xs
xsm
sm
md
lg

พม่า-กะเหรี่ยงKNUลงนามหยุดยิง ภายหลังสู้รบมายาวนานหลายสิบปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - รัฐบาลพม่าและสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) หนึ่งในกบฎชนกลุ่มน้อยที่ขัดแย้งกับกองทัพพม่ามาอย่างยาวนานหลายสิบปี ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงแล้วเมื่อวานนี้ (12) ก่อให้เกิดความหวังที่จะได้เห็นการสิ้นสุดของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ภายในประเทศนี้

คณะผู้แทนของรัฐบาลพม่าที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีจำนวนหนึ่ง และคณะสมาชิกระดับสูงของ KNU ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิง ที่เมืองปะอัน เมืองเอกของรัฐกะเหรี่ยง ทางตะวันออกของพม่า

"ประธานาธิบดี (เต็งเส่ง) กล่าวว่า เราเป็นพี่น้องที่ขัดแย้งต่อกันมานานกว่า 63 ปี และประธานาธิบดีได้ร้องขอให้พวกเราให้ในสิ่งที่ KNU ต้องการ นั่นเป็นเหตุผลที่เราเดินทางมาที่นี่" ขิ่น ยี รัฐมนตรีกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองกล่าวขึ้นก่อนที่ข้อตกลงจะได้รับการลงนามต่อหน้าผู้สื่อข่าวจำนวนมาก

ทางด้าน ซอว์ เดวิด ตอว์ โฆษกของ KNU บอกว่า KNU จะเลือกคณะผู้แทนเพื่อเข้าร่วมเจรจาต่อไปอีกกับทางรัฐบาลกลาง ภายในเวลา 45 วันนับแต่การลงนามข้อตกลงเบื้องต้นคราวนี้ โดยที่เขาระบุว่าเป็นข้อตกลงซึ่งทำขึ้นจากความไว้วางใจกัน

"ภารกิจของเราเพิ่งเริ่มขึ้น เรายังมีอีกหลายสิ่งที่จะต้องทำ" เดวิด ตอว์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว พร้อมระบุว่ารัฐบาลได้แสดงถึง “ความเมตตากรุณาอย่างจริงใจ”

รัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ที่แปลงโฉมจากระบอบปกครองทหารของพม่า ภายหลังที่ขึ้นบริหารประเทศในเดือนมี.ค. ปีที่แล้ว ก็ได้แสดงออกถึงความพยายามที่จะเข้าถึงชนกลุ่มน้อยต่างๆ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยุติการถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก

ออง มิน รัฐมนตรีกระทรวงการรถไฟ ที่เป็นหนึ่งในผู้ลงนามข้อตกลงหยุดยิง ประกาศว่า นี่เป็นวันแห่ง “ชัยชนะของประชาชน 60 ล้านคน” ซึ่งหมายถึงถึงประชากรทั้งหมดของประเทศพม่านั่นเอง

ตั้งแต่ที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 สงครามกลางเมืองก็ปะทุขึ้นในพื้นที่หลายๆ ส่วนของประเทศ โดยที่การสิ้นสุดความขัดแย้งเหล่านี้ ตลอดจนการยุติสิ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพฤติการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทหารรัฐบาลพม่า คือข้อเรียกร้องสำคัญที่สุดของประชาคมระหว่างประเทศ

ที่ผ่านมา ชาวบ้านจำนวนมากในรัฐกะเหรี่ยง ถูกบังคับให้ต้องหลบหนีพลัดที่นาคาที่อยู่ โดยหลายหมื่นคนกลายเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ในค่ายต่างๆ ตามแนวพรมแดนติดต่อกับไทย บรรดากลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุด้วยว่า การรณรงค์ปราบปรามกบฎในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของรัฐบาล มีเป้าหมายจงใจเล่นงานพลเรือน โดยทั้งผลักไสให้พวกเขาต้องทิ้งบ้านช่อง, ทำลายหมู่บ้าน, แถมยังถูกบังคับเกณฑ์ชาวบ้านทำงานให้กองทัพ

กลุ่มประชาคมชาวกะเหรี่ยงทั่วโลก (Karen Communities Worldwide) ที่เป็นตัวแทนของผู้ที่หลบหนีออกจากรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของพม่า แสดงความยินดีอย่างระมัดระวังต่อข่าวเกี่ยวกับการลงนามสัญญาหยุดยิงครั้งนี้

"การหยุดยิงเพียงอย่างเดียวคือการแก้ไขอาการของโรค ยังไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ มีความจำเป็นจะต้องดำเนินการเจรจาทางการเมือง เพื่อให้ได้หนทางแก้ไขทางการเมืองอันถาวรขึ้นมา" คำแถลงของกลุ่มนี้ระบุ โดยที่กล่าวหารัฐบาลว่ายังคงโจมตีและสังหารผู้คนในหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง

ขณะที่ เรโนลด์ เอเกรโต ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง ก็เตือนว่า ในอดีตที่ผ่านมา ความพยายามที่จะรักษาสันติภาพอย่างยั่งยืนในพม่าได้เคยล้มเหลวมาหลายครั้งแล้ว เขายังเรียกร้องให้ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยทั้งหมดได้เข้าร่วมในการเจรจาที่จะมีในครั้งต่อๆ ไปด้วย

ถึงแม้การที่รัฐบาลทำสัญญาหยุดยิงกับ KNU ได้เช่นนี้ ต้องถือว่าเป็นการผ่าทางตันครั้งใหญ่ในการทำความตกลงกับกลุ่มกบฏชาติพันธุ์กลุ่มสำคัญที่สุดกลุ่มหนึ่ง กระนั้นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ก็ยังคงดำรงอยู่ โดยที่กลุ่มเหล่านี้ต่างเรียกร้องต้องการสิทธิและการได้ปกครองตนเองอย่างอิสระเพิ่มมากขึ้น

การต่อสู้ในรัฐกะฉิ่น ทางภาคเหนือของประเทศ ระหว่างกองทัพและกลุ่มกบฎที่นั่นนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว ทำให้ผู้คนหลายหมื่นคนต้องอพยพหลบภัย เวลานี้ความตึงเครียดยังคงดำเนินต่อไปแม้ว่าประธานาธิบดีเต็ง เส่ง มีคำสั่งให้กองทหารยุติการปฏิบัติการแล้วก็ตาม

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นของพม่าก็สามารถทำข้อตกลงหยุดยิงกับกองทัพรัฐชานใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในกองกำลังกลุ่มกบฏสำคัญ โดยตั้งฐานกำลังอยู่ในรัฐชาน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น