ถาม: คุณไม่รู้หรือว่าอะไรดี อะไรชั่ว ?
ตอบ: รู้ แต่.... ไม่มีทางเลือก
สิ่งเหล่านี้คือความรู้สึกของคนจีนหลายคนที่ได้มีโอกาสบอกกล่าวกับผู้เขียน ระบบการศึกษาจีนไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือโรงเรียนมักพร่ำสอนนักเรียนว่า “อะไรดี อะไรชั่ว” ตามปกติเหมือนในโรงเรียนไทยทั่วไป และนักเรียนทุกคนที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็มิได้แยกแยะไม่ได้ว่า “อะไรดี อะไรชั่ว” คนจีนไม่ได้ชาชินกับการปล่อยให้คนตายไปต่อหน้าต่อตา แต่เหตุไฉน เหตุการณ์สะเทือนอารมณ์จึงบังเกิดขึ้นได้
เมื่อวันที่ 13 ต.ค. เสี่ยว เย่ว์เย่ว์ เด็กหญิงวัยสองขวบ วิ่งเล่นอยู่ในตลาดเมืองฝัวซาน มณฑลก่วงตง พลันมีรถบรรทุกวิ่งมาชนทับร่างหนูน้อย ล้มลงกับพื้น ผิวล้อหน้าเคลื่อนผ่านกลางลำตัวของเย่ว์เย่ว์ รถบรรทุกนิ่งชั่วขณะ จากนั้นก็ขับต่อไปให้ล้อหลังทับซ้ำอีกที.. เย่ว์เย่ว์ แน่นิ่งจมกองเลือดอยู่กับพื้น
ตลาดย่อมมีคน และก็มีถึง 18 คนที่ผ่านไปผ่านมาบริเวณดังกล่าว หาได้มีใครช่วยเหลือหนูน้อย แต่ละคนเดินผ่านร่างของเย่ว์เย่ว์ ได้แต่ชายตามองแล้วก็เดินเลี่ยง หรือขับรถผ่านเลยไป จนในที่สุดวีรสตรีที่กล้าตัดสินใจลากร่างหนูน้อยออกจากบริเวณดังกล่าวกลับกลายเป็น คุณป้าผู้มีอาชีพเก็บขยะ
ในที่สุดแพทย์ก็เผยว่า (21ต.ค.) เสี่ยว เย่ว์เย่ว์ สิ้นลมแล้ว แต่คำถามทางจริยธรรมผุดพรายขึ้นมาไม่หยุดหย่อน
ถาม: เหตุการณ์นี้คุณจะโทษใคร ? โทษผู้ปกครองไม่ดูแลลูก โทษคนขับรถบรรทุกใจอำมหิต โทษคนที่ผ่านไปผ่านมาไร้มโนสำนึก โทษหมอไม่เก่ง หรือโทษเวรโทษกรรม...
ภาวะ “ไม่กล้าเลือกที่จะช่วย” ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าคนที่อยู่ตรงหน้าก็เป็นเพื่อนมนุษย์และเป็นคนจีนร่วมชาติ ชาวจีนที่มาทำงานในไทยคนหนึ่ง เผยว่า “ผมมองลึกไปกว่าการมองสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า เราต้องมองไปถึงโครงสร้างทางสังคมบางประการที่ทำให้คนจีนไม่มีทางเลือก”
“หลายแห่งเคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะที่ว่า คนแก่ล้มลงกลางถนน แล้วคนเข้าไปช่วย สุดท้ายคนแก่กลับบอกว่าคนที่มาช่วยเป็นคนทำร้าย เมื่อเกิดเหตุลักษณะ ทำคุณบูชาโทษ โปรดสัตว์ได้บาป เช่นนั้น หนักเข้าคนจีนก็ไม่กล้าจะช่วยใครอีก”
“ถ้าคุณเข้าไปช่วย แล้วเขาบอกว่าคุณเป็นต้นเหตุให้ลูกเขาอาการแย่ขึ้น ทั้ง ๆ ที่บ้านคุณเองก็ไม่ใครมีอันจะกิน ยังมีคนต้องดูแล ไม่ว่าผู้เฒ่า ลูกเมีย คุณจะเสี่ยงช่วยแล้วต้องถูกปรับหรือไม่ก็ติดคุกติดตารางหรือไม่”
ฤๅกับดักทุนนิยม กระชากจริยธรรมของชาวจีน
นักวิชาการตะวันตกด้านจีนศึกษาตั้งข้อสังเกตว่า สุดท้าย “หนทางทุนนิยม” ก็ชนะ “หนทางสังคมนิยม” ในจีนเสียแล้ว สิ่งที่เคยเป็นหัวใจของสังคมนิยม หรือ สังคมอุดมคติ อันได้แก่ความเท่าเทียม ไร้ชนชั้น ความเสมอภาค ช่วยเหลือกันและกัน รักประเทศชาติ และดำรงชีพอย่างเป็นสุขนั้น ดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อจีนเปิดประเทศให้ทุนหลั่งไหลเข้ามากระแทกกระทั้นหลายพื้นที่ การเปิดประเทศหรือการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดนั้นย่อมสร้างปัญหาตามมานานัปการ
ชาวจีนอีกคนเผยว่า “มิใช่ว่าจะบอกว่าทุนนิยมดีหรือไม่ดี แต่สิ่งที่เป็นผลกระทบนั้นเราก็ต้องหาทางแก้กันต่อไป เช่นปัญหาด้านการจัดการของรัฐบาล ปัญหาการกระจายรายได้ ปัญหาความยากจนอันเป็นผลมาจากการพัฒนาแบบก้าวกระโดด”
แต่.. สิ่งที่รัฐบาลจีนมิได้ทำไปควบคู่กันก็คือ “การฟื้นฟูจริยธรรม”
“ทุกวันนี้สังคมจีนแข่งขันสูง เทคโนโลยีก้าวหน้า อยากมีบ้าน อยากมีรถ อยากมีเงิน สิ่งเหล่านี้ทำให้คนไม่แยแสใคร เพราะไม่มีใครแยแสเราเหมือนกัน ทางเดียวก็คือ ดูแลตัวเองให้ดีที่สุด”
กรณีหนูน้อยเสี่ยว เย่ว์เย่ว์เสียชีวิตอนาถนั้น เหตุเพราะมิใช่คนจีนไม่รู้ว่าการช่วยเหลือคนเป็นสิ่งที่ควรกระทำ แต่ด้วยโครงสร้างสังคมทุนนิยมที่บีบบังคับ
“ผมเชื่อว่าคนที่ยืนดู อยู่ระหว่างทางเลือกที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในจิตใจว่าจะช่วยหรือไม่ช่วย ถ้าช่วย (ตรงนั้นไม่มีกล้องวงจรปิด) แล้วเขาถูกประณามว่าเป็นต้นเหตุให้เด็กเสียชีวิต เขาต้องโทษอาญาในที่สุด แล้วครอบครัวเขาหรือตัวเขา ซึ่งก็ต้องดิ้นรนอยู่รอดในโลกทุนนิยมเหมือนกัน จะทำอย่างไรได้ ทั้ง ๆ ที่จิตใจของเขาก็เสียใจไม่น้อยทีเดียวที่มิอาจลงมือช่วยเพื่อนร่วมชาติที่ตกทุกข์ได้ยาก”
ชาวจีนไม่เผยนาม ปิดท้ายว่า “วันใดที่โครงสร้างสังคมจีนเปลี่ยนแปลง คนส่วนใหญ่พร้อมใจกันเห็นว่าการช่วยเหลือคนอื่นแล้วเป็นความสุขที่เข้าต้องไม่เดือดร้อน เมื่อนั้นจริยธรรมที่เก็บกดไว้ในก้นบึ้งของหัวใจชาวจีน ก็จะถูกเปิดออกมาใช้อีกครั้ง”
แต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไร... เพราะทุกวันนี้จีนมีแต่การพัฒนาด้านวัตถุภายใต้การขยายตัวของทุน ภายใต้รัฐบาลพรรคเดียว “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน”