xs
xsm
sm
md
lg

ชัยชนะของหม่าอิงจิ่ว พิสูจน์อะไร?

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

การเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน เมื่อวันที่ 14 นี้ หม่าอิงจิ่วจากพรรคกั๋วหมินตั่ง ได้รับชัยชนะเหนือไช่อิงเหวิน หัวหน้าพรรคหมินจิ้นตั่ง ที่วาดหวังว่าจะได้เป็นผู้นำไต้หวันหญิงคนแรก

การเลือกตั้งที่สื่อจีนและฮ่องกงเรียกว่า เป็นการเลือกตั้งผู้นำการบริหารไต้หวัน ด้วยถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของประเทศจีนนั้น ดำเนินมาแล้วหลายสมัย ได้ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งแล้วหลายคน ตั้งแต่หลี่เติงฮุย (กั๋วหมินตั่ง) เฉินสุยเปี่ยน (หมินจิ้นตั่ง) และหม่าอิงจิ่ว (กั๋วหมินตั่ง)

หลี่เติงฮุยเป็นต้นคิดให้ไต้หวันเป็นเอกราช เสนอทฤษฎีหนึ่งจีนหนึ่งไต้หวัน เมื่อเฉินสุยเปี่ยนรับแนวคิดดังกล่าวไปเป็นนโยบายหลักของพรรคหมินจิ้นตั่ง นายหลี่ก็ให้การสนับสนุนเต็มที่ จนกระทั่งเอาชนะเหลียนจั้น ผู้นำพรรคกั๋วหมินตั่งต่อจากนายหลี่

เฉินสุยเปี่ยนอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันสองสมัย จนกระทั่งพรรคกั๋วหมินตั่งที่มีหม่าอิงจิ่วเป็นหัวหน้าพรรคได้รับชัยชนะเหนือนายเซี่ยฉังถิง ในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 2008 และได้รับชัยชนะอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้เหนือนางไช่อิงเหวิน

ไต้หวันในสมัยของหลี่เติงฮุยกับเฉินสุยเปี่ยน แสดงตนเป็นอริกับจีนออกนอกหน้า สร้างความตึงเครียดเหนือช่องแคบไต้หวันเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งฝ่ายจีนและฝ่ายสหรัฐฯ ในตอนนั้น พูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้นำไต้หวันเป็น “ผู้สร้างปัญหายุ่งยาก” กระทบต่อการพัฒนาความสัมพันธ์รอบด้านระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยพยายามดึงสหรัฐฯ เข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัญหาที่ตนสร้างขึ้น แม้ทุกฝ่ายจะพากันฟันธงว่า ไม่มีทางที่สหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายเป็นอริกับจีน เพียงเพื่อปกป้องไต้หวัน เพราะผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ที่ผูกพันอยู่กับจีนมากมายมหาศาลเกินกว่าจะเอามาเสี่ยงเพื่อไต้หวัน

ในสมัยที่สองของเฉินสุยเปี่ยน นายเหลียนจั้น ผู้นำพรรคกั๋วหมินตั่ง ได้เปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกั๋วหมินตั่งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน(ก้งฉันตั่ง) เดินทางไปจับมือกับหูจิ่นเทาที่กรุงปักกิ่ง ทั้งสองฝ่ายได้วางหลักการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันในกรอบของ “จีนเดียว”

คำว่า “จีนเดียว” นี้ เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างตัวแทนของสองฝ่ายที่ใช้คำว่า “สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน” เป็นเกณฑ์ในการเจรจากันที่สิงคโปร์เมื่อปี ค.ศ. 1992 จึงเรียกข้อตกลงนี้ว่า เป็น “ความเข้าใจร่วมกันปี 1992” โดยฝ่ายจีนก็อธิบายคำว่า “จีนเดียว” ตามนัยของตนเอง ส่วนฝ่ายไต้หวันก็อธิบายคำว่า “จีนเดียว” ตามนัยของตนเอง

โดยจีนอธิบายว่า “จีนเดียว” ก็คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีน ส่วนไต้หวันก็อธิบายว่า “จีนเดียว” ก็คือสาธารณรัฐจีน ไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีนเช่นเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกั๋วหมินตั่งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน บนฐาน “จีนเดียว” จึงดำเนินไปอย่างราบรื่น ได้บรรลุข้อตกลงสำคัญๆ ที่เป็นการปูพื้นให้แก่นายหม่าอิงจิ่ว สามารถดำเนินนโยบายอยู่ร่วมกันกับจีน เกาะเกี่ยวไปกับการพัฒนาขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน ที่กำลังพุ่งทะยานไปอย่างรวดเร็ว

สรุปคือ ไต้หวันไม่ “ตกขบวน” ทั้งยังรอดพ้นจากวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ ได้อย่างเฉียดฉิว ก็เนื่องจากได้เชื่อมตัวเองเข้ากับเศรษฐกิจของจีนแผ่นดินใหญ่ อันเป็นผลจากการปรับนโยบายของพรรคกั๋วหมินตั่ง โดยนายเหลียนจั้นนั่นเอง

ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา จีนกับไต้หวันได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ มากมาย ในการพัฒนาความสัมพันธ์ของคนจีนสองฟากฝั่งช่องแคบไต้หวัน การเดินทางสะดวกรวดเร็วทั้งทางอากาศและทางทะเล สินค้าของสองฟากฝั่ง โดยเฉพาะสินค้าพืชเกษตรของไต้หวัน ได้เข้าไปเปิดตลาดในจีนมากขึ้นเรื่อยๆ สร้างความพึงพอใจให้แก่เกษตรกรไต้หวันเป็นอย่างยิ่ง

ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการลงทุนและการท่องเที่ยว ผู้คนสองฟากฝั่งพากันหอบหิ้วลูกหลานไปเที่ยวเยี่ยมญาติกันเป็นว่าเล่น สถาบันการศึกษาของทั้งสองฝั่งก็ยอมรับสถานภาพของกันและกัน เปิดประตูรับนักศึกษาซึ่งกันและกัน ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ นับวันมากขึ้นเรื่อยๆ

หลายฝ่ายจึงวิเคราะห์ว่า ด้วยกระแสความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของคนจีนสองฟากฝั่ง ที่ยังประโยชน์แก่คนทั้งสองฝั่งนี่เอง ที่เป็นเหตุสำคัญที่สุด ที่นำไปสู่ชัยชนะของนายหม่าอิงจิ่ว ทั้งๆ ที่การสำรวจโพลก่อนหน้าวันลงคะแนนเสียงไม่กี่วัน ก็บอกว่านางไช่อิงเหวินมีคะแนนนำ

หม่าอิงจิ่ว ประกาศก้องภายหลังรู้ผลการเลือกตั้งแล้วว่า จะดำเนินการเมืองแบบ “สะอาด” และนำสันติสุขมาสู่ชาวไต้หวันอย่างยั่งยืน

ทั้งสองประเด็นนี้ คือจุดแข็งของเขา ที่ตรงกันข้ามกับผู้นำพรรคหมินจิ้นตั่ง โดยเฉพาะนายเฉินสุยเปี่ยน อดีตผู้นำพรรค ที่ปัจจุบันถูกจองจำอยู่ในคุก ด้วยข้อหาทุจริตในหลายๆ เรื่อง ทั้งที่โดยตรงและผ่านมาทางภริยาและบุตร

แม้นางไช่อิงเหวินจะไม่มีรอยด่างพร้อยทางการเมือง แต่นโยบาย “สองจีน” ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากหลี่เติงฮุยและเฉินสุยเปี่ยน ก็ปิดไม่มิด โดยปฏิเสธ “ความเข้าใจร่วมกันปี 1992” ไม่ยอมรับกรอบคิด “จีนเดียว” แต่ก็สัญญาว่าจะยอมรับข้อตกลงต่างๆ ที่ทางไต้หวันทำกับจีนแล้ว ซึ่งสร้างความคลางแคลงใจให้แก่วงการธุรกิจการค้าไต้หวันอย่างยิ่ง รวมทั้งไม่เป็นที่ยินดีของรัฐบาลสหรัฐฯ อีกด้วย โดยได้ให้สัญญาณผ่านช่องทางต่างๆ ว่า หากนางไช่ขึ้นบริหารไต้หวัน เกรงจะมีปัญหายุ่งยากติดตามมา

เสียงสะท้อนของวงการธุรกิจการค้า และจากกรุงวอชิงตัน ทำให้นางไช่หาเสียงแบบ “ตัวลีบ” ในโค้งสุดท้าย

คำพูดที่กำกวม ทำให้กองเชียร์ฝ่อแฟบ แม้จะรักษาฐานเสียงส่วนใหญ่ในมวลชนระดับล่างไว้ได้ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้แก่ฐานเสียงของพรรคกั๋วหมินตั่ง ในหมู่ชนชั้นกลางและวงการธุรกิจการค้า ที่ “ตาสว่าง” ยิ่งกว่า

อาจกล่าวได้ว่า ด้วยนโยบาย “จีนเดียว” ของพรรคกั๋วหมินตั่ง ด้วยความสะอาดของนายหม่าอิงจิ่ว และด้วยผลประโยชน์มากมาย และจะมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ที่ชาวไต้หวันได้รับจากการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีน ในรูป “วิน-วิน” และ “วิน-วิน” คือ คำตอบโดยรวม ในชัยชนะของหม่าอิงจิ่ว

อันพิสูจน์ว่า “สันติสุขและความมั่งมีศรีสุขของประชาชน” คือคำตอบ ไม่ว่าจะอยู่ในฟากฝั่งของไต้หวันหรือแผ่นดินใหญ่จีน (อาจรวมถึงประเทศไทยและประเทศอื่นใดในโลกด้วย) ในยุคสมัยปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น