xs
xsm
sm
md
lg

‘ปักกิ่ง’อาศัย‘เกาหลีใต้’มากดดัน‘ไต้หวัน’

เผยแพร่:   โดย: เยนส์ คัสต์เนอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Beijing tightens noose on Taiwan - via Korea
By Jens Kastner
08/05/2012

ในสัปดาห์หน้า ปักกิ่ง และ โซล จะเริ่มต้นเปิดการเจรจาจัดทำข้อตกลงทางการค้า ซึ่งอาจจะกลายเป็นเครื่องลดทอนความได้เปรียบในปัจจุบันของพวกผู้ผลิตชาวไต้หวัน (รวมทั้งพวกกิจการญี่ปุ่นในไต้หวัน) ซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่ในแผ่นดินใหญ่จีน ทั้งนี้เว้นแต่ว่าไทเปจะลงมือเดินหน้าอย่างรวดเร็ว ในเรื่องการเจรจาการค้าข้ามช่องแคบไต้หวันกับทางปักกิ่งให้สำเร็จเสร็จสิ้นไป

ฝันร้ายสำหรับไต้หวันที่ชวนให้รู้สึกขวัญผวามานาน ได้กลายเป็นความจริงไปแล้วในวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อสำนักข่าวซินหวาของทางการแผ่นดินใหญ่รายงานว่า ปักกิ่งจะเริ่มต้นเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการเพื่อจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (free-trade agreement หรือ FTA) กับเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นคู่แข่งขันด้านการค้ารายใหญ่ที่สุดของเกาะไต้หวัน ต่อมา กระทรวงกิจการต่างประเทศและการค้าของเกาหลีใต้ได้แถลงในวันจันทร์(7) ว่า การหารือจะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม

พวกผู้ผลิตชาวไต้หวันนั้นต้องแข่งขันอย่างดุเดือดและอย่างคู่คี่สูสีกับพวกผู้ผลิตชาวเกาหลีใต้ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, เหล็กกล้า, เครื่องจักรกล, ปิโตรเคมี, พลาสติก, และสิ่งทอ โดยที่เงื่อนไขเอื้อประโยชน์ซึ่งปักกิ่งเปิดให้แก่พวกเขายิ่งกว่าให้แก่พวกคู่แข่งต่างชาติอื่นๆ ในแผ่นดินใหญ่นั่นแหละ คือปัจจัยความได้เปรียบที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากของฝ่ายไทเป ด้วยเหตุนี้เอง การอ่อนข้อเอื้อเฟื้อใดๆ ก็ตามที่ปักกิ่งยินยอมให้แก่ฝ่ายเกาหลีใต้ในการต่อรองจัดทำเอฟทีเอ จึงอาจจะส่งผลสะท้อนกลายมาเป็นการบีบคั้นไต้หวัน จนทำให้ไทเปมีอำนาจต่อรองลดน้อยลง ณ โต๊ะเจรจาระหว่างแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน

ปัจจุบัน โซลได้จัดทำข้อตกลงเอฟทีเอกับประเทศและดินแดนต่างๆ จำนวนมากมายหลายฉบับแล้ว โดยที่สำคัญที่สุดย่อมต้องเป็น เอฟทีเอที่ทำกับสหภาพยุโรป (อียู) และ ข้อตกลงการค้าเสรีสหรัฐฯ-เกาหลี (United States-Korea Free Trade Agreement หรือ KORUS) ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับไต้หวันที่นอกเหนือจากข้อตกลงการค้ากับแผ่นดินใหญ่แล้ว ก็ได้จัดทำเอฟทีเอกับชาติต่างๆ เพียงหยิบมือเดียว ซึ่งไทเปมีความสัมพันธ์ทางการทูตด้วยเท่านั้น ข้อตกลงเหล่านี้มีมูลค่าเพียงเศษส่วนเล็กๆ แห่งมูลค่าการส่งออกโดยรวมในแต่ละปีของเกาะแห่งนี้

สำหรับ ข้อตกลงการค้ากับแผ่นดินใหญ่ ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ข้อตกลงแม่บทเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Cooperation Framework Agreement หรือ ECFA) ซึ่งฝ่ายไต้หวันลงนามกับปักกิ่งในปี 2010 นั้น มีเนื้อหาสำคัญกำหนดให้งดเว้นการจัดเก็บภาษีศุลกากรจากสินค้าต่างๆ 557 รายการที่อยู่ใน “รายชื่อสินค้าที่พร้อมเร่งลดอัตราภาษี” (early harvest list) ดังนั้น จึงทำให้ผู้ส่งออกของเกาะแห่งนี้มีความได้เปรียบบางประการเหนือพวกผู้ส่งออกชาวเกาหลีใต้และชาวญี่ปุ่นซึ่งอันที่จริงก็ไปลงทุนตั้งโรงงานอยู่ในจีนเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม การเจรจาเพื่อติดตามผลเพิ่มพูนสิ่งที่ตกลงกันตามกรอบ ECFA ให้มากขึ้นอีกนั้น เวลานี้ยังคงไม่ค่อยมีอะไรคืบหน้า

เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ของไต้หวัน ได้เอ่ยถึงกรอบระยะเวลา 2 ปี ที่อาจจะต้องใช้ในการเจรจาทำความตกลงกับปักกิ่ง เกี่ยวกับการลดอัตราภาษีหรือกระทั่งงดเว้นภาษีศุลกากรให้แก่สินค้าอื่นๆ อีก 5,000 รายการ ตลอดจนประเด็นปัญหาที่ทรงความสำคัญยิ่งยวดอย่างอื่นๆ ทว่ามาถึงตอนนี้ไทเปคงจะมองเห็นเหตุผลที่จะต้องรู้สึกหวาดกลัวอย่างจริงจังแล้วว่า โซล อาจจะเดินหน้าไปได้เร็วกว่าตนเอง เนื่องจากเวลานี้จีนแผ่นดินใหญ่คือคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของทั้งไต้หวันและทั้งเกาหลีใต้ ดังนั้นในทางเป็นจริงแล้ว ปักกิ่งจึงสามารถที่จะทำตัวเป็นกรรมการผู้ยิงปืนเริ่มต้นการแข่งขัน ณ จุดสตาร์ท ด้วยการป่าวร้องว่าระยะเวลา 2 ปีก็สอดคล้องกับความเป็นจริงสำหรับการบรรลุข้อตกลงเอฟทีเอระหว่างจีนกับเกาหลีใต้เช่นเดียวกัน

“การเริ่มต้นเปิดฉากการเจรจาจัดทำเอฟทีเอจีน-เกาหลี กำลังทำให้ไต้หวันตกอยู่ใต้แรงกดดันบีบคั้นอย่างมหาศาล” นั่นเป็นทัศนะของ เหลียว โตไห่ (Liou To-hai) ผู้อำนวยการของศูนย์เพื่อการศึกษาองค์การการค้าโลก (Center for WTO Studies) มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ (National Chengchi University) ในกรุงไทเป

“ถ้าหากเกาหลีใต้สามารถเซ็นเอฟทีเอกับจีนได้ก่อนหน้าไต้หวัน และข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุมสมบูรณ์ทั้งในด้านการค้าตัวสินค้า, การค้าในภาคบริการ, และการลงทุนแล้ว ผลประโยชน์ข้อได้เปรียบทั้งหลายแหล่ที่ไต้หวันได้มาจากรายการเร่งลดภาษีของข้อตกลงแม่บท ECFA ก็อาจจะหมดคุณค่าไปเลย”

ข้อตกลงในด้านต่างๆ ระหว่างแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน ซึ่งนิยมเรียกขานกันว่า ข้อตกลงข้ามช่องแคบ (cross-strait agreements) นั้น เวลานี้กำลังตกอยู่ในอาการชะงักงันไม่ค่อยคืบหน้า สืบเนื่องจากปัญหาอุปสรรคจำนวนมาก แต่อุปสรรคเครื่องกีดขวางที่สำคัญที่สุด ย่อมเป็นเรื่องอันเกี่ยวเนื่องกับการที่พวกพรรคการเมืองที่หวาดระแวงแผ่นดินใหญ่ ตลอดจนอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนชาวไต้หวัน ต่างแสดงท่าทีคัดค้านไม่เห็นด้วย ตลอดจนการที่ฝ่ายปักกิ่งยืนกรานที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ข้อตกลงเหล่านี้มีนัยใดๆ เลย อันส่อให้เห็นฐานะความเป็นรัฐของไต้หวัน

ตามการวิเคราะห์ของอาจารย์เหลียว ถ้าหากจีนกับเกาหลีใต้จัดทำข้อตกลงเอฟทีเอขึ้นมาได้สำเร็จ ก็น่าจะเป็นอันตรายกลายเป็นตัวช่วงชิงการค้าและการลงทุนไปจากไต้หวัน

“ภาคอุตสาหกรรมที่เกาหลีใต้กับไต้หวันกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดทั้งในจีนและในตลาดโลกเวลานี้ เป็นต้นว่า เซมิคอนดักเตอร์, โทรศัพท์มือถือ, และทีวีดิจิตอล เหล่านี้ต่างก็ไม่ได้อยู่ในรายชื่อสินค้าเร่งลดภาษี (ในข้อตกลง ECFA ระหว่างจีนกับไต้หวัน)” เขากล่าว “ถ้าหากสินค้ารายการเหล่านี้ที่ผลิตในเกาหลีใต้ เกิดได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีศุลกากร จากผลของข้อตกลงเอฟทีเอจีน-เกาหลีแล้ว พวกผู้ผลิตชาวไต้หวันก็จะอยู่ในภาวะสูญเสียความได้เปรียบทางด้านราคาของพวกเขาไปอย่างแน่นอน”

สภาพเช่นนี้จะบังคับให้พวกนักลงทุนชาวไต้หวันในแผ่นดินใหญ่ ยุติการนำเข้าส่วนประกอบสำคัญๆ จากเกาะบ้านเกิดของพวกเขา แล้วหันไปซื้อหาจากพวกกิจการท้องถิ่นบนแผ่นดินใหญ่แทน นี่จะเป็นสาเหตุทำให้ตัวเลขดุลการค้าที่ไต้หวันได้เปรียบจีนอยู่ เกิดการลดฮวบลงมาอย่างสำคัญ อาจารย์เหลียววิเคราะห์ต่อ

ขณะเดียวกัน การลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (foreign direct investment หรือ FDI) ในไต้หวัน ก็จะได้รับความกระทบกระเทือน ทั้งนี้ตั้งแต่ที่มีการลงนามในข้อตกลงแม่บท ECFA พวกบริษัทญี่ปุ่นก็ได้เข้ามาอาศัยไต้หวันเป็นประตูเปิดเข้าสู่ตลาดจีน แต่ปรากฏการณ์เช่นนี้อาจจะมาถึงจุดจบในช่วงเวลาที่ไม่สมควรเอาเลย เนื่องจาก “ญี่ปุ่นน่าที่จะปรับตัวโดยนำเงินลงทุนเข้าไปยังเกาหลีใต้แทน” อาจารย์เหลียวระบุ

ปัจจุบันการค้าระหว่างไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นราวๆ 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีที่แล้ว ขณะที่การค้าระหว่างเกาหลีใต้กับแผ่นดินใหญ่จีนมีปริมาณสูงกว่านั้นมาก คือประมาณ 245,600 ล้านดอลลาร์ ยิ่งถ้าข้อตกลงเอฟทีเอระหว่างสองชาตินี้มีผลบังคับใช้ คาดหมายกันว่าการค้าสองทางระหว่างจีนกับเกาหลีใต้จะพุ่งทะยานไปถึงหลัก 300,000 ล้านดอลลาร์ได้ภายในปี 2015

มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ข้อตกลงเอฟทีเอจีน-เกาหลี จะมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งเรื่อง สินค้า, บริการ, สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา, และการลงทุน แถมยังมีรายงานว่า กระทั่งเรื่องที่อ่อนไหวมากๆ เป็นต้นว่า ภาคการเกษตรของเกาหลีใต้ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี, อิเล็กทรอนิกส์, ตลอดจนอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลชองจีน ก็ไม่ได้เป็นเรื่องต้องห้ามนำขึ้นมาต่อรองกันบนโต๊ะเจรจา

ยิ่งไปกว่านั้น เกาหลีใต้ ยังมีความเห็นพ้องในทางหลักการ เกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี 3 ฝ่าย จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ขึ้นมา โดยที่ในท้ายที่สุดแล้วเอฟทีเอ 3 ฝ่ายในเอเชียตะวันออกนี้ ก็อาจจะเป็นการแผ้วถางทางไปสู่ข้อตกลงการค้ากับกลุ่มอาเซียน ที่เรียกกันว่า “อาเซียน+3” ในอนาคตข้างหน้า ถ้าหากสถานการณ์พัฒนาไปดังที่คาดหมายกันนี้ ย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนว่าไต้หวันจะถูกลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ แต่กระนั้น การที่พวกผู้ส่งออกชาวไต้หวันกำลังถูกทอดทิ้งและต้องขึ้นอยู่กับความเมตตาของตลาดจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะการที่ปักกิ่งกำลังบีบคั้นบังคับไทเปให้ตกอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวทางการทูตเท่านั้นหรอก

โรนัลด์ เอ เอดเวิร์ดส์ (Ronald A Edwards) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองจีน และเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยตั้นเจียง (Tamkang University) ในกรุงไทเป ให้ความเห็นว่า สภาพหนีเสือปะจระเข้คราวนี้ อย่างน้อยที่สุดก็ส่วนใหญ่ๆ ส่วนหนึ่งเลย เป็นสิ่งที่ไต้หวันสร้างขึ้นมาให้กับตัวเอง ทั้งนี้ ปัญหาความยุ่งยากที่ทำขึ้นมาเองนี้ ก็รวมถึงพลังทางการเมืองในไต้หวันที่ต่อต้านคัดค้านการรวมชาติกับแผ่นดินใหญ่ด้วย

“ถ้าหากไต้หวันยังคงเอาแต่หาทางส่งผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯกลับคืนไป เอาแต่หาทางถอดสินค้าสหรัฐฯออกจากชั้นวางขายอยู่ไม่หยุดหย่อนแล้ว นี่ย่อมเท่ากับเป็นการการส่งสัญญาณในทางลบไปยังประเทศอื่นๆ” เอดเวิร์ดส์แจกแจง สิ่งที่เขากล่าวถึงนี้ก็คือการทะเลาะเบาะแว้งทางการค้าอันยาวนานระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ สืบเนื่องจากการที่ไต้หวันสั่งห้ามนำเข้าเนื้อสัตว์ที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง แร็กโตพามีน (ractopamine) โดยที่กรณีโรควัวบ้าที่กระทบกระเทือนเนื้อวัวสหรัฐฯก็เป็นประเด็นปัญหาอีกประเด็นหนึ่งเช่นกัน ประเด็นปัญหาเหล่านี้ได้นำไปสู่การโต้แย้งกันอย่างรุนแรงในไต้หวันเมื่อเร็วๆ นี้ ภายหลังจากพรรคก๊กมิ่นตั๋ง ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ต้องการที่จะยกเลิกการห้ามใช้สารแร็กโตพามีน ด้วยเหตุผลว่าเพื่อทำให้กระบวนการเปิดเสรีทางการค้าสามารถเดินหน้าต่อไปได้

“ถ้าหากไต้หวันไม่สามารถบริหารจัดการความสัมพันธ์ทางการค้าที่ตนมีอยู่กับสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่สหรัฐฯเป็นทั้งผู้สนับสนุนทางการเมืองรายสำคัญที่สุดและเป็นทั้งคู่ค้าหมายเลขสอง อย่างนี้แล้วประเทศอื่นๆ ก็ย่อมต้องขบคิดกันหนักหนาสาหัสหลายตลบ เมื่อจะต้องทำข้อตกลงการค้ากับไต้หวัน” เอดเวิร์ดส์ชี้

ทางด้าน หู เซิงเฉิง (Hu Sheng-Cheng) นักเศรษฐศาสตร์แห่ง อคาเดเมีย ซินิคา (Academia Sinica สถาบันวิจัยส่วนกลางของไต้หวัน) และเป็นอดีตรัฐมนตรีดูแลสภาเพื่อการวางแผนเศรษฐกิจและการพัฒนา (Council for Economic Planning and Development) ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวง กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า พวกผู้ส่งออกด้านผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศของไต้หวัน อาจจะยังไม่ได้รับความกระทบกระเทือนร้ายแรงอะไรนักจากข้อตกลงการค้าจีน-เกาหลี เนื่องจากพวกเขายังสามารถอาศัยข้อตกลงเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Agreement) ขององค์การการค้าโลก (WTO) มาช่วยบรรเทาความเสียหายได้ในระดับหนึ่ง

แต่สำหรับพวกอุตสาหกรรมรุ่นเก่า เป็นต้นว่าอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล, ปิโตรเคมี, พลาสติก, และสิ่งทอ พวกนี้จะได้รับผลกระทบกระเทือนมากกว่า และเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นพวกที่ว่าจ้างลูกจ้างพนักงานมากที่สุด ดังนั้น การเจรจาว่าด้วยเอฟทีเอจีน-เกาหลี จึงย่อมมีแรงกดดันต่อไทเปอย่างใหญ่โตมากกว่าที่เข้าใจกันโดยทั่วไปเสียอีก ตามทัศนะของ หู แล้ว สภาพการณ์เช่นนี้จะทำให้ไทเปต้องตกอยู่ใต้การกุมบังเหียนของปักกิ่งอย่างแน่นหนายิ่งขึ้น

“การเจรจาเพื่อจัดทำเอฟทีเอจีน-เกาหลี จะส่งผลกระทบกระเทือนการเจรจาเพื่อติดตามผลข้อตกลงแม่บท ECFA อย่างไม่ต้องสงสัย ปักกิ่งจะอาศัยการพูดจาต่อรองกับโซล มาบังคับไทเปให้ต้องยอมอ่อนข้อประนีประนอมในเวลาคุยกันเรื่อง ECFA และกระทั่งให้ยอมประนีประนอมในประเด็นปัญหาต่างๆ ในทางการเมืองด้วยซ้ำไป”

หู ชี้ต่อไปว่า การพูดจาหารือข้ามช่องแคบที่กระทำกันอย่างปิดลับนั้น มีลักษณะที่โดดเด่นประการหนึ่งว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาจะทำนายคาดการณ์ล่วงหน้าได้ยากมาก แต่เขาระบุว่า ถ้าหากไทเปประพฤติปฏิบัติตนแบบว่านอนสอนง่ายแล้ว ก็มีโอกาสมากกว่าที่การเจรจาเกี่ยวกับ ECFA จะสามารถตกลงกันได้เสร็จสิ้นเรียบร้อย โดยที่เกาหลีใต้เป็นฝ่ายที่เสียประโยชน์

พวกฝ่ายค้านต่อต้านการรวมกับแผ่นดินใหญ่ในไต้หวัน มีความระแวงสงสัยว่าในเร็วๆ วันนี้ประธานาธิบดีหม่า จะออกมาแถลงอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า รับรอง “หลักการจีนเดียว” (One China principle) ขณะที่ หู ก็พูดว่า “การกล่าวปราศรัยเข้ารับตำแหน่ง (เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง) ของ หม่า ในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ และปฏิกิริยาของปักกิ่งต่อคำปราศรัยดังกล่าว จะเป็นตัวที่ชี้ให้เห็นร่องรอยของเรื่องนี้”

ข้อความที่ หม่า ชอบพูดอยู่เป็นประจำก็คือ แผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน “ต่างเป็นของจีน และจีนที่กล่าวถึงนี้คือสาธารณรัฐจีน” (ไม่ใช่สาธารณรัฐประชาชนจีนที่นำโดยคอมมิวนิสต์) คำพูดเช่นนี้อาจจะลดทอนน้ำหนักให้เบาลงไปอีก ด้วยการบอกว่า ทั้งแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน “ต่างก็เป็นของจีนกันทั้งคู่” หรือ ใช้คำว่า “ประเทศชาติของคนจีน” หรือไม่เช่นนั้นเขาอาจจะใช้วิธีไม่เอ่ยถึงหลักการ “3 ไม่” ซึ่งเขาหยิบยกพูดเอาไว้ในการกล่าวปราศรัยรับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกของเขา อันได้แก่ “ไม่มีการแยกตัวประกาศเอกราช, ไม่มีการรวมชาติ, ไม่มีการทำสงครามกัน”

หู เชื่อว่า ถ้าหากเป็นไปดังที่พวกพรรคฝ่ายค้านต่อต้านการรวมชาติในไต้หวันหวาดระแวง นั่นคือ หม่า ไม่เอ่ยถึง “3 ไม่” ตลอดจนไม่เอ่ยถึง “สาธารณรัฐจีน” ในคำปราศรัยรับตำแหน่งของเขาคราวนี้ การเจรจาต่อรองกันเกี่ยวกับ ECFA ก็น่าจะดำเนินไปอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าการเจรจาเอฟทีเอจีน-เกาหลี อย่างแน่นอน

เยนส์ คัสต์เนอร์เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในกรุงไทเป
ทั้ง‘สหรัฐฯ’และ จีน’กังวลใจ‘เลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน’ (ตอนแรก)
ขณะที่จีนเชื่อว่าถ้าประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว แห่งไต้หวัน และพรรคก๊กมิ่งตั๋งของเขา พ่ายแพ้การเลือกตั้งในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ มันก็จะนำไปสู่ยุคแห่งการปลุกปั่นก่อกวนของพรรคเดโมแครติก โปรเกรสสีฟ ปาร์ตี้ (ดีพีพี) ที่เป็นพวกฝักใฝ่ต้องการประกาศไต้หวันเป็นประเทศเอกราช อีกคำรบหนึ่ง เฉกเช่นที่เกิดขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีเฉิน สุยเปี่ยน (ปี 2000 – 2008) ทางด้านสหรัฐฯนั้นก็ระแวงสงสัยเหมือนกันว่า ไช่ อิงเหวิน ผู้ท้าชิงจากพรรคดีพีพี มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ต้องถอยหลังกลับไปใหม่ หลังจากที่เดินหน้าเข้าสู่ภาวะผ่อนคลายความตึงเครียดทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจตลอดระยะเวลากว่าสามปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ประชาชนผู้ออกเสียงชาวไต้หวันนั่นแหละคือผู้ที่จะให้คำตอบสุดท้าย โดยที่คาดหมายกันว่าผลการเลือกตั้งน่าจะออกมาอย่างคู่คี่เหลือเกิน
กำลังโหลดความคิดเห็น