xs
xsm
sm
md
lg

ทั้ง‘สหรัฐฯ’และ จีน’กังวลใจ‘เลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน’ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: บอนนี เอส แกลสเซอร์ และ บริตตานี บิลลิงสลีย์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US and China fret over Taiwan vote
By Bonnie S Glaser and Brittany Billingsley
17/11/2011

ขณะที่จีนเชื่อว่าถ้าประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว แห่งไต้หวัน และพรรคก๊กมิ่งตั๋งของเขา พ่ายแพ้การเลือกตั้งในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ มันก็จะนำไปสู่ยุคแห่งการปลุกปั่นก่อกวนของพรรคเดโมแครติก โปรเกรสสีฟ ปาร์ตี้ (ดีพีพี) ที่เป็นพวกฝักใฝ่ต้องการประกาศไต้หวันเป็นประเทศเอกราช อีกคำรบหนึ่ง เฉกเช่นที่เกิดขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีเฉิน สุยเปี่ยน (ปี 2000 – 2008) ทางด้านสหรัฐฯนั้นก็ระแวงสงสัยเหมือนกันว่า ไช่ อิงเหวิน ผู้ท้าชิงจากพรรคดีพีพี มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ต้องถอยหลังกลับไปใหม่ หลังจากที่เดินหน้าเข้าสู่ภาวะผ่อนคลายความตึงเครียดทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจตลอดระยะเวลากว่าสามปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ประชาชนผู้ออกเสียงชาวไต้หวันนั่นแหละคือผู้ที่จะให้คำตอบสุดท้าย โดยที่คาดหมายกันว่าผลการเลือกตั้งน่าจะออกมาอย่างคู่คี่เหลือเกิน

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

นับตั้งแต่ที่ หม่า อิงจิ่ว (Ma Ying-jeou) เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของไต้หวันในเดือนพฤษภาคม 2008 ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ซึ่งคั่นด้วยช่องแคบไต้หวัน จึงนิยมเรียกกันว่า ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ (cross-strait relation) ก็ได้ปรับปรุงกระเตื้องดีขึ้นอย่างน่าตื่นใจ ในช่วงเวลา 3 ปีครึ่งที่ผ่านมา ได้มีการลงนามในข้อตกลง 16 ฉบับซึ่งครอบคลุมสาระสำคัญในทางปฏิบัติด้านต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนในทั้งสองฟากฝั่งของช่องแคบ

ไต้หวันมีกำหนดที่จะเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปในวันที่ 14 มกราคม 2012 และการแข่งขันชิงชัยก็เป็นไปอย่างเข้มข้นและคู่คี่จริงๆ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร การลงคะแนนของผู้ออกเสียงชาวไต้หวันคราวนี้จะส่งผลกระทบอันสำคัญทั้งต่อสถานการณ์ในสองฟากฝั่งช่องแคบไต้หวัน และทั้งต่อผลประโยชน์ด้านต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา

ในขณะที่ยังเหลือเวลาอีกเพียง 10 สัปดาห์ก็จะถึงการเลือกตั้งแล้ว ผลการหยั่งเสียงของหลายๆ สำนักแสดงให้เห็นว่า หม่า กำลังมีคะแนนใกล้เคียงสูสีเหลือเกินกับ ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครติก โปรเกรสสีฟ ปาร์ตี้ (ดีพีพี) ทั้งนี้พรรคก๊กมิ่นตั๋ง (เคเอ็มที) ของหม่า กับอีก 2 พรรค คือ พีเพิล เฟิร์สต์ ปาร์ตี้ (People First Party) และ ไชนีส นิว ปาร์ตี้ (Chinese New Party) มีการจับมือเป็นพันธมิตรทางการเมือง เรียกว่า พันธมิตรรวมกลุ่มสีน้ำเงิน (Pan-Blue Coalition)

(พันธมิตรรวมกลุ่มสีน้ำเงิน โน้มเอียงไปในทางต้องการให้รวมชาติจีนเป็นเอกภาพ มากกว่าการแยกไต้หวันออกเป็นประเทศเอกราช อีกทั้งนิยมการใช้นโยบายที่อ่อนลงและมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอย่างมากมายมหาศาลกับแผ่นดินใหญ่ กลุ่มนี้ตรงกันข้ามกับ พันธมิตรรวมกลุ่มสีเขียว Pan-Green Coalition ที่ประกอบด้วยพรรคดีพีพี, พรรคไต้หวัน โซลิดาริตี ยูเนียน (Taiwan Solidarity Union หรือ TSU), และพรรคเล็กๆ ชื่อ ไต้หวัน อินดีเพนเดนซ์ ปาร์ตี้ Taiwan Independence Party หรือ TAIP ซึ่งเป็นพวกที่เอนเอียงไปในทางแยกตัวเป็นเอกราชมากกว่าการกลับไปรวมชาติกับจีนแผ่นดินใหญ่ –ผู้แปล)

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา “เอ็กซ์ฟิวเจอร์” (xFuture) ตลาดที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติ เจิ้งจื้อ (National Chengchi University) ในกรุงไทเป ซึ่งยุสเซอร์สามารถวางเดิมพันต่อรองโดยอิงกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำนองเดียวกับพวกนักลงทุนในตลาดหุ้น ปรากฏว่าตลาดได้ให้ ไช่ มีโอกาสชนะ 49.7% ส่วนโอกาสของหม่ามี 45.2% ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำกันในวันต่อมาโดยหนังสือพิมพ์ไชน่า ไทมส์ (China Times) ที่เป็นพวกเข้าข้างกลุ่มสีน้ำเงิน แสดงให้เห็นว่า 44.3% จะลงคะแนนให้หม่า อีก 41% จะโหวตให้ ไช่ และอีก 14.7% ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร

ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ผู้สมัครแข่งขันรายที่ 3 คือ เจมส์ ซุ่ง (James Soong) แห่งพรรคพีเพิล เฟิร์สต์ ปาร์ตี้ (พีเอฟพี) ได้ประกาศในวันที่ 1 พฤศจิกายนว่า เขาจะเข้าสู่เวทีชิงชัย หลังจากที่รวบรวมลายเซ็นผู้สนับสนุนได้ครบจำนวนตามที่กฎเกณฑ์กำหนดไว้สำหรับการเพิ่มชื่อของเขาลงในบัตรเลือกตั้ง โพลสำนักต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วบ่งชี้ว่า ซุ่ง สามารถที่จะได้คะแนนเสียงไปประมาณ 10-14% โดยแย่งเอามาจากผู้สมัครรายเดิมทั้ง 2 คนในจำนวนใกล้ๆ กัน

อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้มากกว่าที่ ซุ่ง จะดูดเอาเสียงโหวตไปจาก หม่า และทำให้ ไช่ ยิ่งเป็นฝ่ายได้เปรียบในการเลือกตั้ง ก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2000 ซุ่ง ก็เคยลงแข่งขันในฐานะผู้สมัครจากพรรคที่สามเช่นเดียวกัน ทำให้คะแนนเสียงของพันธมิตรรวมกลุ่มสีน้ำเงินเกิดการแตกแยก จนกระทั่ง เฉิน สุยเปี่ยน (Chen Shui-bian) แห่งพรรคดีพีพี คว้าชัยชนะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี โดยที่ได้เสียงโหวตมาเพียงแค่ 39.3%

ถ้าหาก หม่า ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง มีความเป็นไปได้ที่ปักกิ่งอาจจะยิ่งมีความอดทนน้อยลง โดยต้องการให้ความคืบหน้าไปสู่การรวมประเทศดำเนินไปด้วยฝีก้าวที่รวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งจะยิ่งกดดันบีบคั้นไทเปให้เปิดการเจรจาต่างๆ ที่มีจุดมุ่งหมายในการทำความตกลงประนีประนอมลดทอนความแตกต่างทางการเมืองที่ดำรงอยู่ แต่ในสภาพที่เกาะไต้หวันไม่มีฉันทามติไปในทิศทางเดียวกัน การเจรจาทางด้านการเมืองระหว่างสองฝ่ายของช่องแคบไต้หวัน จึงอาจก่อให้เกิดการแบ่งแยกกันอย่างล้ำลึกสุดโต่ง ซึ่งจะสร้างผลกระทบกระเทือนในทางลบทั้งภายในไต้หวัน และในระหว่างสองฝ่ายของช่องแคบ

ส่วนในกรณีที่ ไช่ ได้รับชัยชนะ ก็จะสร้างปัญหาท้าทายหนักหน่วงในลักษณะที่แตกต่างออกไป ไช่ ไม่น่าจะยอมรับ “เสาหลัก 2 เสา” ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายแผ่นดินใหญ่จีนถือเป็นพื้นฐานที่ทำให้ฝ่ายตนเกิดความปรารถนาที่จะเข้ามีปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายไทเป เสาหลัก 2 เสาดังกล่าวนี้ได้แก่ ฉันทามติปี 1992 (1992 Consensus) และการคัดค้านไม่ให้ไต้หวันเป็นเอกราช ทั้งนี้ฉันทามติปี 1992 คือการที่ฝ่ายแผ่นดินใหญ่และฝ่ายไต้หวันต่างมีความเข้าใจต้องตรงกันว่าจีนมีเพียงจีนเดียว ทว่ายังคงไม่เห็นพ้องกันในเรื่องที่ว่าจะนิยามจีนเดียวดังกล่าวนี้กันอย่างไร สูตรดังกล่าวนี้เองที่เปิดทางให้ไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่มาเจรจาหารือกันครั้งประวัติศาสตร์ที่สิงคโปร์เมื่อปี 1993

ถ้าหาก ไช่ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีไต้หวัน และเกิดกรณีที่ปักกิ่งและไทเปไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับสูตรใหม่ที่จะใช้ชี้นำความสัมพันธ์ของพวกเขาแล้ว มันก็มีความเป็นไปได้ที่ปฏิสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวันจะเป็นไปอย่างล่าช้า และการเจรจาหารือในเรื่องต่างๆ ก็จะถูกระงับไป ในกรณีเลวร้ายที่สุดที่อาจเป็นไปได้ (worst-case scenario) ความตึงเครียดระลอกแล้วระลอกเล่าแบบที่เกิดขึ้นจนเป็นลักษณะเด่นของยุคประธานาธิบดีเฉิน สุยเปี่ยน (ปี2000 - 2008) ผู้เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากพรรคดีพีพี ก็อาจจะหวนย้อนกลับมาอีก

ปักกิ่งกำลังติดตามจับตาดูการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในไต้หวันด้วยความกังวลเป็นอย่างยิ่ง และคณะผู้นำของจีนก็มองการณ์ในแง่เลวร้ายเกี่ยวกับโอกาสความเป็นไปได้ในอนาคตที่จะประคับประคองรักษาเสถียรภาพและความก้าวหน้าของความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ ถ้าหากพรรคดีพีพีกลับมาครองอำนาจอีกคำรบหนึ่ง

แผ่นดินใหญ่มีความระแวงสงสัย ไช่ มากเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากบทบาทของเธอในคณะรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี หลี่ เติ้งฮุย (Lee Teng-hui) ในฐานะที่เธอเป็นหัวหน้าของกลุ่มที่ปรึกษากลุ่มหนึ่งที่ออกมาเสนอแนะในปี 1999 ว่า ระหว่างสองฝ่ายของช่องแคบไต้หวันนั้น มีความสัมพันธ์ “แบบรัฐต่อรัฐที่เป็นแบบพิเศษเฉพาะ” (special state-to-state" relationship) ดำรงอยู่

นักวิชาการจีนแผ่นดินใหญ่บางคนเสนอแนะว่า ชัยชนะของพรรคดีพีพีในไต้หวัน อาจกลายเป็นการเพิ่มกำลังใจให้แก่พวกนักวิพากษ์วิจารณ์ภายในประเทศที่คัดค้านนโยบายของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ซึ่งมุ่งก่อให้เกิด “การพัฒนาอย่างสันติ” ในความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ โดยที่นักวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้เรียกร้องต้องการให้แผ่นดินใหญ่ดำเนินแนวทางที่แข็งกร้าวต่อไต้หวันมากขึ้น พัฒนาการดังกล่าวนี้เมื่อมาบังเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาอันใกล้จะมีการเปลี่ยนถ่ายคณะผู้นำครั้งใหญ่บนแผ่นดินใหญ่ด้วยแล้ว มันก็อาจมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อการจัดวางบุคลากรตลอดจนนโยบายต่างๆ ของคณะผู้นำชุดใหม่

อย่างไรก็ดี ควรที่จะตราไว้ด้วยว่า ถึงแม้มีคำเตือนต่างๆ ดังกล่าว แต่ก็ไม่ปรากฏร่อยรอยใดๆ เลยไม่ว่าจะในคำแถลงต่อสาธารณชนหรือการแสดงความคิดเห็นเป็นการส่วนตัว ในเรื่องที่ว่าแผ่นดินใหญ่อาจจะกำลังพิจารณาที่จะใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้าเล่นงานเกาะไต้หวัน

บอนนี เอส แกลสเซอร์ (bglaser@csis.org) เป็นนักวิจัยอาวุโส ของ ฝ่ายฟรีแมน แชร์ เพื่อจีนศึกษา (Freeman Chair in China Studies) ณ ศูนย์กลางเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษาและการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) ในกรุงวอชิงตัน ดีซี อีกทั้งเป็นผู้ร่วมงานอาวุโส (senior associate for) ให้แก่ แปซิฟิก ฟอรัม ซีเอสไอเอส (Pacific Forum CSIS) บริตตานี บิลลิงสลีย์ (bbillingsley@csis.org) เป็นนักวิจัยสมทบ และผู้ประสานงานโครงการ ในฝ่ายฟรีแมน แชร์ เพื่อจีนศึกษา ณ ศูนย์กลางเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษาและการระหว่างประเทศศึกษา

(ข้อเขียนชิ้นนี้เป็นบทคัดย่อของรายงานฉบับที่เพิ่มนำออกเผยแพร่ ใช้ชื่อเรื่องว่า Taiwan's 2012 Presidential Election and Cross-Strait Relations: Implications for the United States)
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
ทั้ง‘สหรัฐฯ’และ จีน’กังวลใจ‘เลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน’ (ตอนจบ)
ขณะที่จีนเชื่อว่าถ้าประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว แห่งไต้หวัน และพรรคก๊กมิ่งตั๋งของเขา พ่ายแพ้การเลือกตั้งในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ มันก็จะนำไปสู่ยุคแห่งการปลุกปั่นก่อกวนของพรรคเดโมแครติก โปรเกรสสีฟ ปาร์ตี้ (ดีพีพี) ที่เป็นพวกฝักใฝ่ต้องการประกาศไต้หวันเป็นประเทศเอกราช อีกคำรบหนึ่ง เฉกเช่นที่เกิดขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีเฉิน สุยเปี่ยน (ปี 2000 – 2008) ทางด้านสหรัฐฯนั้นก็ระแวงสงสัยเหมือนกันว่า ไช่ อิงเหวิน ผู้ท้าชิงจากพรรคดีพีพี มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ต้องถอยหลังกลับไปใหม่ หลังจากที่เดินหน้าเข้าสู่ภาวะผ่อนคลายความตึงเครียดทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจตลอดระยะเวลากว่าสามปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ประชาชนผู้ออกเสียงชาวไต้หวันนั่นแหละคือผู้ที่จะให้คำตอบสุดท้าย โดยที่คาดหมายกันว่าผลการเลือกตั้งน่าจะออกมาอย่างคู่คี่เหลือเกิน
กำลังโหลดความคิดเห็น