xs
xsm
sm
md
lg

พม่านับหมื่นอพยพลี้ภัยไปฝั่งจีน เพราะเหตุขัดแย้งในกะฉิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ทหารกะฉิ่นยืนอยู่รอบร่างเพื่อนทหารที่อ้างว่าถูกสังหารในระหว่างการต่อสู้กับทหารของรัฐบาลพม่าในบริเวณพื้นที่ใกล้พรมแดนจีน และการปะทะกันระหว่างกองกำลังทหารของรัฐและกองกำลังกะฉิ่นทำให้ผู้คนในพื้นที่ต้องอพยพลี้ภัยข้ามพรมแดนไปฝั่งจีนแล้วนับหมื่นคน . --REUTERS/U.S. Campaign for Burma/Handout.  </font></b>

รอยเตอร์ - ผู้ลี้ภัยหลายพันคนที่อพยพหนีภัยการต่อสู้ในพื้นที่ห่างไกลทางภาคเหนือของพม่าหลั่งไหลเข้ามาในเมืองของจีนที่เวลานี้เต็มไปด้วยเต็นท์ชั่วคราวตามแนวพรมแดน กลายเป็นปัญหาวิกฤติด้านมนุษยธรรมและเป็นสถานการณ์ทางการทูตที่ซับซ้อนต่อรัฐบาลจีน

กลุ่มให้ความช่วยเหลือกล่าวกับรอยเตอร์ ว่า ผู้ลี้ภัยมากถึง 10,000 คน หลบหนีจากฝั่งพม่าเข้าไปยังพื้นที่ของมณฑลหยุนหนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เนื่องจากการต่อสู้กันระหว่างทหารพม่าและกองทัพอิสระกะฉิ่น (KIA) หนึ่งในกลุ่มกบฏที่มีกำลังมากที่สุดของพม่า และผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เด็ก และคนชรา

การต่อสู้ปะทุขึ้นหลังจากข้อตกลงหยุดยิงนาน 17 ปี ล้มเหลวเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ชนกลุ่มน้อยกะฉิ่นหลบหนีไปยังพื้นที่บริเวณพรมแดน

ความขัดแย้งครั้งนี้อาจเป็นอันตรายต่อความพยายามของพม่าที่จะโน้มน้าวให้สหภาพยุโรปและสหรัฐยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อประเทศ ทั้งยังชะลอความพยายามที่จะเปิดประเทศและการเป็นประชาธิปไตยหลังตกอยู่ใต้การปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการทหารหลายทศวรรษ

สหภาพยุโรปและสหรัฐฯกำหนดให้การตกลงสันติภาพกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยเป็นหนึ่งในสิ่งที่พม่าต้องดำเนินการก่อนนำไปสู่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร

แม้ว่าความตึงเครียดจากการต่อสู้จะผ่อนคลายลง แต่กลุ่มช่วยเหลือเกรงว่าประชาชนจำนวนมากจะหลบหนีข้ามแดน และทำให้สถานการณ์แย่ลง แม้ว่ารัฐบาลจีนจะยอมให้ตั้งค่ายลี้ภัย แต่ก็ไม่ยอมรับการมีอยู่ของค่ายเหล่านี้อย่างเป็นทางการ

“พวกเขาทั้งหมดไม่มีน้ำสะอาดดื่ม” นายลาริบ ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิบัติการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDP) และผู้ลี้ภัย กล่าวผ่านโทรศัพท์จากพม่า

“ในค่ายพักแรมบางค่าย มีการแพร่ระบาดของโรคท้องร่วง เราไม่มีอาหารเพียงพอที่จะมอบให้กับพวกเขา เรามีงบประมาณจำกัดสำหรับช่วยเหลือคนเหล่านี้ และผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไม่มีรายได้ ไม่มีสถานที่ให้ทำงานหารายได้เลี้ยงตัวเอง” ลาริบ กล่าว

ความเสี่ยงที่การต่อสู้จะลุกลามข้ามพรมแดนและการเพิ่มจำนวนของผู้ลี้ภัยชุดใหม่ที่จะอพยพเข้ามาฝั่งจีนเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลจีน

แม้ว่าพม่าจะเต็มไปด้วยความยากจนและความไม่มีเสถียรภาพ แต่จีนได้เข้าลงทุนโครงการต่างๆ เป็นจำนวนมากในพม่า เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เขื่อนไฟฟ้า และท่อส่งน้ำมันและก๊าซคู่ขนานเพื่อช่วยส่งพลังงานไปยังพื้นที่ทางภาคใต้ของจีนที่ความต้องการด้านพลังงานเติบโตอย่างมาก และเพื่อเลี่ยงการใช้เส้นทางขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาที่ติดขัด

หนีภัยสงคราม เว็บบล็อกชาวพม่านิรนาม
ภาพที่เผยแพร่ผ่านเว็บบล็อกในเดือน มิ.ย.2554 ซึ่งเป็นช่วงเดือนที่การสู้รบระหว่างทหารรัฐบาลกับกองกำลังของกะฉิ่นอิสระเคไอเอ (KIA) กำลังรุนแรงหนัก แสดงให้เห็นราษฎรท้องถิ่นจำนวนมาก ทยอยข้ามแดนเข้าไปในจีนและสร้างภาระหนักให้กับทางการคอมมิวนิสต์จีนมาตั้งแต่นั้น องค์กรพัฒนาภาคเอกชนที่ไม่สังกัดรัฐบาลกล่าวว่า ปัจจุบันมีชาวกะฉิ่นเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ตามแนวชายแดนมณฑลหยุนหนันของจีนราว 10,000 คน




.
กลุ่มให้ความช่วยเหลือ ระบุว่า ทางการมณฑลหยุนหนานได้บอกกล่าวให้ผู้ลี้ภัยย้ายออกจากพื้นที่ แต่ไม่ได้ใช้กำลังข่มขู่หรือปิดพรมแดนแต่อย่างใด

“ดูเหมือนเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากสำหรับจีน ที่อาจก่อให้เกิดความสัมพันธ์ตึงเครียดกับรัฐบาลพม่า หากพม่าคิดสิ่งนี่เป็นความช่วยเหลือกองกำลังกะฉิ่น รวมทั้งจำนวนผู้ลี้ภัยที่เพิ่มมากขึ้น” เบอร์ทิล ลินต์เนอร์ (Bertil Lintner) ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่า แสดงความคิดเห็นผ่านอีเมล์

“แต่ในอีกแง่หนึ่ง จีนก็ไม่สามารถที่จะเป็นศัตรูกับกะฉิ่นหรือผู้ลี้ภัยชาวกะฉิ่นเช่นกัน” นายลินต์เนอร์ ระบุ

เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนได้เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายสงบศึก และว่ารัฐบาลจีนจะมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม

ทางด้านรัฐบาลมณฑลหยุนหนาน ได้ปฏิเสธว่า มีค่ายผู้ลี้ภัยตั้งอยู่ แต่หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือระบุว่า ค่ายพักที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ในเมืองนองดาว (Nongdao) และ เมืองลายิง (La Ying)

“ในตอนนี้ สิ่งที่เราทราบ คือ ไม่มีสถานการณ์อะไรดังเช่นที่ว่านั้น” หลี่ฮุย (Li Hui) ผู้อำนวยการสำนักงานสารสนเทศมณฑลหยุนหนาน กล่าว และว่าทุกอย่างตามแนวพรมแดนจีน - พม่า ดำเนินไปตามปกติ

การต่อสู้ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องแม้ว่าประธานาธิบดีเต็งเส่งจะมีคำสั่งในเดือน ธ.ค.2554 ให้ยุติการต่อสู้ ซึ่งก็ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าผู้นำประเทศรายนี้มีอำนาจควบคุมกองทัพเต็มที่หรือไม่

มููนเนลี (Moon Nay Li) ผู้ประสานงานสมาคมสตรีกะฉิ่น ในประเทศไทย ระบุว่า ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา จำนวนผู้ลี้ภัยภายในจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และว่ามีผู้ลี้ภัยชาวกะฉิ่นมากกว่า 10,000 คน อยู่ในมณฑลหยุนหนาน โดยส่วนมากเป็นผู้หญิง

เมซิลี (Maersili) นักเคลื่อนไหวท้องถิ่น กล่าวว่า ในค่ายลี้ภัยแทบไม่มีพื้นที่ว่างมากพอจะให้ล้มตัวนอน บางที่มีครอบครัว 4-5 ครอบครัวรวมกันอยู่ในห้องเดียวและไม่มีเตียงนอน

กลุ่มช่วยเหลือระบุว่า องค์กรช่วยเหลือระหว่างประเทศ เช่น หน่วยงานของสหประชาชาติ ก็ไม่สามารถจัดหาความช่วยเหลือให้ได้

กุยเซ้ปเป เดอ แวงซองตีส์ (Giuseppe de Vincentis) ผู้แทนระดับภูมิภาคประจำจีนและมองโกเลียกล่าวว่า องค์กรของสหประชาชาติ อย่าง UNHCR จะสามารถจัดหาความช่วยเหลือให้ได้ต่อเมื่อได้รับการร้องขอจากรัฐบาล และว่ายังไม่มีการร้องขอความช่วยเหลือใดๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น