xs
xsm
sm
md
lg

ศึกชิงเก้าอี้ปธน.ไต้หวัน ชี้ ปัจจัยชนะเป็นเรื่องศก. ไม่ใช่ “จีน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไช่ อิงเหวิน ผู้นำฝ่ายค้านแห่งพรรคดีพีพี ผู้ท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีไต้หวันในการเลือกตั้งวันที่ 14 ม.ค.นี้ กำลังลงหาเสียงเลือกตั้ง ณ กรุงไทเป วันที่ 8 ม.ค. (ภาพเอเอฟพี)
เอเอฟพี - แม้ว่าประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่วคนปัจจุบันของไต้หวันได้ผลักดันยกระดับสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ไม่น้อยทีเดียว แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันในวัน 14 ม.ค.ที่จะถึงนี้ ประเด็นด้านเศรษฐกิจอาจทำลายความฝันของหม่าที่ต้องการครองเอ้าอี้ประธานาธิบดีอีกสมัยก็เป็นได้

หม่าวัย 61 ปีจบกฎหมายจากฮาร์วาร์ด ต้องเผชิญหน้ากับดร.ไช่ อิงเหวิน วัย 56 ปี ซึ่งไช่เองหากว่าได้เก้าอี้ประธานาธิบดีมาครอบครอง ก็จะทำให้กลายเป็นผู้นำสตรีคนแรกของไต้หวัน ในการหาเสียงของเธอระบุด้วยว่า หากเธอได้รับเลือกจะมีนโยบายกระจายความมั่งคั่งในประเทศอย่างเป็นธรรม

“เศรษฐกิจยังคงเป็นประเด็กหลักสำหรับประชาชนไต้หวันส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อย” จอร์จ ไช่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยวัฒนธรรมจีนแห่งกรุงไทเปเผย

“กลุ่มผู้มีรายได้น้อยไม่ได้สนใจว่าสัมพันธ์จีน-ไต้หวันจะยกขึ้นแค่ไหน สิ่งที่พวกเขาสนใจคือเศรษฐกิจภายใน”

พรรคการเมืองในไต้หวันสามารถแบ่งค่ายโดยใช้นโยบายที่มีต่อจีนเป็นตัววัด พรรคก๊กมินตั๋งของหม่า อิงจิ่วอุทิศนโยบายให้กับการสร้างสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ขณะที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าหรือดีพีพีของไช่ สนับสนุนนโยบายเรียกร้องอิสรภาพไต้หวันเสมอมา

ไต้หวันปกครองตนเองนับแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมืองในปี 2492 แต่จีนยังคงอ้างอธิปไตยเหนือไต้หวัน และหากต้องการรวบไต้หวันคืน อาจใช้กำลังเข้ายึดครองได้

แม้ดูว่าไต้หวันอาจจะต้องกริ่งเกรงจีน แต่ความสัมพันธ์จีน-ไต้หวันก็ไม่ได้เป็นปัจจัยในการตัดสินใจสำหรับการเลือกตั้งในไต้หวันอีกต่อไป เพราะขณะนี้ประชากรไต้หวัน 23 ล้านคนมองว่า จีนเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้ว

โจเซฟ เฉิง นักวิเคราะห์ด้านจีนแห่งCity University of Hong Kong เผยว่า “สัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ยังคงมีความสำคัญอยู่ แต่ความสำคัญนั้นได้ลดลงไปอยู่ในระดับธรรมดา อาจเป็นเพราะประชาชนเข้าใจกระบวนการบูรณาการทางเศรษฐกิจ ว่าอย่างไรเสียก็ต้องดำเนินต่อไปและไม่ต้องการชักใบให้เรือเสีย”
ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง (ขวา) และอดีตรองประธานาธิบดีไต้หวันเหลียน จั้น ออกหาเสียงในกรุงไทเป วันที่ 8 ม.ค. เช่นเดียวกัน (ภาพเอเอฟพี)
ผู้ลงคะแนนเสียงอาจเพิกเฉยต่อสิ่งที่หม่าทุ่มเททำลงไป ดูเหมือนว่าจะไม่มีประโยชน์จากการทำยอดทุบสถิติการค้ากับจีนเท่าไรนัก แม้ว่าความสำเร็จของเขาจะลงลึกถึงขั้นทำข้อตกลงทางการค้าลงนามกับจีนสำเร็จในกลางปี 2553 ก็ตาม ซึ่งนี่ก็แสดงออกอย่างชัดเจนในผลสำรวจความเห็นของประชาชนที่เผยเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่า หม่านั้นมีคะแนนนำไช่อิงเหวินอยู่เพียงเล็กน้อยแค่ 3 จุด เท่านั้น

เศรษฐกิจของไต้หวันเติบโตอยู่ที่ 3.37 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสแรกในเดือนก.ย.หลังจากขยายตัวมหาศาล10.88 เปอร์เซ็นต์ในปี 2553 สูงสุดในรอบ 24 ปี ซึ่งแรงดันก็มาจากคู่ค้าที่สำคัญอันได้แก่จีนนั่นเอง

นโยบายของพรรคก๊กมินตั๋งในช่วงระยะใกล้นี้ไม่ได้เน้นไปที่การแก้ไขช่องว่างรายได้ของประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สุดสำหรับสังคมในเอเชียก็ว่าได้

คนรวยที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์นั้นมีรายได้ดีกว่าคนจนสุด 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศมากถึง 6 เท่า ซึ่งสถานการณ์อย่างนี้หม่าเองก็ถูกวิจารณ์ด้วยว่า หากยิ่งไปผูกเศรษฐกิจไว้กับแผ่นดินใหญ่จะทำให้ช่องว่างนี้ยิ่งห่างขึ้นไปอีก เพราะจะเป็นการช่วยให้นักลงทุนเข้ามากอบโกยกำไร แต่คนจนจะได้ประโยชน์น้อยนิด

การรณรงค์ของหม่ายังต้องเผชิญกับผู้ท้าชิงอีกคนที่ขึ้นมาร่วมชิงเก้าอี้เป็นคนที่ 3 คือ ซ่ง ฉู่อี้ว์ ซึ่งอาจสามารถดึงคะแนนเสียงไปจากหม่าได้จำนวนหนึ่ง

เรื่องแปลกในการเลือกตั้งไต้หวันเกิดได้เสมอ เช่น การเลือกตั้งไต้หวันปี 2547 ประธานาธิบดีเฉิน สุยเปี่ยนแห่งพรรคดีพีพีก็ชนะไปด้วยคะแนเสียงที่เฉียดฉิวมาก หลังจากที่เขาถูกลอบยิงในช่วงก่อนการเลือกตั้ง คะแนนเห็นใจทำให้เขาได้รับชัยชนะ

การเลือกตั้งวันเสาร์ที่จะถึงนี้จีนจะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะจีนเองคงจะชอบหม่า อิงจิ่วที่ดำเนินนโยบายผูกสัมพันธ์กับตนมากกว่าไช่ อิงเหวินเป็นแน่

ขณะที่ประชาชนไต้หวันอาจเสียผลประโยชน์ที่ได้รับจากจีนไปทีละน้อย แต่ก็ไม่ถึงขั้นล้มระเนระนาด

หลิว ปี่หรง ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยตงอู๋ ในกรุงไทเปเผยว่า “หากไช่ได้รับชัยชนะจริง ความสัมพันธ์กับจีนย่อมซบเซาลง แต่อย่างไรเสียจีนเองคงไม่ต้องการมีเรื่องกับไต้หวันในช่วงนี้ เนื่องจากจีนก็อยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำทางการเมืองเช่นเดียวกัน”
กำลังโหลดความคิดเห็น