xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” จี้รัฐฯ ตั้ง คกก.อิสระแก้เขตแดน รบ.อ้าง ม.190 ใช้เวทีรัฐสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน
“ส.ว.คำนูณ” จี้กระทู้ถามกรอบเจรจาการร่วมลงทุนผลิตก๊าซ ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชา เสนอ รบ.ตั้ง คกก.อิสระฯ เพื่อแก้ปัญหาเขตแดนฯ โดย รบ.ยืนยันจะแก้ปัญหาผ่านรัฐสภาตาม รธน.190


วันนี้ (12 ก.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้ตั้งกระทู้ถามด่วนเรื่องกรอบการเจรจากับกัมพูชาในการร่วมลงทุนผลิตก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน ในเขตพื้นที่ที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย โดยนายคำนูณกล่าวว่า ขอสอบถามความชัดเจนจากรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหานี้และจะใช้หลักเกณฑ์ใดในการเจรจาในเมื่อรัฐบาลชุดที่แล้วมีมติคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนซ้อนกัน พ.ศ. 2544 ไปแล้วเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2552

“ยอมรับว่าปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชานั้นมีมานาน และควรหาแนวทางเพื่อให้เกิดการแก้ไขที่เป็นระบบ ดังนั้น ขอเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อนำองค์ความรู้จากประชาชนที่เห็นด้วยต่อแนวทางแก้ไขของรัฐบาลหรือเห็นต่าง มาทำเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ได้แก่ เขตแดนทางบก, เขตแดนทางทะเล, การแสวงหาผลประโยชน์ทางพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอ่าวไทย” นายคำนูณกล่าว

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า รัฐบาลยึดถือตามแนวทางของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ที่กำหนดให้รัฐที่มีฝั่งทะเลตรงข้าม หรือประชิดกัน กำหนดเขตทางทะเลด้วยการตกลงระหว่างกันเพื่อให้บรรลุผลเที่ยงธรรม และหากไม่สามารถบรรลุผลการตกลงระหว่างกันได้จะต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้มีข้อตกลงชั่วคราวร่วมกันสำหรับใช้ปฏิบัติ โดยจะไม่ต้องกระทบต่อการกำหนดเขตแดนทางทะเลในขั้นสุดท้าย

“ไทยและกัมพูชาได้ต่างอ้างสิทธิในไหล่ทวีป และเขตแดนทางทะเลในอ่าวไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2515-2516 โดยมีการเจรจามานานกว่า 30 ปีแต่ยังไม่ได้ข้อยุติ รัฐบาลทั้งสองประเทศจึงได้ทำข้อตกลงร่วมกันเมื่อปี 2544 เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการเจรจาระหว่างกันแบ่งเขตแดนให้ชัดเจนและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดนี้จะทบทวนมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับเอ็มโอยู 2544 นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาข้อดีข้อเสียและขั้นตอนแนวทางการเจรจาเอาไว้แล้ว ยืนยันว่ารัฐบาลจะยึดประโยชน์ของประเทศและจะเสนอกรอบการเจรจาให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190” นายยงยุทธกล่าว

นายยงยุทธกล่าวว่า ตอนนี้มีพื้นที่ทับซ้อนกัน 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิการอ้างสิทธิอธิปไตยของตัวเองและไทยกัมพูชาก็ต่างไม่ยอมสิทธิการอ้างเส้นเขตแดนทางทะเลระหว่างกัน แต่ปัญหาพื้นที่ทางทะเลจะต้องแก้ไขด้วยการเจรจาเหมือนกับที่เคยใช้แนวทางนี้กับประเทศมาเลเซียจนเป็นผลสำเร็จเมื่อปี 2522 ดังนั้น การเจรจาจะต้องไม่กระทบสิทธิของแต่ละประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น