“พล.ร.ท.ปทีป” โต้บทความ “สรจักร” ยันสนธิสัญญา 1907 มีผลต่อเขตแดนทางทะเลอย่างชัดเจน เพราะทำให้เกิดหลักเขตที่ 73 ซึ่งกัมพูชาใช้อ้างเป็นจุดเริ่มต้นในการขีดเส้นไหล่ทวีปและทะเลอาณาเขต ด้าน “ดร.สุวันชัย” ชำแหละให้ข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนหลายประเด็น ขาดการอ้างอิง พร้อมเหน็บบทความเตือนคนอื่นอย่าใช้อารมณ์ แต่ตัวเองกลับใช้เอง
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “คนเคาะข่าว”
วันที่ 15 ก.ย. เมื่อเวลา 20.30 น. พล.ร.ท.ปทีป ชื่นอารมณ์ อดีตผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการลำน้ำโขง และดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว”
พล.ร.ท.ปทีปกล่าวว่า ได้อ่านบทความของอาจารย์สรจักร เกษมสุวรรณ ถ้าคนที่ไม่ได้ติดตามข้อมูลอ่านแล้วคงเห็นว่าเป็นบทความที่ดูดีมีเหตุผล ต้องยอมรับว่าท่านเป็นบุคคลมีความรู้ เป็นผู้ที่ทำดุษฎีนิพนธ์เกี่ยวกับพื้นที่ทางทะเลของอาเซียน เป็นผู้สอนกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายทะเล ก็ยิ่งสร้างความน่าเชื่อถือให้บทความ แต่ตนในฐานะประชาชน ได้อ่านหนังสือ และปฏิบัติงานในพื้นที่มาเป็นเวลานาน มีความเห็นต่างขอแบ่งเป็นประเด็นๆ ประเด็นแรกนายสรจักรระบุว่า “สนธิสัญญา ค.ศ. 1907 นี้ ที่กล่าวว่าแนวพรมแดนระหว่างอินโดจีนของฝรั่งเศสกับสยาม เริ่มจากทางทะเล ณ จุดที่อยู่ตรงข้ามจุดสูงสุดของเกาะกูด จากนั้นแนวพรมแดนจากจุดนี้จะขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งข้อความนี้นี่เอง ที่นำมาสู่ปัญหาของการใช้สนธิสัญญา 1907 แต่ต้องพึงตั้งข้อสังเกตไว้ ณ ที่นี้ก่อนว่า สนธิสัญญาฉบับนี้เป็นการแบ่งเขตแดนทางบก มิได้มีส่วนใดเกี่ยวกับเขตแดนทางทะเล” นี่คือบทความของนายสรจักร ซึ่งตนเห็นแย้งว่าสนธิสัญญา 1907 มีความเกี่ยวข้องกับเขตแดนทางทะเล เพราะหลักเขตที่ 73 มันเกิดจากผลงานคณะกรรมการเขตแดนสยาม-ฝรั่งเศส เพราะตำบลที่สุดท้ายที่เกิดจากสนธิสัญญา 1907 มันทำให้เกิดหลักเขตที่ 73 ซึ่งตั้งอยู่เป็นหลักเขตสุดท้ายที่ตั้งอยู่ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จ.ตราด
เมื่อหันไปดูเอ็มโอยู 2544 กำหนดว่าเส้นเขตไหล่ทวีปลากจากหลักเขตที่ 73 ตรงมายังยอดสูงสุดของเกาะกูด จะเห็นว่า เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาลากตามสนธิสัญญา 1907 เลย เพียงแต่เราเห็นแย้งในความหมาย ว่าไม่ใช่ลากเส้นจากจุดสุดท้ายของหลักเขตสุดท้ายบนบกมาที่เกาะกูด แต่หมายถึงให้มองจากยอดสูงสุดของเกาะกูดไปชนฝั่ง ณ ที่ใด ตรงนั้นเป็นหลักเขตทางบก แต่กัมพูชาได้ตีความกลับกัน นั่นคือตนเห็นว่าสนธิสัญญา 1907 เกี่ยวข้องกับเขตแดนทางทะเล เพราะกัมพูชานำไปตีความบิดเบือน และเมื่อมองดูการกำหนดเส้นไหล่ทวีปกัมพูชา และเส้นทะเลอาณาเขตกัมพูชา ล้วนแต่เริ่มจากหลักเขตแดนทางบกที่เกิดจากสนธิสัญญา 1907 ทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วบอกได้อย่างไรว่าไม่เกี่ยวกับหลักเขตแดนทางทะเล
ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง การที่เอ็มโอยู 2544 แนบแผนที่ท้ายบันทึก ลองสังเกตดูว่าใต้แผนที่แนบท้ายบันทึกเขียนมีนัยยะว่าการกำหนดเส้นที่เกิดจากสนธิสัญญา 1907 คือจากหลักเขตที่ 73 ให้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของจุดนี้ นั่นหมายความว่าจากการกำหนดหลักเขต 73 มีผลกระทบต่อเส้นเขตแดนทะเล หากเขตนี้ผิด ย่อมมีผลต่อการขีดเส้นไหล่ทวีปและทะเลอาณาเขต เพราะกัมพูชาอ้างจากจุดนี้เป็นจุดเริ่มต้น
พล.ร.ท.ปทีปกล่าวอีกว่า ประเด็นต่อไปคือ อ.สรจักรบอกว่า “ข้อเท็จจริงปรากฏอยู่อย่างชัดเจนว่า เกาะกูด แม้จนทุกวันนี้ก็เป็นของไทยโดยสมบูรณ์ ในทุกแง่มุม ไม่ว่าแง่มุมของทางการเมืองและการบริหารปกครอง” ตรงนี้ตนเห็นแย้งในแง่การให้คำจำกัดกความของการเป็นเจ้าของเกาะกูด เพราะมันไม่ใช่เฉพาะแผ่นดินที่เราเป็นเจ้าของ แต่เราเป็นเจ้าของรวมไปถึงทะเลอาณาเขตรอบเกาะ 12 ไมล์ทะเลด้วย
ส่วนประเด็นที่ อ.สรจักรระบุว่า “เขตไหล่ทวีปนั้น เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่ที่มีคำตัดสินของศาลโลกเมื่อปี 1969 ในคดีระหว่างเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และเดนมาร์ก ที่ต้องการแบ่งเขตไหล่ทวีประหว่างกันในทะเลเหนือ ซึ่งศาลให้หลักการปักปันเขตแดนทางทะเลที่ถือว่าเป็นหลักจารีตของกฎหมาย ระหว่างประเทศว่า ประเทศที่มีชายฝั่งประชิด หรือตรงข้าม จะต้องเจรจาเพื่อทำความตกลงที่นำไปสู่ข้อยุติโดยสันติ ที่เป็นธรรม และในการปักปันเขตทางทะเลนั้น วิธีการต่างๆ ในการแบ่งเขต เช่น เส้นมัธยฐาน ซึ่งเคยเชื่อกันว่าเป็นหลักกฎหมายในการปักปันเขตทางทะเลนั้น ศาลบอกว่าเป็นแค่วิธีการหนึ่งที่กฎหมายให้นำไปใช้ได้เท่านั้น ไม่ใช่หลักกฎหมายตายตัว ทั้งนี้เพราะสภาพแวดล้อมในแต่ละกรณีแตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง คำตัดสินนี้ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกพยายามหาวิธีการเพื่อขยายเขตทางทะเลในส่วนที่เป็นไหล่ทวีปกันเป็นการ ใหญ่ โดยพยายามหาทุกเหตุผลมาใช้เพื่ออ้างเขตไหล่ทวีปของตนเองให้ “เวอร์” มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
ดร.สุวันชัยกล่าวว่า อ.สรจักรให้ข้อมูลไม่ครบ รัฐที่อยู่ประชิดชายฝั่งปกติตามอนุสัญญาเจนีวาปี 1958 จะใช้เส้นมัธยะ ส่วนถ้ารัฐที่มีฝั่งทะเลตรงข้ามกันก็จะใช้หลักการระยะเท่ากัน ทีนี้ในคดีปี 1969 ชายฝั่งมันมีความแตกต่างกับไทย ของไทยกับกัมพูชาชายฝั่งประชิดกัน มันชัดเจนไม่มีอะไรพิสดาร ฉะนั้นโดยหลักการใช้เส้นมัธยะเหมาะสมสุดแล้ว แต่คดีปี 1969 ชายฝั่งเขามีความพิสดาร ใช้เส้นมัธยะจะไม่ยุติธรรม เลยใช้หลักของความเที่ยงธรรม อ.สรจักรต้องบอกด้วยชายฝั่งของคดีนั้นมีลักษณะพิเศษ ไม่ควรเอามาใช้กับไทย
มาประเด็นอื่นๆ อ.สรจักรเขียนว่า “เมื่อสองฝ่ายต่างเห็นความจำเป็นว่าต้องเจรจาปักปันเขตทาง ทะเลกัน และฝ่ายไทยจะไม่แสดงเจตนาจะเจรจาด้วยเด็ดขาด ถ้ากัมพูชาไม่ทำตามหลัก สามัญสำนึกง่ายๆ นี้ ก็น่าจะเป็นที่มาของการที่กัมพูชายอมแก้ไขเส้นแนวอ้างสิทธิไหล่ทวีปในแผนที่ แนบท้าย MOU 44 ให้อ้อมด้านใต้ของเกาะกูด แทนที่จะผ่ากลาง” อาจารย์พยายามบอกว่ากัมพูชาได้แก้ไขเส้นจากการผ่ากลางเกาะกูดมาอ้อมแทน อันนั้นไม่ใช่เพราะกัมพูชาได้ขีดอ้อมเกาะกูดอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2515 เราไปเอาแผนที่แนบของกัมพูชาที่ประกาศไหล่ทวีปก็ยืนยันอยู่แล้วว่าอ้อมไม่ได้ผ่าน
อันที่ 2 อาจารย์บอกว่า “การที่ไทยยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ในเอ็มโอยู 2543 น่าจะเป็นส่วนสำคัญให้สามารถลงนามใน MOU 44 โดยกัมพูชายอมแก้ไขเส้นอ้างสิทธิทางทะเลที่ขีดทับเกาะกูด เป็นการแสดงท่าทีที่ดีต่อกันของทั้งสองฝ่าย” อันนี้ก็ไม่ใช่อาจารย์คงไม่ชัดเจนในเรื่องนี้
และที่บอกขีดเส้นเขตไหล่ทวีปให้เว่อร์ไว้ก่อน ตนเห็นด้วยทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง แต่ก็ต้องขีดด้วยหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ใช่ขีดอย่างไรก็ได้ มันต้องมีหลักการณ์
“ถ้าอ่านบทความของอ.สรจักร จะเห็นว่าไม่ใช่บทความทางวิชาการ แต่เขียนจากความรู้สึก เพราะไม่ได้อ้างหลักฐานอะไร แต่ใช้คำว่าน่าจะ เข้าใจว่า บทความนี้มีหัวข้อว่า อารมณ์ อคติ ข้อเท็จจริง กับ ประเด็นกฎหมาย อาจารย์ก็ใส่อารณ์ในบทความนี้ด้วย การเขียนเตือนคนอื่นว่าอย่าใช้อารมณ์ ตัวเองก็ต้องอย่าใช้ด้วย” ดร.สุวันชัย กล่าว