ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ ปธน.โอบามาเยือนไทย-อาเซียน มีนัยสร้างดุลยภาพเศรษฐกิจ ถ่วงอำนาจทางการค้าจีน พร้อมคาดท่าทีสหรัฯ ปรับแผนด้าน ตปท.ใหม่ เน้นกระชับความสัมพันธ์เอเชียเพิ่มมากขึ้น
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของอาเซียนจะมีมูลค่าแตะ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 จากประมาณ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2555 โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 5-6 ต่อปี และขนาดจำนวนประชากรกว่า 600 ล้านคน
ขณะที่สหรัฐฯ มีความสำคัญในเชิงการค้ากับไทยมานาน โดยปีนี้คาดว่าการส่งออกของไปยังสหรัฐฯ อาจมีมูลค่าประมาณ 23,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวประมาณร้อยละ 6 ส่วนแนวโน้มปี 2556 ที่สหรัฐฯ อาจเผชิญความท้าทายในการฝ่าหน้าผาการคลัง หรือ Fiscal Cliff ซึ่งประเมินว่าโอกาสของการเกิดภาวะ Fiscal Cliff เต็มรูปแบบน่าจะอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น สัญญาณบวกจากเศรษฐกิจจีน และเอเชีย รวมถึงการประคองตัวของโมเมนตัมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่น่าจะมีความต่อเนื่องในช่วงปีข้างหน้าน่าจะทำให้การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ปี 2556 มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นในอัตราร้อยละ 7-12 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหรัฐฯ ยังคงบทบาทการเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย แต่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นตลาดอันดับ 1 สัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 20 ของการส่งออกรวมของไทยในช่วง 2 ทศวรรษก่อน เหลือสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 10 ในปัจจุบัน
ขณะที่จีนทวีความสำคัญกับไทย และอาเซียนมากขึ้น ท่ามกลางแนวโน้มที่สหรัฐฯ ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกประเทศในการขับเคลื่อนการเติบโตของตนเพิ่มมากขึ้น และจากจุดเปลี่ยนที่สะท้อนภาพของจีนชัดเจนมากขึ้นในเวทีโลกมีส่วนทำให้กลยุทธ์การดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่มุ่งสร้างจุดยืนของสหรัฐฯ ในเวทีโลกจึงพุ่งเป้ามายังอาเซียน เพื่อยกระดับบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอาเซียนให้มีความสำคัญทัดเทียมจีน ทั้งในแง่เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในด้านอื่นๆ โดยการเดินทางเยี่ยมอาเซียนของประธานาธิบดีโอบามาครั้งนี้ จึงชี้ชัดว่าสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้นนับจากนี้
สำหรับการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP นั้น หากไทยเข้าเป็นสมาชิกก็จะต้องเปิดเสรีในระดับเดียวกันให้แก่สมาชิกทั้งหมดใน TPP ด้วย และเนื่องจากสมาชิกอาเซียนมีทั้งประเทศที่เป็นสมาชิก TPP แล้ว และประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก TPP จึงอาจเกิดเงื่อนไขการเปิดเสรีที่เหลื่อมล้ำแตกต่างกันภายในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง นอกจากนี้ การที่กลุ่มการค้าเสรีในปัจจุบันมีลักษณะของการไขว้เป็นสมาชิกซ้อนกันอยู่หลายกรอบ ทั้ง AEC, TPP, RCEP และอาจมีกรอบอื่นอีกนั้น ประเด็นพิจารณาจึงต้องมองข้ามไปถึงกรอบที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกแต่มีประเทศที่เชื่อมโยงกับไทยเข้าไปเป็นสมาชิกในกรอบนั้นด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากการแข่งขันทางธุรกิจจากประเทศภายนอกกรอบความตกลงที่มีกับไทยนั้น อาจเข้ามาโดยช่องทางผ่านประเทศในกลุ่มที่ไทยร่วมเป็นสมาชิกความตกลงการค้าเสรีอยู่ด้วยแล้ว เช่น ธุรกิจบริการที่ไม่ใช่สัญชาติอาเซียน แต่เป็นสมาชิก TPP หากเข้ามาตั้งบริษัทลูกจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศอาเซียนที่เป็นสมาชิก TPP แล้วนั้น บริษัทลูกของต่างชาติรายนั้นจะสามารถเข้ามาลงทุนในประเทศไทยภายใต้เงื่อนไขความตกลงในกรอบ AEC ได้หรือไม่ เป็นต้น ซึ่งภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเจรจาควรต้องคำนึงถึง และอาจต้องหยิบยกเข้าสู่การหารือในเวทีการเจรจากับสมาชิกภาคีเพื่อป้องกันช่องโหว่ต่างๆ ที่อาจนำไปสู่ผลกระทบต่อธุรกิจภายในประเทศได้