ASTVผู้จัดการออนไลน์--สื่อท้องถิ่นไต้หวันรายงาน ไต้หวันได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2012 พร้อมการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติในเขตต่างๆลุล่วงแล้วเมื่อวานนี้(14 ม.ค.) โดยผลเลือกตั้งฯ ผู้นำจากพรรครัฐบาลกั๋วหมินตั่ง หรือก๊กมินตั่ง ชนะลอยลำ ได้แก่ หม่า อิงจิ่ว และอู๋ ตุนอี้ ชนะคู่ท้าชิงเกือบ 800,000 คะแนน
ขณะที่การเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ พรรคก๊กมินตั๋ง ก็ยังรักษาที่นั่งในสภากฎหมาย(113 ที่นั่ง)เกินครึ่งอยู่ เท่ากับ 64 ที่นั่ง
ผลการเลือกตั้ง
คณะกรรมการการเลือกตั้งกลางแห่งไต้หวัน หรือกลต.ประกาศผลการนับคะแนนไล่หลังจากที่ปิดหีบหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงไม่กี่ชั่วโมง ผลปรากฏ นาย หม่า อิงจิ่ว และอู๋ ตุนอี้ ผู้นำจากพรรคก๊กมินตั๋ง ได้คะแนนเสียง 6,891,139 คะแนน คิดเป็นสัดส่วน 51.6 เปอร์เซนต์
นางสาว ไช่ อิงเหวิน และซู่ เจียเฉวียน จากฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party -DPP). ได้คะแนนเสียง 6,093,578คะแนน คิดเป็นสัดส่วน 45.63 เปอร์เซนต์
ซ่ง ฉู่อี๋ว์ และหลิน รุ่ยสยง จากพรรคพีเพิล เฟิร์สต์ ปาร์ตี้ (People First Party) ได้คะแนนเสียง 369,588 คะแนน คิดเป็นสัดส่วน 2.77 เปอร์เซนต์
วันเดียวกัน ยังมีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติจากเขตต่างๆ ผลการเลือกตั้งฯทำให้ก๊กมินตั๋ง ครองที่นั่งในสภาตรากฎหมาย 64 ที่นั่ง ดีพีพี 40 ที่นั่ง พีเพิล เฟิร์สต์ ปาร์ตี้ 3 ที่นั่ง และกลุ่มพันธมิตรไม่สังกัดพรรค 2 ที่นั่ง กลุ่มอิสระ 1 ที่นั่ง
ชัยชนะฉันทามติ 1992*
กลุ่มสื่อท้องถิ่นบนเกาะไต้หวันชี้ว่า ชัยชนะของประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว เป็นชัยชนะของ “ฉันทามติ 92” สะท้อนอนาคตความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบฯสดใส
หม่า อิงจิ่ว แถลงหลังชนะการเลือกตั้งฯ ว่าชัยชนะของตนหมายถึง “ชัยชนะของการแสวงหาหนทางสันติภาพ รุ่งโรจน์ และซื่อสัตย์เป็นธรรม” เป็นความมั่นใจของประชาชนที่มีต่อการต่อสู้ทางการเมือง การแสวงหาสันติภาพระหว่างช่องแคบ และการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสทางการค้า
หลังการเลือกตั้งฯในคืนวานนี้ สำนักข่าวกลางแห่งไต้หวันได้นำเสนอบทความ ชี้ชัยชนะในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองของหม่า อิงจิ่วครั้งนี้ แสดงถึงอนาคตอันราบรื่นของ “ฉันทามติ 92” พิสูจน์ว่า “ฉันทามติ 92” ได้รับการยอมรับจากชนชั้นกลางและกลุ่มบริษัทธุรกิจอย่างกว้างขวาง.
*‘ฉันทามติ 92’ (“九二共识” /1992 Consensus) รับรอง ‘หลักการหนึ่งจีน’ ผู้แทนสาธารณรัฐประชาชนจีน และผู้แทนไต้หวันได้ประชุมกันที่ฮ่องกง ในเดือนพ.ย. ปี 1992 (2535) บรรลุข้อตกลง “หลักการหนึ่งจีน” โดยทั้งสองฝ่ายรับรองว่า “ในโลกนี้” มีเพียงจีนเดียว ทั้งจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันต่างก็เป็นจีนเหมือนกัน แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีการแถลงคำจำกัดความ “หนึ่งจีน” ของตน
ภาพบรรยากาศการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน วันเสาร์ที่ 14 ม.ค.2555 ภาพ เฟิ่งหวง/เอเจนซี