xs
xsm
sm
md
lg

2555 : ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ซึ่งคาดกันว่าจะก้าวลงจากตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในราวเดือนต.ค. หรือเดือนพ.ย. - เอเจนซี่
บีบีซีนิวส์ - ปีใหม่ 2555 นี้เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงสำหรับจีน โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า เป็นการเริ่มต้นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดหย่อน กล่าวคือนอกจากจีนจะมีการผลัดเปลี่ยนผู้นำในการบริหารปกครองประเทศแล้ว ชาติซึ่งมีความสำคัญอย่างมากที่สุดต่อจีนในแง่การดำเนินนโยบายความสัมพันธ์คือสหรัฐฯ และไต้หวันนั้นก็จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่เช่นเดียวกัน

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และไต้หวันอาจได้ผู้นำคนใหม่ ซึ่งมีทัศนคติแตกต่างอย่างมากจากผู้นำคนก่อน โดยในส่วนของสหรัฐฯ นั้น ผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกัน เพื่อไปแข่งขันกับพรรคเดโมแครตบางคนได้หาเสียงโดยชูนโยบายจะจัดการปัญหาการค้าและปัญหาค่าเงินหยวนกับจีนอย่างแข็งกร้าวมากขึ้น ด้านไต้หวัน หากประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ซึ่งดำเนินนโยบายหวนกระชับความสัมพันธ์กับแผ่นดินใหญ่เกิดพ่ายแพ้นางสาว ไช่ อิงเหวิน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือดีพีพี นั่นย่อมหมายถึงความล้มเหลวของบรรดาผู้นำแดนมังกรอย่างแท้จริง

ประธานาธิบดีหู จิ่นเทาจะก้าวลงจากตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมากที่สุดในราวเดือนต.ค. หรือเดือนพ.ย. และส่งมอบให้ผู้นำ ซึ่งมีอายุน้อยกว่าคนใหม่ ที่คาดกันว่าน่าจะเป็นรองประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งปัจจุบันอายุ 58 ปี และที่คาดว่าจะโบกมืออำลาไปพร้อมกับนายหูยังได้แก่กรรมการ 7 คนจากคณะกรรมการประจำ ซึ่งมีทั้งหมด 9 คนของคณะกรรมการประจำกรมการเมืองแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ (Politburo Standing Committee) ซึ่งรวมทั้งนายกรัฐมนตรีเวิน จยาเป่า โดยผู้ที่คาดว่าจะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนคือรองนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงนั่นเอง

ทั้งนี้การผลัดเปลี่ยนเหล่าผู้นำแดนมังกรครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2545-2548 ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดการเปลี่ยนผ่านอำนาจได้อย่างสงบเป็นครั้งแรก ดังนั้น พรรคคอมมิวนิสต์ก็จะต้องดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้การผลัดเปลี่ยนผู้นำ ที่จะเกิดขึ้นนี้ดำเนินไปอย่างราบรื่นเช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงผู้นำแดนมังกรยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่เศรษฐกิจยุโรปกำลังมีปัญหาและอนาคตของเงินสกุลยูโรยังไร้ความแน่นอน ส่วนภายในประเทศจีนเองก็กำลังเผชิญกับเศรษฐกิจ ที่กำลังชะลอตัว เงินเฟ้อที่สูง การประท้วงและความวุ่นวายในสังคม ที่ดูเหมือนกำลังแผ่วงกว้าง

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ทำนายว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจนี้ บรรดาผู้นำจีน ที่กำลังจะลงจากตำแหน่ง และผู้กำลังจะรับตำแหน่งใหม่ น่าจะหลีกเลี่ยงการตัดสินใจเรื่องที่สำคัญ หรือการตัดสินใจใด ๆ ที่จะนำไปสู่การคัดค้านหรือก่อความขัดแย้งในสังคม เพราะต้องการจากไปอย่างฝากผลงานไว้มากกว่าฝากความเสื่อมเสีย และไม่ต้องการทำลายโอกาส ที่จะได้รับตำแหน่ง

นักวิเคราะห์มองว่า ในสภาพการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้บรรดาผู้นำจีนอาจยึดถือความรอบคอบเป็นคติประจำใจ เพราะแม้ในยามที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูที่สุด พวกผู้นำจีนก็ยังมีความระมัดระวังอยู่พอสมควร และพอใจการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและควบคุมได้

อย่างไรก็ตาม ความระมัดระวังอาจกลายเป็นความอ่อนแออย่างร้ายแรง หากในช่วงนี้สถานการณ์เศรษฐกิจยุโรปเลวร้ายลง หากเศรษฐกิจจีนชะลอลงเร็วกว่าที่คาด หรือเกิดปัญหาทางการเมืองที่คาดไม่ถึงในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นภาวะที่ปักกิ่งอาจต้องการการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดจากผู้นำ แต่ขณะนี้ไม่มีผู้นำที่กำลังจะจากไป และที่กำลังจะมาใหม่คนใดในจีน ที่ต้องการจัดการกับปัญหายุ่งยากซับซ้อนนอกบ้านตนเอง

แทนการทำเช่นนั้น นักวิเคราะห์คาดว่า ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า พวกผู้นำจีนน่าจะหันมามุ่งเรื่องการปกป้องพรรคคอมมิวนิสต์จากการคุกคามของภายนอกมากกว่า ดังเช่นบทความของประธานาธิบดีหูในวารสารฉิวซื่อ (แสวงหาสัจจะ) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเร็ว ๆ นี้

ประธานาธิบดีหูระบุในบทความว่า “ กำลังของนานาชาติที่เป็นปรปักษ์กำลังเพิ่มความพยายามในการแบ่งแยกและทำให้เราเป็นตะวันตก”

“ อุดมการณ์และวัฒนธรรมคือเป้าหมายสำคัญของพวกเขา” ผู้นำจีนระบุ

บทความชิ้นนี้เป็นการเรียกร้องให้ประชาชนปกป้องพรรคคอมมิวนิสต์และระบอบการปกครองของจีนจากการวิพากษ์วิจารณ์และอิทธิพลของต่างชาติ

เสียงเรียกร้องทำนองนี้คาดว่าจะได้ยินหนาหู เมื่อจีนเข้าสู่ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงในปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น