ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ในยุทธศาสตร์ความมั่งคงของชาติทางทะเล บอกไว้ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีทางออกสำหรับสินค้า และการขนส่งทางทะเลอื่นๆ ทางทะเลอันดามัน จะพึ่งพาแต่ทางฝั่งอ่าวไทยที่ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพฯ อย่างเดียวไม่ได้ เพราะผลประโยชน์ชาติทางทะเลที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางทะเลมีมากกว่า 6 ล้านล้านบาท/ปี ในขณะที่มีความต้องการระหว่างประเทศที่จะแสวงหาเส้นทางการขนส่งทางทะเลที่ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า การเดินเรืออ้อมไปผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งมีความแออัดมากขึ้นทุกวัน
ด้วยเหตุนี้ จึงมีความพยายามของรัฐในทุกยุคทุกสมัย ที่จะเชื่อมเส้นทางขนส่งทางทะเลระหว่างอ่าวไทย กับทะเลอันดามัน ตั้งแต่การขุดคลองกระ สะพานเศรษฐกิจที่ขนอมถึงกระบี่ หรือแม้แต่ท่าเรือระนอง และท่าเรือภูเก็ต
นอกจากนี้ยังมีท่าเรือขนาดเล็ก ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศกระจายอยู่ทั่วไป เช่น ท่าเรือตำมะลัง ท่าเรือกันตัง จังหวัดตรัง ท่าเรือยิบซั่มที่กระบี่ ท่าเรือเหล่านี้ ถูกพิจารณาว่าเป็นเพียงท่าเรือขนาดเล็ก กระจายสินค้าได้ไม่มากนัก และไม่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าจากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ โดยเฉพาะการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง
ปัญหาสำคัญของการขนส่งทางทะเลตามแนวชายฝั่งภาคใต้ของประเทศ เช่น ท่าเรือน้ำลึกสงขลา คือ ความไม่สมดุลระหว่างการขนสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ กับการนำสินค้าเข้ามา เนื่องจากที่ผ่านมา สินค้าที่นำเข้ามาท่าเรือน้ำลึกสงขลามีน้อยมาก ในขณะที่มีความต้องการขนส่งยางพาราออกนอกประเทศเป็นอย่างมาก ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ภาระในการนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่าเข้ามารับยางพารา และสินค้าส่งออกอื่นๆ ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายในการส่งออกสูงมากกว่าการนำสินค้าไปยังท่าเรือปีนัง ซึ่งมีปริมาณสินค้าเข้า และสินค้าออกมาก ค่าใช้จ่ายจึงถูกกว่าการส่งออกจากท่าเรือน้ำลึกสงขลา จึงเห็นได้ว่า แต่ละปีมีการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทย กับท่าเรือปีนังปีละมากกว่า 200,000 ตู้คอนเทนเนอร์
ทางแก้ที่ภาครัฐมองคือ การเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าข้ามมหาสมุทรจากยุโรป และตะวันออกกลาง ทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย กับทางเอเชียตะวันออกทางฝั่งอ่าวไทยและมหาสมุทรแปซิฟิค ซึ่งก็คือความพยายามที่จะทำให้มีท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งของภาคใต้ และเส้นทางการขนส่งทั้งทางรถไฟ ถนน และท่อส่งน้ำมันที่เชื่อมโยงทั้งสองฝั่งมหาสมุทรเข้าด้วยกัน และยังมองถึงผลประโยชน์จากการขนส่งทางทะเลของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมหาศาล
โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ จึงเกิดขึ้น และมีกระบวนการคัดเลือกพื้นที่ตลอดชายฝั่งอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดระนองมาจนถึงจังหวัดสตูล แต่ก็ถูกผลักดัน ขับไล่ การไม่ยอมรับจากคนในพื้นที่ต่างๆ ทั้งภูเก็ต พังงา กระบี่ ที่มองว่ายุทธศาสตร์ของพื้นที่คือ การท่องเที่ยวทางทะเลที่สร้างรายได้ปีละหลายแสนล้านบาท ซึ่งไปด้วยกันไม่ได้กับการพัฒนาเส้นทางเดินเรือ และการพัฒนาทางอุตสาหกรรม ที่อาจส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงต่อคุณภาพระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งเป็นต้นทุนทางธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของการท่องเที่ยวทางฝั่งทะเลอันดามัน
และวันนี้ ที่ปากบารา คือ ที่มั่นสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่สำหรับการสร้างท่าเรือน้ำลึก เนื่องจากยังเป็นพื้นที่ที่มีคนอยู่อาศัยไม่มาก และที่สำคัญ มีกระแสการต่อต้านน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุด ที่ผู้บริหารของประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะไม่ทันคิดก็คือ ตั้งแต่เขตแดนไทยมาเลเซียที่สตูล ไปจนถึงอ่าวพังงาเป็นแหล่งที่มีระบบนิเวศแบบเอสทูรี่ หาดเลน และป่าชายเลนขนาดใหญ่ของประเทศไทย เช่น ปากน้ำสตูล ปากบารา ปากน้ำกันตัง ปากน้ำปะเหลียน ปากน้ำสิเกา ศรีบ่อยา ปากน้ำกระบี่ และอ่าวพังงา เป็นแหล่งสะสมของธาตุอาหารที่มาจากบนบก และในทะเล ส่งผลให้บริเวณนี้มีพืชและสัตว์ทะเลที่อุดมสมบูรณ์ ที่สุดของประเทศ
จังหวัดสตูลยังมีผู้คนยังไม่มากนัก ในอนาคตมีศักยภาพพอที่จะรองรับการพัฒนาทางการเพาะเลี้ยง การประมงชายฝั่ง และการอนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยวได้อีกมาก โดยเฉพาะหากประเทศไทยต้องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จังหวัดสตูลก็มีศักยภาพการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเลที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ มีเกาะจำนวนมาก มีป่าชายเลน มีแนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล มีสวนผลไม้ ชายฝั่งทะเล ป่าเขาและน้ำตก และยังเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งที่สำคัญของประเทศ
สิ่งที่ รัฐ พยายามบอกชาวบ้านคือ ราคาที่ดินจะมีราคาสูงขึ้น ชาวบ้านจะมีงานทำ จะมีเงินหมุนเวียนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจะมีเงินมากขึ้น จะพาผู้นำชุมชน และผู้บริหารของจังหวัดไปดูงานท่าเรือต่างจังหวัดและในต่างประเทศ สร้างความหวังให้กับชาวบ้านที่มีที่ดินอยู่บริเวณนั้นและบริเวณใกล้เคียง และกลายเป็นมวลชนจัดตั้งที่รัฐและผู้บริหารของจังหวัด พร้อมจะพามาสนับสนุนในทุกเวทีการประชุม และเริ่มสร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นระหว่างชุมชนในจังหวัดสตูล
แต่สิ่งที่ผิดพลาดอย่างรุนแรง ก็คือ รัฐไม่ได้บอกชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงจับกุ้ง หอย ปู ปลา ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ทำสวนยาง สวนปาล์ม สวนผลไม้ และผู้ประกอบการท่องเที่ยว เจ้าของรีสอร์ท ร้านอาหารเลยว่า ท่าเรือน้ำลึกจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง จะมีกิจกรรมอะไรตามมาอีกบ้าง เพราะเป็นไปไม่ได้ ที่จะมีเฉพาะท่าเรือน้ำลึกเพียงอย่างเดียว อุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการขนส่งสินค้า และการแปรรูปวัตถุดิบต่างๆ จะตามมาเป็นจำนวนมาก
ไม่มีใครบอกเขาว่า การพัฒนาที่จะตามมานั้น จะมีการจ้างงานจริงๆ กี่คน คนสตูลจะได้โอกาสทำงานอะไร จำนวนเท่าไร และจะมีแรงงานต่างถิ่น เข้ามาใช้แรงงานในพื้นที่ กี่พันกี่หมื่นคน จะส่งผลกระทบทางด้านสังคม และวัฒนธรรมของชาวมุสลิมอย่างไร
ไม่มีใครบอกเขาว่า ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเดือนกันยายน จะพัดพาฝุ่นควันทั้งหลายเข้าสู่เมืองสตูล เมืองละงู ชุมชน และสวนยางตลอดแนวชายฝั่งทะเล
ไม่มีใครบอกเขาว่า ลมฝนเหล่านี้ จะละลายฝุ่นควัน และสารพิษ จากเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ตกลงบนหลังคาบ้าน ตกลงในสวนยาง สวนผลไม้ ในบ่อเก็บน้ำ ในน้ำตกวังสายทอง ในแม่น้ำ และลำคลองที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนทั้งสองฟากฝั่ง
ไม่มีใครบอกเขาว่า ชายฝั่งทะเลของอันดามันใต้ หรืออาจเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของช่องแคบมะละกาตั้งแต่อ่าวพังงาลงมา โดยเฉพาะจังหวัดตรังและสตูล เป็นพื้นที่รองรับการสะสมของตะกอนทั้งจากแผ่นดินและทะเล สารพิษทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นมันไม่ถูกพัดพาออกไปทะเลลึก แต่จะสะสมอยู่ในชั้นดินตะกอนตลอดชายฝั่งทะเลที่มีสภาพเป็นโคลนปนทราย
ไม่มีใครบอกเขาว่า หากมีการรั่วไหลของน้ำมัน น้ำมันเครื่องเรือ น้ำจากท้องเรือ หรือสารพิษต่างๆ สารมลพิษเหล่านี้มันจะสะสมอยู่ตลอดชายฝั่งทะเลจังหวัดสตูล เหตุการณ์ต่างๆ จะร้ายแรงยิ่งกว่าที่มาบตาพุด ซึ่งมีกระแสน้ำพัดพาออกสู่ทะเลลึก
ไม่มีใครบอกพวกเขาว่า บริเวณทะเลหน้าหาดปากบารา ที่มีความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลกำลังจะกลายเป็นท่าเทียบเรือน้ำลึก มีการถมทะเลยื่นออกไปนอกหาดยาวเป็นกิโล เพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่หลายสิบลำมารับส่งสินค้าปีละมากกว่า 200,000 ตู้ หรืออาจจะมากกว่านั้น ถ้าโครงการมีการขยายตัวไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะตามมา
ไม่มีใครบอกพวกเขาว่า จะมีกิจกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาลตามมา สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นต่อมาก็คือ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อป้อนไฟฟ้าให้กับกิจกรรมการขนส่งทางทะเล และอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ แหล่งพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเหล่านี้ คืออะไร
ไม่มีใครบอกเขาว่า นอกจากท่าเรือน้ำลึกแล้ว จะมีอุตสาหกรรมอะไรอื่นๆ ตามมาอีก เขาได้แต่บอกว่า ไม่ใช่หน้าที่ของเขาที่จะบอกว่าจะมีอุตสาหกรรมอะไรตามมา กรอบการศึกษาของเขามีเฉพาะการสร้างท่าเรือน้ำลึกเท่านั้น โครงการอื่นๆ ต้องพิจารณาต่างหาก ไม่เกี่ยวกับการศึกษาครั้งนี้
ถ้ามีใครถามเขาว่า ข้อมูลด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เขาจะบอกให้ชาวบ้านไปอ่านเอาในเอกสารหนาปึก ที่มีแต่ตัวเลขที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ และต้องไปหามาอ่านเอาเอง และเขาก็จะโวยวายใส่ชาวบ้านว่า ก็ทำรายงานให้อ่านแล้ว ทำไมไม่อ่านกันเอง หรือไม่ก็ให้ไปอ่านในอินเตอร์เน็ต ที่ชาวบ้านไม่มีวันเข้าถึง
สิ่งที่ชาวบ้านสังเกตก็คือห้าหกปีที่ผ่านมา มีคนมากว้านซื้อที่ดินผืนใหญ่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านมาทราบทีหลังว่า ที่ดินหลายพันไร่ที่มีการเปลี่ยนมือไปแล้ว คือบริเวณที่อยู่ในแนวเส้นทางของท่าเรือน้ำลึก และพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
สิ่งที่บริษัทเหล่านี้บอกกับชาวบ้านตลอดมาก็คือ พวกเขาทำถูกต้องตามกฎหมายของกรมเจ้าท่า ผ่านการพิจารณาของนักวิชาการของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นพวกเขามีสิทธิที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึก และแม้ว่ามันจะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา รัฐก็สามารถเพิกถอนพื้นที่ที่ออกจากการเป็นอุทยานแห่งชาติได้
แต่ คุณอย่าลืมว่า ชาวบ้านก็มีสิทธิลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขา ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เช่นกัน
หากท่าเรือน้ำลึกเกิดขึ้นจริงแล้ว เขาหวั่นกลัวว่า
อากาศจะเป็นพิษ น้ำทะเลจะปนเปื้อนไปด้วยคราบน้ำมันและสารพิษที่สะสมตลอดชายฝั่ง กุ้ง หอย ปู ปลาจะหายไป อาหารทะเลจะปนเปื้อนไปด้วยสารพิษ น้ำตกและลำธารจะปนเปื้อนจากสารพิษ และนักท่องเที่ยวจะไม่กลับมา ฝนที่ตกลงมาจะมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น ชาวสวน จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง การแย่งชิงน้ำจืดที่ต้องใช้ในการเกษตรจะเกิดขึ้น เพราะต้องไปใช้ในเขตท่าเรือและเขตอุตสาหกรรม
ชาวสตูล คงไม่ต้องการให้ที่นี่กลายเป็นหาดแม่รำพึง หรือมาบตาพุดแห่งที่สอง ที่ชาวบ้านต้องนอนรอความตายผ่อนส่งโดยที่ไม่มีใครช่วยเหลือได้เลย และที่สำคัญลักษณะทางกายภาพของชายฝั่งทะเลที่นี่แตกต่างจากชายฝั่งบริเวณมาบตาพุด ปัญหามลพิษทุกอย่างจะสะสมอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลได้ง่ายกว่าบริเวณชายฝั่งมาบตาพุด
พอสิ้นปีผลกำไรจากการขนส่งทางทะเล และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ส่วนหนึ่งมาจากการทำลายธรรมชาติ การทำลายสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่ และการสร้างความแตกแยกให้กับคนในพื้นที่ ก็กลายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นที่มีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่ไม่ได้มีถิ่นฐานในพื้นที่ แต่นั่งห้องแอร์ดูตัวเลขขึ้นลงในตลาดหลักทรัพย์
รัฐบาลเข้ามาบริหารแล้วก็จากไป ผู้บริหารของจังหวัด ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดจนถึงนายอำเภอ มาทำงานไม่กี่ปี ก็ย้ายไปที่อื่น นักลงทุนเข้ามาลงทุน วันหนึ่งก็ถอนตัวออกไปลงทุนที่อื่นได้
แต่คนสตูลต้องอยู่กินบนผืนดินแห่งนี้ไปตลอดชีวิต
รอรับผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมต่อไป
-------------------------------------------------------
ถ้าไม่สร้างท่าเรือน้ำลึกในหกจังหวัดอันดามัน แล้วจะไปสร้างที่ไหนดี
ดีที่สุด คือ ไม่ต้องสร้างครับ เราก็อยู่ของเราไปแบบพอเพียง การขนส่งทางทะเลของภูมิภาค ใครจะเดือดร้อน ก็ปล่อยเขาไป เขาก็ไปเข้าคิวผ่านช่องแคบมะละกากันต่อไป สินค้าของไทยก็เข้าออกทางอ่าวไทยต่อไป
ปัญหาของการขนส่งทางทะเลของบ้านเรา คือ เส้นทางเข้ามาอ่าวไทย ถูกเพื่อนบ้านจับจองอาณาเขตทางทะเลไปจนหมดแล้ว แต่สิทธิการเดินเรืออย่างเสรีในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศอื่นๆ ตามกฎหมายทะเล (UNCLOS) ก็ยังคงทำได้อยู่ ยกเว้นจะมีกรณีพิพาทระหว่างประเทศ
แต่ถ้าต้องการเส้นทางขนส่งทางทะเลข้ามมหาสมุทรทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย มีทางเลือกที่สำคัญ คือ การใช้เส้นทางข้ามพรมแดนระหว่างสองประเทศ เช่น ท่าเรือทวาย ที่พม่า เข้ามาทางตะวันตก เส้นทางนี้สำหรับการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ผ่านเส้นทางไหน จะแนวเดียวกับท่อก๊าซเดิมหรือไม่ ค่อยว่ากันอีกที หรือจะมีสินค้าทางรถด้วยหรือไม่ ต้องศึกษากันอีกที
ทางเลือกต่อมา คือ ปีนัง สงขลา ใช้กลไกทางภาษี และความร่วมมือระหว่างกัน เส้นทางนี้สำหรับการขนส่งสินค้า ท่อน้ำมัน จะมีหรือไม่ ค่อยศึกษากันอีกที ทุกวันนี้รถคอนเทนเนอร์ ก็วิ่งกันพล่านอยู่แล้ว ที่ต้องปรับปรุง คือ เส้นทาง และกลไกการผ่านด่านตรวจระหว่างประเทศ ที่ด่านสะเดา ที่ต้องเจรจาร่วมกัน
ส่วนเส้นทางการขนส่งเส้นอื่นๆ ทางมหาสมุทรแปซิฟิค ที่ไม่ผ่านทางอ่าวไทย ที่เป็นไปได้ คือ การพัฒนาความร่วมมือ เวียดนาม ลาว และทางภาคอีสานของไทย สินค้าเกษตรทางภาคอีสาน ก็ส่งออกทางถนนที่จะต้องพัฒนาร่วมกันเป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจ เพื่อเชื่อมต่อไปยังท่าเรือของประเทศเวียดนาม
แล้วให้ไทยมีแค่ท่าเรือทางฝั่งทะเลอันดามัน เท่าที่จำเป็น ไม่ต้องใหญ่มาก ซึ่งมีแนวท่าเรือเดิมอยู่แล้ว เป็นท่าเรือ และเส้นทางสำรองสำหรับการขนส่งทางทะเล ในกรณีที่เกิดปัญหาระหว่างประเทศ ใช้เมื่อมีปัญหาวิกฤตของประเทศเท่านั้น แต่ไม่ใช่การตั้งหน้าตั้งตาจะเปลี่ยนแปลงประเทศ เปลี่ยนแปลงสังคม และวิถีชีวิตของชุมชน เพื่อไปสนับสนุนการขนส่งทางทะเลของภูมิภาค เหมือนอย่างที่คิดกันตอนนี้ เราแค่ต้องการส่งสินค้าออกทางทะเลให้ได้ก็พอแล้ว
ส่วนชายฝั่งทะเลอันดามัน ขอใช้ประโยชน์การท่องเที่ยวทางทะเลไปก่อน จนกว่าการท่องเที่ยวจะพัฒนาไปจนถึงจุดที่ทรัพยากรธรรมชาติพังพินาศหมด (ถ้าไม่ช่วยกันรักษา) ค่อยเอามาพัฒนา ก็ยังได้
หลักคิดง่ายๆ คือ ทรัพยากรบ้านเราเก็บไว้ก่อน กิจกรรมอะไรที่เสี่ยงภัย ก็ให้ไปอยู่ประเทศอื่นไปก่อน เมื่อไรวิกฤตจริงๆ ค่อยเอามาใช้ก็ได้
ที่สำคัญคือ รีบร้อนพัฒนาการขนส่งทางทะเล ในขณะที่กิจการพาณิชยนาวี และการเดินเรือของไทยเองยังไม่พร้อมเลย กิจการพาณิชยนาวี และการเดินเรือทางทะเล อยู่ในมือคนต่างชาติเกือบ 90 เปอร์เซนต์ คิดเป็นมูลค่าการขนส่งสินค้าและการเดินเรือทางทะเล เกือบหกล้าน ล้านบาท ดังนั้น ผลประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดขึ้นในธุรกรรมพาณิชยนาวีของไทย คือ คนต่างชาติครับ