คลิกอ่าน_ หง ซิ่วเฉวียน: ต้นแบบนักปฏิวัติจีน ตอนที่หนึ่ง...ขบวนการไท่ผิง ‘กบฏ’ หรือ ‘ปฏิวัติ’ ?
คลิกอ่าน_ หง ซิ่วเฉวียน: ต้นแบบนักปฏิวัติจีน ตอนที่สอง ...หง ซิ่วเฉวียน เคลื่อนไหวขบวนการไท่ผิง ในนาม‘น้องชายพระเยซู’
ความสามารถอันน่าทึ่งของหง ซิ่วเฉวียน ในการนำเอาแนวคิดที่ดูแปลกแยกแตกต่างไปจากวิถีจีนอย่างที่สุดมาปรับใช้ให้เข้ากับจริตของสังคมจีนแบบดั้งเดิมได้อย่างน่าอัศจรรย์นี้ ได้กลายมาเป็นคุณสมบัติสำคัญอันจะขาดไม่ได้เลยในผู้นำการปฏิวัติในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ ความสามารถที่ว่านี้ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นคล้อยตามไปด้วยว่าสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปนั้น นอกจากจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมธรรม ยังเป็นสิ่งที่มีอยู่ในวิถีวัฒนธรรมจีนด้วย เป็นสิ่งที่เป็นแก่นแท้เป็นรากเหง้าอันดีงามแห่งประชาชาติจีนที่ถูกผู้ปกครองหยาบช้าสามานย์ละเลยและหลงลืมไป
ที่สำคัญที่สุดคือความสามารถในการนำเอาแนวคิดจากต่างชาติต่างวัฒนธรรมมาปรับเปลี่ยนดัดแปลงให้กลายเป็นอุดมการณ์สำคัญผลักดันขบวนการชาตินิยม/ชาติพันธุ์นิยมในชนบทจีน หงจัดเป็นนักชาตินิยมต้นแบบ และยังเป็นนักสังคมนิยมพื้นถิ่นที่จินตนาการวิธีการทำสังคมให้เท่าเทียมกันได้โดยขจัดกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล
ไม่น่าแปลกใจเลยที่ตัวอย่างความสำเร็จสั้นๆของหง ซิ่วเฉวียนได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ซุน ยัตเซ็น และเหมา เจ๋อตง ทั้งสองท่านได้เขียนแสดงความชื่นชมและนับถือหัวหน้ากบฏไท่ผิงท่านนี้ไว้มากมายหลายครั้ง
ซุน ยัตเซ็นชื่นชมหง ซิ่วเฉวียน ในฐานะต้นแบบนักชาตินิยมจีนฮั่น และเปรียบการปฏิวัติจีนเป็นการสานต่ออุดมการณ์การล้มล้างราชวงศ์ชิงที่หงได้ริเริ่มเมื่อเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา เหมา เจ๋อตงเองก็มองขบวนการไท่ผิงในฐานะรากเหง้าแห่งขบวนการสังคมนิยมของจีน และหนทางทางปฏิรูปที่ดินในสังคมเกษตรของหงนั้นมีอิทธิพลต่อแนวทางการสถาปนาแนวคิดสังคมนิยมเกษตรแบบเหมาอย่างมีนัยสำคัญ แม้ท้ายที่สุดองค์กรการเมืองที่ซุน ยัตเซ็น และเหมา เจ๋อตงก่อตั้งขึ้นจะเติบโตในแนวทางที่ตรงข้ามกันอย่างแทบจะสิ้นเชิง และเป็นต้นตอการแบ่งแยกประชาชาติจีนที่สองฝากฝั่งช่องแคบไต้หวัน ณ ปัจจุบัน
อาจารย์วาสนาได้หยิบยกเปรียบเทียบลักษณะสำคัญหลายประการของนักปฏิวัติสองท่านนี้ กับหง ซิ่วเฉวียน และพบว่าหนทางสู่การเป็นนักปฏิวัติของซุน และเหมานั้น ต่างก็มีรากฐานมาจากแรงบันดาลใจเดียวกันนั่นเอง
หง ซิ่วเฉวียนกับการเป็นนักศึกษา นักวิชาการ และการรับราชการ
หง ซิ่วเฉวียน ซุน ยัตเซ็น และเหมา เจ๋อตง ต่างมีจุดร่วมในรากฐานการศึกษา มีความเป็นนักวิชาการ และมีความมุ่งหวังในการเข้ารับราชการ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของอารยธรรมจีนและวัฒนธรรมขงจื่อ ความมุ่งหวังในการเข้ารับราชการมีส่วนสำคัญในการก่อร่างแนวคิดของนักปฏิวัตินามอุโฆษทั้งสามท่านนี้ หงมีความพยายามในการสอบเข้ารับราชการถึง 4 ครั้ง ส่วนซุน ยัตเซ็น ก่อนที่จะเข้าสู่เส้นทางปฏิวัติได้เดินทางไปพบขุนนางแมนจูนักพัฒนาคนสำคัญคือ หลี่ หงจาง ด้วยความมุ่งหวังจะเข้ารับราชการช่วยผลักดันการพัฒนาจีนให้ทันสมัยตามแนวทางของหลี่ สำหรับเหมา เจ๋อตงก็เริ่มปรากฏตัวท่ามกลางนักคิดหัวก้าวหน้าของจีนในต้นศตวรรษที่ 20 เข้าทำงานในห้องสมุดมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
การศึกษาทำให้คนอย่างหง ซุน และเหมามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสังคมและวัฒนธรรมจีน แต่ที่สำคัญนักปฏวัติทั้งสามท่านมีการศึกษาที่ไม่ดีพอที่จะเข้าสู่ระบบราชการได้ การที่พวกเขาไม่ได้เข้าสู่ระบบราชการ ทำให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ ณ ชายขอบ ได้สัมผัสกับความยากลำบากของชีวิต ซึ่งทำให้ทั้งสามท่านตระหนักลึกซึ้งถึงความอยุติธรรม และความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มีรากฐานมาจากระบบการศึกษาและระบบราชการแบบประเพณีซึ่งปิดกั้นความก้าวหน้าของพวกเขา และความคับข้องใจนี้ย่อมเป็นรากฐานสำคัญของความตั้งใจล้มล้างระบบอันไม่เป็นธรรมนี้
ผลพวงสำคัญของการได้รับการศึกษาไม่ดีพอที่จะเอาดีในระบบราชการ ทำให้พวกเขาไม่ถูกครอบงำทางความคิดโดยระบบการศึกษาแบบเก่า ทำให้นักปฏิวัติทั้งสามท่านมีพื้นที่ในการปรับเปลี่ยนผสมผสานจับแพะชนแกะแนวคิดต่างๆเพื่อสร้างแนวทางใหม่ที่เห้นว่าเหมาะสมกับสังคมจีน ลักษณะการจับแพะชนแกะทางความคิดนี้ เห็นได้ชัดในปรัชญาการเมืองของซุน ยัตเซ็น และเหมา เจ๋อตง ซึ่งเป็นปรัชญาการเมืองแบบที่นักปรัชญาตะวันตกที่ทั้งสองท่านอ้างถึง มองว่าเป็น “ลัทธิแก้”
นักปฏิวัติจีนที่ประสบความสำเร็จต้องสามารถนำแนวคิดตะวันตกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความก้าวหน้าทันสมัย และแสนยานุภาพของโลก มาผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เป็นที่คุ้นเคยของสังคมจีนได้อย่างลงตัว จึงอาจชนะใจมหาชนชาวจีนได้
ความสามารถในการจับแพะชนแกะทางความคิดได้ถูกถ่ายทอดในหมู่นักปฏิวัตจีนรุ่นหลัง จนปัจจุบันเราก็ได้เห็นประดิษฐ์กรรมทางอุดมการณ์ปฏิวัติจีน ไม่ว่าจะเป็น สังคมนิยมแบบจีน หนึ่งประเทศสองระบบ หลักทฤษฎีสามตัวแทน
การปฏิรูปที่ดินและการขับเคลื่อนแรงงานภาคเกษตร: ขุมพลังอันยั่งยืนของนักปฏวัติจีน
“ไม่มีนักปฏิวัติคนใดปลุกระดมมหาชนชาวจีนซึ่งเป็นส่วนใหญ่เป็นชาวนาโดยปราศจากนโยบายปฏิรูปที่ดินแบบใดแบบหนึ่ง ดังนั้น กบฏชาวนาจึงมักถูกนำมาตกแต่งยำรวมเข้ากับแนวคิดการเมืองตะวันตกสองสามอย่างและจัดโครงสร้างให้มีระเบียบแลดูมีประสิทธิภาพ นี่คือ เหตุผลสำคัญที่ลัทธิไตรราษฎร์ของซุน ยัตเซ็น ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงไม่จบจนถึงทุกวันนี้ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ หรือประชาธิปไตย หรือทั้งสองอย่าง
“และขณะที่มาร์กซ์และเลนินยึดถือการขับเคลื่อนการปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมาชีพในภาคอุตสาหกรรม เหมา เจ๋อตงได้สร้างความตื่นตะลึงแก่ชาวโลกโดยยืนยันใช้แรงงานภาคเกษตรปฏิวัติสังคมนิยมจีน ถ้าเราหวนกลับไปศึกษาแนวนโยบายของกบฏไท่ผิง ก็จะพบว่านวัตกรรมสังคมนิยมเกษตรของเหมาไม่ใช่ความคิดใหม่ การปฏิรูปที่ดินคือการเอาใจชาวนายากจนที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นตัวตัดสินชัยชนะของการปฏิวัติ ซึ่งข้อนี้ ผู้นำการเมืองจีนรู้กันมานานตั้งแต่มาร์กซ์ เลนิน ยังไม่เกิดด้วยซ้ำ”
แนวคิดทางการเมืองของทั้งซุน และเหมานั้น ยิ่งวิเคราะห์ ยิ่งเปรียบเทียบ ก็ยิ่งเห็นความย้อนแยงไม่ลงรอยกับแนวทางที่พากันอ้างว่าเป็นต้นแบบตะวันตก ทั้งประชาธิปไตย สังคมนิยม หรือแม้แต่ชาตินิยม และมักโดนนักปรัชญาการเมืองสายต้นตำรับของตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น “ลัทธิแก้”
ด้านนักวิชาการจีนศึกษาจำนวนมากทั้งในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังคงเพียรสืบค้นรากฐานความคิดปฏิวัติของซุน ยัตเซ็น และเหมา เจ๋อตง จากความคิดฝรั่งที่เขารับมาเมื่อเติบโตขึ้นแล้ว โดยละเลยที่จะพิจารณาต้นเหตุภายในประวัติศาสตร์จีนเองซึ่งส่งอิทธิพลกับพวกเขามากกว่า ถ้าลองได้หันมาศึกษาหง ซิ่วเฉวียน และกบฏไท่ผิงอย่างจริงจัง อาจพบว่าสาวกของท่านประธานเหมาที่เพียรพากศึกษา ‘สรรนิพนธ์เหมา’ อยู่ทุกวันนี้ อันที่จริงแล้วไม่ได้สืบเชื้อสายทางความคิดจากมาร์กซ์หรือเลนิน แต่เป็นสาวกที่ไม่รู้ตัวของน้องชายพระเยซูต่างหาก!