xs
xsm
sm
md
lg

พม่า-KNU หยุดยิงแล้ว ส่งผู้แทนเข้าเจรจาในเมืองหลวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>นายซอว์ จอว์นี (ซ้าย) ผู้แทนจาก KNU และเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่า (ขวา) แลกเปลี่ยนเอกสารหลังเจรจาหยุดยิงในเมืองปะอัน เมืองเอกของรัฐกะเหรี่ยง วันนี้ (12 ม.ค.). --  AFP PHOTO/Soe Than Win.  </font></b>

เอเอฟพี - รัฐบาลพม่า และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) หนึ่งในกบฏชนกลุ่มน้อยที่ขัดแย้งกับกองกำลังทหารพม่ามาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงแล้ววันนี้ (12 ม.ค.)

คณะรัฐมนตรีผู้แทนจากกรุงเนปีดอ และสมาชิกระดับสูงของ KNU ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิง ที่เมืองปะอัน เมืองเอกของรัฐกะเหรี่ยง ทางตะวันออกของพม่า

“ประธานาธิบดี กล่าวว่า เราเป็นพี่น้องที่ขัดแย้งต่อกันมานานกว่า 63 ปี และประธานาธิบดีได้ร้องขอให้พวกเราให้ในสิ่งที่ KNU ต้องการ นั่นเป็นเหตุผลที่เราเดินทางมาที่นี่” นายขิ่น ยี รัฐมนตรีกระทรวงตรวจคนเข้าเมือง กล่าวขึ้นก่อนที่ข้อตกลงจะถูกลงนามต่อหน้าผู้สื่อข่าว

นายเดวิด ตอว์ โฆษกของ KNU กล่าวว่า KNU จะเลือกผู้แทนเพื่อเข้าร่วมหารือครั้งหน้ากับรัฐบาลกลางภายใน 45 วัน นับจากข้อตกลงเบื้องต้นที่มีขึ้นจากความไว้วางใจ

“หน้าที่ของเราเพิ่งเริ่มขึ้น เรายังมีอีกหลายสิ่งที่จะต้องทำ” นายเดวิด ตอว์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว พร้อมระบุว่า รัฐบาลได้แสดงถึงความเมตตากรุณาอย่างแท้จริง

รัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ของพม่าที่ขึ้นปกครองประเทศในเดือน มี.ค.2554 ได้พยายามที่จะเข้าถึงชนกลุ่มน้อยต่างๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปที่มีเป้าหมายเพื่อยุติการถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก

นายอองมิน รัฐมนตรีกระทรวงการรถไฟ ที่เป็นหนึ่งในผู้ลงนามข้อตกลงหยุดยิง ประกาศว่าเป็นวันแห่งชัยชนะของประชาชน 60 ล้านคน ซึ่งอ้างถึงประชากรทั้งหมดของประเทศพม่า

สงครามกลางเมืองที่ปะทุขึ้นในพื้นที่ต่างๆ นับตั้งแต่พม่าได้รับอิสรภาพในปี 2491 รวมทั้งการกล่าวหาว่ากองกำลังทหารพม่าละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นข้อเรียกร้องหลักของประชาคมระหว่างประเทศที่ต้องการให้พม่าแก้ไขปัญหาเหล่านี้

ชาวบ้านจำนวนมากในรัฐกะเหรี่ยง ถูกบังคับให้ต้องหลบหนีและผู้คนนับหมื่นคนที่เป็นผู้ลี้ภัยต้องอาศัยอยู่ในค่ายตามแนวพรมแดนของไทย และบรรดากลุ่มคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การปราบปรามกบฏของรัฐบาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านต้องทิ้งบ้านเรือนของตนเอง หมู่บ้านถูกทำลายและยังถูกบังคับให้ทำงานให้กับกองทัพ

ข่าวเกี่ยวกับการลงนามข้อตกลงหยุดยิงครั้งนี้ สร้างความยินดีอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาคมชาวกะเหรี่ยงทั่วโลกที่เป็นตัวแทนของผู้ที่หลบหนีออกจากพื้นที่ทางภาคตะวันออกของพม่า

“การหยุดยิงเป็นเพียงการแก้ไขอาการของโรค ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ ยังจำเป็นจะต้องมีการเจรจาทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองอย่างถาวร” แถลงการณ์ระบุ ซึ่งกล่าวหารัฐบาลยังคงโจมตีและสังหารผู้คนในหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง

ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง เตือนว่า ความพยายามที่จะรักษาสันติภาพอย่างยั่งยืนก่อนหน้านั้นล้มเหลว และเรียกร้องให้ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยทั้งหมดรวมอยู่ในการเจรจาที่จะมีในครั้งต่อไปด้วย

แม้ว่าข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาล และ KNU จะเกิดขึ้น แต่ความตึงเครียดยังคงมีอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ ที่พยายามหาทางแยกเป็นอิสระและเรียกร้องสิทธิ

การต่อสู้ในรัฐกะฉิ่น ทางภาคเหนือของประเทศ ระหว่างกองทัพ และกลุ่มกบฏ นับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2554 ทำให้ผู้คนหลายหมื่นคนต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไปแม้ว่าประธานาธิบดี เต็ง เส่ง มีคำสั่งให้กองกำลังทหารยุติการต่อสู้

ในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นและกองทัพรัฐชานใต้ ที่เป็นหนึ่งในกองกำลังกลุ่มกบฏสำคัญที่มีฐานกำลังอยู่ในรัฐชาน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ได้บรรลุข้อตกลงหยุดยิงแล้ว

สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ต่างเรียกร้องให้พม่าดำเนินการปฏิรูปประชาธิปไตยในประเทศอย่างต่อเนื่องและมากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ โดยข้อเรียกร้องสำคัญคือการปล่อยตัวนักโทษการเมืองและการยุติความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น