xs
xsm
sm
md
lg

“พล.ร.ท.ประทีป” เผยผลประโยชน์เตะตา ทำบิ๊กการเมืองอุ้ม MOU สุดฤทธิ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมณ์
“พล.ร.ท.ประทีป” ซัด รบ.อ่อนแอมีแต่ตั้งรับทางทหารถือว่าแพ้แล้ว เผยแผนที่แนบท้ายเอ็มโอยู 43 กำหนดให้ปักหลักเขต 73 ใหม่ แฝงนัยยะเขมรจ่อฮุบอาณาเขตทางทะเลแต่เพียงผู้เดียว ปูดสุดพิสดาร “เทพเทือก” โดดนั่ง ปธ.คณะปักปันแบ่งผลประโยชน์ทางทะเล เชื่อเงื่อนงำเขมรให้สัมปทานน้ำมันฝรั่งเศสเชื่อมโยงต่อการตัดสินความเป็นมรดกโลกของเขาพระวิหาร


 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ “รวมพลังปกป้องแผ่นดิน” ปาฐกถาโดย “พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมณ์”  

พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมณ์ กล่าวในเวทีสัมมนา “รวมพลังปกป้องแผ่นดิน” ถ่ายทอดทางสถานีเอเอสทีวี ทีวีของประชาชน จากโรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น ถึงคำพูดของนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ที่พูดว่าเอ็มโอยู 43 มีจุดอ่อนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยกเลิกไปเสีย ซึ่งแน่นอนว่านายกฯ ต้องเถียงว่าหากยกเลิกแล้วจะไม่สามารถเจรจากับกัมพูชาได้ แท้ที่จริงแล้วเรายังสามารถใช้ อนสัญญา ค.ศ.1904 สนธิสัญญา ค.ศ. 1907 ประกอบกับผลการตัดสินคดีปราสาทเขาวิหาร เป็นตัวกำหนดบทบาทด้านอธิปไตยได้ และที่นายปานเทพเห็นว่ารัฐบาลควรถอนตัวจากภาคีมรดกโลก นายกฯ ก็ต้องอ้างว่า แล้วเดือนมิถุนายนเราจะใช้เวทีอะไรไปเจรจากับกัมพูชา ตรงนี้ตนอยากให้ข้อคิดว่า หากเราถอนตัวจากภาคีมรดกโลกแล้ว ทำไมเราจะต้องไปฟังผลการเจรจาอีก ส่วนที่นายปานเทพบอกให้ถอนเอ็มโอยู 43 นายกฯ ก็จะพูดอีกว่ามีเอ็มโอยู 43 ทำให้กัมพูชาให้ถอนทหาร สิ่งปลูกสร้างและชาวกัมพูชาออกไป สิ่งนี้นายกฯ พูดถูก แต่ถูกไม่หมด เพราะฮุนเซนบอกที่ถอนทหาร ประชาชน เนื่องจากเป็นเงื่อนไขของยูเนสโก ระบุให้ต้องมีพื้นที่จัดการ และเอ็มโอยู 43 ที่นายกฯ บอกว่าศักดิ์สิทธิ์ ผลการเจรจาระหว่างฝ่ายบริหารหากเกิดข้อผิดพลาดใดๆ ระหว่างที่ยังปักหลักเขตแดนไม่ได้ ให้ใช้การเจรจาอย่าฟ้องขึ้นสู่ศาล แล้วกรณีจับ 7 คนไทยขึ้นศาลเขมร นายกฯ จะว่าอย่างไร ในเมื่อนายกฯ ตอบไม่ได้ ตนตอบแทนนายกฯ ก็ได้ ว่า เราก็ต้องยอมอ่อนข้อให้เขาสิครับ

พล.ร.ท.ประทีปกล่าวถึงกรณีที่เขมรจับคนไทยว่า เป็นกรณีจับ 7 คนไทยเป็นตัวประกัน ไม่ใช่การจับกุม 7 คนไทยในข้อหารุกล้ำอธิปไตย เพราะการจับในข้อหารุกล้ำอธิปไตยจะไปสร้างเงื่อนไขการต่อรองด้านผลประโยชน์ ซึ่งขณะนี้จะเห็นได้ว่ากัมพูชาเริ่มมีการเจรจาต่อรองเรื่องผลประโยชน์ในหลักเขตที่ 46-48 แล้ว การดำเนินการของไทยเป็นการทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ ถ้าเป็นทางทหารเรียกว่า “ตั้งรับด้วยการเจรจา” ในการรบทางทหานั้น การตั้งรับจะทำต่อเมื่อเป็นหนทางสุดท้าย การรบเพื่อให้ได้ชัยชนะเขาใช้ยุทธศาตร์ เชิงรุก ทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายสร้างปัญหาให้ไทยเป็นฝ่ายตามแก้ทั้งสิ้น อย่างนี้ไทยไม่แพ้วันนี้แล้วจะแพ้วันไหน ดังนั้น หากยังใช้เอ็มโอยู 43 ไม่ถอนตัวจากภาคีมรดกโลก การกระทำเช่นนี้สุ่มเสี่ยงต่อการเสียดินแดน และหากยังดื้อรั้นต่อไปจะไม่ใช่แค่สุ่มเสี่ยง แต่จะกลายเป็นว่าต้องสูญเสียเขตแดนร้อยเปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ เมื่อ ค.ศ.1908 มีการจัดทำหลักเขตแดน บทเจรจากำหนดหลักเขตสุดท้ายบริเวณชายทะเล จ.ตราด ว่าหลักเขตที่ 73 ให้เล็งจากยอดสูงสุดของเกาะกรูดมาตัดตรงข้าม ณ ชายฝั่ง ตัดจุดใดให้ตรงนั้นเป็นหลักเขตสุดท้ายระหว่างไทย-กัมพูชา คำว่า ตรงข้าม หมายถึง เส้นที่ลากจากยอดสูงสุดของเกาะกรูดขนานไปในแนวนอนของละติจุดไปตัด ณ ชายฝั่งตรงใดตรงนั้นจะเป็นหลักที่ 73 ผลปรกกฏว่า จุดตัดเป็นบ้านโอบยางของกัมพูชา แต่ฝรั่งเศสบอกว่า ไม่ได้หากไปตัดตรงนั้นจะเป็นปัญหาทางด้านการปกครอง พร้อมกับขู่ว่าไม่แน่ใจว่าหากให้ตัดบ้านโอบยางแล้ว ในอนาคตหลักเขตที่ 73 อาจรุกล้ำไปในเขตไทยมากกว่านี้ เลยทำให้ไทยต้องยอมรับหลักที่ 73 อยู่ที่บ้านหากเล็ก จ.ตราด

อย่างไรก็ดี ต่อมาในแผนที่แนบท้ายเอ็มโอยู 43 กัมพูชาเขียนข้อความไว้ว่า การแก้ไขปัญหาพื้นทีทับซ้อนทางทะเล 2.7 ตารางกิโลเมตร นั้น ให้ตรวจสอบความถูกต้องของหลักเขตที่ 73 ตรงจุดนี้แฝงไว้ด้วยนัยยะที่สำคัญ แทนที่จะเขียนว่าให้ตรวจสอบสอบความถูกต้องของเส้นที่ลากจากหลักเขตที่ 73 มายังอ่าวไทยใหม่ จุดนี้ทำให้ตนตั้งสมมติฐานได้ว่า กัมพูชาเข้าใจว่าหลักเขตที่ 73 น่าจะเลยบ้านหาดเล็กเข้ามาในเขตไทยอีก 1-2 กิโลเมตร เพราะหากไม่เป็นประโยชน์ต่อกัมพูชาแล้วกัมพูชาคงไม่ตั้งเงื่อนไขไว้ในท้ายแผนที่ ดังนั้นหากรัฐบาล กองทัพ ยังอ่อนแอหลักเขตที่ 73 อาจต้องขยับเข้ามาในเขตไทย จนทำให้บ้านหาดเล็กต้องเป็นของกัมพูชาก็ได้

พล.ร.ท.ประทีปกล่าวต่อว่า กฎหมายทะเลระหว่างประเทศ กำหนดว่า รัฐใดที่เป็นเจ้าของพื้นที่ทะเลอาณาเขต รัฐนั้นมีสิทธิในพื้นที่จากชายฝั่งสู่อาณาเขตทางทะเล 12 ไมล์ทะเล โดยให้ถือว่าเป็นพื้นที่สิทธิเฉกเช่นแผ่นดินของรัฐนั้น หมายความว่า รัฐนั้นสามารถออกกฎหมายบังคับ ดูแลทรัพยากรทั้งบนดินและใต้พื้นดินโดยสมบูรณ์แบบ ดังนั้นการที่กัมพูชา ลากเส้นอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลรอบเกาะกรูด เป็นการรุกล้ำอธิปไตยของไทยโดยเจตนา อีกประการหนึ่งตามกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ระบุให้รัฐชายฝั่งสามารถกำหนดความกว้างของเส้นไหล่ทวีปออกไปในทะเลยาวไม่เกิน 200 ไมล์ทะเล หาดดูต่อไปพื้นที่อ่าวไทยตั้งแต่สงขลาจรดแหลมกาเมา มีความกว้างเพียง 240 ไมล์ทะเล ดังนี้ถ้ารัฐชายฝั่งที่ตั้งอยู่บนอ่าวไทยทุกประเทศประกาศเขตออกไป 200 ไมล์ จะทำให้มีพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา ซึ่งแน่นอนว่าไทยกับเวียดนามหรือมาเลเซียอาจตกลงกันได้ แต่ที่ตกลงกันไม่ได้เลยคือ กำพูชา เมื่อเป็นเช่นนี้กฎหมายกำหนดว่า ให้รัฐชายฝั่งที่เป็นเจ้าของพื้นที่ไหล่ทวีปมีสิทธิอธิปไตยในพื้นที่ทะเลอาณาเขตด้วย เท่ากับว่าเราต้องเสียพื้นที่ทรัพย์ยากรใต้ท้องทะเลที่มีอยู่อย่างมหาศาลให้กัมพูชา

พล.ร.ท.ประทีปกล่าวถึงกรณีที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์โต้แย้งว่า พื้นที่ใต้ทองทะเล 2.7 หมื่่นตารางกิโลเมตร จะมีมูลค่าถึง 5 ล้านล้านบาท เชียวหรือ โดยชี้ให้ดูแผนที่ซึ่งเป็นพื้นที่สีชมพู



ว่า ขณะนี้ไทยได้ขุดเจาะแก๊ส น้ำมัน มาใช้ในปี 2551 เป็นมูลค่าถึง 3 เสนล้านบาท ขณะที่ส่งออกข้าวสามารถสร้างรายได้ให้ไทยปีละ 2 แสนล้านบาทเท่านั้น แล้วถ้าหากเป็นพื้นที่ 2.7 หมื่นตารางกิโลเมตร จะสร้างมูลค่าเท่าไร ทั้งนี้ผลการศึกษาของนักธรณีวิทยาต่างชาติ ระบุเป็นเสียงเดียวกันว่าปริมาณน้ำมัน แก๊ส ในอ่าวไทยนี้มีคุณภาพสูงที่สุดและดีที่สุดของโลก ส่วนเราจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับบทบาทชอง ปตท. ซึ่งก็มีเงื่อนงำการบริหารของ ปตท. หากอยากรู้ก็ให้ติดตามต่อไปลึกๆ แล้วจะเห็นว่า ผลประโยชน์ ปตท. เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์น้ำมันทะเล เกี่ยวข้องกับนักการเมือง เกี่ยวข้องกับข้าราชการระดับบิ๊กทั้งสิ้น

พล.ร.ท.ประทีปกล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาทางทะเลเราใช้เอ็มโอยู 44 ทำขึ้นในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำหนดให้มีคณะกรรมการเขตแดนร่วม เรียกว่า เจทีซี คณะกรรมการชุดนี้ตั้งกรรมการมาสองคณะ ให้แยกกันคณะหนึ่งดูสีเขียวในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ทางทะเล คณะหนึ่งให้ดูแลเส้นสีเหลืองในเรื่องเส้นเขตแดน มีข้อตกลงอยู่ข้อหนึ่งว่าการเจรจาเส้นเขตแดนต้องเจรจาพร้อมกันทั้งสีเขียว และสีเหลือง



ทั้งนี้ ตั้งแต่มีเอ็มโอยู 44 ผลการเจรจาในพื้นที่สีเหลืองไม่เคย ก้าวหน้าและไม่เคยกล่าวถึงเลย จะมีก็แต่ผลตกลงกันเรืองผลประโยชน์ในพื้นที่สีเขียว ทั้งนี้หากดูความเคลื่อนไหวของข้อตกลงนี้ต่อมา ปรากฏว่าประธานเจทีซี ปกติจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่ไม่รู้อย่างไรกลายมาเป็น เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง

อย่างไรก็ดี ผลประโยชน์ 2.7 หมื่น ตร.กม. ยังไม่มีประเทศไหนตักตวงไปใช้ได้ เพียงแต่ให้สัมปทาน ตรงนี้ก็มีมีนัยะสำคัญ ส่งผลถึงคณะกรรมการมรดกโลก ดูได้จากประเทศไทยให้สัมปทานแก่ อเมริกัน อังกฤษ จีน ส่วนกัมพูชาให้สัมปทาน อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และมีอีกมีหนึ่งประเทศที่ไทยไม่ให้สัมปทานแต่กัมพูชาให้สัมปทาน คือ ประเทศ ฝรั่งเศส ซึ่งประเทศฝรั่งเศสจะว่าไปแล้วก็เป็นคนหนุนหลังเขมร เป็นตัวจักรสำคัญในการขึ้นทะเบียนเขาวิหารเป็นมรดกโลก ดังนั้น ย่อมทำให้เห็นได้ว่าการเอื้อผลประโยชน์มีผลกระทบต่อการตัดสินความเป็นมรดกโลกของเขาพระวิหาร


กำลังโหลดความคิดเห็น