xs
xsm
sm
md
lg

‘ปชป. - MOU 44’ สมแล้วกับสมญา ‘ดีแต่พูด!’

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ไม่แปลกหรอกครับที่แทบจะทันทีที่ขึ้นมาบริหารประเทศ รัฐบาลชินวัตรผู้น้องจะมีแนวคิดเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์จากแหล่งพลังงานในอ่าวไทยในเขตพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาที่มีมูลค่ามหาศาลประเมินกันว่า 5 ล้านล้านบาท แต่แปลกครับที่พรรคประชาธิปัตย์ยังมีหน้ามาพูดจ๋อยๆๆๆ ในสภาว่ากรอบการเจรจาเรื่องนี้กับกัมพูชาคือ MOU 2544 มันไม่เป็นธรรมสมควรจะต้องยกเลิก

เพราะถ้าเป็นผมคงจะอายจนคงระวังตัวไม่พูดเรื่องนี้ให้มันดังมากนัก

แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่อาย!

รัฐบาลชินวัตรผู้พี่ถือเป็นวาระแห่งชาติอยู่ในใจลึกๆ เลยทีเดียวที่จะไปแสวงหาประโยชน์มหาศาลตรงนั้น ทันทีที่ขึ้นมาบริหารประเทศแม้ยังมีคดีคาอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญท่านก็ไม่ลังเลที่จะลงนามในเอ็มโอยู 2544 หรือชื่อเต็มๆ ว่าบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ข้อเสียหายของเอ็มโอยูฉบับนี้คือไปยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศขึ้นอย่างไม่มีหลักกฎหมายรองรับเมื่อปี 2515 เพราะเป็นเส้นที่ลากจากเขตแดนไทย-กัมพูชาทางบกหลักที่ 73 ตรงมายังเกาะกูดซึ่งเป็นของไทยตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1907 ข้อ 2 แล้วอ้อมตัวเกาะเป็นรูปครึ่งวงกลมก่อนจะลากตรงต่อไปกลางอ่าวไทย ก่อให้เกิดเป็น “พื้นที่ทับซ้อน” มหาศาลถึง 26,000 ตารางกิโลเมตรระหว่างเส้นวิปลาสขาดสตินี้กับเส้นเขตไหล่ทวีปที่ไทยประกาศตามมาในปี 2516 ที่ลากจากหลักเขตที่ 73 ตรงไปยังจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทยกับเกาะกงของกัมพูชาตรงออกไปกลางอ่าวไทย

รัฐบาลชินวัตรผู้พี่ยังปรับเปลี่ยนโครงสร้างเรื่องพลังงานในไทยอีกหลายประการต่อเนื่องจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูประบบราชการก่อตั้งกระทรวงพลังงาน การแปรรูป ปตท. และความพยายามแปรรูป กฟผ. รวมทั้งความสัมพันธ์กับผู้นำประเทศที่มีแหล่งน้ำมันและนักธุรกิจที่มุ่งจะลงทุนในธุรกิจน้ำมัน

ก่อให้เกิดความสงสัยว่าจะเป็น “วาระแห่งชาติ” หรือ “วาระแห่งชินฯ” กันแน่?

พรรคประชาธิปัตย์ก็รู้เรื่องนี้ดียิ่งว่านี่คือหัวใจของชินวัตรผู้พี่ เมื่อครั้งที่ชินวัตรผู้พี่เดินทางเข้ากัมพูชาด้วยเครื่องบินส่วนตัวเพราะเหตุที่รัฐบาลกัมพูชาตั้งเขาเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ช่วงปี 2552 บวกกับการที่สมเด็จฮุนเซนตอบโต้รัฐบาลประชาธิปัตย์ในขณะนั้นอย่างก้าวร้าว จึงมีมติ ครม.ทุบหัวใจชินวัตรผู้พี่และสมเด็จฮุนเซนทันที

ครม.ประชาธิปัตย์มีมติให้ยกเลิกเอ็มโอยู 2544 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552!

แต่ก็แค่นั้น!!

เพราะลำพังมติ ครม.เป็นเรื่องภายในประเทศของเราเอง ไม่เกี่ยวกับข้อตกลงระหว่างประเทศ หากจะให้เป็นผลจริงๆ ต้องมีกระบวนการอื่นอีก คือ การแจ้งความจำนงไปยังรัฐบาลของประเทศที่เราไปตกลงด้วย สำหรับกฎเกณฑ์ของบ้านเราเองยังมีปัญหาว่าจะต้องขออนุมัติจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 190 หรือไม่ ซึ่งมีความเห็นแตกต่างเป็น 2 ฝ่าย เนื่องจากข้อความในตัวบทกล่าวเฉพาะการทำสัญญาไม่ได้กล่าวถึงการเลิกสัญญา แต่ในเมื่อเป็นปัญหาหากจะเอาเข้ารัฐสภามาให้อภิปรายกันก็ไม่เสียหาย

แต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ไม่ทำอะไรเลยตลอดระยะเวลา 1 ปี 7 เดือนต่อมา!!

เอ็มโอยู 2544 ก็เลยยังคงดำรงอยู่!

ผมเคยตั้งกระทู้ด่วนถามนายกรัฐมนตรีเรื่องพลังงานในอ่าวไทยตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 เมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลกัมพูชาให้สัมปทานบริษัทโททาลของฝรั่งเศส กว่ากระทู้จะได้รับการบรรจุก็อีก 1 ปี 4 วันต่อมา เพราะท่านประธานวุฒิสภาวินิจฉัยว่าไม่ใช่กระทู้ด่วน ก็เลยต้องไปเข้าคิวต่อจากกระทู้ปกติ โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาตอบในวุฒิสภาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2553

นายกษิต ภิรมย์ตอบผมว่าเรื่องยกเลิกเอ็มโอยู 2544 นี้จะต้องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ กระทรวงการต่างประเทศโดยกรมสนธิสัญญากำลังศึกษาพิจารณาข้อกฎหมายให้รอบคอบเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาต่อไป โดยจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศทางกฎหมายทะเล 3 คนมาช่วยทำงาน

จำได้ว่า ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2553 นั้นผมต้องการให้เรื่องนี้บันทึกเป็นประวัติศาสตร์จึงลุกขึ้นถามต่อไปว่ามันใกล้จะหมดวาระรัฐบาลแล้วนะ เมื่อไรจะเสนอต่อรัฐสภาได้ แล้วก็ยังเสนอไปอีก 2 ประการว่า...

หนึ่ง - จะเลิกเอ็มโอยู 2544 อย่างเดียวไม่พอ จะต้องยกเลิกแถลงการณ์ร่วมระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาสมเด็จฮุนเซนฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ด้วย

สอง - รัฐบาลต้องชี้แจงกับประชาชนว่าที่จะต้องยกเลิกเอ็มโอยูฉบับนี้ ไม่ใช่เพราะแค้นเคืองใครเป็นส่วนตัว แต่เพื่อรักษาประโยชน์ของชาติ เพราะเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ลากผ่าอ้อมเกาะกูดนั้นมันวิปลาสเกินยอมรับได้ พื้นที่ทับซ้อนไม่ควรจะมีเลย หรือถ้ามีก็ไม่ควรมากถึง 26,000 ตารางกิโลเมตร

นายกษิต ภิรมย์ลุกขึ้นตอบชัดถ้อยชัดคำอย่างไร ผมขอสำเนารายงานการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 2 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2553 ณ ตึกรัฐสภา มาเก็บอยู่ในแฟ้มหลายเดือนแล้ว เพราะคาดว่าจะต้องใช้อ้างอิงแน่นอน

เฉพาะประเด็นเงื่อนเวลาที่จะเสนอขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาท่านตอบดังนี้ครับ...

“ผมตั้งเป้าจะให้เสร็จก่อนสิ้นปีนี้ครับ ก็คิดว่าเราจะมีเวลาอีกสองสามเดือนที่จะเร่งทำงาน....”

แต่จนแล้วจนรอด จนสิ้นปี 2553 ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มาจนกลางปี 2554 ก่อนยุบสภาก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น

แต่..จะว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเสียทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงในคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา หรือ JTC องค์กรที่เกิดขึ้นตามเอ็มยู 2544 ในส่วนของฝ่ายไทย ได้มีการเปลี่ยนตัวประธานจากนายวศิน ธีรเวศญาณเป็นอีกคนหนึ่งเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 หลังจากนายกษิต ภิรมย์มาตอบกระทู้ผม 3 เดือนเศษๆ ประธาน JTC ฝ่ายไทยเป็นคนสำคัญเสียด้วย...

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ!

ย้ำอีกครั้งนะครับว่านอกจากไม่เสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาให้ยกเลิกเอ็มโอยู 2544 แล้ว ยังปรับเปลี่ยนเอาบุคคลสำคัญของรัฐบาลและของพรรคมาดำรงตำแหน่งประธานตามองค์กรที่เกิดจากเอ็มโอยูแทนคนเก่าที่มาจากข้าราชการประจำ และดำรงตำแหน่งมาแต่ครั้งรัฐบาลชินวัตรผู้พี่

ผมจึงใช้คำเชิงตั้งข้อสงสัยในการอภิปรายนอกสภาว่า “รัฐบาลสวมตอ” ไงครับ!

เพราะมันชวนสงสัยชวนตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุที่ล่าช้าเป็นปีอย่างนี้ไม่น่าจะเพราะทำงานไม่เป็นอย่างเดียวเป็นแน่ มันน่าจะต้องมีวาระอื่นประกอบส่วนอยู่ด้วย

มันจึงเป็นเรื่องตลกเอามากๆ ที่เมื่อคืนวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ลุกขึ้นมาบอกให้รัฐบาลเพื่อไทยยกเลิกเอ็มโอยู 2544

สมแล้วละครับกับสมญา “ดีแต่พูด” ที่ได้รับ!
กำลังโหลดความคิดเห็น