xs
xsm
sm
md
lg

จีนเดินหน้าอย่างระแวดระวังในกรณีพิพาททะเลจีนใต้(ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เบรนดัน โอไรลีย์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China walks tightrope over troubled waters
By Brendan O'Reilly
05/07/2012

การที่อินเดีย, ญี่ปุ่น, และเกาหลีใต้ แถลงแสดงความมุ่งมั่นผูกพันร่วมกันที่จะทำให้การสัญจรและการขนส่งทางทะเลในเขตทะเลจีนใต้ต้องดำเนินไปได้อย่างเสรีนั้น ถือเป็นการเพิ่มแรงบีบคั้นต่อจีนซึ่งกำลังพยายามดำเนินการในลักษณะมุ่งรักษาความสมดุลในเวลาจัดกับกับกรณีพิพาทต่างๆ ในอาณาบริเวณดังกล่าว บรรดาผู้นำจีนย่อมทราบดีว่าขณะที่ถ้อยคำโวหารอันแข็งกร้าวและการแสดงกำลังทางทหารเป็นสิ่งจำเป็นในการทำให้ท่านผู้ชมภายในประเทศของตนเองเกิดความพออกพอใจ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีความจำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เหล่าชาติเพื่อนบ้านของแดนมังกรเกิดความตระหนกตกใจจนพากันเปิดประตูอ้าแขนโอบกอดต้อนรับสหรัฐฯ

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ความเปลี่ยนแปลงในทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังทำให้น่านน้ำต่างๆ ของทะเลจีนใต้เกิดความปั่นป่วนผันผวน โดยที่ทั้งจีนและเวียดนามต่างก็กำลังใช้วิธีเดินหมาก 3 ด้านพร้อมๆ กัน เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่การอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands) ของพวกตน

ปักกิ่งและฮานอยต่างกำลังอาศัยทั้งการสำแดงกำลังทางทหาร, แผนการกลเม็ดทางกฎหมาย, และยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ในการยกระดับข้อยืนยันของแต่ละฝ่ายที่ว่ามีอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะที่กำลังช่วงชิงกันอยู่ ความเข้มข้นยิ่งขึ้นทุกทีของการต่อสู้เพื่อแย่งหมู่เกาะสแปรตลีย์คราวนี้ บังเกิดขึ้นในจังหวะเวลาอันทรงความสำคัญอย่างยิ่งในทางการเมืองสำหรับภูมิภาคแถบนี้ การทะเลาะเบาะแว้งกันเกี่ยวกับหมู่เกาะเล็กกระจิดริดแห่งนี้ในคราวนี้ อาจจะลุกลามขยายตัวกลายเป็นเรื่องทรงความสำคัญระดับโลกได้ทีเดียว

กรณีพิพาทซึ่งที่จริงก็ยืดเยื้อมานานแล้วนี้ เริ่มต้นไต่ระดับทวีความเข้มข้นขึ้นในช่วงหลังๆ นี้ในวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา เมื่อกองทัพอากาศเวียดนามดำเนินการบินลาดตระเวนเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ (เวียดนามเรียกหมู่เกาะนี้ว่า “เจื่องซา” Truong Sa ส่วนจีนเรียกว่า “หนานซา” Nansha) น.ท.อาวุโส โง วินห์ ฟุค (Ngo Vinh Phuc) ของเวียดนามระบุว่า ต่อไปจะมีการบินลาดตระเวนในลักษณะนี้กันเป็นประจำ โดยเขากล่าวว่า

“ทางกรมตัดสินใจแล้วว่า ภายหลังการบินไปยังเจื่องซาเป็นเที่ยวแรกแล้ว ภารกิจเช่นนี้ก็จะกลายเป็นภารกิจประจำตามปกติของพวกเรา โดยที่เราต้องมีความพรักพร้อมเสมอที่จะทำภารกิจนี้ในทันทีที่เราได้รับคำสั่ง ... จากการออกบินลาดตระเวนเช่นนี้ เราต้องการที่จะเน้นย้ำยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า เราจะเตรียมพร้อมอยู่ทุกเมื่อเพื่อพิทักษ์ปกป้องอำนาจอธิปไตยอันศักดิ์สิทธิ์เหนือท้องทะเลและหมู่เกาะต่างๆ ของประเทศชาติ”[1]

จีนนั้น ก็เฉกเช่นเดียวกับมาเลเซีย, บรูไน, และฟิลิปปินส์ มิได้ยอมรับและคอยโต้แย้งเรื่อยมาเกี่ยวกับข้ออ้างการมีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ของเวียดนาม ดังนั้นจึงมองเรื่องนี้ว่าเป็นพฤติการณ์ยั่วยุของฝ่ายฮานอย เพื่อเป็นการตอบโต้ โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน เกิง เหยียนเซิง (Geng Yansheng) ได้ออกมาประกาศการส่งกำลังทหารของจีนเข้าทำหน้าที่ลาดตระเวนในอาณาบริเวณทางทะเลที่เกิดพิพาทกันนี้ ทั้งนี้เขาแถลงว่า

“เพื่อพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยแห่งชาติและความมั่นคงตลอดจนผลประโยชน์ในการพัฒนาของเรา ฝ่ายทหารของจีนจึงได้จัดทำระบบลาดตระเวนพร้อมรบในยามปกติขึ้นมา สำหรับเขตท้องทะเลต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา ...”[2]

เวียดนามกับจีนจึงกำลังขยับเข้าใกล้ความเป็นไปได้ที่จะเปิดการประจันหน้ากันด้วยกำลังอาวุธโดยที่แต่ละฝ่ายไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีความปรารถนาที่จะถอยหลังกลับ ตรงกันข้ามรัฐบาลของทั้งสองประเทศต่างกำลังพยายามดำเนินกลวิธีต่างๆ ในทางการเมือง เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการหนุนเสริมความเคลื่อนไหวทางการทหารของพวกตน

ในวันที่ 21 มิถุนายน สภาแห่งชาติของเวียดนาม (Vietnamese National Assembly) ได้ลงมติผ่าน “กฎหมายทะเลของเวียดนาม” (Vietnamese Law of the Sea) ซึ่งคั่งค้างอยู่ในการพิจารณาของสภามานาน กฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาระบุอย่างชัดเจนว่า หมู่เกาะสแปรตย์ทั้งหมด และหมู่เกาะพาราเซล (Paracel Islands) ทั้งหมด คือดินแดนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ของเวียดนาม ภายหลังฝ่ายเวียดนามออกกฎหมายฉบับนี้แล้ว กระทรวงการต่างประเทศจีนได้ตอบโต้ด้วยการแถลงว่า “ประเทศจีนประท้วงอย่างแข็งขันและคัดค้านอย่างหนักแน่นต่อความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของเวียดนาม” ต่อมา รองรัฐมนตรีต่างประเทศ จาง จื้อจิว์น (Zhang Zhijun) ของจีน ยังออกมาประณามความเคลื่อนไหวในคราวนี้ของเวียดนามว่า “ผิดกฎหมาย, เป็นโมฆะ, และเป็นอันตรายต่อสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้”[3]

เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากฝ่ายเวียดนามออก “กฎหมายทะเลของเวียดนาม” คณะรัฐมนตรีของจีนก็ได้อนุมัติแผนการเพื่อการจัดตั้งนครซานซา (Sansha) ซึ่งจะมีฐานะเป็นจังหวัดใหม่อีกจังหวัดหนึ่ง และมีอาณาเขตในปกครองครอบคลุมเหนือบริเวณที่ช่วงชิงอยู่กับเวียดนาม จากการอนุมัติครั้งนี้หมายความว่า บัดนี้ทั้งหมู่เกาะสแปรตลีย์ (จีนเรียกว่า หนานซา), หมู่เกาะพาราเซล (จีนเรียกว่า ซีซา) , และ แนวปะการังใต้น้ำ แมคเคิลสฟิลด์ แบงก์ (Macclesfield Bank จีนเรียกว่าหมู่เกาะจงซา) ก็ได้รวมกันกลายเป็นนครซานซา ซึ่งโดยทางการถือเป็นนครที่ใหญ่ที่สุดและอยู่ทางตอนใต้สุดในสาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงแม้นครแห่งนี้ไม่มีผู้พำนักอาศัยอย่างถาวรแม้แต่คนเดียว

การจัดตั้งนครซานซาขึ้นมา นับเป็นกลวิธีสำคัญทางกฎหมายที่จะเพิ่มความหนักแน่นให้แก่การอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเหล่านี้ของจีน ความเคลื่อนไหวคราวนี้ได้รับการอธิบายแจกแจงจากโฆษกผู้หนึ่งของกระทรวงกิจการพลเรือน (Ministry of Civil Affairs) ของจีนว่า เป็นฝีก้าวอันสำคัญในการเพิ่มความเข้มแข็งยิ่งขึ้นให้แก่การบริหารปกครองและการพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ของประเทศจีน[4] นอกจากนั้นยังมีรายงานว่ารัฐบาลจีนกำลังอภิปรายหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งสถานที่ทางทหารอย่างถาวรขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้อง “นคร” ใหม่ที่สุดของตนแห่งนี้

ไม่เพียงในด้านการทหารและทางกฎหมาย การเผชิญหน้ากันระหว่างปักกิ่งกับฮานอยคราวนี้ ยังมีส่วนประกอบทางด้านเศรษฐกิจอย่างเข้มข้นอีกด้วย กล่าวคือ เมื่อเร็วๆ นี้ บรรษัทน้ำมันชายฝั่งแห่งชาติของจีน (China National Offshore Oil Cooperation หรือ CNOOC) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งสำคัญ ได้ประกาศชักชวนบริษัทต่างชาติมาเข้าร่วมการประมูลเสนอผลประโยชน์ เพื่อให้ได้สิทธิในการร่วมพัฒนาศักยภาพในการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในพื้นที่พิพาทเหล่านี้ ขณะที่เวียดนามอ้างว่าบริเวณเหล่านี้บางส่วนเป็นกรรมสิทธิ์ของตนอย่างไร้ข้อโต้แย้ง เนื่องจากอยู่ในเขตไหล่ทวีปของประเทศตน และรัฐบาลเวียดนามก็ได้ร่วมมือกับบริษัทต่างชาติหลายแห่ง เป็นต้นว่า เอ็กซ์ซอน โมบิล (Exxon Mobil) ของอเมริกา, กาซปรอม (Gazprom) ของรัสเซีย และ โอเอ็นจีซี วิเดห์ (ONGC Videh) ของอินเดีย ในการขุดเจาะสำรวจบางบริเวณของพื้นที่เหล่านี้แล้วด้วยซ้ำ

ในเวียดนามนั้น ผู้คนมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างแรงกล้าทีเดียวต่อกรณีพิพาทกับจีนคราวนี้ โดยที่ทางการยินยอมเปิดทางให้มีการประท้วงอย่างไม่เป็นทางการขึ้นในบริเวณใจกลางกรุงฮานอย การเปิดไฟเขียวเช่นนี้นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง และผู้ชุมนุมเดินขบวนหลายร้อยคนได้เดินขบวนท่ามกลางสายฝนไปยังสถานเอกอัครราชทูตจีนเมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พวกเขาจำนวนมากพากันตะโกนว่า “จีนจงพินาศ” ขณะที่ตำรวจคอยปิดกั้นรถราที่สัญจรผ่านไปมา และเฝ้ารักษาการณ์รอบๆ สถานเอกอัครราชทูต[5]

**ภูมิหลังทางยุทธศาสตร์**

การออกมาวางท่าวางทางทั้งในทางการทหาร, เศรษฐกิจ, และการเมืองอย่างต่อเนื่องของจีนและเวียดนามเช่นนี้ บังเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่สำคัญมากทีเดียวเมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์แวดล้อมหลายๆ ประการ ประการแรกสุด ความตึงเครียดที่ยกระดับเพิ่มขึ้นระหว่างจีนกับเวียดนามระลอกนี้ ปรากฏขึ้นในเวลาเดียวกับที่ความเสียดทานระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์กำลังผ่อนคลายลง โดยรัฐบาลจีนและรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้บรรลุข้อตกลงกันในทางวาจาว่า ทั้งสองชาติต่างจะถอนกำลังทางนาวีของฝ่ายตนออกมาจากพื้นที่บึงน้ำเค็ม (ลากูน) ในเกาะปะการัง สคาร์โบโร โชล (Scarborough Shoal) ซึ่งสองฝ่ายพิพาทกันอยู่ รัฐมนตรีต่างประเทศ อัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ (Albert del Rosario) ของฟิลิปปินส์ ออกมากล่าวยืนยันว่า กลุ่มเรือรบของจีนได้ถอยออกมาจากพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ส่วนทางฝ่ายแดนมังกร หง เหล่ย (Hong Lei) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศก็แถลงยืนยันว่า แนวโน้มในพื้นที่พิพาทดังกล่าว “โดยภาพรวมแล้วกำลังมุ่งหน้าไปสู่สันติภาพ” [6]

การที่ความตึงเครียดระหว่างเวียดนามกับจีนกำลังร้อนแรงขึ้น ขณะที่การทะเลาะกันระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนดูเหมือนกำลังเย็นลงมาเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ควรแก่การสนใจพิจารณา จีนนั้นถูกกล่าวหาจากนักสังเกตการณ์บางรายมานานแล้วว่ากำลังพยายามใช้ยุทธวิธี “แบ่งแยกแล้วปกครอง” กับบรรดาชาติเพื่อนบ้านของตนในทะเลจีนใต้ แต่ไม่ว่าเราจะแปลความหมายไปอย่างไร มันก็ดูเป็นเรื่องสมเหตุสมผลสำหรับปักกิ่งที่ในช่วงเวลาแต่ละช่วงจะพุ่งเป้าโฟกัสไปที่คู่กรณีพิพาทของตนเพียงรายเดียวเท่านั้น เพราะเมื่อเปรียบมวยกันเป็นรายๆ แล้ว บรรดาคู่กรณีที่อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ทับซ้อนกับแดนมังกรนั้น ไม่สามารถวาดหวังได้เลยว่าจะสามารถต่อกรได้อย่างใกล้เคียงกับพลานุภาพทางการเมือง, เศรษฐกิจ, และการทหารของปักกิ่ง

ยิ่งไปกว่านั้น บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมอาเซียนยังมีกำหนดนัดหมายที่จะประชุมกันในวันที่ 9 กรกฎาคมในกัมพูชา ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน ของสหรัฐฯ ก็คาดหมายกันว่าจะเข้าร่วมในการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum หรือ ARF) ซึ่งเป็นส่วนที่ต่อเนื่องออกมาของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เป็นที่แน่นอนทีเดียวว่ากรณีพิพาทเรื่องทะเลจีนใต้จะต้องเป็นประเด็นปัญหาที่ครอบงำการถกเถียงอภิปรายในวาระเหล่านี้

เมื่อการประชุมอาเซียนดังกล่าวขยับใกล้เข้ามาเรื่อยๆ มันก็ดูจะกลายเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้แก่ทั้งจีนและเวียดนามที่จะทำการเสริมเติมฐานะทางกฎหมายในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ให้หนักแน่นมั่นคงขึ้นไปอีก ทั้งสองฝ่ายต่างกำลังวิ่งเต้นขยับขยายหาจุดยืนอันแข็งแกร่งยิ่งขึ้นก่อนหน้าการประชุมอาเซียนจะเปิดฉาก ทั้งนี้จีนได้ระบุออกมาอย่างเฉพาะเจาะจงว่า ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของเวียดนามในช่วงหลังๆ นี้ เป็นการกระทำที่ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เมื่อพิจารณาจากบริบทของเนื้อหาใน ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ ในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea) ปฏิญญาฉบับนี้ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี 2002 โดยที่บรรดาชาติสมาชิกสมาคมอาเซียนและจีนต่างมีความเห็นพ้องต้องกัน มีเนื้อความที่เน้นย้ำอย่างชัดเจนว่า “ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการแก้ไขคลี่คลายข้อพิพาททางด้านดินแดนและข้อพิพาททางด้านขอบเขตอำนาจของพวกตนด้วยวิธีการที่สันติ, โดยปราศจากการหันไปใช้การข่มขู่หรือการใช้กำลัง ...” ทั้งนี้จีนพิจารณาเห็นว่าการออกบินลาดตระเวนของกองทัพอากาศเวียดนาม และการประกาศอ้างอำนาจอธิปไตยแต่ฝ่ายเดียว คือการละเมิดต่อปฏิญญาฉบับนี้

แบรนดัน พี โอไรลีย์ เป็นนักเขียนและนักการศึกษาจากเมืองซีแอตเทิล, สหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันพำนักอยู่ในจีน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Transcendent Harmony
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น