xs
xsm
sm
md
lg

จวงจื่อฉบับสมบูรณ์/หิ้งหนังสือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครั้งหนึ่งจวงจื่อฝันไปว่า ตนเป็นผีเสื้อ ขยับกระพือปีกบินไปรอบ ๆ อย่างสุขสำราญใจ เริ่งเล่นไปตามใจปรารถนา มันหารู้ไม่ว่ามันคือจวงจื่อ พลันเมื่อตื่นขึ้นและพบว่าตัวเองเป็นจวงจื่ออย่างแน่แท้ แต่เขากลับไม่แน่ใจว่าเป็นจวงจื่อที่ฝันไปว่าตัวเองเป็นผีเสื้อ หรือว่าเป็นผีเสื้อที่ฝันเป็นจวงจื่อกันแน่ ระหว่างจวงจื่อและผีเสื้อจะต้องมีความแตกต่างบางอย่าง นี่เรียกว่าการแปรเปลี่ยนของสรรพสิ่ง (ภาพเอเยนซี)
จวงจื่อเป็นจอมปราชญ์จีน มีชีวิตเมื่อประมาณ 2,300 ปีที่ล่วงมา ตรงกับยุคจั้นกั๋ว ชื่อยุคที่มีความหมายว่ายุคสงคราม (475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ท่านเป็นปราชญ์ใหญ่ผู้รังสรรค์แนวคิดอมตะ ที่ถูกจัดอยู่ในสำนักคิดปรัชญาเต๋า เป็นปราชญ์รุ่นหลังเหลาจื่อผู้รจนาคัมภีร์เต้าเต๋อจิง (หรือเต๋าเต็กเก็ง) ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในสามของจอมปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของสำนักคิดฝ่ายเต๋า โดยอีกท่านคือเลี่ยจื่อ จวงจื่อได้สืบทอดและพัฒนาต่อยอดแนวคิดของเหลาจื่อ แนวคิดของท่านถูกรวบรวมและใช้ชื่อท่านเป็นชื่อหนังสือนั้น สารัตถะในหนังสือจวงจื่อแสดงความคิดและวิถีที่หนักไปทางปรมัตถ์สัจจ์

กลุ่มนักปราชญ์จีนโบราณนามอุโฆษล้วนครุ่นคิดแสวงหาคำตอบเดียวกัน นั่นคือมนุษย์จะมีชีวิตอยู่อย่างไรในโลกอันสับสนวุ่นวายวุ่นวาย ไร้สาระ และชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ นักปราชญ์จีนเกือบทุกท่านทั้งสำนักขงจื่อ มั่วจื่อ สำนักนิติธรรม ฯลฯ ให้คำตอบที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ กฎเกณฑ์แบบแผน การปฏิรูปต่างๆ สำหรับจวงจื่อเสนอแนวคิดที่แตกต่างออกไป คือการปลดปล่อยตัวเองสู่อิสรภาพ หล่อเลี้ยงภายในโดยไม่วิตกกังวลกับเรื่องภายนอก อย่างเช่น ผลประโยชน์ ชื่อเสียง และดำเนินไปตามครรลองธรรมชาติ

ในการปลดปล่อยตัวเองสู่อิสระเสรีนั้น จวงจื่อมองว่าชีวิตมนุษย์นั้นเต็มไปด้วยพันธนาการจากแนวความคิดเก่า กฎเกณฑ์แบบแผน และมนุษย์นั่นเองเป็นผู้กำหนดสุข-ทุกข์ของตัวเอง

เรื่องเล่าอันเฉียบคมในหนังสือจวงจื่อ เพื่อแสดงแนวคิดสู่มรรคาอิสรภาพ ดังในบทที่ 23 เรื่องของหนันหรงฉู ผู้ดั้นด้นไปเยี่ยมคารวะปราชญ์เหลาจื่อ ด้วยความหวังจะได้รับคำตอบคลี่คลายปัญหาชีวิตของตน เมื่อหนันหรงฉูไปถึง เหลาจื่อก็ถามขึ้นในทันใดว่า “เหตุใดท่านจึงพาผู้คนมามากมายเยี่ยงนี้” หนันหรงฉูหันไปมองรอบกายด้วยความประหลาดใจ เพื่อดูว่ามีใครอยู่เบื้องหลังบ้าง แต่กลับหามีผู้ใดไม่ "ผู้คนมากมาย" ที่เขาพามาด้วยนั้น ก็คือบรรดาความคิดความเชื่อเก่าๆในเรื่องถูกและผิด ชั่วและดี ชีวิตและความตาย มนุษย์ต้องปลดเปลื้องสัมภาระแห่งคุณค่าเก่าๆที่เขาแบกพาไปด้วยทุกแห่งหน จึงอาจบรรลุถึงอิสรภาพ

และนิทานเปรียบเทียบในหนังสือจวงจื่อ ที่สะท้อนว่ามนุษย์เป็นผู้กำหนดความสุข-ทุกข์ของตัวเองด้วยพันธนาการแห่งความกลัว เป็นเรื่องของหญิงโรคเรื้อนในบทที่ 12 “เมื่อหญิงโรคเรื้อนได้ให้กำเนิดทารกในกลางดึก นางรีบไปคว้าคบไฟมาส่องดู หวาดหวั่นพรั่นพรึงด้วยเกรงว่าทารกจะเป็นเหมือนตน”

จวงจื่อเสนอแนวคิดให้มนุษย์แสวงหาและกลับสู่ธรรมชาติดั้งเดิมของตน ไปพ้นจากสองสภาวะที่เป็นคู่ตรงข้าม ทั้ง ดี-เลว สวยงาม-อัปลักษณ์ ชีวิต-ความตาย เป็นต้น รู้ในการแปรเปลี่ยนของธรรมชาติ แม้ชีวิตและความตายอันเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์ ก็เป็นการแปรเปลี่ยนเฉกเช่นเดียวกับฤดูกาลทั้งสี่

สำหรับเรื่องชีวิตความตายของจวงจื่อนี้เป็นแนวคิดที่ทรงดุลยภาพงดงาม จวงจื่อให้ค่ากับการบำรุงชีวิตตัวเองเป็นอันดับแรก ไม่ดำเนินชีวิตที่ทำลายบั่นทอนชีวิตตัวเอง แต่ก็ไม่กลัวตาย ทั้งชีวิตและความตายมีค่าเสมอกัน

จวงจื่อสอนให้มนุษย์ดำเนิน ‘อกรรม’ ซึ่งมิได้หมายความว่าไม่กระทำการใด ทว่าเป็นการกระทำที่ไม่มุ่งหวังดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้มา เป็นการกระทำที่เป็นไปตามธรรมชาติ

ลีลาการนำเสนอแนวคิดในหนังสือจวงจื่อนั้นที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว ได้แก่ การระดมการเขียนรูปแบบต่างๆ ทั้งถ้อยคำเปรียบเทียบ เรื่องเล่า เกร็ดประวัติศาสตร์ การสนทนาโต้เถียงที่ล้วนอุดมด้วยความลึกซึ้งเฉียบคม ความโดดเด่นของงานเขียนจวงจื่อที่แตกต่างไปจากงานเขียนของนักปราชญ์จีน คือการใช้อารมณร์ขันเป็นหลักในลีลาการเขียน เบอร์ตัน วัตสันระบุในคำนำหนังสือจวงจื่อฉบับสมบูรณ์ที่ท่านเป็นผู้แปลว่าว่า “ดูเหมือนท่านจะรู้ซึ้งแก่ใจดีว่าการได้หัวเราะดังๆสักครั้ง ย่อมมีค่ายิ่งกว่าถ้อยคำก่นด่านับสิบหน้า เพื่อกระตุกผู้อ่านให้เริ่มตั้งคำถามกับความน่าเชื่อถือของสมมติฐานในอดีตของตน”

หนังสือจวงจื่ออกจะอ่านยากเนื่องจากแนวคิดที่เป็นนามธรรม สอนเรื่องปรมัตถ์สัจจ์เป็นหลัก และเครื่องมือทางภาษาก็ไม่อาจอธิบายได้อย่างแจ่มแจ้ง จวงจื่อได้กล่าวว่าท่านเพียงบรรยายถึงสิ่งเหล่านั้นอย่าง “หยาบๆคร่าวๆ” ทำให้เกิดข้อความล้ำลึก และข้อเขียนนัยผกผัน ซึ่งมิได้บ่งบอกถึงสิ่งใดเลย ผู้อ่านอาจต้องใช้ความเพียรใช้เวลาในการอ่าน และท่านก็จะได้ค้นพบสารัตถะที่เป็นพรอันประเสริฐแด่ชีวิต

วงการศึกษาปรัชญาโลกยกย่องหนังสือจวงจื่อว่าเป็นงานปรัชญาวรรณกรรมที่เป็นเพชรน้ำเอก ที่ผู้คนควรได้อ่านพิจารณาแนวความคิดสู่อิสรภาพแห่งชีวิต และสังคมที่สงบสุขอย่างยั่งยืน

สำหรับปรัชญแนวคิดเต๋าของจวงจื่อนี้ ได้รับการนำเสนอสู่สังคมไทยมาบ้างแล้ว ชาวไทยอาจคุ้นเคยชื่อของท่านจวงจื่อซึ่วเป็นสำเนียงจีนกลางนี้ ในนาม "จางจื๊อ" จาก มนุษย์ที่แท้: มรรควิถีของจางจื๊อ แปลและเรียบเรียงโดย ส.ศิวรักษ์ แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของโทมัส เมอร์ตันที่คัดสรรตัดตอนเนื้อหาจากบทต่างๆของคัมภีร์จวงจื่อ, มรรควิธีจางจื้อ: ก้าวย่างบนทางคู่ โดยมานพ อุดมเดช เป็นฉบับแปล 7 บทแรกของหนังสือจวงจื่อจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ , ยังมีคัมภีร์เต๋าของจวงจื่อ แปลและเรียบเรียงโดย ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ เป็นฉบับแปล เจ็ดบทแรกที่เป็นงานเขียนของจวงจื่อโดยตรงจากต้นฉบับภาษาจีน เป็นต้น

สำหรับ จวงจื่อ ฉบับสมบูรณ์ โดย สุรัติ ปรีชาธรรม เล่มนี้ ได้แปลและเรียบเรียงหนังสือจวงจื่อฉบับสมบูรณ์ ซึ่งมี 33 บท จากต้นฉบับภาษาอังกฤษแปลโดยเบอร์ตัน วัตสัน เป็นหลัก และได้เทียบเคียงกับต้นภาษาจีน และต้นภาษาอังกฤษฉบับอื่นอีก 3 ฉบับ.

ชื่อหนังสือ: จวงจื่อ ฉบับสมบูรณ์
ผู้แปลเรียบเรียง: สุรัติ ปรีชาธรรม
บรรณาธิการ: พจนา จันทรสันติ
สำนักพิมพ์ openbooks
พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2554
จำนวนหน้า 560 หน้า
ราคาปก 495 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น