ในที่สุดประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่วก็ได้รับความไว้วางใจจากชาวไต้หวัน เลือกให้เข้ามากุมบังเหียนปกครองเกาะมังกรน้อยเป็นสมัยที่ 2 ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันเสาร์ ที่ผ่านมา (14 ม.ค.) ด้วยผลคะแนนเลือกตั้งมากถึงร้อยละ 51.6
เป็นชัยชนะลอยลำอย่างน่าประหลาดใจ ทั้งที่จากการสำรวจคะแนนนิยมก่อนหน้าของทุกสำนักบ่งชี้ว่า ศึกระหว่างนายหม่ากับนางสาวไช่ อิงเหวิน ผู้นำพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือดีพีพี สตรีคนแรกของไต้หวัน ที่กล้าท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จะดำเนินไปอย่างดุเดือดสูสีอย่างชนิดที่ทั้งจีนและสหรัฐฯนั่งไม่ติด รอดูผล แต่ไช่ก็ได้คะแนนมาเพียงร้อยละ 45.7 ห่างกันอีกหลายขุม
ผลการเลือกตั้งทำให้ชาติมหาอำนาจทั้งสองโล่งอก เนื่องจากนโยบายฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีนในการบริหารประเทศช่วง 4 ปีที่ผ่านมาของประธานาธิบดีหม่า มีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านยุทธศาสตร์สำหรับช่องแคบไต้หวัน ซึ่งคร่อมเส้นทางเดินเรือสายสำคัญบางส่วนในโลก และทำให้ช่องแคบไต้หวันมีเสถียรภาพยิ่งกว่าครั้งใด ในช่วง 6 ทศวรรษ ที่ผ่านมา
แตกต่างจากจุดยืนไม่ไว้วางใจจีนของไช่ ซึ่งทำให้วิตกกันว่า ถ้าได้เป็นประธานาธิบดี เธออาจไม่ยอมรับหลักการ “จีนเดียว” ของรัฐบาลปักกิ่งอีกต่อไป จากในปัจจุบันที่ไต้หวันให้การเห็นชอบ แม้จะเป็นไปในลักษณะคลุมเครือก็ตาม
สื่อของทางการจีนถึงกับยกย่องชัยชนะของนายหม่าว่า “อาจเปิดโอกาสใหม่ๆ สำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันอย่างสันติ”
ด้านทำเนียบขาวเองก็เรียกร้องให้ทั้งพญามังกรและมังกรน้อยดำเนินความพยายาม “ที่น่าประทับใจ” ต่อไป เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน
นี่คือภาวการณ์ดีที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ” ศาสตราจารย์ฉู่ ซู่หลง ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประจำมหาวิทยาลัยชิงหวาของปักกิ่ง ระบุถึงชัยชนะของนายหม่าและพรรคก๊กมินตั๋ง
“ชัยชนะของหม่าทำให้แน่ใจได้ว่าเสถียรภาพและการพัฒนาอย่างสันติระหว่างสองฝ่ายในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจะดำเนินต่อไป” เขากล่าว
ในท่ามกลางการคาดหวังกันว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นต่อไปในช่องแคบไต้หวัน ทว่านักวิเคราะห์หลายคนก็กำลังมองว่า ประธานาธิบดีหม่าจะเผชิญความยากลำบากในการบริหารประเทศสมัยที่ 2 เพราะเขาจะต้องสร้างความสมดุลให้ได้ระหว่างข้อเรียกร้องจากจีน กับการสร้างความมั่นใจแก่ชาวไต้หวันว่า การรักษาอธิปไตยของไต้หวันคือนโยบายสำคัญสูงสุดของเขา
ในการบริหารประเทศสมัยแรกหม่า ซึ่งถือกำเนิดในฮ่องกง สามารถละลายน้ำแข็งแห่งความเย็นชาระหว่างจีนกับไต้หวัน ที่ตัดขาดกันในปี 2492 หลังจากสงครามกลางเมืองยุติลง ด้วยการลงนามข้อตกลงการค้าอย่างครอบคลุมทุกด้านกับจีนเมื่อปี2553 ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของเขา
เคลย์ตัน ดับ ผู้เชี่ยวชาญด้านไต้หวันของมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนียชี้ว่า นโยบายการสานสัมพันธ์กับจีนอย่างระมัดระวังของหม่าได้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่า เป็นที่ยอมรับจากประชาชนจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่การเข้าตีสนิทกับจีนจะก้าวไปเร็วกว่านี้ไม่ได้ เพราะชาวไต้หวันจะไม่เห็นด้วย
หม่าเองก็ยอมรับภายหลังการเลือกตั้งว่า เขากำลังเผชิญบททดสอบที่ยากยิ่งในการกระชับความสัมพันธ์กับจีน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำให้ชาวไต้หวันวิตกจนเกินไป
แต่ปัญหาสำคัญก็คือปักกิ่งยังคงพอใจย่างก้าวการกระชับความสัมพันธ์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอีกหรือไม่ หรือต้องการเห็นความกล้าหาญของรัฐบาลไทเปมากขึ้น โดยขยับจากประเด็นเศรษฐกิจไปสู่ประเด็นทางการเมือง ซึ่งมีความอ่อนไหว เช่นการทำสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างกัน เพื่อยุติสงครามกลางเมืองอย่างเป็นทางการ
นักวิเคราะห์ทั้งฟากแผ่นดินใหญ่และไต้หวันเชื่อว่า การเจรจาประเด็นการเมืองจะหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป และจีนจะไม่ยอมให้หม่าหลบเลี่ยงได้ง่าย ๆ แม้หม่าระบุว่า เขาไม่มีตารางเวลาชัดเจนสำหรับการเจรจาทางการเมืองกับแผ่นดินใหญ่ในการบริหารประเทศสมัยที่ 2 ก็ตาม
นายเซ่า จงไห่ อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวัฒนธรรมจีนในกรุงไทเปได้อ้างถ้อยคำเมื่อเร็ว ๆ นี้ของหวัง อี้ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการไต้หวันของแผ่นดินใหญ่ ที่ระบุว่า การเจรจาด้านเศรษฐกิจและการเมืองควรเกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กัน
อย่างไรก็ตาม นายเซ่าคาดว่า การเจรจาด้านการเมืองน่าจะเริ่มขึ้น หลังจากจีนมีการผลัดเปลี่ยนคณะผู้นำประเทศในการประชุมสมัชชาแห่งชาติครั้งที่ 18 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และรัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารประเทศอย่างราบรื่นได้อย่างน้อย 1 ปีไปแล้ว
นักวิเคราะห์การเมืองระบุว่า ในการเจรจา หม่าจะต้องรับมือกับความจริงที่ว่า ทั้งปักกิ่งและไทเปตีความหมายของ “ฉันทามติ 2535” (1992 consensus) ซึ่งว่าด้วย “จีนเดียว” อย่างแตกต่างกัน โดยสำหรับจีนแล้ว หมายถึงการมีหนึ่งประเทศ แต่ปกครองด้วยสองระบบ ขณะที่หม่าหมายถึงการมีจีนเดียว ซึ่งประกอบด้วยสองประเทศ ที่แตกต่างกัน
ศาสตราจารย์จัง อู่เย่ แห่งมหาวิทยาลัยตั้นเจียง ในกรุงไทเประบุว่า ผลการเลือกตั้งชี้ว่า หม่ามีนโยบายข้ามช่องแคบ ที่ชัดเจนกว่าไช่ และเป็นที่พอใจของชาวไต้หวัน นโยบายความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ ที่หม่าและไช่โต้วาทีกันนั้นมิได้จำกัดเฉพาะประเด็นการประกาศเอกราช หรือการผนวกไต้หวันเข้ากับจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเด็นเศรษฐกิจ ที่ใช้ได้ในทางปฏิบัติ และจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันของชาวไต้หวันอีกด้วย
สำหรับอนาคตนับจากนี้จะเป็นไปอย่างไรนั้น นายจอห์น ซีออร์เซียรี ผู้เชี่ยวชาญด้านไต้หวันแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนชี้ว่า ไต้หวันกับจีนจะยังคงส่งเสริมการค้าและการลงทุนร่วมกันต่อไป แต่จะใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุดในการดำเนินการใด ๆ ที่อาจทำให้ชาวไต้หวันตีความได้ว่า เป็นการก้าวไปสู่การผนวกไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีน
สุดท้ายภาระหนักก็มาตกอยู่กับประธานาธิบดีหม่า ผู้นำไต้หวันสมัยที่ 2 อยู่นั่นเอง