รอยเตอร์ - รัฐบาลพม่าวางแผนจะยุติความขัดแย้งที่ยาวนานกว่าหลายทศวรรษกับกลุ่มกบฏติดอาวุธชนกลุ่มน้อยภายในเวลา 3 ปี และมีคำสั่งให้กองทัพหยุดการต่อสู้กับกองกำลังกะฉิ่น
“รัฐบาลพม่าได้เจรจาข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยจำนวนหนึ่ง และจะเสนอข้อตกลงในการประชุมพิเศษที่รัฐสภาเพื่อสร้างสันติภาพถาวร” นายอ่อง ตอง (Aung Thaung) รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม และหัวหน้าสหภาพสร้างสันติภาพ กล่าว และว่าอาจใช้เวลาถึง 3 ปี ในการบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่ม
การหยุดยิงกับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามแนวชายแดนเป็นข้อเรียกร้องหลักของชาติตะวันตกที่มีผลต่อการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร และรัฐบาลยกให้เป็นวาระสำคัญลำดับต้นท่ามกลางมาตรการการปฏิรูปที่เกิดขึ้นหลายประการในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งการปล่อยตัวนักโทษการเมืองมากกว่า 200 คนด้วย
นายอ่อง ตอง กล่าวว่า ได้เจรจาข้อตกลงกับทั้ง 10 กลุ่ม และประธานาธิบดีเต็ง เส่ง มีคำสั่งให้กองทัพทหารพม่าถอนกำลังจากการต่อสู้กับกองกำลังกะฉิ่น (KIA) แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนและแหล่งข่าวในรัฐกะฉิ่น ระบุว่า การต่อสู้กับ KIA ยังคงดำเนินอยู่แม้จะมีคำสั่งประธานาธิบดี
“อาจจะมีการต่อสู้เกิดขึ้นประปรายในพื้นที่ห่างไกลเพราะกองกำลังในพื้นที่ดังกล่าวอาจยังไม่ได้รับคำสั่ง เนื่องจากขาดระบบการสื่อสารที่ดี” นายอ่อง ตอง กล่าว เมื่อถูกถามถึงการต่อสู้ที่เกิดขึ้น
นางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านของพม่า ได้ผลักดันให้เกิดข้อตกลงสันติภาพมาเป็นเวลาหลายปี และสนับสนุนให้มีการปกครองตนเองภายในระบบปกครองจากส่วนกลางสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์อย่างน้อย 3 กลุ่ม และนางยังได้เรียกร้องให้มีข้อตกลงปางโหลงฉบับที่ 2 เมื่อปีก่อน ที่เป็นการฟื้นฟูแผนปกครองตนเองที่เคยร่างขึ้นเมื่อเดือน ก.พ.2490 สมัยนายพลอองซาน แต่ถูกยกเลิกไปเนื่องจากการลอบสังหารนายพลอองซาน ในเวลา 5 เดือนต่อมา
นายอ่อง ตอง ระบุว่า ประธานาธิบดี เต็งเส่ง วางแผนที่จะจัดการประชุมที่รัฐสภาที่จะเป็นการประชุมครั้งใหญ่กว่าการประชุมสนธิสัญญาปางโหลง ที่มีวัตถุประสงค์จะประสานข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่มต่างๆ และรับประกันว่าความขัดแย้งจะไม่ปะทุขึ้นอีก