xs
xsm
sm
md
lg

ของขวัญจากยิ่งลักษณ์แด่โอบามา ด้วยเลือดเนื้อและน้ำตาประชาชนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย จับมือกับบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 3 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย วันที่ 19 พฤศจิกายน 2554 (ภาพจาก Reuters)
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เพื่อแลกกับวีซ่าเข้าสหรัฐฯ ของ นช.ทักษิณ พี่ชายที่แสนดี ยิ่งลักษณ์จึงกระวีกระวาดสรรหาของขวัญล้ำค่ามอบแด่ประธานาธิบดีโอบามาในวาระโอกาสมาเยือนไทย 17 พ.ย.นี้ ทั้งปลุกผีคืนชีพเอฟทีเอไทย-อเมริกา แถมด้วยความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ที่เอาเลือดเนื้อและชีวิตคนไทยเซ่นสังเวยการเข้ามาผูกขาดสิทธิบัตรยาและสารเคมีเกษตรอันตราย รวมทั้งจับมือเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงที่ทำให้การขอใช้อู่ตะเภาเป็นแค่ตัวอย่างจิ๊บๆ

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เตรียมต้อนรับการมาเยือนไทยของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในวันอาทิตย์ที่ 18 พ.ย. 2555 นี้ ด้วยการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนบินลัดฟ้าสู่อังกฤษ

ในการประชุมคณะรัฐมนมตรี (ครม.) นัดพิเศษดังกล่าว ครม.ได้ให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญหลายเรื่อง แต่ที่กล่าวได้ว่าเป็นของขวัญล้ำค่าแด่โอบามาแล้ว เห็นจะเป็นเรื่องที่ ครม.ได้เห็นชอบร่างแถลงข่าวร่วมว่าด้วยการประกาศการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และการรื้อฟื้นการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐฯ (TIFA JC) โดยนายกรัฐมนตรีไทยและประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะมีถ้อยแถลงข่าวร่วม (Joint Press Statement) ในวันอาทิตย์ที่ 18 พ.ย.นี้

วาระนี้ถูกส่งให้หน่วยราชการอย่างเร่งด่วนเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 9 พ.ย. นั่นหมายความว่า ไม่มีการถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนล่วงหน้า ยิ่งไปกว่านั้น ในการประชุม ครม.แทบไม่มีการถกเถียงหรืออภิปรายกันเลย ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่มาก

*** ยุค “ทักษิณ” เร่งเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ เปิดประตูสู่นรก

ย้อนกลับไปสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การเร่งเจรจาเอฟทีเออย่างรวดเร็วทีเดียวหลายๆ ประเทศกลายเป็นเรื่องชินตา ขณะที่ผลของเอฟทีเอได้กระจุก ผลเสียกระจาย ตามบทวิเคราะห์ที่ทีม ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษาของรัฐบาลในขณะนั้นสรุปไว้

การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอระหว่างไทย-สหรัฐฯ ก็เป็นอีกหนึ่งเอฟทีเอที่เจรจาเร่งเวลาอย่างรุดหน้ามากไปถึงรอบที่ 6 โดยเจรจากันที่เชียงใหม่เมื่อต้นเดือน ม.ค. 2549 แต่ในการเจรจาครั้งนั้นต้องเผชิญหน้ากับการชุมนุมคัดค้านที่ถือได้ว่าเป็นการชุมนุมที่มีพลัง มีเนื้อหา และมีสีสันมากที่สุดครั้งหนึ่งของการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องวิถีชีวิต ปกป้องคนไทยให้สามารถเข้าถึงยาและบริการทางสาธารณสุข รวมถึงฐานทรัพยากร

แม้การเจรจาจะยุติลง แต่เนื้อหาการเจรจาที่หลุดรอดออกมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ http://www.bilaterals.org ยืนยันความวิตกกังวลที่เกือบจะเป็นการมองโลกในแง่ร้ายของผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์การเจรจาเอฟทีเอในขณะนั้น กลายเป็นการมองโลกในแง่จริง แต่ที่ยิ่งกว่าคือ ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นที่ยอมรับในบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่เกาะติดการทำเอฟทีเอของสหรัฐฯ ในระดับนานาชาติว่า เลวร้ายกว่าที่คิด (worse than feared)

***ตั้งเป้าผูกขาดสิทธิบัตรทุกรูปแบบ ธาตุแท้มหามิตรอเมริกา

ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ภายใต้ข้อตกลงเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ที่ได้รับการคัดค้านอย่างหนักหน่วง สรุปได้ดังนี้

1. กดดันให้ไทยให้สิทธิบัตรพืช และสัตว์ ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้ไทยเป็นสมาชิก UPOV 1991 ในบททั่วไป
นั่นคือไทยต้องยอมให้สิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตแก่สหรัฐฯ ขณะที่ระบบสิทธิบัตร คือระบบที่ได้ผลประโยชน์จากการต่อยอดความรู้เท่านั้น โดยต้องมีความใหม่ มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรมได้ ขณะที่ประเทศไทยในฐานะเจ้าของทรัพยากร และเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์จะไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากระบบนี้เลย แต่สหรัฐฯ สามารถเอาพืช สัตว์เหล่านี้ไปปรับปรุงพันธุกรรมแล้วผูกขาดความเจ้าของได้

2. กดดันให้ไทยให้สิทธิบัตรวิธีการวินิจฉัยโรค การรักษาผู้ป่วย และการผ่าตัด
สหรัฐฯ ถือว่าขั้นตอนการตรวจ รักษาโรคทุกขั้นตอนเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ผู้ป่วยต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการตรวจโรค วิธีการรักษา และวิธีการผ่าตัด นอกจากนี้วิธีการวินิจฉัยโรคต้องประกอบด้วยการใช้ยาหรือสารเคมีในการตรวจรักษา ถึงที่สุดทุกข์หนักก็จะตกแก่ผู้ป่วยเพราะต้องจ่ายซ้ำ จ่ายซ้อน ทั้งการใช้วิธีการวินิจฉัยโรคที่แพง ควบคู่ไปกับยาหรือสารเคมีที่แพงจากสิทธิบัตรทั้งคู่ ซึ่งข้อเรียกร้องนี้ของสหรัฐฯ ไม่พบในเอฟทีเอที่สหรัฐฯ ได้ทำกับประเทศต่างๆ ที่ผ่านมาเลย เรียกว่าพิเศษสุดๆสำหรับ “มหามิตร” อย่างไทย

3. ไม่ให้มีการคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรก่อนการออกสิทธิบัตร
โดยปกติคำขอรับสิทธิบัตรจะประกาศให้ผู้อื่นยื่นคัดค้านก่อนได้ถ้าเห็นว่าสิทธิบัตรนี้ไม่ถูกต้อง แต่ข้อเรียกร้องนี้คือการไม่ยอมให้มีการตรวจสอบจากสาธารณะก่อนการออกสิทธิบัตร เมื่อได้รับสิทธิบัตรก็ได้รับประโยชน์ผูกขาดตลาดอย่างสมบูรณ์แล้ว กว่ากระบวนการเพิกถอนหรือคัดค้านหลังการออกสิทธิบัตรจะทำได้ต้องใช้เวลาในชั้นศาลเป็นปีๆ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มค่าการจัดการและภาระทางศาลทรัพย์สินทางปัญญา

4. จำกัดการบังคับใช้สิทธิ ทำให้การบังคับใช้สิทธิเป็นไปอย่างลำบาก หรือไม่สามารถใช้ได้
การบังคับใช้สิทธิ คือในวิกฤตการณ์ทางสาธารณสุข ยาราคาแพง ยาขาดตลาด เกิดความเดือดร้อนในการเข้าถึงยา รัฐ/เอกชนสามารถบังคับใช้สิทธิผลิตยาที่ติดสิทธิบัตรได้เลยโดยไม่ต้องรอเจ้าของอนุญาต แล้วค่อยจ่ายค่าตอบแทนให้เจ้าของอย่างเหมาะสม แต่สหรัฐฯ เรียกร้องให้การบังคับใช้สิทธิดังกล่าวทำได้เฉพาะในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น และต้องจ่ายค่าตอบแทนสูง ทำให้ในที่สุดการบังคับใช้สิทธิไม่สามารถแก้ปัญหายาราคาแพง หรือยาขาดตลาดได้จริง

5. ขยายอายุสิทธิบัตร ทำให้ขยายเวลาผูกขาดออกไปมากขึ้น

5.1 การจดสิทธิบัตรมีความล่าช้าจากกระบวนการจดสิทธิบัตรที่ต้องใช้เวลา 4 ปีนับจากวันยื่นคำขอ หรือ 2 ปีนับจากวันยื่นให้พิจารณาคำขอ

แทนที่จะทำข้อตกลงร่วมมือพัฒนาระบบการจดสิทธิบัตรให้มีคุณภาพ แต่สหรัฐฯ กลับมาเร่งรัดเวลาการออกสิทธิบัตรให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น คือจะพิจารณาช้าไม่ได้อีกต่อไป ไม่เช่นนั้นต้องชดเชยอายุสิทธิบัตรช้าเกินกำหนดไปเท่าไหร่ก็ต้องชดเชยไปเท่านั้น เท่ากับเป็นการบังคับให้เร่งออกสิทธิให้อย่างรวดเร็ว

ผลก็คือ การพิจารณาสิทธิบัตรอาจขาดความรอบคอบมากขึ้น ทั้งๆ ที่พบว่าการให้สิทธิบัตรในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาส่วนใหญ่ไม่มีคุณภาพ มีคำขอมากมายที่ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร ก่อให้เกิดปัญหา “สิทธิบัตรที่ไม่มีวันตาย” (evergreening patent) คือการทำอย่างไรก็ได้ให้สิทธิบัตรไม่มีวันหมดอายุ เพราะยิ่งได้รับการคุ้มครองจากสิทธิบัตรยาวนานแค่ไหน ยาก็จะสามารถขายได้แพงนานขึ้นและจะไม่มีคู่แข่งในตลาดเลย

ยกตัวอย่างกรณีที่บริษัทยานำยาเก่า 2 ชนิดที่กำลังจะหมดอายุสิทธิบัตรมารวมกัน โดยอ้างว่าตัวเชื่อมยาสองชนิดนี้เป็นนวัตกรรมใหม่ แล้วขอจดสิทธิบัตรใหม่ ทำให้การผูกขาดยานี้ยืดอายุออกไปได้อีก เป็นต้น

5.2 ถ้าการออกสิทธิบัตรขึ้นอยู่กับการให้สิทธิบัตรในประเทศอื่น ต้องชดเชยอายุสิทธิบัตรให้ตามการชดเชยอายุสิทธิบัตรในประเทศนั้นด้วย

5.3 ขยายอายุสิทธิบัตรเพื่อชดเชยจากความล่าช้าการขึ้นทะเบียนตำรับยาทั้งในประเทศไทย และระยะเวลาการขึ้นทะเบียนตำรับยาในต่างประเทศ

ทั้งๆ ที่กระบวนการจดสิทธิบัตรและการขึ้นทะเบียนตำรับยาไม่เกี่ยวข้องกันเลย และมาตรการการขึ้นทะเบียนตำรับยาเพื่อกลั่นกรองให้เฉพาะยาที่มีประสิทธิผลและความปลอดภัยออกสู่ตลาด การเร่งรัดนี้อาจส่งผลให้คุณภาพการกลั่นกรองลดลง ความเสี่ยงต่ออันตรายของผู้ใช้ยาเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนั้น ยังต้องชดเชยอายุสิทธิบัตรตามเวลาการขึ้นทะเบียนตำรับยาในต่างประเทศด้วย เช่น ยาสหรัฐฯ ที่มาขอขึ้นทะเบียนตำรับยาในไทย ต้องแสดงเอกสารรับรองการขายในสหรัฐฯ (Certificate of Free Sale) ถ้าการขึ้นทะเบียนตำรับยาในสหรัฐฯ ใช้เวลา 5 ปี และเมื่อกระบวนการขึ้นทะเบียนตำรับยาในไทยล่าช้าอีก 5 ปี ประเทศไทยต้องชดเชยอายุสิทธิบัตรของยาสหรัฐฯ อีก 10 ปี เป็นต้น

6. ต้องให้โอกาสผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร แก้ไขคำขอได้อย่างน้อย 1 ครั้ง
นั่นคือเปิดโอกาสให้มีการจองการจดสิทธิบัตรในสิ่งที่ยังไม่ค้นพบ และทำให้การคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตรเป็นไปไม่ได้ เพราะสามารถแก้ไขคำขอในสาระสำคัญได้ และการแก้ไขคำขอได้อย่างน้อย 1 ครั้ง หมายความว่าจะแก้กี่ครั้งก็ได้

7. ลดคุณภาพของข้ออ้างสิทธิในสิทธิบัตรโดยไม่จำเป็นต้องมีการทดลองได้ และไม่จำเป็นต้องประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม เพียงแสดงว่ามีความจำเพาะ มีแก่นสาร และน่าเชื่อถือว่าใช้ประโยชน์ได้ก็พอ

ขอเรียกร้องนี้ทำให้เกิด “สิทธิบัตรที่ไม่มีวันตาย” เพราะสามารถกล่าวอ้างในข้ออ้างสิทธิที่ไม่ต้องทำการทดลอง เปิดโอกาสให้มีสิทธิบัตรต่อเนื่องเพียงการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ซึ่งอาจเกิดโดยธรรมชาติ เช่น ผลึกของสารก็สามารถนำไปจดสิทธิบัตรได้
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย พบปะกับนายจอร์จ บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ
*** “ของแถม” ที่ยัดเยียดให้ เลวร้ายกว่าที่คาด อุบาทว์กว่าที่คิด

นอกจากนี้ ภายใต้ข้อเรียกร้องในบทสิทธิบัตร ยังมีส่วนเพิ่มเติมที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรแทรกมาเป็น “ของแถม” ที่ผู้รับไม่อยากได้ คือ ส่วนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ถูกควบคุม นั่นคือ ยาและสารเคมีการเกษตร ที่จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดตลาดจากการผูกขาดข้อมูล

“ของแถม” ที่สหรัฐฯ ยัดเยียดให้ไทย สรุปได้ดังนี้

1. ผูกขาดข้อมูลยาใหม่และสารเคมีการเกษตรใหม่ 5 และ 10 ปี ตามลำดับ ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะใช้ในการขึ้นทะเบียนตำรับในไทยหรือต่างประเทศ

ผลของข้อนี้คือ นับจากวันที่บริษัทยาได้ทะเบียนตำรับยาในไทย บริษัทยาสามารถผูกขาดตลาดยาใหม่อย่างสมบูรณ์ได้อย่างน้อย 5 ปี โดยปิดประตูตายสำหรับคู่แข่งรายอื่นๆ หลังจากสิ้น 5 ปีไปแล้วไทยจึงสามารถให้จดทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญได้ ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะนำเสนอในไทย หรือเป็นข้อมูลที่ได้นำเสนอแล้วในต่างประเทศก็ตาม

2. ผูกขาดข้อมูลคลินิกใหม่ของตัวยาเก่า 3 ปี ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะใช้ในการขึ้นทะเบียนตำรับในไทยหรือใช้ในต่างประเทศมาแล้ว

กรณีที่หนึ่ง ถ้ามีการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีตัวยาเก่าที่ต้องนำเสนอข้อมูลคลินิกใหม่ ก็ได้ผูกขาดข้อมูล 3 ปี โดยที่คู่แข่งไม่มีสิทธิสอดแทรกตลาดเพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนยา ในกรณีที่สอง ถ้ามีการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีตัวยาเก่า ที่ต้องนำเสนอข้อมูลคลินิกใหม่ที่ใช้ในการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ ก็ยังได้รับสิทธิผูกขาดข้อมูล 3 ปี เช่นกัน

ตัวอย่างข้อมูลคลินิกใหม่ เช่น ยาเก่าเป็นยาแก้โรคกระเพาะ ต่อมามีการค้นพบใหม่ว่า เป็นยาต้านไวรัสได้ด้วย ถือว่าเป็นข้อมูลคลินิกใหม่ที่บริษัทยาสามารถผูดขาดข้อมูลได้ 3 ปี เป็นต้น

ผลของข้อนี้คือ การผูกขาดตลาดตัวยาเก่าที่มีข้อมูลคลินิกใหม่ ต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปีนับจากวันที่ได้ทะเบียนตำรับยาในไทย ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะนำเสนอในไทย หรือเป็นข้อมูลที่ได้นำเสนอในต่างประเทศมาแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ความน่าวิตกของ “ของแถม” ที่ว่านี้ นอกจากจะเพิ่มการผูกขาดตลาดยาในรูปแบบใหม่ซึ่งทำให้ยาแพงแล้ว เมื่อเกิดวิกฤตสาธารณสุข หรือเกิดภาวะขาดแคลนยา ซึ่งควรต้องนำมาตรการบังคับใช้สิทธิมาแก้ปัญหา จะไม่สามารถทำได้ เพราะยาสามัญที่จะผลิตขึ้น หรือนำเข้ามานั้น จะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนยา ถ้าไม่ได้ขึ้นทะเบียนยา ก็ใช้รักษาโรคในประเทศไทยไม่ได้

และที่สำคัญ ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอาญา จึงยิ่งจะไปลดความหาญกล้าของข้าราชการหรือผู้เกี่ยวข้องที่จะตัดสินใจแก้ปัญหาสาธารณสุขของชาติ

3. ผูกขาดข้อมูลการใช้ใหม่ของสารเคมีการเกษตรตัวเก่า 10 ปี ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะใช้ในการขึ้นทะเบียนในไทยหรือต่างประเทศ

ผลของข้อนี้คือ การผูกขาดตลาดสารเคมีทางการเกษตรตัวเก่าที่มีการใช้ใหม่อย่างน้อย 10 ปี นับจากวันที่ได้ทะเบียนในไทย ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะนำเสนอในไทย หรือเป็นข้อมูลที่ได้นำเสนอในต่างประเทศก็ตาม

4. ถ้ายาหรือสารเคมีการเกษตรข้างต้นมีสิทธิบัตรและหมดอายุก่อนการผูกขาดข้อมูล ก็ไม่มีผลให้การผูกขาดตลาดจากการผูกขาดข้อมูลหมดไป

ผลของข้อนี้คือ ต้องการผูกขาดตลาดทั้งจากระบบสิทธิบัตร และมาตรการผูกขาดข้อมูลยา แล้วแต่ว่าระยะเวลาใดหมดทีหลังนั่นเอง หมายความว่าต้องการลากให้ยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้

5. ต้องมีมาตรการป้องกันมิให้การขึ้นทะเบียนตำรับยามีการละเมิดสิทธิบัตร และต้องแจ้งให้เจ้าของสิทธิบัตรทราบถึงการขึ้นทะเบียนตำรับยานั้น

ผลของข้อนี้ทำให้หน่วยงานรัฐฯ คือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องทำหน้าที่เป็นตำรวจสิทธิบัตร ดูแลผลประโยชน์ของบริษัทยา มากกว่าความปลอดภัยของคนไทย และจะยิ่งส่งผลให้การอนุมัติทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญล่าช้า จากการต้องเสียเวลาในการค้นหาข้อมูลสถานะสิทธิบัตรที่หน่วยงานนี้ไม่มีความถนัดเลย และถ้าเกิดความผิดพลาด อย.ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐฯ อาจตกเป็นจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บรรษัทยา

ข้อดีเพียงประการเดียวของ ‘เนื้อหาที่เลวร้ายกว่าที่คิด’ ครั้งนั้น คือการสร้างความตื่นตัวในหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ให้สนับสนุนการศึกษาผลกระทบในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่นที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สนับสนุนทุนทีมวิชาการให้ทำการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดกับการเข้าถึงยาและอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยจากข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ

พบว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการขยายการผูกขาดตลาดยาที่นานเกินอายุสิทธิบัตร กับการผูกขาดข้อมูลยาผลกระทบจะแตกต่างในอนาคตที่ยาวนานขึ้น โดยในห้าปีข้างหน้า (พ.ศ. 2556 คือ 5 ปีจากปีที่ทำการศึกษา) ผลจากการผูกขาดข้อมูล 5 ปี เพียงข้อเรียกร้องเดียวจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยสูงขึ้นอีก 81,356 ล้านบาท เมื่อรวมกับผลจากการขยายอายุสิทธิบัตรไป 5 ปีอีกอย่างน้อย 27,883 ล้านบาท

นั่นหมายว่า เมื่อรวมผลจากข้อเรียกร้องทั้งหมด ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละแสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบการสาธารณสุขของไทยโดยตรง
พธม.ในสหรัฐฯ ทำหนังสือประท้วงโอบามาออกวีซ่าให้ทักษิณ เมื่อครั้งทักษิณเดินทางเยือนสหรัฐฯ เดือนสิงหาคม 2555 (ภาพจากเว็บไซต์ mthai.com)
***โอบามามาเหนือเมฆ ต้อนไทยเข้าร่วมหุ้นส่วนวงใหญ่ กดดันต่อด้วยทวิภาคี

แม้ว่าในรัฐบาลต่อมาทั้งรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะมีความพยายามสานต่อการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐฯ มาโดยตลอด แต่สหรัฐฯ โดยการนำของนายบารัค โอบามา ทำเหมือนไม่ได้ให้ความสนใจกับการเจรจาระดับทวิภาคีอีกแล้ว โดยมุ่งไปยังเป้าหมายใหญ่ คือการเจรจาพวงใหญ่ที่เรียกว่า ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ที่เริ่มตั้งวงเจรจามาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงขณะนี้สามารถรวมได้ถึง 11 ชาติรอบมหาสมุทรแปซิฟิก

ขณะเดียวกัน ก็มีการรื้อฟื้นการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐฯ (TIFA JC) หรือพูดง่ายๆ ก็คือกรอบการเจรจาทวิภาคี หรือเอฟทีเอไทย-อเมริกาเดิม แต่แปลงร่างภายใต้ชื่อใหม่นั่นเอง และเป็นหนึ่งในเรื่องที่ผู้นำสองชาติจะแถลงร่วมกันในวันอาทิตย์นี้

เมื่อแรกที่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเข้ามาทำหน้าที่ ก็มีความพยายามผลักดันให้รื้อฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐฯ อยู่หลายครั้ง แต่ก็ถูกปฏิเสธมาโดยตลอด โดยเสนอให้เข้าร่วม TPP แทน อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นที่แตกต่างในฝ่ายนโยบายด้านเศรษฐกิจอยู่มาก โดยเฉพาะนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง ที่มองว่าเรื่องนี้เป็นเกมการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐฯ มากกว่าจะเป็นเรื่องการค้า

ข้อสังเกตนี้ได้รับการยืนยันในช่วงดีเบตเพื่อเลือกประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ก็ยอมรับว่าจะใช้ TPP เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อกดดันจีนให้โอนอ่อนตามสหรัฐฯ (creating trade bloc with other Asian countries to put pressure on China to play by our rules)

ในส่วนของเนื้อหานั้น ช่วงต้นปีที่ผ่านมากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดสัมมนาเพื่อนำเสนอผลการวิจัยจากบริษัทไบรอัน เคฟ ที่กรมฯ ไปจัดจ้างศึกษา และฟังความเห็นและความคาดหวังของภาคธุรกิจที่มีต่อ TPP โดยระบุว่า กลุ่มสินค้าเกษตร และอาหารจะได้รับประโยชน์ในการส่งออกเพิ่มขึ้น ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทั้งข้าว กุ้ง ไก่ เกษตรอินทรีย์ อาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารพร้อมรับประทาน ยางพาราและพืชพลังงาน รวมถึงสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ ที่จะได้ประโยชน์ในด้านวัตถุดิบและตลาดส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น

ส่วนธุรกิจบริการที่จะขยายตัวมาก เช่น การท่องเที่ยวและบริการด้านสุขภาพ หาก TPP ขยายวงการเปิดเสรีจะทำให้เป็นเขตการค้าเสรีที่ผูกพันในเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งมีประชากรรวมถึง 2,750 ล้านคน มีจีดีพีรวมกัน 32 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีปริมาณการค้าเกินกว่า 1 ใน 3 ของโลก

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่สุดของการเข้าร่วม TPP ก็คือ การลดความเสี่ยงจากการที่ไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในอนาคต สำหรับสินค้าบางรายการที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP หรืออาจถูกตัดสิทธิในระยะต่อไป เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องหนัง ลิ้นจี่ ลำไยกระป๋อง เครื่องประดับทอง กุ้งแปรรูป เป็นต้น รวมทั้งยังมีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้นในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น ซึ่งทั้งภาคธุรกิจและกรมเจรจาฯ ยังมีความหวังว่า หากยอม “แลก” บางเรื่องก็จะได้สิทธิ GSP นั้นกลับมา

***พาณิชย์ตั้งธงแก้ ม.190 เปิดทางสะดวก ปิดห้องคุยลับ

ไม่เพียงเท่านั้น ในวงเสวนาของกระทรวงพาณิชย์ครั้งหนึ่งเมื่อต้นเดือน ก.พ. นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ถึงขั้นรับปากภาคธุรกิจจะแก้มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เปิดทางสะดวก โดยระบุว่ารัฐบาลมีแนวคิดจะแก้ไขอยู่แล้ว เพราะทำให้การเจรจาความตกลงกับต่างประเทศติดขัด และล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ มาก

ในประเด็นนี้ ทั้งรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดที่ผ่านมา และการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพจากการเจรจาการค้าชี้ชัดตรงกันว่า ข้อกำหนดมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำให้กระบวนการเจรจาล่าช้าหรือยุ่งยากซับซ้อน และจะยิ่งง่ายต่อการปฏิบัติมากขึ้น เมื่อมีกฎหมายลูกตามรัฐธรรมนูญ ที่จนถึงขณะนี้ยังเป็นวุ้นอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศ

ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าสาระสำคัญของมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญที่ให้มีการศึกษาวิจัย รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน เปิดโอกาสให้รัฐสภาซึ่งอย่างน้อยก็เป็นตัวแทนประชาชนได้ร่วมตัดสินใจ แทนที่จะไป ‘แลก’ กันในห้องปิดลับจน ‘ผลได้กระจุก ผลเสียกระจาย’ เป็นตัวขัดขวางผลประโยชน์ จึงต้องขจัดทิ้งเสีย

***TPP หุ้นส่วนยุทธศาสตร์แปซิฟิก เหล้าเก่าในขวดใหม่

กลับมาดูที่เนื้อหา TPP กันบ้าง เนื้อหาสาระส่วนใหญ่ที่เคยอยู่ในเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ ยังคงอยู่อย่างครบถ้วน แถมด้วยการจัดหนักอีกหลายประเด็น ให้สมกับที่ Ms.Judy Benn ผู้อำนวยการบริหารหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย เคยกล่าวว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศด้านการค้า การลงทุนมากที่สุดประเทศหนึ่ง ดังนั้นข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ จึงต้องการได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องการให้ความตกลง TPP เป็นมาตรฐานสูงสุดของโลกในทุกด้าน ในการเข้าร่วม TPP ของไทย ทางสหรัฐฯพยายามผลักดันให้ประเทศไทยแก้ไขเพื่อยกระดับมาตรฐานเรื่องพิธีการศุลกากร และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับที่สูงขึ้น โดยอ้างว่าเพราะทั้งสองเรื่องของไทยค่อนข้างมีปัญหามาก

จากการศึกษาของบริษัท ไบรอัน เครฟ ภาพรวมการเจรจาการค้าสินค้า ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯได้แบ่งการลดภาษีสินค้าออกเป็น 4 ตะกร้า ประกอบด้วย สินค้าที่ลดภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ทันทีสัดส่วน 99% สัดส่วนที่เหลือให้ลดภาษีนำเข้าใน 5 ปี 10 ปี และยกเว้นการลดภาษี ขณะที่ท่าทีของสมาชิก TPP ออสเตรเลียต้องการให้สหรัฐฯ เปิดตลาดน้ำตาล นิวซีแลนด์ต้องการให้สหรัฐฯ เปิดตลาดนม และผลิตภัณฑ์ มาเลเซียและบรูไนอ่อนไหวต่อการเปิดตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา สหรัฐฯ เรียกร้องให้ขยายอายุสิทธิบัตร จาก 20 ปีออกไปอีกไม่เกิน 5 ปีเพื่อชดเชยความล่าช้าที่ไม่มีเหตุผลอันควรของกระบวนการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตร และให้ขยายอายุสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับการผลิตหรือการใช้ยาแบบใหม่เพียงเล็กน้อย การผูกขาดข้อมูลยา 5 ปีสำหรับยาใหม่ และ 3 ปีสำหรับยาที่ได้รับสิทธิบัตรมาแล้ว

ในเรื่องนี้ท่าทีสมาชิก TPP มองว่า ในเรื่องการขยายอายุสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับการผลิตหรือการใช้ยาแบบใหม่ เช่น เปลี่ยนแปลงสูตรยาเม็ดเป็นยาน้ำจะทำให้ผูกขาดยาต่อไปเรื่อยๆ ส่วนการผูกขาดข้อมูลยาและการเชื่อมโยงสถานะสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนจะทำให้การบังคับใช้สิทธิในการผลิตยา (ซีแอล) ทำได้ยากขึ้น

การค้าบริการและการลงทุนสหรัฐฯ เรียกร้องให้ใช้แนวทาง Nagative List (อะไรที่เปิดเสรีไม่ได้ให้แจ้ง ถ้าไม่แจ้งต้องเปิดเสรีทั้งหมด) ให้เปิดให้ชาวต่างชาติถือหุ้นได้ 100% การโอนเงินทำได้โดยเสรีและไม่มีอุปสรรค ต้องการให้มีบทบัญญัติเรื่องอนุญาโตตุลาการ เป็นต้น

ขณะที่ท่าทีสมาชิกทั้งมาเลเซีย เวียดนาม และบรูไน ระบุไม่เคยมีการเปิดเสรีภายใต้แนวทาง Nagative List และยังมีการจำกัดการถือหุ้นของต่างชาติไว้ค่อนข้างมาก ส่วนออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ไม่ต้องการให้มีบทบัญญัติเรื่องอนุญาโตตุลาการ

***เอฟทีเอวอตช์ จวกรัฐบาลงุบงิบทำข้อตกลงไม่โปร่งใส

ทางด้านนายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือเอฟทีเอวอตช์ ชี้ว่า สิ่งที่กรมเจรจาฯ ไม่เคยชี้แจงต่อสาธารณะอย่างครบถ้วนและไม่ทราบว่าคณะรัฐมนตรีมีความเข้าใจประเด็นนี้มากน้อยเพียงใด คือการที่ประเทศใดเข้าไปเจรจาทีหลังจะถูกบังคับให้ยอมรับความตกลงที่มากกว่าประเทศสมาชิกเดิม 11 ประเทศ

ซึ่งขณะนี้ญี่ปุ่นกำลังเผชิญภาวะความกระอักกระอ่วนนี้อยู่ เพราะต้องไปหารือ (approach) รายประเทศเพื่อให้สมาชิกเก่ายอมรับ บางครั้งต้องแลกกับข้อเรียกร้องพิเศษที่เพิ่มมากขึ้นกว่าการเจรจาที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ อะไรที่เจรจาไปแล้ว ก็ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขหรือปรับปรุงให้เป็นประโยชน์แก่ไทยได้เลย

“แม้ถ้อยแถลงร่วมจะมีผลผูกพันต่อประเทศตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ตาม แต่การไม่จัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในเรื่องสำคัญดังกล่าว และการไม่คำนึงถึงข้อห่วงใยในผลกระทบต่างๆ ย่อมเป็นการไม่ให้เกียรติประชาชนไทยและประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงอยากให้รัฐบาลทบทวน และดำเนินการเรื่องนี้อย่างเปิดเผยโปร่งใส จัดรับฟังความคิดเห็นอย่างครบถ้วนไม่ใช่แค่ฟังนักธุรกิจเท่านั้น พร้อมทั้งอธิบายจุดยืนและท่าทีของรัฐบาลอย่างชัดเจน” ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือเอฟทีเอวอตช์ กล่าวย้ำ

(อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง …. มติ ครม.หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ-พันธมิตรด้านความมั่นคงไทย-สหรัฐฯ)
กำลังโหลดความคิดเห็น