xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายการศึกษาชายแดนพม่า อำนาจละมุนอันลุ่มลึกของจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวอรสา รัตนอมรภิรมย์ นักวิจัยศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ (ภาพมุมจีน ผู้จัดการฯ)
เอเอสทีวีผู้จัดการ - โครงการวิจัย “ความร่วมมือนานาชาติกับความมั่นคงของมนุษย์” ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “จีนกับความมั่นคงของมนุษย์” ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันจันทร์ที่ 22 ส.ค.2554 โดยมีการนำเสนอบทความวิจัย 5 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือเรื่อง “จีนกับนโยบายการศึกษาชายแดนอวิ๋นหนาน-พม่า: ผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่” โดย นางสาวอรสา รัตนอมรภิรมย์ นักวิจัยศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ

นางสาวอรสา รัตนอมรภิรมย์ นักวิจัยศูนย์จีนศึกษาฯ ได้กล่าวนำเสนอว่า บทความวิจัยชิ้นนี้มุ่งชี้ถึงการดำเนินนโยบายด้านการศึกษาของจีนในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมแห่งอำนาจละมุน(Soft power) ที่เข้ามาส่งอิทธิพลต่อพื้นที่บริเวณชายแดนมณฑลอวิ๋นหนาน(ยูนนาน) - พม่า โดยอาศัยนโยบายด้านการศึกษาในรูปแบบต่างๆ เข้ามากลืนกลายและหลอมรวมกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่เหล่านั้นให้มีความเป็นจีน อันนำไปสู่ความมั่นคงแห่งรัฐ(จีน) ขณะที่ความมั่นคงในมิติปัจเจกชน ความมั่นคงระหว่างรัฐ และสำนึกร่วมทางชาติพันธุ์ ก็เป็นปัจจัยเสริมที่เกี่ยวพันอย่างแนบแน่นต่อเสถียรภาพในระดับรัฐที่จีนให้ความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

คุณอรสากล่าวว่าจีนได้ดำเนินนโยบายการศึกษา จัดตั้งโรงเรียนในชายแดนจีน-พม่า มากว่า 300 ปี นับจากยุคราชวงศ์ชิง จนถึงปัจจุบัน โดยอาจแบ่งยุคการดำเนินนโยบายเป็น 4 ช่วง เพื่อให้เห็นภาพของการศึกษาทั้งในเชิงนโยบายและเชิงสภาพการณ์ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งสรุปพอสังเขปดังต่อไปนี้

ยุคก่อนสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911)
นโยบายด้านการศึกษาของจีนเทียบเท่ากับการป้องกันชายแดนโดยมุ่งเน้นการกลืนกลายกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการปกครอง สำหรับการเรียนการสอนในช่วงนี้มีการเปิดสำนักวิชาเพื่ออบรมสั่งสอนธรรมเนียมปฏิบัติตามหลักปรัชญาขงจื่อ ปลูกฝังแนวคิดวิถีความเป็นจีนให้กับคนในท้องถิ่น โดยราชสำนักมุ่งอบรมสั่งสอนให้ประชาราษฎร์มีความจงรักภักดีต่อกษัตริย์

ยุคสาธารณรัฐประชาชนจีนตอนต้น หลังจากสถาปนาจีนใหม่ (ค.ศ. 1949)
รัฐบาลจีนใหม่ส่งเสริมให้ชนชาติส่วนน้อยเข้ารับการศึกษาในระบบมากขึ้น ในปี ค.ศ.1951 มีการก่อตั้งโรงเรียนนำร่องในพื้นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อยที่ดูแลเรื่องการกิน การอยู่ เสื้อผ้า และการศึกษา โรงเรียนทั่วไปก็เปิดชั้นเรียนสำหรับชนกลุ่มน้อยโดยเฉพาะ อีกทั้งในปี ค.ศ.1953 จีนเริ่มดำเนินนโยบายการสอนและผลิตแบบเรียนด้วยภาษาถิ่นของแต่ละชนชาติ โดยมีการปลูกฝังลัทธิสังคมนิยม

ในช่วงปี ค.ศ.1958 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงปฏิวัติชนชั้นอย่างเข้มข้น จีนดำเนินนโยบายด้านการศึกษาที่ผูกติดกับกำลังการผลิต มุ่งสร้างชนชั้นกรรมาชีพเดินตามระบบคอมมูนสนองอุดมการณ์ลัทธิสังคมนิยมที่เน้นความเป็นหนึ่งเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ในปีค.ศ. 1964 จีนดำเนินนโยบายการศึกษาสองระบบ กำหนดหลักสูตรให้มีการเรียนควบคู่ไปกับการทำอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตามการมุ่งสร้างแรงงานภาคผลิตเป็นหลักอาจเข้าข่ายการริดรอนสิทธิเสรีภาพในระดับปัจเจก ด้วยว่ารัฐบาลกลางผูกขาดชีวิต การศึกษาและการทำงานของประชาชน
(ซ้าย)โรงเรียนประถมในชนบทเขตโกกั้ง ชายแดนฝั่งพม่า /(ขวา)โรงเรียนประถมในอำเภอเจิ้นคัง ชายแดนฝั่งจีน(ภาพโดย อรสา รัตนอมรภิรมย์)
ยุคปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ. 1966-1976)
เป็นช่วงที่ระบบการศึกษาทั่วประเทศจีนรวมทั้งอวิ๋นหนานอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากหลิน เปียวและแก๊งสี่คน ซึ่งฝักใฝ่แนวคิดสังคมนิยมสุดโต่งกล่าวหาว่านโยบายการศึกษาที่ผ่านมา เป็นแนวทางของพวกฝักใฝ่ทุนนิยม ระบบการศึกษาของรัฐบาลจีนใหม่ทั้งหมด รวมทั้งนโยบายพิเศษด้านการศึกษาทั้งหมดที่เคยสนับสนุนแก่ชนชาติส่วนน้อยจึงถูกยกเลิก ทั้งยังมีการทำลายสำนักแปลและผลิตแบบเรียนสำหรับชนกลุ่มน้อยในบริเวณชายแดนจนหมด ทำให้เยาวชนจีนออกไปเรียนในประเทศข้างเคียง (พม่า) มากขึ้น ในช่วงปีค.ศ. 1966-1969 อาคารเรียนของโรงเรียนต่างๆ ในมณฑลอวิ๋นหนานถูกฝ่ายปฏิวัติวัฒนธรรมทำลายย่อยยับ โรงเรียนหลายแห่งต้องหยุดรับสมัครนักเรียนใหม่ ขณะที่โรงเรียนที่เหลืออยู่ก็ไม่ได้สอนเนื้อหาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในปีค.ศ. 1974-1976 มีการกำหนดให้โรงเรียนในชุมชนชายแดนหลายแห่งสอนควบในระดับชั้นประถม-มัธยม ตามคำรณรงค์ที่ปลูกฝังแนวคิดสังคมนิยมที่ว่า “เรียนประถมไม่ต้องเดินออกจากหมู่บ้าน เรียนมัธยมต้นไม่ต้องเดินออกจากกองกำลัง เรียนมัธยมปลายไม่ต้องเดินออกจากคอมมูน” ในช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ความมั่นคงของประชาชนอยู่ในจุดต่ำสุด

ยุคปฏิรูปและเปิดประเทศ(ตั้งแต่ปี ค.ศ.1978 เป็นต้นมา)

การศึกษาในพื้นที่ชายแดนมณฑลอวิ๋นหนานกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหลังจากเติ้ง เสี่ยวผิงขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน(ปีค.ศ. 1978) เติ้งส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฐานะที่จะเป็นรากฐานการสร้างระบบสังคมนิยมที่ทันสมัยและเปิดกว้าง รวมทั้งการลงทุนด้านการศึกษาแก่ทรัพยากรมนุษย์ สืบเนื่องจากช่วงเสื่อมทางการศึกษาในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ชาติต่างๆ อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป สิงคโปร์ และไต้หวัน ต่างเข้ามาพัฒนาการศึกษาในประเทศที่มีพรมแดนติดกับอวิ๋นหนาน ทำให้เยาวชนจีนไหลไปเรียนในพม่ามากขึ้น ซึ่งสร้างความกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติแก่รัฐบาลจีนอย่างมาก

ดังนั้นในช่วงนี้รัฐบาลกลางและรัฐบาลอวิ๋นหนานจึงดำเนินนโยบายการศึกษาในพื้นที่ชายแดนให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น อาทิ กำหนดนโยบายฟรีค่าใช้จ่ายสามหมวด ได้แก่ งดเว้นค่าหนังสือเรียน ค่าเบ็ดเตล็ดและค่าอุปกรณ์การเรียน กำหนดนโยบายสองฐาน คือ การกระจายการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีให้ทั่วภาคตะวันตกของจีน และขจัดอัตราผู้ไม่รู้หนังสือวัยหนุ่มสาวให้หมดไป กำหนดนโยบายฟรี 2 เพิ่ม 1 คือ ยกเว้นค่าเล่าเรียนและค่าเบ็ดเตล็ดให้กับนักเรียนภาคบังคับฯ ชั้นประถม-มัธยมต้น อีกทั้งให้เงินค่าครองชีพเพิ่มแก่นักเรียนที่ครอบครัวยากจน กำหนดนโยบายการเรียนการสอนสองภาษา (ภาษาท้องถิ่น-จีน) นอกจากนี้จีนยังส่งเสริมการศึกษาข้ามแดน โดยมีการสร้างโรงเรียนบริเวณด่านเข้าออกประเทศ โรงเรียนมิตรภาพจีน-พม่า โรงเรียนป้องกันชายแดน เสริมสร้างภาพลักษณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดี
(ซ้าย)เด็กนักเรียนประถมในชายแดนฝั่งพม่าได้รับแจกอุปกรณ์การศึกษาจากความช่วยเหลือขององค์การยูนิเซฟ /(ขวา) หนังสือวิชาประถมศึกษาวิชาภาษาและวรรณคดีจีนของโรงเรียนในเขตปกครองตนเองโกกั้ง ซึ่งเริ่มแรกนำเข้ามาจากจีนและต่อมามีการพิมพ์ซ้ำเพิ่มเติมเองในเขตโกกั้ง(ภาพโดย อรสา รัตนอมรภิรมย์)
งานวิจัยเรื่องนี้ ยังระบุผลจากนโยบายเหล่านี้ทำให้การศึกษาของจีนตามแนวชายแดนอวิ๋นหนานพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่โรงเรียนในชายแดนฝั่งพม่าซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ ยังมีสภาพล้าหลัง อาทิ โรงเรียนในเขตปกครองตนเองโกกั้ง เป็นต้น ทำให้นักเรียนจีนที่เคยไปเรียนในพม่าก็กลับมาเรียนในจีนดังเดิม ขณะที่เด็กนักเรียนจากฝั่งพม่าก็ยังข้ามมาเรียนในฝั่งอวิ๋นหนาน ทั้งยังมีการจ้างครูจีนเข้าไปสอนในฝั่งพม่า ยิ่งไปกว่านั้นโรงเรียนชายแดนฝั่งพม่านิยมใช้ตำราเรียนจีนมากขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลอวิ๋นหนานได้จัดอบรมหลักสูตรการศึกษาขั้นต้นและการศึกษาสองภาษา(อังกฤษ-จีน) แก่ครู-อาจารย์พม่า เพื่อส่งเสริมให้การศึกษาบริเวณดังกล่าวพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นการขยายอำนาจทางวัฒนธรรมจีนออกไป

จีนเน้นความมั่นคงไม่ตามแบบที่ครอบคลุมปัญหาต่างๆ
คุณอรสา กล่าวถึง สภาพการศึกษาในบริเวณชายแดนมณฑลอวิ๋นหนาน-พม่าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าจีนได้ดำเนินนโยบายด้านการศึกษาซึ่งเป็นอำนาจละมุนอันแยบคาย ที่แฝงด้วยอุดมคติและวัฒนธรรมจีน อีกทั้งแนวคิดสังคมนิยม มาเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงความมั่นคงในระดับปัจเจกชนที่เข้าถึงการศึกษา สู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสังคม และนำมาซึ่งความมั่นคงแห่งรัฐ(จีน)ในที่สุด ขณะที่ประเด็นความมั่นคงข้ามรัฐ ซึ่งจีนมองว่าเป็นความมั่นคงไม่ตามแบบที่ครอบคลุมปัญหาต่างๆ อาทิ การก่อการร้าย การค้าของเถื่อนและยาเสพติด ฯลฯ นโยบายด้านศึกษาของจีนก็เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมความรู้แก่ประชาชน สร้างโอกาสทางอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ เพื่อลดปัญหาดังกล่าว

สำหรับประเด็นสำนึกร่วมทางชาติพันธุ์ในชายแดนอวิ๋นหนาน-พม่า ซึ่งมีความหลากหลายทางชนชาติสูง จีนได้ใช้การเรียนการสอนภาษาจีนมาประทับตราความเป็นจีนและเปลี่ยนจากสำนึกร่วมทางชาติพันธุ์ของเด็กนักเรียนในพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นสำนึกร่วมแห่งชาติรัฐหรือสำนึกร่วมทางวัฒนธรรมจีนแทน

อย่างไรก็ตาม คุณอรสา แสดงความเห็นว่า “การที่จีนดำเนินนโยบายการศึกษาที่เอื้อต่อการสร้างความมั่นคงแห่งรัฐของตน ก็ได้สร้างความกังวลต่อรัฐบาลพม่า ทำให้พม่าเริ่มดำเนินนโยบายกำหนดให้มีการสอนภาษาพม่าตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาและส่งครูพม่าเข้าไปยังพื้นที่ชายแดนมากขึ้น จากเดิมที่ปล่อยให้เขตปกครองพิเศษต่างๆ บริหารจัดการโดยลำพัง
(ซ้าย)สภาพห้องเรียนของโรงเรียนประถมชายแดนฝั่งพม่า /(ขวา)สภาพห้องเรียนโรงเรียนประถมชายแดนฝั่งจีน(ภาพโดย อรสา รัตนอมรภิรมย์)
รัฐบาลพม่าหวาดระแวงกลุ่มชนต่างๆ ว่าอาจมีใจออกห่าง
อาจารย์พรพิมล ตรีโชติ ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ผู้วิจารณ์บทความวิจัยชิ้นนี้ ได้วิเคราะห์เสริมไว้ว่า การที่จีนดำเนินนโยบายด้านการศึกษาที่ปลูกฝังความเป็นจีนแก่กลุ่มชนชาติส่วนน้อยต่างๆที่อยู่บริเวณชายแดนพม่า-จีน อันเอื้อประโยชน์ต่อความมั่นคงในระดับรัฐของจีนเองนั้น จะยิ่งทำให้รัฐบาลพม่าหวาดระแวงว่ากลุ่มชนชาติส่วนน้อยเหล่านั้นอาจมีใจออกห่าง ด้วยว่ารัฐบาลพม่าก็ต้องการสร้างเอกภาพและทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีความเป็นพม่าเช่นกัน

สำหรับทัศนะที่จีนมองว่าวัฒนธรรมจีนควรอยู่เคียงคู่ไปกับความเจริญของประเทศเพื่อนบ้านด้วยการประทับตราความเป็นจีนให้แน่นหนาอยู่ท่ามกลางการพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้านนั้น อาจารย์พรพิมล กล่าวว่าเป็นทัศนะที่ไม่พึงประสงค์สำหรับพม่า ด้วยว่านโยบายขยาย “ความเป็นจีน” สู่ชนกลุ่มน้อยตามชายแดนของพม่า-จีน ซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหวด้านการเมืองระหว่างประเทศนั้น อาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับพม่าได้

อาจารย์พรพิมล กล่าวสรุปว่า จีนทราบและตระหนักดีถึงความวิตกกังวลของพม่า แต่เนื่องจากจีนมีนโยบายอำนาจละมุนอย่างเป็นระบบที่ค่อนข้างชัดเจน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จีนจึงไม่สามารถหยุดยั้งความต้องการของตนเองได้ อันอาจทำให้จีนละเลยความจริงบางประการเกี่ยวกับความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่ ซึ่งจะกลายเป็นชนวนเหตุแห่งความขัดแย้งในภายหน้า

ทั้งนี้ บทความวิจัยชุด “จีนกับความมั่นคงของมนุษย์” นี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง “ความร่วมมือนานาชาติกับความมั่นคงของมนุษย์” ของศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจาก โครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
กำลังโหลดความคิดเห็น