xs
xsm
sm
md
lg

‘ไต้หวัน’ตาลุกวาวสนใจ‘เหยื่อ’ทะเลจีนใต้ของ‘ปักกิ่ง’(ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เยนส์ คัสต์เนอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Taiwan circling South China Sea bait
By Jens Kastner
12/06/2012

จีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันได้กลบฝังความเป็นศัตรูระหว่างกันไปมาก จนเพียงพอที่จะแบ่งปันร่วมมือกันขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในอาณาเขตน่านน้ำที่แบ่งแยกทั้งสองฝ่ายออกจากกันได้แล้ว เวลานี้ปักกิ่งยังกำลังยั่วยวนไทเปด้วยลู่ทางโอกาสแห่งการขยายความเป็นหุ้นส่วนกันของพวกเขาเข้าไปในทะเลจีนใต้ ท่ามกลางความไม่สบายใจของเวียดนาม, ฟิลิปปินส์, ตลอดจนสหรัฐอเมริกา

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ไทเป – จีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันต่างกำลังอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาบริเวณทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดเหมือนๆ กัน และเวลานี้ปักกิ่งได้เสนอต่อไทเปว่าทั้งสองฝ่ายควรที่จะร่วมกันสำรวจขุดเจาะน่านน้ำต่างๆ อันร่ำรวยด้วยทรัพยากรของทะเลจีนใต้ โดยไม่ต้องแยแสสนใจชาติผู้อ้างกรรมสิทธิ์รายอื่นๆ

ขณะที่เหยื่อล่อในเชิงเศรษฐกิจชิ้นนี้ดูงดงามเกินกว่าที่ไต้หวันจะหักห้ามใจ
ในเมื่อเกาะแห่งนี้แห้งแล้งขาดไร้ไม่เพียงแหล่งก๊าซธรรมชาติและบ่อน้ำมันเท่านั้น หากยังขาดแคลนอิทธิพลบารมีในทางการทูตอีกด้วย กระนั้นก็ตามที รัฐบาลไต้หวันภายใต้ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ก็จะต้องระมัดระวังตัวให้จงหนักในการเข้าไปแตะต้องเผือกร้อนทางการเมืองชิ้นนี้

คำว่า “ความมั่นคงทางพลังงาน” (energy security) เป็นการอ้างอิงถึงแนวความคิดที่มีมนตร์เสน่ห์จับใจยิ่งสำหรับชาวไต้หวัน ขณะที่สหรัฐฯใช้ความพยายามจนสามารถที่จะผลิตซัปพลายพลังงานขั้นปฐมของตนเองได้ประมาณ 70% ของที่เมืองลุงแซมใช้อยู่ทั้งหมด ส่วนจีนนั้นทำได้ในระดับมากกว่า 80% ด้วยซ้ำ แต่สำหรับไต้หวันแล้ว มีน้ำมันปิโตรเลียม, ก๊าซธรรมชาติ, และถ่านน้ำที่ดินแดนแห่งนี้ใช้อยู่เพียงแค่ 0.6% เท่านั้น ซึ่งขุดเจาะสูบขึ้นมาจากเกาะแห่งนี้หรือจากน่านน้ำรอบๆ เกาะแห่งนี้

เชื้อเพลิงผลิตพลังงานที่ประคับประคองเศรษฐกิจไต้หวันให้มีชีวิตชีวาต่อไปได้ในทุกวันนี้ ถูกลำเลียงขนส่งมาจากย่านอ่าวเปอร์เซีย, แอฟริกาตะวันตก, ตลอดจนจีนแผ่นดินใหญ่ และถ้าหากไม่ว่าด้วยเหตุผลกลใดก็ตามที ซัปพลายเชื้อเพลิงเหล่านี้มีอันถูกสกัดกั้นขัดขวางจนทำการขนส่งไม่ได้ หรือเกิดมีราคาพุ่งพรวดพราดลิบลิ่ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจบนเกาะแห่งนี้ก็จะต้องนอนพังพาบไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น การพัฒนาโรงฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ก็เป็นทางเลือกที่ค่อนข้างเสี่ยงอยู่มาก เนื่องจากไต้หวันอยู่ในพื้นที่ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวบ่อยๆ ส่วนมาตรการจำพวกพลังงานทดแทน, ยานยนต์พลังไฟฟ้า, ตลอดจนอาคารสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็มองไม่เห็นลู่ทางว่าจะสามารถกลายเป็นยาครอบจักรวาลที่บำบัดภาวะขาดแคลนพลังงานไปได้ในเร็ววัน

สิ่งที่ปักกิ่งกำลังยื่นเสนอต่อไทเป จึงเป็นเรื่องของหนทางในการหลุดออกมาจากสถานการณ์อันไม่ปลอดภัยเอาเสียเลยเช่นนี้ มันเป็นการเชื้อเชิญฝ่ายไต้หวันให้เข้ามีส่วนแบ่งก้อนโตทีเดียวในเค้กพลังงานซึ่งเชื่อกันว่ามีอยู่ตรงบริเวณธรณีประตูของทั้งสองฝ่าย

“การที่จีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันจะเริ่มต้นทำการขุดค้นหาทรัพยากรในทะเลจีนใต้ร่วมกัน นับเป็นแนวความคิดที่ดีทีเดียว” ฟ่าน หลี่ชิง (Fan Liqing) โฆษกหญิงแห่งสำนักงานกิจการไต้หวัน (Taiwan Affairs Office) ของฝ่ายจีนแผ่นดินใหญ่ บอกกับผู้สื่อข่าวในฮ่องกงเมื่อเร็วๆ นี้ “จีนเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์อันไม่มีใครสามารถโต้แย้งได้ เหนือทะเลจีนใต้และน่านน้ำใกล้เคียงแห่งอื่นๆ และทั้งสองฝ่ายของช่องแคบไต้หวันก็มีความรับผิดชอบร่วมกันในการพิทักษ์ปกป้องกรรมสิทธิ์ดังกล่าวนี้”

ไต้หวันนั้นกำลังอ้างกรรมสิทธิ์อาณาบริเวณประมาณ 3.5 ล้านตารางกิโลเมตรของทะเลจีนใต้ ทำนองเดียวกับที่ฝ่ายแผ่นดินใหญ่ก็กระทำอยู่ ตามการประมาณการของฝ่ายแผ่นดินใหญ่ ข้างใต้มวลน้ำอันมากมายมหาศาลเหล่านี้ ซึ่งถูกอ้างกรรมสิทธิ์ทั้งในแบบทั้งหมดและในแบบเป็นบางส่วนโดยจีนแผ่นดินใหญ่, ไต้หวัน, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, มาเลเซีย, และบรูไน อุดมไปด้วยแหล่งน้ำมันสำรองและก๊าซธรรมชาติสำรอง ซึ่งความต้องการใช้พลังงานในระดับปัจจุบันของจีนแผ่นดินใหญ่ จะสามารถนำขึ้นมาใช้ได้อย่างไม่เหือดแห้งเป็นเวลามากกว่า 60 ปีทีเดียว

แต่ในขณะที่ปักกิ่งมีทั้งพลานุภาพทางเศรษฐกิจ, อิทธิพลบารมีทางการทูต, และแสนยานุภาพทางทหาร ที่จะทำให้เสียงเรียกร้องของตนดังกึกก้องเป็นที่รับทราบกันทั่วหน้า ในการพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์กับประดาชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฝ่ายไทเปนั้นกลับไม่มีอะไรอย่างนี้สักอย่างเดียว

เกาะไท่ผิง (Taiping) หรือ อิตู อาบา (Itu Aba) [1] ซึ่งไต้หวันควบคุมอยู่ในเวลานี้ นับเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของกลุ่มหมู่เกาะหนานซา (Nansha) หรือ สแปรตลีย์ (Spratlys) แต่มันก็อยู่ห่างจากไต้หวันเกินไป จนกระทั่งไทเปไม่มีโอกาสในทางเป็นจริงที่จะปกป้องคุ้มครองมันให้รอดพ้นจากการก้าวร้าวรุกรานได้ ทว่าสิ่งที่เป็นปัญหามากไปกว่านี้เสียอีกก็คือ ฐานะโดดเดี่ยวในทางการทูตของไต้หวัน

การประกาศอ้างกรรมสิทธิ์ของไต้หวันนั้น อิงอาศัยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea หรือ UNCLOS) [2] ทว่าไต้หวันไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีของ UNCLOS หรือจริงๆ แล้วก็ไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรของยูเอ็นหรือข้อตกลงของสหประชาชาติอื่นใดทั้งสิ้น

เนื่องจากไม่มีใครในภูมิภาคแถบนี้เลยที่รับรองฐานะความเป็นรัฐของไต้หวัน ในสายตาของ 10 ชาติสมาชิกสมาคมอาเซียนแล้ว การอ้างกรรมสิทธิ์ของไทเปจึงเป็นเรื่องง่ายๆ ที่จะบอกปัดปฏิเสธไม่รับพิจารณา ซึทั้งนี้ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ 2 ปรปักษ์ตัวหลักของทั้งจีนแผ่นดินใหญ่และทั้งไต้หวันในกรณีพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือบริเวณทะเลจีนใต้ ต่างก็เป็นสมาชิกอยู่ในสมาคมอาเซียน เมื่อพิจารณากันในแง่มุมทางการทูตอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ไต้หวันยังถูกกีดกันไม่ได้เข้าร่วมอยู่ในกลไกพหุภาคีอันอาเซียนริเริ่มขึ้นมา เพื่อใช้แก้ไขคลี่คลายข้อพิพาท ตลอดจนถูกกีดกันไม่ได้เข้าร่วมในกลไกทวิภาคีอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

เรื่องที่ปักกิ่งกำลังพยายามเสาะแสวงหาทางผูกมัดพันธนาการไต้หวันให้แน่นหนายิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ความลับอะไรเลย และฐานะอันเข้มแข็งของปักกิ่งในการพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ ก็กำลังกลายเป็นเครื่องมืออันเหมาะเจาะยิ่ง สำหรับช่วยเหลือให้ปักกิ่งบรรลุวัตถุประสงค์ของตนในการรวมสองฟากฝั่งช่องแคบไต้หวันให้เป็นชาติเดียวกันให้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมันมาผสมผสานเข้ากับสถานการณ์ด้านพลังงานอันน่าวิตกห่วงใยของไต้หวัน

เริ่มตั้งแต่ประมาณปี 1994 แล้ว บรรษัทน้ำมันนอกชายฝั่งแห่งชาติจีน (China National Offshore Oil Corporation หรือเรียกกันย่อๆ ว่า ซีนุก CNOOC) [3] และ บรรษัท ซีพีซี คอร์เปอเรชั่น (CPC Corporation) [4] ที่เป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจด้านการกลั่นน้ำมันของไต้หวัน ก็มีการร่วมไม้ร่วมมือกัน และในตอนเริ่มต้นของทศวรรษที่แล้ว บรรษัททั้งสองยังได้ร่วมกันดำเนินการสำรวจอาณาบริเวณแอ่งไต้-เจา (Tai-Chao basin) ซึ่งอยู่ทางฟากตะวันตกของแนวเส้นกลางของช่องแคบไต้หวัน นั่นคือพื้นที่ที่อยู่ทางฝั่งของจีนแผ่นดินใหญ่

ในปี 2005 ซีนุก เสนอให้ร่วมกันดำเนินการทำนองเดียวกันนี้อีก แต่ในคราวนี้เป็นการสำรวจบริเวณฟากตะวันออกของแนวเส้นกลางของช่องแคบไต้หวัน ซึ่งก็คือฟากที่อยู่ใต้การควบคุมของไต้หวัน ปรากฏว่าเรื่องนี้ถูกปฏิเสธจาก เฉิน สุยเปี่ยน ผู้ต้องการให้ไต้หวันประกาศตัวเป็นประเทศเอกราช และในเวลานั้นยังคงมีสิทธิมีเสียงอยู่ในไทเป แต่เมื่อ หม่า อิงจิ่ว แห่งพรรคก๊กมิ่นตั๋ง (Kuomintang หรือ KMT) ซึ่งมีแนวทางเป็นมิตรกับปักกิ่ง ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 2008 เขาก็ได้ยกเลิกคำสั่งห้ามของ เฉิน ในเวลา 1 เดือนหลังจากที่เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง และอนุญาตให้ทำการสำรวจวิจัยร่วมกันในบริเวณฟากตะวันออกของแนวเส้นกลางช่องแคบไต้หวัน ซึ่งก็คือในเขตน่านน้ำที่ไต้หวันควบคุมอยู่

มีการกล่าวอ้างจากพวกนักวิชาการไต้หวัน (ถึงแม้ยังคงมีการถกเถียงโต้แย้งกันอยู่ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรกันแน่) ว่า พรรคก๊กมิ่นตั๋งที่เป็นผู้ปกครองไต้หวันในปัจจุบัน กับพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party หรือ DPP) ซึ่งเป็นฝ่ายค้านที่ต่อต้านการรวมไต้หวันเข้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ ยังมีความเห็นเป็นเอกฉันท์กันซึ่งนานๆ จะเกิดขึ้นได้สักครั้งหนึ่ง ว่า ซีนุก และ ซีพีซี สามารถที่จะพัฒนาการร่วมมือกันในเรื่องน้ำมันและก๊าซ ในบริเวณน่านน้ำต่างๆ ทางตอนเหนือของทะเลจีนใต้ ใกล้ๆ กับหมู่เกาะตงซา (Dongsha) หรือ ปราตัส (Pratas) [5] ซึ่งไต้หวันควบคุมอยู่ โดยที่น่านน้ำเหล่านี้ไม่มีผู้อ้างกรรมสิทธิ์รายอื่นๆ นอกเหนือจากจีนและไต้หวัน

มีการเสนอแนะบ่งชี้ด้วยว่า ด้วยความช่วยเหลือจากแท่นขุดเจาะน้ำมันเขตน้ำลึกแท่นแรกของ ซีนุก ซึ่งเริ่มต้นปฏิบัติงานตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา หลังจากที่ ซีนุก กับ ซีพีซี ผ่านระยะอุ่นเครื่องในน่านน้ำตอนเหนือแล้ว ก็อาจจะเคลื่อนย้ายการขุดเจาะสำรวจต่อลงมาทางใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่เวียดนามและฟิลิปปินส์อ้างกรรมสิทธิ์อยู่ด้วย นอกเหนือจากจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันแล้ว

ตามการกล่าวอ้างของสมาชิกรัฐสภาหลายๆ คนในไทเป เวียดนามกำลังแสดงอาการกล้าเผชิญหน้าอย่างไม่กลัวเกรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในเขตน่านน้ำเหล่านั้น พวกเขาระบุว่าฝ่ายเวียดนามได้บุกรุกเข้าไปจนถึงภายในอาณาเขต 6 กิโลเมตรรอบๆ เกาะไท่ผิง ที่ไต้หวันควบคุมอยู่ เป็นจำนวน 42 ครั้งในปี 2010 พอมาในปีที่แล้วได้เพิ่มขึ้นเป็น 106 ครั้ง และในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ได้ล่วงล้ำแล้ว 41 ครั้ง เมื่อตอนต้นปีนี้ ฝ่ายเวียดนามกระทั่งเคยเปิดฉากยิงใส่กองกำลังรักษาชายฝั่งของไต้หวันซึ่งตั้งประจำอยู่บนเกาะแห่งนั้น ทั้งนี้ตามรายงานของสื่อที่โปรปักกิ่งในไต้หวัน ขณะที่ฝ่ายฮานอยปฏิเสธข่าวนี้ว่าไม่เป็นความจริง

เยนส์ คัสต์เนอร์เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในกรุงไทเป
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น