xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ยิ่งลักษณ์” กระสันโกอินเตอร์ แบะท่าอ้าให้สหรัฐฯหมดพุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความกระสันอยากของสองพี่น้องชินวัตรที่กำลังเร่งสร้างภาพเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสากล คนหนึ่งอยากโกอินเตอร์เพื่อล้างภาพนายกฯนกแก้วโชว์โง่เป็นประจำ ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นนักโทษหนีคดีอาญาที่อยากได้วีซ่าเข้าสหรัฐฯ ซึ่งสมใจแล้วนั้น ถึงกับต้องยินยอมทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองทุกความต้องการของอเมริกาโดยไม่ฟังเสียงใครและไม่สนว่าหลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้นตามมา

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกลากเข้าสู่เกมการเมืองระหว่างมหาอำนาจสหรัฐฯ-จีน โดยไม่หวั่นว่าจีนจะเคืองที่ไทยแสดงตัวไปยืนข้างอเมริกาอย่างเต็มที่ รวมทั้งการรื้อฟื้นคืนชีพเอฟทีเอในชื่อใหม่ บวกกับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ที่อเมริกาจะใช้เป็นช่องทางกอบโกยผลประโยชน์บนความเป็นความตายของประชาชนคนไทยผ่านระบบสิทธิบัตร

ทั้งนี้ การจัดเต็มเพื่อต้อนรับนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มาเยือนไทยในวันอาทิตย์ที่ 18 พ.ย. 2555 ครม.ยิ่งลักษณ์ ได้จัดประชุมนัดพิเศษ เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้ความเห็นชอบในทุกเรื่องที่อเมริกาอยากได้มานานขณะที่ก่อนหน้านี้ฝ่ายไทยอิดเอื้อนรีรอไว้ก่อน เพราะแต่ละเรื่องล้วนมีความสำคัญและมีผลกระทบต่อไทยใหญ่หลวง โดยมติครม.ให้ความเห็นชอบด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ มีดังนี้

หนึ่ง เห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอให้ กห.จัดทำ แถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ ไทย-สหรัฐอเมริกา 2012 (2012 Joint Vision Statement for the Thai-U.S.Defense Alliance) โดยให้รมว.กห.เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยในร่างแถลงการณ์ และหากมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของร่างแถลงการณ์โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญ ให้ กห. ดำเนินการได้ตามความเหมาะสม

จุดประสงค์สำคัญแถลงการณ์ร่วมฯ ครั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนถึงการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเป็นความร่วมมือทางทหารจะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ความเป็นหุ้นส่วนในการสร้างความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การสนับสนุนความมีเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การพัฒนาความพร้อมและขีดความสามารถในการปฏิบัติการร่วมทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี และการพัฒนาความสัมพันธ์ การประสานงาน และการสร้างความร่วมมือในทุกระดับ

“ทั้งสองประเทศได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศในศตวรรษที่ 21 และรับรู้ว่าความสัมพันธ์ทางทหารจะส่งเสริมเกื้อกูลความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ทางการทูต เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน รัฐบาลและประชาชนของทั้งสองประเทศยืนยันที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญเหล่านี้ให้แข็งแกร่ง เพื่อที่จะบรรลุถึงสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไปของทั้งสองประเทศ และภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก”

สอง ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอให้ไทยเข้าร่วม ความริเริ่มด้านความมั่นคงเกี่ยวกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Proliferation Security Initiative - PSI) ในระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศมีหนังสือทางการทูตแจ้งรับรองการเข้าร่วม PSI ไปยังสหรัฐอเมริกาและสมาชิก PSI โดยระบุให้ชัดเจนถึงข้อจำกัดของกฎหมายภายในของไทย และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณานำหลักการของ PSI ไปปฏิบัติต่อไป

สาระสำคัญของ PSI เน้นมาตรการปฏิบัติและความร่วมมือระหว่างประเทศในการสกัดกั้นและยับยั้งการส่งผ่าน ถ่ายลำ และขนส่ง WMD ระบบเครื่องส่งและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ได้สองทาง ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการหยุดยั้งการเคลื่อนย้าย ขนส่ง และการตรวจค้น จับกุมหรือยึดสินค้าต้องสงสัย รวมทั้งห้ามคนชาติของตนกระทำหรือให้ความร่วมมือในการขนส่งหรือเคลื่อนย้ายสินค้าดังกล่าว

PSI เป็นความร่วมมือและความรับผิดชอบโดยสมัครใจของประเทศต่าง ๆ ในลักษณะการเป็นหุ้นส่วนในการป้องกันการแพร่ขยาย WMD ไปสู่ประเทศที่ไม่พึงประสงค์และกลุ่มผู้ก่อการร้าย ซึ่งถือเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงของประชาคมระหว่างประเทศ โดยมีแถลงการณ์ว่าด้วยการสกัดกั้น เป็นเอกสารกำหนดมาตรการที่ประเทศที่เข้าร่วม PSI จะต้องปฏิบัติตาม โดยสอดคล้องกับกฎหมายภายในของตนและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

ส่วนด้านเศรษฐกิจ มติครม.เห็นชอบเรื่องขอความเห็นชอบร่างแถลงข่าวร่วมว่าด้วยการประกาศการเข้าร่วมเจรจา ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และการรื้อฟื้น การประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐฯ (TIFA JC) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอประเด็นที่จะนำไปใส่ไว้ในถ้อยแถลงข่าวร่วม (Joint Press Statement) ระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยและประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ดังต่อไปนี้

เห็นชอบหลักการร่างแถลงข่าวร่วมในเรื่องการประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมเจรจาความตกลง TPP ในโอกาสการเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเห็นชอบหลักการร่างแถลงข่าวร่วมในประเด็นการรื้อฟื้นการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐฯ (TIFA JC) ในโอกาสการเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างแถลงข่าวร่วมฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

เห็นชัดได้ว่า เพียงแค่อยากให้โอบามามาเยือนเพื่อสร้างความชอบให้กับรัฐบาล เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากอเมริกาและจากสากล สร้างภาพโกอินเตอร์ ยิ่งลักษณ์ถึงกับประเคนทุกอย่างที่อเมริกาอยากได้ ทั้ง FTA ที่ล้มไปแล้วก็เอากลับมาคุยกันใหม่ภายใต้ชื่อ TIFA JC ทั้ง TPP บล็อกเศรษฐกิจใหม่ที่สหรัฐฯ ปลุกปั้นขึ้น ครม.ยิ่งลักษณ์ก็ไปรับเอาทั้งที่ไม่จำเป็นและไม่มีการฟังเสียงประชาชน รวมทั้งพันธมิตรป้องกันประเทศ 2012 และ PSI ที่มีเปิดอ้าเรื่องความมั่นคงและการทหาร

แล้วอะไรจะเกิดขึ้นตามมาจากการมอบของขวัญอันล้ำค่าแด่โอบามาของยิ่งลักษณ์
\
ประเด็นเรื่องความมั่นคง สาระสำคัญความร่วมมือทางทหารไทย-สหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เป็นสารที่อเมริกาส่งโดยตรงถึงจีนเพื่อให้รู้ว่าไทยกับอเมริกานั้นแน่นแฟ้นขนาดไหน และพร้อมร่วมมืออำนวยความสะดวกทุกเรื่องที่พันธมิตรต้องการ

การประกาศครั้งนี้เป็นการตอกย้ำสถานะพิเศษของไทยกับอเมริกาในการเป็นพันธมิตรนอกนาโตที่สำคัญและมีความต่อเนื่องมากกว่าประเทศอื่น สถานะพิเศษนี้ได้มาในสมัยรัฐบาลทักษิณ ทำให้ทหารไทยได้รับสิทธิพิเศษเหนือประเทศอื่นๆ เช่น การซื้อยุทโธปกรณ์บางรายการ ที่ประเทศมิใช่พันธมิตรอเมริกาไม่สามารถซื้อได้ รวมถึงการฝึกอบรมที่มีร่วมกันไม่เคยขาด และทุกครั้งที่อเมริกาจะรบกับใครก็ขอให้ไทยช่วย เช่น สงครามอ่าวเปอร์เซีย ที่อเมริกาใช้อู่ตะเภาแวะจอดเติมน้ำมันอากาศยาน เป็นต้น

การขอใช้อู่ตะเภาของอเมริกาเพื่อเป็นศูนย์รับมือภัยพิบัติทุกรูปแบบก็อยู่ภายใต้ความร่วมมือนี้ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วอเมริกาใช้อู่ตะเภาเป็นฐานปฏิบัติการทั้งทางทหารและพลเรือนมาตั้งแต่อดีตยุคสงครามเวียดนาม มาจนถึงสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เมื่ออเมริกาทำสงครามก่อการร้าย มีรายงานของซีไอเอว่า ก่อนการส่งผู้ก่อการร้ายข้ามชาติไปกวนตานาโม จะมีการขอใช้สถานที่อู่ตะเภากักขังก่อนส่งไป เช่น กรณีที่จับสมาชิกเจไอจากอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ความลับและฝ่ายทหารก็ไม่ได้ปฏิเสธ

การประกาศความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทย-สหรัฐฯ ครั้งนี้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใหญ่ของอเมริกา ที่มีการประกาศช่วงปลายสมัยประธานาธิบดีโอบามาว่า จะย้ายกำลังทหารประมาณ 60% มาอยู่ที่แปซิฟิก เพราะย่านนี้มีความเจริญเติบโตสูง ทรัพยากรของโลกในศตวรรษนี้อยู่ที่เอเชีย ไม่มีเหตุผลที่อเมริกาซึ่งเคยมีอิทธิพลแถบนี้จะละเลย การกลับมาแสดงความเป็นพี่เบิ้มในย่านนี้ของสหรัฐ ก็ต้องหวนกลับมาหาพันธมิตรทางทหารที่เคยใช้อยู่ 3 จุดใหญ่ที่มีฐานทัพอยู่ก่อนหน้า คือ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย

การกลับคืนสู่เอเชียของสหรัฐฯ รอบนี้ เป็นช่วงจังหวะเดียวกันกับที่จีนกำลังแผ่อิทธิพลในทะเลจีนใต้อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสิบปีหลังที่สหรัฐฯ ละทิ้งเอเชียหันไปทุ่มเทกับการต่อสู้กับสงครามก่อการร้าย มหาอำนาจจีนซึ่งครองความยิ่งใหญ่แต่เพียงผู้เดียวได้สร้างความขัดแย้งกับฟิลิปปินส์ เวียดนาม อาเซียนจึงชักชวนให้อเมริกากลับมาเพราะเพื่อคานอำนาจกับจีน

สุรชัย ศิริไกร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งคำถามและเตือนว่าไทยได้ประโยชน์จริงหรือไม่กับเรื่องนี้ เพราะอย่าลืมว่าสหรัฐฯ มีความพยายามปิดล้อมจีน และดึงไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะมิตรประเทศ แต่ที่สำคัญไทยต้องระวังถูกหลอกใช้เหมือนสมัยที่สหรัฐฯ รบกับเวียดนามโดยให้เหตุผลว่าต่อต้านคอมมิวนิสต์ หลังสหรัฐฯ แพ้ก็กลับบ้านไปปล่อยให้ไทยเผชิญหน้ากับเวียดนาม ดังนั้นต้องรอบคอบและอย่าลืมว่าสหรัฐฯ มีความเข็มแข้งด้านการทหาร จำเป็นที่ไทยต้องถ่วงดุลให้ดีระหว่างไทย-สหรัฐฯ และไทย-จีน ให้ดี

การถ่วงดุลความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ เป็นประเด็นอ่อนไหวที่นายกฯ นกแก้ว อาจไม่ได้คำนึงถึง เพราะขณะที่ยิ่งลักษณ์ให้ของขวัญแด่โอบามาอย่างถึงอกถึงใจ แต่สำหรับกับผู้นำจีน เวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรี ที่จะมาเยือนไทยในวันที่ 20 - 21 พ.ย. คล้อยหลังจากโอบามากลับไปเพียง 2 วัน ยังไม่มีอะไรมากไปกว่าการมาเปิดศูนย์วัฒนธรรมจีนในไทย ภาพที่ออกมาจึงถือว่าจีนได้น้อยไม่สมดุลเมื่อเทียบกับสิ่งที่ไทยให้สหรัฐอเมริกา

งานนี้ ยิ่งลักษณ์ อาจจะโกอินเตอร์สมใจ แต่ในระดับระหว่างประเทศ อาจมีปัญหาเรื่องดุลยภาพกับมหาอำนาจระหว่างสหรัฐกับจีน สหรัฐนั้นถือเป็นเพื่อนสนิทของไทย แต่สำหรับจีน ถือเป็นญาติพี่น้อง ไม่ใช่แค่มิตรประเทศปกติ ดังนั้นในฐานะญาติจีนย่อมคาดหวังว่าต้องได้ไม่น้อยหน้าไปกว่าเพื่อนสนิทหรือต้องมากกว่าด้วยซ้ำ

ส่วน PSI นั้น เป็นสารที่สหรัฐ ต้องการส่งถึงประเทศที่ครอบครองขีปนาวุธทำลายล้างสูง ซึ่งที่ผ่านมาไทยยังไม่ตกลงกับสหรัฐในเรื่องนี้เพราะอาจมีผลกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเกาหลีเหนือและอิหร่าน เมื่อไทยเลือกข้างสหรัฐโดยเข้าไปอยู่ใน PSI แล้วคำถามคือรัฐบาลไทยจะจัดการความสัมพันธ์กับประเทศทั้งสองอย่างไรไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้น

สำหรับประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ ถือได้ว่าหนักหนาสาหัสยิ่งกว่า เนื่องจากส่งผลกระทบต่อชีวิตคนไทยทุกระดับ และกระทบต่อภาคธุรกิจอีกไม่น้อย ประวัติศาสตร์ต้องจารึกชื่อ ยิ่งลักษณ์ ที่นำพาประเทศเข้าร่วมทั้ง FTA พวงใหญ่ภายใต้ชื่อ TPP และพวงเล็กในชื่อTIFA JC เช่นเดียวกับยุครัฐบาลทักษิณ ที่เปิดรับ FTAไทย-สหรัฐ ที่ถูกต่อต้านจนต้องล้มกระดานมาแล้ว

ภายใต้กรอบ TIFA JC ซึ่งมีเนื้อหาสาระไม่ต่างไปจากเอฟทีเอนั้น สหรัฐได้เรียกร้องและกดดันให้ไทยยอมรับการผูกขาดและเอาเปรียบผ่านระบบสิทธิบัตร ดังนี้

1. กดดันให้ไทยให้สิทธิบัตรพืช และสัตว์ 2. กดดันให้ไทยให้สิทธิบัตรวิธีการวินิจฉัยโรค การรักษาผู้ป่วย และการผ่าตัด 3. ไม่ให้มีการคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรก่อนการออกสิทธิบัตร 4. จำกัดการบังคับใช้สิทธิ ทำให้การบังคับใช้สิทธิเป็นไปอย่างลำบาก หรือไม่สามารถใช้ได้

5. ขยายอายุสิทธิบัตร ทำให้ขยายเวลาผูกขาดออกไปมากขึ้น 6. ต้องให้โอกาสผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร แก้ไขคำขอได้อย่างน้อยหนึ่งครั้ง หรืออีกนัยหนึ่งคือจะแก้กี่ครั้งก็ได้ 7. ลดคุณภาพของข้ออ้างสิทธิในสิทธิบัตรโดยไม่จำเป็นต้องมีการทดลองได้ และไม่จำเป็นต้องประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม เพียงแสดงว่ามีความจำเพาะ มีแก่นสาร และน่าเชื่อถือว่าใช้ประโยชน์ได้ก็พอ ทำให้เกิด “สิทธิบัตรที่ไม่มีวันตาย” เพราะสามารถกล่าวอ้างในข้ออ้างสิทธิที่ไม่ต้องทำการทดลอง เปิดโอกาสให้มีสิทธิบัตรต่อเนื่องเพียงการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย

นอกจากนั้น ยังมีของแถมที่ยัดเยียดมาให้ไทยต้องรับในส่วนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ถูกควบคุม นั่นคือ ยาและสารเคมีการเกษตร ที่จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดตลาดจากการผูกขาดข้อมูล คือ1. ผูกขาดข้อมูลยาใหม่และสารเคมีการเกษตรใหม่ 5 และ 10 ปี ตามลำดับ ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะใช้ในการขึ้นทะเบียนตำรับในไทยหรือต่างประเทศ 2. ผูกขาดข้อมูลคลินิกใหม่ของตัวยาเก่า 3 ปี ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะใช้ในการขึ้นทะเบียนตำรับในไทยหรือใช้ในต่างประเทศมาแล้ว 3. ผูกขาดข้อมูลการใช้ใหม่ของสารเคมีการเกษตรตัวเก่า 10 ปี ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะใช้ในการขึ้นทะเบียนในไทยหรือต่างประเทศ 4. ถ้ายาหรือสารเคมีการเกษตรข้างต้นมีสิทธิบัตรและหมดอายุก่อนการผูกขาดข้อมูล ก็ไม่มีผลให้การผูกขาดตลาดจากการผูกขาดข้อมูลหมดไป5. ต้องมีมาตรการป้องกันมิให้การขึ้นทะเบียนตำรับยามีการละเมิดสิทธิบัตร และต้องแจ้งให้เจ้าของสิทธิบัตรทราบถึงการขึ้นทะเบียนตำรับยานั้น

ผลกระทบจากข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ในเรื่องสิทธิบัตรข้างต้น จากผลการวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการขยายการผูกขาดตลาดยาที่นานเกินอายุสิทธิบัตร กับการผูกขาดข้อมูลยาผลกระทบจะแตกต่างในอนาคตที่ยาวนานขึ้นโดยในห้าปีข้างหน้า ผลจากการผูกขาดข้อมูล 5 ปี เพียงข้อเรียกร้องเดียวจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยสูงขึ้นอีก 81,356 ล้านบาท เมื่อรวมกับผลจากการขยายอายุสิทธิบัตรไป 5 ปีอีกอย่างน้อย 27,883 ล้านบาท

นั่นหมายว่า เมื่อรวมผลจากข้อเรียกร้องทั้งหมด ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละแสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบการสาธารณสุขของไทยโดยตรง

ส่วน TPP นั้น นายบารัค โอบามา ยอมรับในช่วงดีเบตเพื่อเลือกประธานาธิบดีสหรัฐว่า จะใช้ TPP เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อกดดันจีนให้โอนอ่อนตามสหรัฐฯ (creating trade bloc with other Asian countries to put pressure on China to play by our rules) การผลักดัน TPP ให้เกิดขึ้นของโอบามา จึงเป็นเหตุผลทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ

โอบามา มีแนวคิดสร้างพันธมิตรข้ามแปซิฟิก ซึ่งตอนนี้มี 11 ประเทศที่แสดงเจตนาเข้าร่วม เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ตกต่ำมานาน แต่เหตุผลที่สำคัญในการสร้างบล็อกเศรษฐกิจใหม่ของตนเอง เป็นเพราะจีนมีอิทธิพลสูงมากในกรอบความร่วมมือต่างๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรอบแม่โขง อาเซียน หรือแม้แต่เอเปกที่มีทั้งจีนและรัสเซียที่คอยคานอำนาจสหรัฐอยู่ การเปิดเสรีการค้าภายใต้ TPP ที่สหรัฐสร้างขึ้นจะทำให้ภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ทำมาหากินในพื้นที่ที่มีการเติบโตสูงได้อย่างเต็มที่มากกว่า

แน่นอน ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ภายใต้ TPP นั้น สหรัฐต้องการให้ความตกลงนี้เป็นมาตรฐานสูงสุดของโลกในทุกด้าน โดยในส่วนของไทยสหรัฐฯ ต้องการให้แก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานเรื่องพิธีการศุลกากรและทรัพย์สินทางปัญหาหรือระบบสิทธิบัตรนั่นเอง

ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา สหรัฐฯ เรียกร้องให้ขยายอายุสิทธิบัตร จาก 20 ปีออกไปอีกไม่เกิน 5 ปีเพื่อชดเชยความล่าช้าที่ไม่มีเหตุผลอันควรของกระบวนการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตร และให้ขยายอายุสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับการผลิตหรือการใช้ยาแบบใหม่เพียงเล็กน้อย การผูกขาดข้อมูลยา 5 ปีสำหรับยาใหม่ และ 3 ปีสำหรับยาที่ได้รับสิทธิบัตรมาแล้ว

ในเรื่องนี้ท่าทีสมาชิก TPP มองว่า ในเรื่องการขยายอายุสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับการผลิตหรือการใช้ยาแบบใหม่ เช่น เปลี่ยนแปลงสูตรยาเม็ดเป็นยาน้ำจะทำให้ผูกขาดยาต่อไปเรื่อยๆ ส่วนการผูกขาดข้อมูลยาและการเชื่อมโยงสถานะสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนจะทำให้การบังคับใช้สิทธิในการผลิตยา (ซีแอล) ทำได้ยากขึ้น

ด้านการค้าบริการและการลงทุน สหรัฐฯ เรียกร้องให้ใช้แนวทาง Nagative List (อะไรที่เปิดเสรีไม่ได้ให้แจ้ง ถ้าไม่แจ้งต้องเปิดเสรีทั้งหมด) ให้เปิดให้ชาวต่างชาติถือหุ้นได้ 100% การโอนเงินทำได้โดยเสรีและไม่มีอุปสรรค ต้องการให้มีบทบัญญัติเรื่องอนุญาโตตุลาการ เป็นต้น

นายหฤษฎ์ รอดประเสริฐ เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่า ทีพีพี จะเป็นเสมือนการรื้อฟื้น Thai-US FTA ที่ได้ยุติการเจรจาไปแล้ว ซึ่งข้อกังวลในการจัดทำความตกลงด้านการลงทุนและการเงินภายใต้ทีพีพี อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงคือ การเคลื่อนย้ายเงินทุนอาจทำให้ค่าเงินมีความผันผวน กระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และกรณีที่เงินทุนทะลักเข้าจำนวนมากอาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์และหากเงินทุนไหลออกมากกอาจทำให้เกิดปัญหาดุลการชำระเงินและสภาพคล่องทางการเงิน จนอาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจการเงิน

ในการเปิดตลาดบริการทางการเงิน ประเทศภาคีของทีพีพี มีความเสี่ยงจะถูกกดดันให้เปิดตลาดบริการทางการเงินตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ มากกว่าที่จะเปิดตลาดตามความพร้อมที่แท้จริง ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ไทยต้องแบกรับ เพราะการเปิดตลาดบริการทางการเงินภายใต้ ทีพีพีอาจจะไม่สอดคล้องกับความพร้อมของไทยเสมอไป เนื่องจากสหรัฐมักจะพยายามผลักดันให้ประเทศคู่เจรจาเปิดตลาดบริการทางการเงินให้มาก ด้วยความได้เปรียบในด้านการแข่งขันในภาคธุรกิจนี้

"การเปิดตลาดบริการทางการเงินภายใต้ ทีพีพีจึงมีความเสี่ยงที่ประเทศกำลังพัฒนาอาจจะต้องเผชิญแรงกดดันจากข้อเรียกร้องเหล่านี้ของสหรัฐ ซึ่งแตกต่างจากการเปิดตลาดภายใต้เวทีอื่นในภูมิภาค เช่น อาเซียน ซึ่งจะคำนึงถึงความพร้อมของประเทศเจ้าบ้านกว่านี้"

ส่วนข้อกังวลในเรื่องมาตรฐานด้านแรงงานสิ่งแวดล้อม และทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงสิทธิบัตรยา คือไทยยังไม่มีความพร้อมในการปฏิบัติตามมาตรฐานของสหรัฐ ที่สูงกว่ามาตรฐานทั่วไป

"ประเด็นสำคัญคือ เมื่อถึงเวลาที่ผลการเจรจา TPP ปรากฏออกมาชัดเจน ไทยควรพิจารณาทั้งผลดีและผลเสียในทุกๆ ด้านอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความพร้อมของทุกฝ่าย และประโยชน์ต่อสาธารณชนในระยะยาว" เศรษฐกรอาวุโสของแบงก์ชาติ ส่งเสียงเตือน

เช่นเดียวกับนายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอวอตช์) ที่ชี้ว่า แม้ถ้อยแถลงร่วมจะมีผลผูกพันต่อประเทศตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ตาม แต่การไม่จัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในเรื่องสำคัญดังกล่าว และการไม่คำนึงถึงข้อห่วงใยในผลกระทบต่างๆ ย่อมเป็นการไม่ให้เกียรติประชาชนไทยและประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงอยากให้รัฐบาลทบทวน และดำเนินการเรื่องนี้อย่างเปิดเผยโปร่งใส จัดรับฟังความคิดเห็นอย่างครบถ้วนไม่ใช่แค่ฟังนักธุรกิจเท่านั้น พร้อมทั้งอธิบายจุดยืนและท่าทีของรัฐบาลอย่างชัดเจน

การเคลื่อนไหวคัดค้านการเข้าร่วม TIFA JC และ TPP ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่กำลังสร้างประวัติศาสตร์ซ้ำรอยทักษิณที่เปิดอ้ารับอเมริกาเข้ามาสูบกินเลือดเนื้อประชาชนคนไทย กำลังก่อ ตัวขึ้นในทุกภาคส่วน และนี่อาจจะเป็นหนึ่งในประเด็นเรียกแขกช่วยเติมม็อบ "เสธ.อ้าย" ให้มีพลังและมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น เหมือนยุคแรกของม็อบพันธมิตรล้มรัฐบาลทักษิณ


กำลังโหลดความคิดเห็น