยไม่ให้ข้อมูลด้านลบที่จะกระทบกับคนไทยทั้งประเทศ จนอาจเกิดวิกฤตต้มยำปูแดง ไม่ต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่พี่ชายนักโทษของเธอเป็นรองนายกรัฐมนตรีในวันที่นำเศรษฐกิจชาติไทยไปเป็นทาสไอเอ็มเอฟ แล้วมาฟอกตัวด้วยการตลาดว่าเป็นคนปลดหนี้ให้ประเทศ

ปัญหาในปี 2540 เกิดจากการเปิดเสรีทางการเงิน โดยที่สถาบันการเงินต่างๆ ขาดธรรมาภิบาลที่ดีในการบริหาร จนกระทั่งเกิดหนี้เน่าจำนวนมาก กระทั่งค่าเงินบาทถูกโจมตี เงินหมดคลัง ประเทศแทบจะล้มละลายจากการล่มสลายทางเศรษฐกิจแต่มีคนหน้าเหลี่ยมรวยเละจากความหายนะของชาติ

ถามว่ามีความจำเป็นหรือไม่ที่ไทยจะต้องทำเช่นนั้น คำตอบคือ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน คือ ทยอยให้ธนาคารต่างประเทศเข้ามาลงทุนได้ตามกรอบเวลาอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องเร่งรัดเปิดเสรีภาคการเงินกับ TPP ก่อนประเทศอื่น ที่สำคัญคือก่อนที่จะทำกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยซ้ำ

บทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 น่าจะทำให้รัฐบาลได้ตระหนักและพึงระมัดระวังในการตัดสินใจที่จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เว้นแต่ว่ามีบางคนจ้องหากินกับความฉิบหายของชาติเหมือนที่เคยได้เป็นกอบเป็นกำเมื่อปี 2540

นอกจากนี้ยังมีมิติด้านความมั่นคงที่ต้องตระหนักให้มาก เพราะสหรัฐอเมริกามีนโยบายชัดเจนที่จะขยายอำนาจทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจมายังภูมิภาคนี้ เพื่อคานอำนาจกับประเทศจีน ที่สำคัญคือแม้แต่จีนเองก็ยังไม่ร่วมเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ TPP

การที่ประเทศไทยจะโดดเข้าไปเดี่ยวๆ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการวางสมดุลด้านการต่างประเทศระหว่างสองมหาอำนาจ ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลก็พอจะรู้คิดอยู่บ้างเพราะในขณะที่จะตามก้นมะกัน ก็ยังมีมติ ครม.เกี่ยวกับ RCEP ซึ่งจีนและชาติอาเซียนใช้เป็นเวทีผลักดันการค้าการลงทุนด้วย

ในภาวะที่ชาติไม่ปกติคนไทยต้องช่วยกันระแวดระวัง อย่าให้รัฐบาลเพื่อไทยใช้การเมืองมากลบเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่มีนักโทษอยู่เบื้องหลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น