คลิกอ่าน: หง ซิ่วเฉวียน: ต้นแบบนักปฏิวัติจีน ตอนที่หนึ่ง...ขบวนการไท่ผิง ‘กบฏ’ หรือ ‘ปฏิวัติ’ ?
หลังจากที่ได้รับบัญชาจากพระเจ้าผู้เป็นบิดาและพระเยซูพระเชษฐาแล้ว อาการป่วยของหง ซิ่วเฉวียนก็ค่อยๆทุเลาและหายเป็นปกติในเวลาต่อมาอีกไม่นาน เมื่อหายจากอาการป่วย หง ซิ่วเฉวียนก็กลับมาใช้ชีวิตตามปกติเป็นครูสอนหนังสืออยู่ 7 ปี กระทั่งในปี 1844 ก็ได้หยิบเอกสารคำสอนที่เหลียง อาฟาให้มาอีกครั้ง พินิจพิเคระห์ถึงความหมายของถ้อยคำและนิมิตฝัน จนบังเกิดความเชื่อมั่นว่าตนเป็นโอรสองค์เล็กของพระผู้เป็นเจ้าและน้องชายของพระเยซูคริสต์ ที่จะต้องปราบทุกข์เข็นให้แก่ชาวจีนด้วยการโค่นล้มราชวงศ์ชิง พร้อมกับนำประชาชาติจีนออกจากแนวทางอันมัวเมาของขงจื่อ กลับสู่แนวทางแห่งคุณธรรมอันบริสุทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าแห่งคริสต์ศาสนา
จากนั้น หง ซิ่วเฉวียนก็เริ่มบอกเล่านิมิตของเขาแก่สมาชิกในครอบครัว ญาติมิตร เพื่อนฝูงและคนรู้จักในละแวกบ้าน เริ่มประกาศแนวทางการบูชาพระผู้เป็นเจ้าจากความเข้าใจของเขาที่มาจากเอกสารคำสอนที่เขาได้รับมา หงได้สมาชิกกลุ่มหนึ่งเป็นญาติสนิทมิตรสหายรุ่นไล่เลี่ยกัน แต่สมาชิกส่วนใหญ่ในชุมชนบ้านเกิดของเขากลับไม่เสื่อมใสศรัทธา หงได้พาพรรคพวกจำนวนหนึ่งเดินทางไปยังกว่างซี (หรือกวางสี) ที่มีชุมชนชาวจีนฮากกาอาศัยอยู่จำนวนมาก และเขาก็ประสบความสำเร็จในการหาแนวร่วมในเขตมณฑลนี้
ในปี 1847 หงได้เดินทางกลับไปยังกว่างโจว เพื่อศึกษาพระคัมภีร์อย่างจริงจังกับมิชชันนารีอเมริกันชื่อ อิซาคา ยาค็อกซ์ โรเบิร์ตส์ (Issachar Jacox Roberts) ศึกษาพระคัมภีร์เก่า (Old Testament) ซึ่งกลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญของคำสอนกลุ่มเคลื่อนไหวไท่ผิง สองเดือนต่อมา หงได้ปรึกษาคณาจารย์สอนศาสนาของเขา ขอให้สนับสนุนลัทธิของเขา และคำร้องขอนี่เองก็ได้ยุติความสัมพันธ์ฉันศิษย์อาจารย์กับโรเบิร์ตส์ เนื่องจากมิชชันนารีเห็นว่าหงมีความเชื่อที่บิดเบือนและหวาดระแวงว่าเขาอาจหลอกเอาเงินของพี่น้องชาวคริสต์ในจีน หงจึงลาจากมาและเดินทางไปยังฐานที่มั่นในกว่างซี เผยแพร่ลัทธิความเชื่อของตนต่อไป
แม้ได้ศึกษาคัมภีร์กับหมอสอนศาสนาในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ประสบการณ์ดังกล่าวเป็นประโยชน์กับหง ซิ่วเฉวียนมาก เพราะได้เรียนรู้องค์ประกอบด้านพิธีกรรมต่างๆของคริสต์สาสนา ดังนั้นการเผยแพร่ลัทธิของหงในช่วงปลายทศวรรษที่ 1840 เริ่มมีโครงสร้างเชิงพิธีกรรมที่ซับซ้อนและน่าเชื่อถือมากขึ้น มาถึงต้นทศวรรษที่ 1850 คณะผู้ติดตามของหงมีจำนวนเพิ่มทวีเป็นหมื่น และเริ่มสร้างความหวาดระแวงแก่กลุ่มขุนนางและข้าราชการท้องถิ่น
ในต้นปี 1851 หงก็ได้ประกาศสถาปนาอาณาจักรใหม่เรียกว่า อาณาจักรสวรรค์แห่งสันติสุขที่ยิ่งใหญ่ (ไท่ผิงเทียนกั๋ว/Heavenly Kingdom of Great Peace) และตั้งตนเป็นกษัตริย์ผู้มีอำนาจปกครองสูงสุดในระบอบการปกครองใหม่ที่มีเป้าหมายหลักโค่นล้มราชวงศ์ชิงและขจัดอิทธิพลของลัทธิบูชาบรรพบุรุษแบบขงจื่อ อาณาจักรใหม่ของหง ซิ่วเฉวียนเติบโตอย่างรวดเร็วภายในสามปี สามารถขยายอิทธิพลเป็นวงกว้างครอบคลุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญบนลุ่มน้ำแยงซีเกียงหลายจุดและเพิ่มสมาชิกร่วมขบวนการเป็นจำนวนมาก จนในที่สุดก็สามารถยึดเมืองหนันจิง มาเป็นฐานที่มั่นสำคัญและเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรไท่ผิงได้สำเร็จในปี 1853
กบฏไท่ผิงขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วและอย่างเข้มแข็ง และกระบวนการครอบงำทางความเชื่อและอุดมการณ์ที่ควบคู่ไปกับการใช้ความรุนแรงอย่างสุดโต่ง ทั้งกองกำลังที่ถูกส่งมาจากราชสำนักส่วนกลางและประชาชนที่ไม่ยอมรับวิถีของกลุ่มกบฏต้องประสบกับชะตากรรมอันโหดร้ายทารุณเสียชีวิตนับแสน
กระทั่งเกิดเหตุสำคัญที่นำไปสู่จุดจบของกลุ่มกบฏ กล่าวคือหลังจากที่หงได้ถอนตัวออกจากหน้าที่ราชการส่วนใหญ่ในปี 1853 นั้น หยัง ซิ่วชิงแม่ทัพคู่บุญได้ขึ้นมาเป็นผู้จัดการทางการเมืองแทนหงในแทบทุกด้านพร้อมกับขยายอำนาจอิทธิพลของตนจนหงเกิดความหวาดระแวง
ความขัดแย้งดังกล่าวซ่อนตัวเป็นคลื่นใต้น้ำเป็นเวลานานปี จนได้ระเบิดออกในปี 1856 เมื่อหงได้สั่งให้กลุ่มสมุนผู้ภักดี ลอบสังหารหยังและครอบครัวรวมทั้งเครือข่ายทางการเมืองและบริวารให้สิ้นซาก ทว่าการกำจัดหยัง ซิ่วชิง และครอบครัวบริวาร กลับเป็นการบั่นทอนกำลังสำคัญของชนชั้นนำไท่ผิง เมื่อสิ้นหยังก็ไม่มีใครสามารถแทนที่หยังได้เลยทั้งความชำนัญการศึก การจัดการประสานผลประโยชน์ และบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กบฏไท่ผิงอ่อนแอลงอย่างมาก
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่นำไปสู่หายนะของหง ซิ่วเฉวียน และกบฏไท่ผิง คือการที่ขุนพล เจิง กั๋วฟาน ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการสูงสุดในการปราบปรามกบฏในเขตเจ้อเจียง เจิ้งได้รับมอบหมายให้ร่วมกับข้าหลวงมณฑลหูหนันสถาปนากองทัพรูปแบบใหม่ เพื่อปราบกบฏไท่ผิงตั้งแต่ปี 1851 กองทัพดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในนามกองทัพเชียง สร้างจากความสมัครใจของประชาชนในหูหนัน มีเบี้ยหวัดเงินเดือน มีสวัสดิการ มีการฝึกระเบียบวินัยและฝึกฝนการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่นับเป็นกองทัพทหารอาชีพแบบสมัยใหม่กองทัพแรกในประวัติศาสตร์จีน
ทั้งนี้การที่ราชสำนักชิงยอมให้เจิง กั๋วฟานกลับไปรวบรวมกำลังสร้างกองทัพในบ้านเกิดที่หูหนัน นับเป็นการแหกกฎเหล็กที่ราชสำนักยึดถืออย่างเคร่งครัดในการห้ามขุนนางกลับไปเป็นผู้นำทัพในบ้านเกิดของตัวเอง ด้วยระแวงว่าอาจเกิดการคิดคดทรยศและตั้งตัวเป็นใหญ่ อันเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของอำนาจราชสำนัก การที่แม่ทัพเจิ้งได้รับอนุญาตกลับไปสร้างกองกำลังในบ้านเกิดเช่นนี้สะท้อนถึงความร้ายแรงของกบฏและความล้มเหลวซ้ำซากของราชสำนักในการปราบกบฏด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม
ด้วยประสิทธิภาพของกองทัพนำโดยแม่ทัพเจิ้ง กอปรด้วยความอ่อนแอภายในกลุ่มกบฏเนื่องจากความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในฯ นอกจากนี้กองกำลังพันธมิตรจากชาติตะวันตกบางส่วนเริ่มเห็นใจราชสำนักชิงและเริ่มยื่นมือเข้ามาช่วยปราบกบฏ ในที่สุดกลางปี 1864 กองทัพเซียงนำโดยแม่ทัพเจิ้ง กั๋วฟานและกองกำลังพันธมิตรก็สามารถตีนครหลวงหนันจิงของกบฏไท่ผิงแตกพ่าย
ผู้นำกบฏเกือบทั้งหมดได้จบชีวิตลง หง ซิ่วเฉวียนเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ สาเหตุการตายของหง ซิ่วเฉวียนยังเป็นที่ถกเถียงถึงปัจจุบัน บางฝ่ายเชื่อว่าเขาอัตวินิบาตกรรมเพื่อหนีการจับกุม บ้างเชื่อว่าหงเสียชีวิตจากอาการท้องร่วงรุนแรงหรืออาการป่วยไข้สืบเนื่องจากคุณภาพชีวิตที่แย่ลงหลังจากที่หนันจิงถูกปิดล้อมเป็นเวลานาน และยังมีจำนวนมากที่เชื่อว่าเป็นการลอบสังหารจากกลุ่มกบฏนั่นเอง นอกนั้น ผู้นำส่วนใหญ่ของกลุ่มไท่ผิงได้พยายามหลบหนี พร้อมกับรัชทายาทของหงคือ เจ้าชายหง เทียนกุ้ยฝู แต่แทบทั้งหมดก็ถูกจับได้และถูกประหารชีวิตภายในปีเดียวกันนั้นเอง
การเคลื่อนไหวของไท่ผิงเทียนกั๋วกินเวลาราว 15 ปี สร้างความเสียหายแทบทุกด้านแก่ราชสำนักชิง ผู้คนและทหารล้มตายกว่า 10 ล้านคน
โปรดอ่านต่อตอนที่สาม: จากหง ซิ่วเฉวียน ถึงซุน ยัตเซ็น และเหมา เจ๋อตง : ต้นแบบนักปฏิวัติจีน